Tuesday, December 30, 2014

Call Of The Valley



            “ถ้านักฟังเพลงมือใหม่ต้องการซื้อผลงานเพลงคลาสสิกอินเดียเพียงหนึ่งชุด ก็ต้อง Call Of The Valley นี้เลย

เว็บไซต์ Allmusic ไกด์แนะนำดนตรีออนไลน์ที่ทรงอิทธิพลที่สุด ฟันธงไว้เลย สำหรับอัลบั้มดนตรีอินเดียยอดนิยมสูงสุดในระดับนานาชาติ เป็นผลงานชิ้นสำคัญในการแนะนำให้คนต่างชาติได้รู้จักดนตรีอินเดีย ความสวยงามแบบเรียบง่ายของ Call Of The Valley ทำให้เสียงเพลงทะลุทะลวงแทรกซึมเข้าไปถึงจิตวิญญาณของคนฟัง ให้ซาบซ่านไม่รู้ลืม นับตั้งแต่ได้ยินผ่านหูเป็นครั้งแรก โดยไม่ต้องมีพื้นฐานการฟังดนตรีคลาสสิกอินเดียมาก่อน เป็นประสบการณ์แปลกใหม่ที่จะตราตรึงอยู่ในใจไม่รู้เลือน และยังเป็นตัวดึงดูดเยาวชนอินเดียนับแสนคน ให้หันมาสนใจดนตรีคลาสสิกของเขาเองอีกด้วย



Call Of The Valley ได้รับการเชิดชูคุณค่าอยู่ในลำดับต้นๆ ของอัลบั้มเวิลด์มิวสิก นอกจากจะเป็นอัลบั้มชุดโปรดของนักดนตรีร็อกดังหลายคน อย่างเช่น Bob Dylan, Paul McCartney, George Harrison และ David Crosby แล้ว อัลบั้มชุดนี้ยังได้ถูกบรรจุอยู่ในรายการของอัลบั้มเพลง 1001 ที่ต้องฟังก่อนตายด้วย (1001 Albums You Must Hear Before You Die)








Call Of The Valley เป็นอัลบั้มเพลงฮินดูสตานีคลาสสิก หรือดนตรีคลาสสิกอินเดียเหนือ ผลงานร่วมของสามศิลปินหนุ่มไฟแรง ผู้มีความเป็นเลิศในเชิงดนตรี พวกเขาทั้งสามยังเป็นผู้บุกเบิกนำเอาเครื่องดนตรีนอกสายตาสามชนิดที่ไม่ได้อยู่ในสารบบ มาเป็นสีสันเพิ่มความหลากหลาย ให้เป็นที่ยอมรับในวงการดนตรีคลาสสิกอินเดีย เป็นอัลบั้มแจ้งเกิดของสามสิงห์หนุ่ม และเครื่องดนตรีคู่กายของพวกเขา โดยชีฟกุมาร เชอร์มา (Shivkumar Sharma) เล่นสันตูร์ (Santoor) เครื่องดนตรีประเภทขิมแห่งแคว้นแคชเมียร์ หะริประสาด ชอรเซีย (Hariprasad Chaurasia) เป่าบานซูรี (Bansuri) หรือขลุ่ยไม้ไผ่ และบริจ ภูชาน คาบรา (Brij Bhushan Kabra) เล่นกีตาร์แบบฮาวายหรือสไลด์ โดยมีมานิกราว พอพัทคาร (Manikrao Popatkar) เล่นกลองทาบล้าประกอบ







ชีฟกุมาร เชอร์มาเป็นเจ้าของแนวคิดซิมโฟนีแห่งดนตรีคลาสสิกอินเดียนี้ พวกเขาร่วมกันใช้เส้นเสียงดนตรี เล่าเรื่องราวชีวิตในหนึ่งวันของเด็กเลี้ยงแกะในแคชเมียร์ นำพาผู้ฟังให้จินตนาการไปตามลีลาจังหวะ ทำนอง ที่ผสมผสาน สร้างบรรยากาศตั้งแต่เช้าตรู่จรดค่ำ ให้สัมผัสในจิตวิญญาณถึงทัศนียภาพแห่งหุบเขาอันสวยงาม เขียวขจีตระการตาด้วยทิวสนริมทะเลสาปอันเรียบสงบ ณ เชิงเขาหิมาลัยอันมหึมาที่ยอดปกคลุมขาวโพลนด้วยหิมะ

อัลบั้มชุดนี้ออกวางตลาดในปี 1967 ภายใต้สังกัดค่าย EMI ได้กลายเป็นอัลบั้มดนตรีคลาสสิกอินเดียที่มียอดขายสูงสุดตลอดกาล และค่ายเพลงยังคงผลิตออกวางขายอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ในเวอร์ชั่นซีดีได้แถมเพลงโบนัสเพิ่มมาอีก 3 เพลง ที่เน้นนำเสนอโชว์เดี่ยวของแต่ละคน เล่นคู่กับทาบล้า


หะริประสาด ชอรเซีย นักเป่าบานซูรีหรือขลุ่ยไม้ไผ่ เกิดที่เมืองอัลลาฮาบาด หรือเมืองโกสัมพีในสมัยพุทธกาล รัฐอุตตรประเทศ (1 กรกฎาคม 1938) กำพร้าแม่ตั้งแต่อายุ 5 ขวบ พ่อเป็นนักมวยปล้ำ ผู้ต้องการให้ลูกชายเจริญรอยตาม แม้ใจจะรักในเสียงเพลงมากกว่า แต่เขาไม่กล้าขัดใจพ่อจอมโหด ต้องแอบเรียนร้องเพลงจากเพื่อนบ้าน และฝึกซ้อมที่บ้านเพื่อนตอน 9 ขวบ แต่การเรียนวิชามวยปล้ำด้วยความจำใจ ได้กลายเป็นทุกขลาภที่เป็นคุณในอนาคต

ผมไม่เก่งในเชิงมวยปล้ำเลย ผมเพียงต้องการเอาใจพ่อแค่นั้นเอง แต่บางทีความแข็งแกร่งและความอึดที่ผมได้จากตรงนั้น ช่วยให้ผมเป่าบานซูริได้จนถึงทุกวันนี้


ชีวิตของชอรเซียเปลี่ยนไปในบัดดล หลังจากได้ยินเสียงขลุ่ยครั้งแรกทางวิทยุตอนอายุ 15 ปี เขาไปเคาะประตูบ้านเจ้าของเสียงขลุ่ย เรียนเป่าขลุ่ยกับท่าน Pandit Bholanath Prasanna นานถึง 8 ปี เขาเริ่มเป่าขลุ่ยและแต่งเพลงให้กับ All India Radio รัฐโอริสสาในปี 1957 ต่อมาไปรับงานนอกรายได้ดี เล่นประกอบเต้นโชว์ แล้วขยับเข้าสตูดิโอเล่นเพลงประกอบหนัง รับงานมากจนต้องลาออกจากสถานีวิทยุ พอปั่นเพลงบอลลีวู้ดจนจำเจซ้ำซาก พลังสร้างสรรค์เริ่มหยุดนิ่ง จึงไปกราบขอฝากตัวเป็นศิษย์ถึง 3 ครั้งกับอันนะปูร์นา เทวี (Annapurna Devi) ภรรยาคนแรกของราวี ชังการ์ ผู้ปราดเปรื่องในดนตรีอินเดียชนิดหาคนเทียบได้ยาก และยังเป็นที่ร่ำลือกันถึงกิตติศัพท์แห่งความโหด เฮี้ยบ เนี้ยบ ดุ จนท่านเทวีใจอ่อนรับสอน หลังเขาเป่าขลุ่ยให้ฟัง โดยมีข้อแม้ว่า เขาจะต้องเริ่มใหม่หมดเลย และศิษย์ใหม่ก็แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้า โดยเปลี่ยนจากปกติเป่าแบบถนัดขวา มาหัดใหม่แบบคนถนัดซ้ายตั้งแต่นั้นมา



ชอรเซียได้รับการเจียระไนจากแม่คนที่สอง จนเป็นเพชรเม็ดงามส่องประกายเจิดจ้าในวงการดนตรีอินเดีย และเวทีนานาชาติในเวลาต่อมา ได้รับคำสดุดีจากศิลปินใหญ่สายคลาสสิก อาทิ นักไวโอลิน Yehudi Menuhin และนักเป่าฟลูต Jean-Pierre Rampal ชอรเซียนับเป็นนักดนตรีใจเปิดกว้างที่หายากคนหนึ่ง นอกเหนือจากสายคลาสสิก และผลงานโดดเด่นในด้านเพลงประกอบหนังแล้ว เขายังได้ร่วมงานกับนักดนตรีแจ๊สดัง อย่างนักกีตาร์ John McLaughlin และนักแซ็กโซโฟน Jan Garbarek อีกทั้งยังไปเล่นคอนเสิร์ตร่วมกับ Jethro Tull นักเป่าฟลูตร็อกได้อย่างไม่เคอะเขิน

ปัจจุบันท่านดำรงตำแหน่งเป็น Artistic Director of the World Music Department ที่ Rotterdam Music Conservatory ประเทศเนเธอร์แลนด์ และยังได้ก่อตั้งสถาบัน Vrindavan Gurukul ที่เมืองมุมไบ เมื่อปี 2006 และเมือง Bhubhaneshwar ในปี 2010 เพื่อผลิตนักบานซูรีรุ่นใหม่  



บริจ ภูชาน คาบราเป็นนักดนตรีอินเดียคนแรกที่ใช้กีตาร์เล่นดนตรีคลาสสิกอินเดีย เขาบุกเบิกการใช้เครื่องดนตรียอดนิยมของฝรั่งมาบรรเลงเพลงแขกได้อย่างมีเสน่ห์ น่าฟัง มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เป็นต้นแบบให้คนรุ่นใหม่เดินตามรอย จนมีนักกีตาร์โดดเด่นในวงการดนตรีคลาสสิกอินเดียหลายคน

คาบราเกิด ปี 1937 ที่เมืองจ๊อดปูร์ (Jodhpur) หรือโยธะปุระ นครสีฟ้าแห่งรัฐราชสถาน พ่อเป็นแฟนเพลงตัวยงของดนตรีคลาสสิกอินเดีย ส่งอิทธิพลให้เขาชอบฟังไปด้วย แต่ไม่ถึงกับอยากลงมือดีด สี ตี เป่าเอง ด้วยความชอบในช่วงนั้นยังสนุกกับการเล่นกีฬาหลายชนิด จนมีดีกรีความเก่งเป็นถึงแชมป์ปิงปองรุ่นจูเนียร์แห่งรัฐราชสถานในปี 1952 พอจบม.ปลายก็เข้าเรียนต่อด้านธรณีวิทยาในมหาวิทยาลัย จุดหักเหจนมีผลให้เส้นทางชีวิตผกผัน เกิดขึ้นตอนคาบราแวะที่เมืองกัลกัตตา แล้วไปได้ยินเสียงกีตาร์ฮาวาย เกิดความประทับใจในเสียงใสพลิ้วหวานของมันมากจนสลัดไม่ออก เป็นแรงบันดาลใจให้เขาอยากหัดเล่นกีตาร์ฮาวายขึ้นมาทันที แล้วเขารีบไปขออนุญาตจากพ่อ โดยรับปากอย่างหนักแน่นว่าจะเล่นเฉพาะดนตรีคลาสสิกเท่านั้น


คาบราเริ่มหัดเล่นกีตาร์ด้วยการแกะเพลงจากแผ่นเสียง ในระหว่างที่อยู่เมืองอัลลาฮาบาด ต่อมามีโอกาสได้เรียนกับท่านอาลี อัคบาร์ ข่าน (Ali Akbar Khan) ปรมาจารย์แห่งสาโรด ได้ดัดแปลงกีตาร์ให้เหมาะกับการเล่นดนตรีอินเดีย เริ่มเปิดตัวเล่นคอนเสิร์ต จนมาเจอกับชีฟกุมาร เชอร์มา ซึ่งปิ๊งทางดนตรีตั้งแต่แรกพบ ได้แสดงด้วยกันเป็นประจำ และออกอัลบั้มเล่นคู่กันในปี 1960 ต่อมาในปี 1967 ได้ชอรเซียมาร่วมเป่าขลุ่ยด้วย จนดังกันแบบกินยาวกับอัลบั้ม Call Of The Valley คาบราออกผลงานเดี่ยวหลายอัลบั้มในช่วงทศวรรษเจ็ดสิบ ในระยะหลังเขาจะหันไปเน้นด้านการสอนเป็นหลัก แต่ก็ไม่ทิ้งงานแสดง

คาบราได้รับการเชิดชูเกียรติมากมาย รวมทั้ง Sangeet Natak Akademi Award ซึ่งเทียบเท่าได้กับรางวัลระดับศิลปินแห่งชาติ ในปี 2005


ชีฟกุมาร เชอร์มาผู้ยกระดับสันตูร์ เครื่องดนตรีพื้นบ้านประเภทขิมแห่งแคว้นแคชเมียร์ สู่เวทีระดับชาติและเวทีโลก เกิด 13 มกราคม 1938 ณ รัฐชัมมูและแคชเมียร์ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือสุดของประเทศอินเดีย พ่อนักร้องสอนให้ร้องเพลงกับเล่นทาบล้าตั้งแต่ตอนอายุ 5 ขวบ ต่อมาพ่อได้ตั้งเป้าและมุ่งมั่นที่จะให้เขาเป็นนักดนตรีคนแรกที่เล่นดนตรีคลาสสิกอินเดียด้วยสันตูร์ ชีฟกุมารจึงต้องเบนเข็มมาหัดเล่นสันตูร์ตอนอายุ 13 ปี แต่การที่จะยกระดับเครื่องดนตรีพื้นบ้านให้เป็นที่ยอมรับในวงการคลาสสิก ไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด เขาจึงต้องทุ่มเททั้งแรงกายและแรงใจ ปรับแต่ง ดัดแปลง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพเจ้าขิมตัวเก่า ให้รองรับความซับซ้อน รายละเอียดของดนตรีระดับสูงจนเป็นที่พอใจแล้ว จึงเปิดตัวการเล่นสันตูร์อย่างเป็นทางการครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์ 1955 ที่บอมเบย์ และบันทึกอัลบั้มแรกในปี 1960

ในช่วงลุ่มๆดอนๆที่ยังไม่ได้รับการยอมรับ เชอร์มาต้องอาศัยฝีมือการเล่นทาบล้าช่วยหารายได้เสริมเลี้ยงชีพ เคยเล่นแบ็กอัพให้กับ Surinder Kaur นักร้องดังแห่งปันจาบและราวี ชังการ์ ก่อนที่จะสร้างตำนานกับ Call Of The Valley ในปี 1967 เชอร์มาต้องต่อสู้พิสูจน์ความสามารถเกือบ 20 ปี กว่าจะหุบปากหอยปากปูระดับกูรูทั้งหลายของดนตรีคลาสสิกอินเดียให้สงบเงียบลง ต่อมาในช่วงทศวรรษแปดสิบ เขาจับคู่กับชอรเซีย ตั้งทีม Shiv-Hari รับงานทำเพลงประกอบหนัง มีหลายเรื่องที่ประสบความสำเร็จมาก

เชอร์มามีบุตร 3 คน แต่เขาเลือกถ่ายทอดการเล่นสันตูร์ให้กับราหุล เชอร์มา (Rahul Sharma) เพราะเห็นแววพรสวรรค์ในตัวลูกชายคนนี้ สองพ่อลูกร่วมกันแสดงคอนเสิร์ตตั้งแต่ปี 1996 บางคนอาจจะคุ้นเคยกับเสียงสันตูร์ของราหุลบ้างแล้ว จากอัลบั้ม Namaste ซึ่งเพิ่งออกวางตลาดไม่นานมานี้ ผลงานที่ราหุลไปประกบคู่กับเคนนี จี นักแซ็กโซโฟนซูเปอร์สตาร์



Call Of The Valley ผลงานรวมการเฉพาะกิจอัลบั้มหนึ่งเดียวของสามสิงห์เลือดใหม่แห่งวงการดนตรีคลาสสิกอินเดีย แม้จะประสบความสำเร็จอย่างมาก แต่พวกเขาตัดสินใจแยกทางกันเดิน เพื่อสานฝันของตัวเองต่อไป เพราะทุกคนต่างมีภาระอันใหญ่หลวงรออยู่ข้างหน้า ในการนำเสนอเครื่องดนตรีของแต่ละคนให้เป็นที่ยอมรับในวงการ







หลังจากทิ้งช่วงไปกว่า 30 ปี ชีฟกุมาร และหะริประสาด ชอรเซีย ในฐานะศิลปินใหญ่แล้ว นวนกลับมาร่วมกันทำ Call Of The Valley ภาคสอง ภายใต้ชื่อ The Valley Recalls ในปี 2000 โดยมีเจยันติ ชาห์ (Jayanti Shah) มาทำหน้าที่เล่นสไลด์กีตาร์แทนบริจ ภูชาน คาบรา แต่ไฮไลท์จะเน้นอยู่ที่เสียงบานซูรีและสันตูร์ คุณภาพดนตรียังคับแก้วเหมือนเดิมครับ 





ใครที่ฟังภาคหนึ่งแล้วยังไม่หนำใจ..... ต่อภาคสองได้เลยครับ
(แถมยังได้ดูการแสดงอีกด้วยครับ)








(ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสาร Phuket Bulletin ฉบับที่ 125 ตุลาคม 2012)


Monday, March 31, 2014

Paco de Lucia



ปาโก เดอ ลูเซีย เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจวาย ขณะที่กำลังเล่นอยู่กับลูกบนชายหาดที่เม็กซิโก ในช่วงพักผ่อนกับครอบครัว เขาสิ้นใจในระหว่างที่กำลังเดินทางไปโรงพยาบาล เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2014 ด้วยวัยเพียง 66 ปี 



ผมเพิ่งจะเขียนเรื่องราวของสุดยอดนักกีตาร์เฟลเม็นโกคนนี้ไปเมื่อไม่นานมานี้ จึงถือโอกาสขอนำมาไว้อาลัยการจากไปของเขา ณ ที่นี้ด้วยครับ



            เฟลเม็นโกเป็นศิลปะที่หลอมรวม การเต้นระบำและดนตรีที่ลงตัวของชนเผ่ายิปซีแห่งแคว้นอันดาลูเซีย ทางตอนใต้ของสเปน ศิลปะพื้นบ้านของดินแดนกระทิงดุนี้ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายไปทั่วโลกในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เฟลเม็นโกได้รับการเชิดชูยกย่องจากยูเนสโก ให้เป็นหนึ่งในมาสเตอร์พีซแห่งมุขปาฐะและมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมแห่งมนุษยชาติ (Masterpieces of the Oral and Intangible Heritage of Humanity) ในปี 2010



ปาโก เดอ ลูเซีย (Paco de Lucia) เป็นศิลปินเฟลเม็นโกคนสำคัญที่สุด ผู้นำแห่งดนตรีเฟลเม็นโกสมัยใหม่ เป็นศิลปินสไตล์นี้คนแรกที่ขยายขอบเขตเข้าไปในแจ๊สและคลาสสิก รวมทั้งดนตรีทั่วไปด้วย เขาเกิดที่เมืองเล็กๆในถิ่นชนเผ่ายิปซี จังหวัดกาดิซ แคว้นอันดาลูเซีย ทางใต้สุดของประเทศสเปน (เกิด 21 ธันวาคม 1947 Algeciras, Spain) ชื่อจริงตามสูติบัตร Francisco Sanchez Gomez เขาเป็นลูกชายคนสุดท้องของพี่น้อง 5 คน ของคุณพ่อนักกีตาร์ Antonio Pecino Sanchez และ Lucia Gomez แม่ชาวปอร์ตุเกส ซึ่งเขาได้เอาชื่อแม่มาใช้เป็นชื่อในวงการ



อันดาลูเซียคือศูนย์กลางของศิลปะเฟลเม็นโก ปาโกนับว่าเกิดถูกที่ถูกทางสำหรับคนที่จะเป็นจอมยุทธแห่งเฟลเม็นโกในภายภาคหน้า เขาได้เรียนรู้ภาษาดนตรีเฟลเม็นโกโดยธรรมชาติ จากสิ่งแวดล้อมที่คลุกคลีกับพวกยิปซี ลานบ้านเล็กๆของพ่อเป็นแหล่งพบปะสังสรรค์ของนักดนตรีที่ไม่เคยเงียบเหงา ไม่เคยว่างเว้นจากแขกขาประจำ ผู้แวะมาสนทนาด้วยภาษาดนตรีอย่างไม่ขาดสาย ปาโกซึมซับเสียงเพลงที่กระหึ่มกรอกหูอยู่ทุกวัน ผ่านผิวหนังเข้าเนื้อไปหลอมรวมในสายเลือด จนมันได้กลายเป็นส่วนหนึ่งขององคาพยพของเขา ตั้งแต่ยังอยู่ในวัยเตรียมความพร้อมแล้ว ต่อมาเมื่อได้หัดเล่นกีตาร์โดยมีพ่อและพี่ชายเป็นคนสอน ก็ได้ฉายแววส่องประกายเจิดจ้า ให้พ่อได้รับรู้ถึงความเป็นเพชรเม็ดงามของลูกชายคนเล็ก



            คุณพ่อผู้มองการณ์ไกล เล็งผลเลิศ จัดวางแผนเจียระไนลูกชายด้วยหลักสูตรจัดเต็มตั้งแต่อายุ 8 ขวบ บังคับให้ปาโกน้อยเล่นกีตาร์อย่างเอาเป็นเอาตายวันละ 12 14 ชั่วโมง ไม่มีวันหยุดนักขัตฤกษ์ใดๆทั้งสิ้น แถมบางครั้งเจ้าหนูปาโกผู้น่าสงสาร ยังโดนพ่อตามไปลากเอาตัวออกมาจากโรงเรียน เพื่อให้กลับไปซ้อมกีตาร์ที่บ้านอีกต่างหาก ในช่วงวางพื้นฐานอย่างเข้มข้นนี้ ปาโกชื่นชมนักกีตาร์นิโญ ริคาร์โด (Niño Ricardo) เป็นศิลปินในดวงใจ และได้ลอกเลียนสไตล์การเล่นของริคาร์โด จนฟ้องออกมาในสำเนียงกีตาร์ของเขา



            ด้วยพรสวรรค์และพรแสวงทำให้ปาโกฝีมือรุดหน้าอย่างรวดเร็ว ได้เปิดตัวโชว์ทางรายการวิทยุตอนอายุ 11 ขวบ และอีกหนึ่งปีต่อมาได้รางวัลพิเศษจากการเข้าแข่งขันในงานประกวดนักกีตาร์เฟลเม็นโก เป็นที่ฮือฮากันมากจนได้รับฉายาเด็กมหัศจรรย์ ต่อมาในปี 1964 โฮเซ เกรโก (José Greco) นักเต้นระบำเฟลเม็นโกชื่อดังแห่งนิวยอร์ก ได้ชวนเขาเข้าร่วมทีมไปแสดงที่อเมริกา ยามที่มีรายได้จากน้ำพักน้ำแรงของตัวเอง ทำให้ปาโกหวนนึกถึงเวลาที่พ่อเมากลับบ้านหลังเลิกงาน เหลือแค่เศษเงินติดอยู่ในกระเป๋า ครอบครัวต้องอยู่กันอย่างลำบากตอนวัยเด็ก เมื่อได้เงินค่าตัว เขาจึงรีบซื้อจาน ชาม หม้อ กระทะ ทำอาหารทานเองในห้องพักโรงแรม แล้วทำหน้าที่ลูกกตัญญูส่งเงินที่เหลือทั้งหมดให้แม่ที่สเปน



ในช่วงที่อยู่อเมริกาปาโกได้เจอกับซาบิกัส (Sabicas) เจ้าของฉายา King Of The Flamenco Guitar นักกีตาร์เฟลเม็นโกผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งยุคในตอนนั้น ซึ่งได้แนะนำให้ดาวรุ่งดวงใหม่ สลัดตัวเองให้หลุดพ้นออกจากคราบของริคาร์โดที่ครอบงำตัวเขาอยู่ ให้พยายามสร้างสไตล์ของตัวเอง ซึ่งปาโกได้น้อมรับคำชี้แนะ นำไปปฏิบัติจนหนุนส่งให้เขาก้าวขึ้นไปสู่จุดสูงสุดในอาชีพในเวลาต่อมา  



ตอนปลายทศวรรษหกสิบเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของดนตรีหลายสไตล์ ปาโกได้โคจรมาพบกับคามารอน เด ลา อิสลา (Camaron de la Isla) หนุ่มยิปซี นักร้องเฟลเม็นโกรุ่นใหม่ ที่โต๊ะสนุ๊กเกอร์กรุงแมดริด มิตรภาพที่เกิดจากการมาสอยคิวด้วยกันครั้งแรกนี้ ต้องบันทึกให้เป็นวันประวัติศาสตร์วันหนึ่งของดนตรีเฟลเม็นโก นับได้ว่าเป็นเหตุการณ์ครั้งสำคัญ ที่พลิกเปลี่ยนโฉมสู่ยุคใหม่ของดนตรีที่สืบทอดต่อเนื่องกันมายาวนานนี้



สองหนุ่มไฟแรงผู้ร้อนรุ่ม อึดอัดเหมือนโดนขังอยู่ในกรอบแคบ ด้วยจารีตที่คนรุ่นก่อนกำหนดให้ปฏิบัติตามอย่างเข้มงวด พวกเขาจึงร่วมกันระดมความคิดวางแผนแหกคุกโบราณ ช่วยกันทุบ เจาะทะลุทะลวงกำแพง ปรับปรุง แก้ไข เปลี่ยนแปลงกฏระเบียบของเฟลเม็นโกให้ทันสมัย ด้วยสิ่งแปลกปลอมจากดนตรีร่วมสมัยรอบๆตัว แล้วทั้งคู่ก็ได้ร่วมสร้างผลงานต้นแบบออกมาด้วยกัน 10 อัลบั้ม ในช่วงเวลา 10 ปี ตั้งแต่ ปี 1968 1977 ซึ่งช่วยเสริมสร้างบารมีให้เป็นที่ประจักษ์ถึงความยิ่งใหญ่ของสองเสือจากอันดาลูเซีย ก่อนถึงทางแยกแห่งความฝัน ที่ต่างคนต่างเดินไปคนละเส้นทาง ปาโกยังต้องการบุกผจญภัยไปนอกขอบเขตแดนดนตรีเฟลเม็นโก ในขณะที่คามารอนเพลิดเพลินกับความเป็นซูเปอร์สตาร์ ใช้ชีวิตเปลืองตัว ตกเป็นทาสยาเสพติด นำไปสู่จุดจบก่อนถึงวัยอันสมควรอย่างน่าเสียดาย




 
 
            ปาโกยังสร้างสรรค์ผลงานเดี่ยวของตัวเองควบไปด้วย ในช่วงที่ปั่นผลงานคู่กับคามารอน ด้วยความฝันที่ไม่หยุดเพียงแค่นั้น บวกกับจินตนาการที่ยังบรรเจิด แตกหน่อ แตกกอ แตกยอดใหม่ออกไปจากพุ่มเก่า แล้วเขาก็คลำถูกเป้า เข้าทางตลาด โดยไม่คาดฝัน จากอัลบั้มเดี่ยวชุดที่ห้า Fuente y Caudal ในปี 1976 เมื่อเขาคัดเพลง Entre Dos Aguas ในลีลาจังหวะรุมบ้า ซึ่งเป็นความแปลกใหม่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ดนตรีเฟลเม็นโก ออกมาเป็นแผ่นซิงเกิ้ล แฟนเพลงติดใจชื่นชอบกับสีสันใหม่นี้ ดันยอดขายพุ่ง จนฮิตติดชาร์ตในสเปน และต่อมาได้ขึ้นแท่นเป็นหนึ่งในเพลงบรรเลงกีตาร์ยอดนิยมแห่งทศวรรษด้วย 












ปาโกเริ่มเป็นที่รู้จักในระดับอินเตอร์แล้ว และเมื่อเขาไปเป็นแขกรับเชิญในเพลง Mediterranean Sundance ให้กับอัลบั้มชุด Elegant Gypsy (1977) ของ Al DiMeola นักกีตาร์แจ๊สฟิวชั่นระดับแนวหน้า ทำเอาแฟนเพลงแจ๊สจำนวนไม่น้อย เอนเอียงเข้าหามนต์เพลงเฟลเม็นโก รวมทั้งตัวผมเองที่ได้มีโอกาสฟังฝีมือของเขาเป็นครั้งแรกจากเพลงนี้ และต่อมายังได้ดูตัวเป็นๆ ตอนต้นเดือนธันวาคม 1981 เมื่อปาโกเข้าร่วมอยู่ในทีมรวมดารา The Guitar Trio ออกทัวร์กับ John McLaughlin และ Al DiMeola โชว์ฝีมือกีตาร์โปร่งในระดับเดซิเบลไม่ทำร้ายหูคนฟัง ซึ่งยิ่งตอกย้ำความประทับใจในตัวปาโกให้มากขึ้นไปอีก วงรวมดาวนี้มีผลงานร่วมกัน 3 อัลบั้ม Friday Night in San Francisco (1981), Passion, Grace and Fire (1983) และ Guitar Trio (1996) ใครที่อยากฟังกีตาร์โปร่งระดับเทพ ไม่ผิดหวังครับ






หลังจากลองของผสมผสาน ปรุงรสเฟลเม็นโกกับแนวดนตรีอื่น ปาโกย้อนกลับมาเล่นเฟลเม็นโกแท้ๆ ในอัลบั้ม Siroco (1987) พร้อมกับยืนยันจุดยืนของตัวเอง



ผมไม่เคยทิ้งรากเหง้าในดนตรีของผม เพราะมันจะทำให้ผมสูญเสียความเป็นตัวเอง สิ่งที่ผมพยายามทำอยู่ คือมือหนึ่งยึดของเก่าไว้ และอีกมือหนึ่งคุ้ยเขี่ย ขุดค้นหาสิ่งใหม่มาเติม



ศิลปินพื้นบ้านผู้ยิ่งใหญ่ ผู้ไม่ประสาในตัวเขบ็ตที่บันทึกในกระดาษ เจอความท้าทายอีกครั้ง เมื่อมีคนมาติดต่อให้เขาไปเล่น Concierto de Aranjuez ที่ญี่ปุ่น ปาโกเซ็นสัญญารับงาน แล้วลืมไปเลย จนมานึกขึ้นได้ตอนเหลือเวลาเพียงหนึ่งเดือนก่อนแสดง เขารีบปลีกตัวจากโลกภายนอก พกสกอร์เพลง เทปเพลง และของใช้ส่วนตัว ไปยังบ้านริมหาดในเม็กซิโก ใช้เวลาว่ายน้ำ หาปลากินเอง แล้วหมกมุ่นแกะเพลง ฝึกจนเล่นได้ทะลุปรุโปร่ง จำได้แม่นยำ โดดเด่นด้วยรายละเอียดในสัดส่วนของจังหวะที่นักกีตาร์คนอื่นๆมองข้าม ทำเอาท่านผู้เฒ่ารอดริโก เจ้าของผลงานกีตาร์อันยิ่งใหญ่นี้ ถึงกับออกปากชมเปาะ ชอบอกชอบใจกับการตีความของนักกีตาร์ต่างสายพันธุ์ชาติเดียวกันนี้มาก  







            ในวันนี้ของปาโก เดอ ลูเซีย ยังคงเล่นดนตรีเฟลเม็นโกที่สืบเนื่องต่อจากอดีต และสื่อได้กับคนฟังในปัจจุบัน ด้วยอุดมการณ์ที่แน่วแน่ชัดเจน



ผมไม่ได้เล่นกีตาร์เพื่อตัวเอง แต่เพื่อเฟลเม็นโก ผมไม่ต้องการเป็นดารา หรือเศรษฐี ผมทำงานเพื่อชุมชน เพื่อประเทศ เพื่อดนตรีของผม เพื่อธำรงไว้ซึ่งศิลปะ และผมต้องการทำให้ดนตรีดีขึ้น






 





(ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสาร Phuket Bulletin ฉบับที่ 136 กันยายน 2013)