Saturday, February 2, 2013
Blues (7) _Bluesette
ในช่วงที่กำลังเขียนเกี่ยวกับบลูส์ วันก่อนอาจารย์ประสิทธิ์ พะยอมยงค์จากไป มาคราวนี้ก็ได้ข่าวบลูส์อีกแล้วจากทางโอเวอร์ไดร์ฟแจ้งว่า อาจารย์วิชัย โพธิ์ทองคำ หรืออาจารย์ปู่ ได้เสียชีวิตแล้ว รู้สึกสูญญากาศมาก ช็อกกับการจากไปแบบไม่มีเค้าลางบอกเตือนล่วงหน้าเลย หลังจากทำใจ คืนสู่สติแล้ว ก็ต้องยอมรับสภาพความจริงว่า ไม่มีโอกาสได้เจอกันแบบตัวเป็นๆอีกต่อไปแล้ว
ผมโชคดีที่ได้รู้จักกับอาจารย์ปู่มานานร่วม 30 ปี ตั้งแต่ช่วงที่ผมไปเป็นครูกีตาร์ที่สยามกลการ ได้เรียนรู้ในด้านดนตรี ชีวิต และข้อคิดต่างๆมากมาย ท่านเป็นคนที่รักษาอุดมการณ์ทางดนตรีอย่างมั่นคง เหนียวแน่น ไม่วอกแวก เบี่ยงเบนไปตามเทรนด์ แต่ก็ไม่ปิดตัว ชอบศึกษาเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ท่านเป็นคนรู้ลึก รู้ซึ้ง รู้จริง รู้โคตร สมเป็นกูรูตัวจริง และไม่หวงวิชา ซึ่งหายากมาก ท่านเป็นคนไม่มีมาด คุยสนุกกับคนแนวเดียวกัน รอยยิ้มร่าเริง เสียงพูดของท่าน ผุดขึ้นมาชัดเจนมากในตอนนี้ ที่ผมกำลังรำลึกถึงอยู่ อาจารย์วิชัย โพธิ์ทองคำ หรืออาจารย์อณิศร โพธิทองคำ หรืออาจารย์ปู่ ไม่เคยตายไปจากใจผม เช่นเดียวกับวิชัย เที่ยงสุรินทร์, สมเจตน์ จุลณะโกเศศ, ราเชล สิกขาลา, สุรชาติ “หงี” กิตติธนา, นิมิต โภคาผล, เฉลิมเกียรติ “กอ” อมรสิงห์, นพรัตน์ “อ้วน” เดวี่ และอีกมากมาย ความทรงจำดีๆกับมิตรภาพงดงามที่มีต่อกัน จะยังคงอยู่ติดตัวผมไปกว่าวิญญาณจะทิ้งร่างกาย เปลี่ยนภพไปเจอกันใหม่อีกครั้ง
ผมเคยพูดถึงเพลง "Bluesette" มาบ้างแล้ว ครั้งนี้จะว่ากันอย่างละเอียด ให้รู้จักกันอย่างดีเลย
คนแต่งเพลง
Jean-Baptiste "Toots" Thielemans หรือที่รู้จักกันสั้นๆว่า “ทู้ท” เป็นนักเป่าฮาร์โมนิกาหรือที่รู้จักกันทั่วไปว่าหีบเพลงปาก ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก เขาเป็นคนยกระดับให้เครื่องดนตรีเด็กเล่นนี้ ให้โลกได้รับรู้ถึงศักยภาพไม่รู้จบของมัน ซึ่งรังสรรค์เสียงเพลงออกมาได้ไม่ด้อยกว่าเครื่องดนตรีชนิดใดเลย นอกจากนี้ทู้ทยังเป็นเลิศในเรื่องผิวปาก และยังเป็นนักกีตาร์แจ๊สฝีมือดีด้วย
ในวันนี้ของปู่ทู้ท ธีลแมน ยังแข็งแรง ออกแสดงคอนเสิร์ตเป็นประจำ ด้วยวัย 88 ปี เกิดเมื่อ 29 เมษายน 1922 ที่กรุงบรัสเซล ประเทศเบลเยียม เริ่มส่อแววทางดนตรีให้เห็นตั้งแต่ตอนเขาอายุ 3 ขวบ ด้วยการเล่นแอคคอร์เดียน ซื้อฮาร์โมนิกามาเป่าเล่น เป็นงานอดิเรก ตอนอายุ 17 ต่อมาเพื่อนได้แนะนำให้รู้จักกับดนตรีแจ๊ส ในช่วงปี 1940 หลังจากได้ฟังเสียงทรัมเป็ตของหลุยส์ อาร์มสตรอง ถึงกับเบนเข็มทิศทางชีวิต ที่มุ่งไปสู่ความเป็นวิศวกร หรืออาจารย์ในมหาวิทยาลัย เอนเอียงไปทางดนตรีจนกู่ไม่กลับ เส้นทางดนตรีเริ่มจากการเข้าร่วมเล่นอยู่ในวงกับเพื่อนๆ เป่าหีบเพลงปาก ฝีมือดีวันดีคืน จนช่ำชองในเครื่องดนตรีที่เหมือนของเด็กเล่นนี้ และต่อมาก็เล่นกีตาร์ด้วย เขาได้แผ่นเสียงของจังโก้ ไรน์ฮาร์ดเป็นครู และความรู้ทางดนตรีส่วนใหญ่ของทู้ท มาจากการออกภาคสนามลุยเล่นกับนักดนตรีต่างๆ เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงในระหว่างทำงานบนเวที จนฝีมือขึ้นไปอยู่ในระดับแนวหน้า
ทู้ทผงาดขึ้นไปสู่ระดับอินเตอร์ในปี 1950 เมื่อเขาออกทัวร์ยุโรปร่วมกับเบ็นนี กู้ดแมน ราชาแห่งสวิง แล้วรุกคืบไปถึงอเมริกา ในอีก 2 ปีต่อมา งานแรกในนครนิวยอร์ก ก็ได้เล่นกับชาร์ลี พาร์เกอร์ ผู้ที่เขาชื่นชมบูชาดั่งเทพเจ้า ทู้ทพิสูจน์ตัวเองจนได้รับการยอมรับจากชุมชนแจ๊ส จนถึงกับกลายพันธุ์แปลงสัญชาติเป็นอเมริกันในเวลาต่อมา ทศวรรษห้าสิบผ่านไปอย่างราบรื่น ด้วยงานประจำกับจอร์จ เชียริง (George Shearing) นักเปียโนอังกฤษ นานถึง 6 ปี จนกระทั่งปี 1959 ทู้ทย้ายกลับไปตั้งหลักที่สวีเดน ฐานเก่าที่เขายังมีแฟนเพลงหนาแน่นอยู่ ตั้งแต่ช่วงก่อนไปอเมริกา แล้วเขาก็เจอส้มหล่นกับเพลง Bluesette ในปี 1962 แล้วในช่วง 4 – 5 ปีต่อมา เขาผันตัวเป็นมือปืนรับจ้างเต็มตัว รับงานอัดเสียงในสตูดิโออยู่ที่นิวยอร์กเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นงานเพลงโฆษณา, งานเพลงประกอบหนัง รวมไปถึงงานเพลงทั่วไป
ช่วงต้นทศวรรษแปดสิบ ทู้ทได้มาร่วมงานกับจาโค เพสตอเรียส ผู้ปฏิวัติการเล่นแจ๊สเบสสมัยใหม่ที่ทรงอิทธิพลที่สุด เขาฝากเสียงหีบเพลงปากในอัลบั้มวง Word of Mouth (1981) และยังได้ร่วมออกคอนเสิร์ตกับวงนี้ด้วย ผลงานภายใต้ชื่อตัวเอง เริ่มทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง หลังเลยผ่านวัยที่คนทั่วไปเกษียณแล้ว อัลบั้ม The Brasil Project (1992 – 1993) ที่เขาไปร่วมเล่นกับนักดนตรีบราซิล 2 ชุด ทำได้น่าฟังมาก ยังมีชุด Chez Toots (1998) เป็นเพลงฝรั่งเศสล้วนๆ ฟังแล้วผ่อนคลายดี และ Toots Thielemans & Kenny Werner (2001) ผลงานแสดงสดร่วมกับนักเปียโนคู่ใจ ซึ่งร่วมงานกันมากว่า 10 ปีแล้ว เป็นตัวตนที่แท้จริง ทำในสิ่งที่อยากจะทำของทู้ท
เครื่องดนตรี
อาวุธประจำกายของปู่ทู้ท เป็น Chromatic Harmonica ยี่ห้อ Hohner ที่ทำตามสเป็กที่ท่านต้องการ มีความกว้างของเสียง 3 อ็อกเทฟ เท่ากับฟลู้ต สามารถปรับตั้งเสียงได้ ฮอห์เนอร์ทำรุ่นลายเซ็นของทู้ทออกมา 2 รุ่น Mellow Tone สำหรับแนวหวาน และ Hard Bopper สำหรับแนวร่วมสมัย กีตาร์คู่ใจจะเป็นกิ๊บสัน ES - 175 รุ่นยอดนิยม ที่นักกีตาร์แจ๊สรุ่นใหญ่ใช้กันมาก ส่วนเสียงผิวปาก เป็นปาก รุ่นปี 1922 ผลิตจากเบลเยียม
ความเป็นมาของเพลง
ไอเดียบรรเจิดของ "Bluesette" เกิดขึ้นระหว่างที่แชร์ห้องแต่งตัวร่วมกับสเตฟาน เกรพเพลลี (Stephane Grappelli) นักไวโอลินผู้ร่วมสร้างตำนานกับจังโก้ ไรน์ฮาร์ด นักกีตาร์ในดวงใจของทู้ท ขณะเตรียมตัวแสดงคอนเสิร์ตร่วมกัน ที่มหาวิทยาลัยบรัสเซล สถาบันเก่าที่เขาเคยศึกษาเมื่อกว่า 20 ปีก่อนหน้านั้น ทู้ทเล่าว่า
“ทำนองเพลงลอยพุ่งเข้ามาหาเอง ในระหว่างที่ผมกำลังตั้งสายกีตาร์ ขยับทางคอร์ดบลูส์ แล้วฮัมทำนองออกมา สเตฟานถึงกับเอ่ยปากชม ถามว่า เพลงอะไร? ผมตอบไปว่า ท่านเป็นแรงบันดาลใจ ท่านเลยบอกให้รีบจดบันทึกไว้ทันทีเลย ผมตั้งชื่อเพลงว่า "Blue-ette” หมายถึง ดอกไม้สีน้ำเงิน ในเบลเยียม”
พอไปทำการแสดงที่สวีเดน ซึ่งทู้ทไปสร้างชื่อไว้จนโด่งดัง เป็นที่รู้จักกันดี เขาต้องมีเพลงโชว์สำหรับรายการ ซึ่งได้บอกไปว่ามีอยู่ แล้วรีบเขียนทางคอร์ดให้คนเล่นเปียโน พอบอกชื่อเพลงไป ก็โดนแย้งกลับมาว่า เอ๊ะ! นี่มันบลูส์ ไม่ใช่เหรอ? ทำไมไม่เติม s เข้าไปด้วย? ก็เลยได้ชื่อ "Bluesette" ตั้งแต่นั้นมา
Music Analysis
“Bluesette” เป็นแจ๊สสแตนดาร์ดในลีลาแจ๊สวอลท์ ทำนองสวย พลิ้วหวาน โน้มนำให้คล้อยตาม ติดตามฟังไปจนจบ ในส่วนของทางคอร์ด ตอนที่วิเคราะห์เพลง “Blues For Alice” ผมเคยบอกไว้ว่า ถ้าวิเคราะห์ทางคอร์ดดู จะเห็นว่าในช่วงครึ่งแรกของเพลง “Bluesette” นั้น โครงสร้างถอดแบบไปจาก “Blues For Alice” เลย แต่ “Bluesette” จะเล่นทุกคอร์ดซ้ำ ขยายฟอร์มบลูส์ 12 ห้อง ให้กลายเป็นบลูส์ 24 ห้อง ดังนั้น 12 ห้องแรกของ “Bluesette” จะมีโครงสร้างแบบเดียวกันกับ 6 ห้องแรกของ “Blues For Alice” ดูจากการจับคู่ โยงลูกศร เชื่อมความสัมพันธ์ บวกกับอักษรโรมัน ที่บ่งบอกถึงคอร์ดในคีย์ ก็น่าจะมองเห็นทะลุปรุโปร่งกันแล้วนะครับ ในช่วงครึ่งหลังของ “Bluesette” จะเป็นทางคอร์ดที่เปลี่ยนคีย์ ถอยลงเป็นหนึ่งเสียงเต็ม (Whole Step) ในลักษณะเดียวกับเพลง Tune Up ของ Miles Davis ซึ่งเริ่มต้นมาแล้วตั้งแต่ Eb ลงมาหา Db แล้วลงมาที่ Cb ก่อนที่จะย้อนกลับบ้านคีย์ Bb ด้วยคอร์ดทูไฟฟ์ Cm7 – F7 เกลาหลอกไปหาคอร์ดแทนของหนึ่ง (I) คือคอร์ดสามไมเนอร์ (Dm7) ซึ่งเคลื่อนลงไปหาคอร์ดสองไมเนอร์ (Cm7)ในแบบโครแมติกทูไฟฟ์วัน แล้วตามด้วยคอร์ดห้า (F7) ส่งกลับไปหัวเพลง
เวอร์ชันเด็ดของ "Bluesette"
“Bluesette” ดังมาก จนกลายเป็นแจ๊สสแตนดาร์ด มีศิลปินนับร้อยที่นำเพลงนี้ไปบันทึกเสียง พูดได้เต็มปากว่า ทู้ทสามารถดำรงชีพอย่างสบายจากค่าลิขสิทธิ์ของเพลงนี้เพลงเดียว และเพลงนี้ยังสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวทู้ท ซึ่งได้เปิดตัวโชว์เสียงผิวปาก ให้เป็นสีสันดนตรีใหม่ขึ้นมาด้วย จากโดยธรรมชาติที่เป็นคนอารมณ์ดี ชอบผิวปากเล่นอยู่เป็นนิจ ต้นตอของไอเดียบรรเจิดนี้ มาจากความประทับใจกับวิธีการนำเสนอตัวเองของนักเบสใหญ่ สแลม สจ๊วต ซึ่งจะร้องฮัมทำนองคู่ไปกับเสียงเบสที่เขาสี จนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่นของสแลม จุดประกายให้ทู้ทอยากจะทำอะไรในลักษณะนี้บ้าง เขาจึงลองเล่นกีตาร์ประกบไปกับเสียงผิวปาก ซึ่งได้ความลงตัวดีมาก จนนับได้ว่าเป็นนวัตรกรรมใหม่ชิ้นหนึ่งของดนตรีแจ๊ส ต่อมานักร้องทั้งหลายได้เฮ เมื่อนักแต่งเนื้อร้องชื่อดัง นอร์แมน กิมเบิล แต่งคำร้องให้กับบลูเส็ตต์ ทำให้เกิดเพลงฮิตอีกหลายเวอร์ชันจากนักร้องหลายคน
ทู้ทอัดเสียง “Bluesette” ครั้งแรก ให้กับค่ายแผ่นเสียง Metronome ของสวีเดน ในปี 1962 แบ็กอัพโดย 2 ยอดนักดนตรีอเมริกัน Dick Hyman (ออร์แกน) และ Don Lamond (กลอง) เวอร์ชันแรกต้นแบบของเพลงนี้ อยู่ในอัลบั้ม The Whistler and His Guitar (ABC Music 482) ของทู้ท ซึ่งเขาได้วางรูปแบบ เนื้อหาสาระหลักๆในการนำเสนอตรงนี้ไว้ ให้เป็นพิมพ์เขียวสำหรับการเล่นครั้งต่อๆไป ทู้ทโชว์เสียงผิวปากโดยมีเสียงกีตาร์ประกบคู่แปดไปตลอด ตั้งแต่เริ่มทำนองเพลง โซโล แล้วกลับไปทำนองเพลง ส่งท้ายจนจบ อัลบั้มนี้คงไม่มีวางขายทั่วไป ใครที่อยากฟัง ก็ต้องออกแรงหาหน่อย
ทู้ทเอาเพลงเก่ง “Bluesette” ไปใช้ประโยชน์สูงสุด คุ้มค่ามาก เฉพาะอัลบั้มของเองก็มีอยู่หลายเวอร์ชัน แต่เวอร์ชันที่อ้างอิงกัน น่าจะเป็นอันที่มาจากการแสดงสด ซึ่งทู้ทขึ้นต้นด้วยมาเดี่ยวด้วยกีตาร์สำเนียงบลูส์ เน้นตามด้วยคอร์ดที่ปูทางให้ทำนองหลักตามมา มีออร์แกนและกลองแบ็กอัพ แต่เล่นกันอย่างมีชีวิตชีวากว่าเวอร์ชันแรกมาก ผมมีเพลงนี้ ในแผ่นเสียงชุด “Bluesette” ของโพลีดอร์ เยอรมัน ซึ่งโดนปลวกกินไปแล้ว ถ้าเป็นซีดีรุ่นใหม่ ก็จะอยู่ในชุดรวมเพลง Toots Thielemans 1955-1978 (Columbia) หรือ The Silver Collection (Verve)
นอกจากจะได้ค่าลิขสิทธิ์แต่งเพลงแล้ว ทู้ทยังรับสองเด้งจากค่าเล่นอัดเสียงด้วย เมื่อเบ็นนี กู้ดแมน ผู้เปิดทางให้เขา เล่นเพลงนี้ใน Blues in the Night [Reader's Digest] หรือควินซี โจนส์ ใน Mellow Madness (A&M)
เวอร์ชันสำหรับนักกีตาร์หลายคนที่นำ “Bluesette” ไปตีความใหม่ ในอัลบั้ม Guitar/Guitar (1963) โดย Herb Ellis นักกีตาร์แจ๊สรุ่นใหญ่ จับคู่กับ Charlie Byrd นักกีตาร์แจ๊สเหมือนกัน แต่ใช้กีตาร์คลาสสิกสายไนลอนเล่น สองคนนี้เขารู้ทางกัน เล่นด้วยกันมานาน ไหลกันลื่น ฟังเพลินดีครับ คนที่อยู่ก๊วนเดียวกันอย่าง Joe Pass เล่น “Bluesette” กับเจ้านายเก่าของทู้ท George Shearing ชุด Here & Now ตั้งแต่ปี 1966 ที่เขาเป็นลูกวงช่วงนั้น และอีกเกือบสิบปีต่อมาเขาเล่นคู่กับนักร้อง Ella Fitzgerald โจเล่นประกอบและโซโลได้เยี่ยม และเขายังเล่นเดี่ยวใน Blues Dues (Live At Long Beach City College) (1998) เทพกีตาร์แจ๊สจากแคนาดา Ed Bickert ผู้มีเอกลักษณ์ด้วยเสียงเทเลแคสเตอร์ เล่น “Bluesette” ในบรรยากาศสบายๆกับ Don Thompson ซึ่งปกติเล่นเบส แต่เป็นคนเปียโนใน Dance to the Lady (Sackville)
“Bluesette” มีอีกมากมายหลายเวอร์ชันครับ แต่ฟังไป ฟังมาแล้ว ถ้าไม่ได้ยินเสียงผิวปาก หรือหีบเพลงปากของทู้ทอยู่ด้วย มันจะรู้สึกมีบางสิ่งบางอย่างขาดหายไป เหมือนกับว่าเป็น “Bluesette” ที่ไม่สมบูรณ์ ผมคิดว่าเสน่ห์ของปู่ทู้ทแรงขนาดนั้นครับ
(ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสาร Overdrive ฉบับที่ 144 กันยายน 2010)
Labels:
Jazz Standards
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
อ่านบทความนี้ทีไร ก็นึกถึงอาจารย์ปู่ทุกที
ReplyDelete