Sunday, August 5, 2012

What A Wonderful World

.

เสียงประทัด เสียงพลุก็หยุดไปนานแล้ว ตั้งแต่หมดเทศกาลกินผัก แต่เสียงรถหวอก็ยังไม่เคยขาด ยังดังให้ได้ยินทุกวันเป็นแรมปีแล้ว บางวันก็ได้ยินหลายครั้ง เจ้าเสียงพิษที่เป็นเสียงหวอรัวถี่แผดลั่น หรือไม่ก็เกิดจากการผสมของสองเสียงที่ไม่สมพงษ์กัน บันดาลให้เกิดเป็นคู่เสียงกระด้างในทางดนตรี ในระดับความถี่ที่เข้าไปกวนประสาท ฟังแล้วระคายหู แม้แต่หมายังทนไม่ได้ ทำให้มันต้องหอน ร้องขานรับทุกครั้งที่ได้ยิน และในทุกครั้งที่ได้ยินเสียงหวอ ผมจะต้องจินตนาการถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นกับชีวิต ซึ่งน่าจะป้องกันได้ แต่......จะต้องมีอีกกี่ชีวิตที่ต้องสังเวยกับความงี่เง่าของคนที่มีหน้าที่จัดระเบียบสังคม ที่พวกเขาจะตื่นขึ้นมาจัดการให้ภูเก็ตเป็นเมืองน่าอยู่ เหมือนกับที่พวกเขากำลังขายฝันอยู่ และในระหว่างที่พวกเรารอกัน ก็คงต้องทนฟังเสียงหวอไปพลางๆก่อน แต่ว่าอย่าทนรอให้เครียดกันอยู่เลยครับ ไปหาเพลงเพราะๆ มีทัศนะคติที่เป็นบวกฟังกันดีกว่า

What A Wonderful World เพลงที่ใครๆก็รู้จักกันดี เพลงที่ทำให้ผู้คนรุ่นใหม่มากมายได้รู้จักกับหลุยส์ อาร์มสตรอง เพลงที่ใครๆฟังแล้วสบายใจ เพลงที่ผมอยากจะแบ่งปันข้อมูลที่ไปเจาะลึกมา เผื่อว่าจะได้ฟังเพลงนี้ให้ลึกซึ้งกว่าเก่า

ย้อนกลับไปดูปูมหลังของเพลง What A Wonderful World ซึ่งกว่าจะมาเป็นเพลงดังให้คนชื่นชมกันทั้งโลก ต้องเจออุปสรรคอยู่ไม่น้อย ไม่ได้มาแบบราบรื่น สดใส วันเดอร์ฟูลเหมือนชื่อเพลงเลย

เพลงนี้เป็นผลงานร่วมของบ็อบ ไธล์ (Bob Thiele) โปรดิวเซอร์ชื่อดังของแจ๊ส ซึ่งจะเอาชื่อของลุง 4 คน มาผสมกันเป็นนามแฝง สำหรับผลงานแต่งเพลงของเขา เครดิตเพลงนี้เขาใช้ชื่อ จอร์จ ดักลาส (George Douglas) แต่งร่วมกับจอร์จ เดวิด ไวส์ (George David Weiss) นักแต่งเพลงมืออาชีพ ผู้มีผลงานมากมาย ทั้งคู่ตั้งโจทย์ของเพลงใหม่นี้ ให้เป็นการมองโลกในแง่บวก ด้วยความมุ่งหวังสู่อนาคตที่ดีกว่า ในช่วงที่สังคมอเมริกาวุ่นวายด้วยปัญหาต่างๆมากมาย เดิมทีพวกเขาตั้งใจจะแต่งให้โทนี เบ็นเน็ต (Tony Bennett) นักร้องแจ๊สชื่อดัง เป็นผู้ร้อง แต่พอเอาผลงานไปเสนอ กลับกลายเป็นว่า โดนศิลปินใหญ่ปฏิเสธ ไม่ได้ให้ความสนใจกับเพลงที่เรียบง่ายนี้ เลยหน้าแตกกลับไป ต้องเปลี่ยนแผน เอามาให้หลุยส์ อาร์มสตรองร้องบันทึกเสียง ออกวางจำหน่ายเป็นแผ่นซิงเกิ้ล แต่ก็ทำยอดได้ต่ำมาก ขายได้ไม่ถึงพันแผ่น สาเหตุใหญ่มาจากที่เจ้านายใหญ่ของค่ายแผ่นเสียง ABC ดันไม่ชอบเพลงนี้ เลยพาลไม่อนุมัติงบโปรโมต เมื่อเพลงไม่ได้เข้าถึงหูคนฟัง ก็ไม่มีใครรู้จัก ไม่ได้แจ้งเกิดในบ้านตัวเอง แต่ของดีแท้ ย่อมต้องมีคนเห็นคุณค่าจนได้ What A Wonderful World ข้ามฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก ไปฮิตติดชาร์ตขึ้นถึงอันดับหนึ่งที่อังกฤษ ทำให้หลุยส์ต้องถูกบันทึกสถิติให้เป็นศิลปินชายที่อายุมากที่สุด ในวัยหกสิบหกกับอีกสิบเดือน และยังเบิ้ลสองเด้งเป็นแชมป์แผ่นเสียงซิงเกิ้ลขายดีที่สุดของปี 1968 อีกด้วย








What A Wonderful World กลับมาดังอีกครั้งหนึ่งในปี 1988 เมื่อถูกนำมาใช้เป็นเพลงประกอบหนัง Good Morning, Vietnam ที่เข้ามาถ่ายทำในประเทศไทย ซึ่งมีดาราสาวไทย จินตหรา สุขพัฒน์ เข้าร่วมแสดงด้วย รับบทดารานำฝ่ายหญิงประกบพระเอกอารมณ์ดี โรบิน วิลเลียม และถ้าใครตาแหลมสังเกตในชั้นเรียนภาษาอังกฤษเดียวกับคุณแหม่ม จินตหรา ดูดีๆ จะเห็นเจ้าพ่อเพลงรัก บอย โกสิยพงษ์ ในช่วงวัยหนุ่มละอ่อนมานั่งร่วมแจมเป็นนักเรียนด้วย และเท่าที่ผมได้เคยรับทราบมา เกี่ยวกับในส่วนของเพลง What A Wonderful World ของหนังเรื่องนี้ว่า ทีมงานทำหนังมาปิ๊งกับเพลงนี้ที่กรุงเทพฯนี้เอง จนถึงกับเอาไปใส่เป็นเพลงประกอบหนัง และเกร็ดที่น่าสนใจอีกอย่าง คือ เหตุการณ์ในหนังนั้น จำลองเรื่องที่เกิดขึ้นในปี 1965 แต่เพลงนั้นออกวางขายครั้งแรกในวันปีใหม่ของปี 1968



หลุยส์ อาร์มสตรอง เป็นเสาหลักเสาแรกของดนตรีแจ๊ส เขาเป็นนักด้นต้นแบบ ผู้วางรากฐานให้คนอื่นเดินตามตั้งแต่ทศวรรษที่ยี่สิบ อาร์มสตรองเป็นซูเปอร์สตาร์คนแรกของแจ๊ส เขาเป็นผู้นำแห่งศิลปแขนงใหม่ ที่คนทั้งโลกชื่นชม แม้ในช่วงที่ผ่านยุครุ่งเรืองไปแล้ว เขาได้พลิกผันชีวิตจากนักดนตรีสุดยอดแห่งแจ๊สมาเป็นศิลปินนักรัอง จากเสียงร้องที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่ใครได้ฟังแล้วมีความสุข แล้วยังเป็นความสามารถเฉพาะตัวที่ช่วยสร้างอาชีพ ให้คนเอาไปลอกเลียนแบบเสียงแหบ และลีลาท่าทางของหลุยส์ ทำมาหากินต่อได้อีกนับจำนวนไม่ถ้วน ด้วยบารมีแห่งดนตรีที่มากล้น ไม่ได้จำกัดเฉพาะในดนตรีแจ๊สที่เขาถูกตีตราไว้ อิทธิพลของหลุยส์แผ่กว้างครอบคลุมไปทั่วในจักรวาลแห่งดนตรี ถึงกับได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในศิลปินยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษที่ยี่สิบ





แล้วตามผมไปฟังเวอร์ชันอื่นของ What A Wonderful World บ้างครับ

ศิลปินชายจากเกาะฮาวาย Israel Kamakawiwo'ole หรือ Iz นักร้องหุ่นซูโม่ น้ำหนักตัวกว่า 300 กิโลกรัม แต่กลับเล่นยูคูลีลีตัวจิ๋ว เครื่องดนตรีสามัญประจำบ้านของคนฮาวาย ที่รูปร่างเหมือนกีตาร์ แต่ตัวเล็กกว่ามาก และมีแค่ 4 สาย อัลบั้ม Facing Future ในปี 1993 ของอิซ ทำให้คนนอกเกาะได้ลิ้มรสของดีจากฮาวาย เพลงเด็ดที่เขาเริ่มต้นอย่างเรียบง่าย ด้วยการตีคอร์ดยูคูลีลีในลีลาเร็กเกนำร่องมาก่อน ตามด้วยเสียงฮัมทุ้ม นุ่มลึก ก่อนไหลเข้าเพลง Over the Rainbow แล้วเชื่อมเข้า What a Wonderful World อย่างต่อเนื่อง แนบเนียนไร้รอยต่อ นำพาคนฟังให้เข้าสู่ภวังค์แห่งความสดใส สลัดทุกข์ใดๆที่มีอยู่ในขณะนั้นออกไปจากใจ จนไร้กังวล นี่เป็นอีกเวอร์ชันหนึ่งที่ดีและดัง









เค็นนี จี นักเป่าแซ็กโซโฟนเสียงอ้อนสาว อาศัยเทคโนโลยีของการบันทึกเสียงสมัยใหม่พาตัวเขาย้อนเวลาหาอดีต เข้าไปร่วมเล่น What A Wonderful World กับหลุยส์ อาร์มสตรอง ในอัลบั้ม Classics in the Key of G (1999) ซึ่งทำให้แพ็ท เมธีนี นักกีตาร์แจ๊สระดับแนวหน้า รับไม่ได้กับการกระทำเยี่ยงนี้ของเค็นนี จี ซึ่งเขาถือว่าเป็นการลบหลู่ ไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง เป็นการบังอาจไปทาบรัศมีกับเสาหลักแห่งแจ๊ส เขาถึงกับออกแถลงการณ์เป็นลายลักษณ์อักษร ประณามเค็นนี จี อย่างสาดเสียเทเสียด้วยความเกรี้ยวกราด ผิดวิสัยที่ปกติเป็นคนสุภาพเรียบร้อย จนบานปลายกลายเป็นเรื่องใหญ่ในชุมชนแจ๊ส มีการตั้งกระทู้แสดงความเห็นกันมากมาย ซึ่งคอแจ๊สส่วนใหญ่จะช่วยกันรุมขย้ำนักเป่าแซ็กผมหยิกหยอยอย่างไม่ปราณีปราศรัย ในขณะที่แฟนเพลงของเค็นนี จี เพลิดเพลินกับเสียงร้อง ที่ศิลปินโปรดของเขานำมาประดับในอัลบั้ม ทำให้ได้รู้จักกับหลุยส์ อาร์มสตรอง










ในส่วนของโทนี เบ็นเน็ต ผู้ปล่อยให้โอกาสหลุดลอยไปอย่างน่าเสียดายในครั้งแรก ต้องกลายเป็นผู้เกาะกระแส อัดเสียงเวอร์ชันแรกของเขาในปี 1970 ชุด Tony Bennett's Something และได้ทิ้งช่วงยาวกว่า 30 ปี จนปี 2002 จึงมาร้องใหม่อีกครั้งร่วมกับนักร้องสาว เคดี แลงก์ ในอัลบั้ม A Wonderful World ก็น่าฟังดีครับ แม้จะไม่ใช่เวอร์ชันเด็ด เช่นเดียวกับของร็อด สจ๊วต เจ้าของฉายาเสียงร้องแหบเสน่ห์แห่งร็อก ผู้เอนเอียงมาเน้นนำเสนอในเส้นทางแจ๊สสแตนดาร์ดอย่างต่อเนื่องในช่วงระยะหลังนี้ ตั้งแต่ปี 2002 ด้วยเพลงชุด The Great American Songbook ซึ่งทยอยออกมาแล้ว 5 ชุด เขาร้อง What A Wonderful World ในอัลบั้มลำดับสาม ชุด Stardust ได้เชิญสตีวี วันเดอร์มาเป็นตัวช่วย เป่าฮาร์โมนิกาเสริมสีสันด้วย













อีวา แคสสิดี (Eva Cassidy) นักร้องสาวผู้อาภัพจากวอชิงดัน ดีซี นครหลวงของอเมริกา ซึ่งดังหลังตาย เธอร้องเพลง What A Wonderful World จากอัลบั้มล่าสุด Live at Blues Alley ที่เพิ่งเปิดตัวไม่นาน ปิดท้ายการแสดงครั้งสุดท้ายของตัวเองในปี 1996 ต่อหน้าผู้คนที่ใกล้ชิด ก่อนที่จะร้องเพลงไม่ได้อีกแล้ว และลาจากโลกไปในอีกไม่นานหลังจากนั้น ด้วยวัยแค่ 33 ปี แคสสิดีได้สร้างความประทับใจไว้มากกับเด็กสาวคนหนึ่ง ที่อพยพมาอยู่อังกฤษ จากจอร์เจีย ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย ตั้งแต่อายุ 8 ขวบ ซึ่งแม้เมื่อในภายหลังต่อมา ตัวเธอได้กลายเป็นนักร้องชื่อดังของอังกฤษ ก็ยังไม่ลืมที่จะนำมาเทิดทูนบูชาครู ในรูปแบบของการนำเสนอร่วมกัน นั่นคือ เวอร์ชันปี 2007 ของเคที มาลัว (Katie Melua) ที่มาร้อง What A Wonderful World ร่วมกับอีวา แคสสิดี เพื่อหาทุนสมทบกาชาด ซึ่งแฟนเพลงชาวอังกฤษก็ได้ช่วยกันบริจาค ร่วมทำบุญซื้อซีดีเพลงนี้ จนพุ่งขึ้นติดอันดับหนึ่งของยูเคชาร์ต ในเดือนธันวาคม ปี 2007 เวอร์ชันนี้หวานมาก ที่เมื่อได้ฟังแล้ว ยากที่จะไม่หลงรักอีวา แคสสิดี












ยามใดที่รู้สึกเลวร้ายกับสิ่งรอบๆตัวคุณ ฟัง หรือร้อง หรือคิดถึงเพลง What A Wonderful World คิดถึงคำพูดของ หลุยส์ อาร์มสตรองที่บอกไว้ ตอนขึ้นต้นเพลงนี้ เวอร์ชันที่เขาบันทึกเสียงเป็นครั้งสุดท้าย เขาว่าตัวโลกนั้นไม่ได้เป็นปัญหา มีแต่คนที่สร้างปัญหาให้กับโลก เคล็ดลับในการแก้ปัญหาที่วุ่นวายอยู่นี้ คือ ความรัก ความรัก และความรัก เทความรักให้กันมากๆ แล้วโลกจะดีเอง จะเป็นวันเดอร์ฟูลเวิร์ลด์สำหรับทุกคน





เพลงนี้เนื้อร้องความหมายดีมาก เลยเอามาปิดท้ายให้อ่านกัน เวลาเปิดเพลงฟังก็จะได้ร้องตามได้เลยครับ

What A Wonderful World

I see trees of green, red roses too
I see them bloom for me and you
And I think to myself, what a wonderful world

I see skies of blue and clouds of white
The bright blessed day, the dark sacred night
And I think to myself, what a wonderful world

The colors of the rainbow, so pretty in the sky
Are also on the faces of people going by
I see friends shakin' hands, sayin' "How do you do?"
They're really saying "I love you"

I hear babies cry, I watch them grow
They'll learn much more than I'll ever know
And I think to myself, what a wonderful world
Yes, I think to myself, what a wonderful world

Oh yeah!



(ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสาร Phuket Bulletin ฉบับที่ 103 ธันวาคม 2010)