Saturday, April 21, 2012

Music Of Hawaii

บทความนี้ ผมขอเอามะพร้าวห้าวจากชาวเกาะภูเก็ตมาขายสวนให้กับชาวเกาะฮาวาย ฝากความคิดถึงอย่างแรง ให้กับเพื่อนรักที่ไม่ได้เจอกันกว่า 30 ปี

มีเหตุการณ์หลายอย่างมาเป็นส่วนประกอบให้หน้าโลว์ของการท่องเที่ยวภูเก็ต ลดระดับลงไปถึงขนาดซูเปอร์โลว์ มันเงียบถึงขนาดที่พรรคพวกซึ่งเปิดร้านขายของอยู่แถวกะตะเปรียบเปรยให้ฟังว่า ถ้าเอากระป๋องมาเตะกลางถนน เสียงสะท้อนจะก้องได้ยินไปไกลทั้งตลาดเลย แต่ในความหงอยเหงาของเหล่าผู้ประกอบการทั้งหลาย กลับเป็นการคืนความสงบเล็กๆให้กับชาวบ้านที่ไม่ได้มีส่วนได้เสียกับธุรกิจการท่องเที่ยว ซึ่งพวกเขาต้องทนกับความเปลี่ยนแปลงอย่างไร้รูปแบบที่กระหน่ำโหมมายิ่งกว่าสึนามิจนตั้งตัวไม่ทัน เช่นเดียวกับชาวเกาะฮาวายที่ไม่ชอบคนต่างถิ่น ที่เข้าทำลายทุกสิ่ง จนเหลือสิ่งที่เป็นฮาวายเพียงอย่างเดียวสำหรับพวกเขา คือ ดนตรี

ผมจะขอแนะนำให้ได้รู้จักกับตำนานที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของดนตรีฮาวาย แก๊บบี้ พาฮินิวอี (Gabby Pahinui) สุดยอดแห่งนักเล่นกีตาร์ฮาวาย ทั้งในแบบสตีลกีตาร์(Steel Guitar) และสแล็กคีย์กีตาร์ (Slack-Key Guitar)

แก๊บบี้ ชื่อจริง Charles Philip Pahinui (ชาตะ 22 เมษายน 1921 - มรณะ 13 ตุลาคม 1980) เขาเกิดมาจนและโตในย่านชุมชนแออัดของเมืองคาคาอะโค หลายชีวิตของครอบครัวอาศัยอยู่ในบ้าน ที่อยู่ในสภาพทรุดโทรม เขาเล่าว่า หลังคาสังกะสีที่คุ้มหัว ดูง่อนแง่นพร้อมที่จะหล่นลงมาตลอดเวลา พอโตขึ้นมาหน่อยเด็กชายแก๊บบี้ต้องทำงานหารายได้เสริมให้ครอบครัว ด้วยการเป็นเด็กขัดรองเท้าและขายหนังสือพิมพ์ ความแร้นแค้นขัดสนในชีวิตทำให้เขาต้องจบการศึกษาในโรงเรียนเพียงแค่เกรด 5 เทียบบ้านเราก็ ประถมห้า

แก๊บบี้เริ่มเล่นดนตรีราวอายุ 13 ปี ได้รับการยอมรับในฝีมือภายในช่วงเวลาไม่นาน เขาเริ่มเล่นกับชาร์ลี ไทนี่ บราวน์ และต่อมาได้สั่งสมประสบการณ์ร่วมเล่นกับนักดนตรีแนวหน้าของเกาะ พัฒนาฝีมือการเล่นสตีลกีตาร์จนเก่งกว่าใครอื่นทั้งหมด ในขณะเดียวกันก็ริหัดดื่มเหล้าไปด้วย จนปีศาจสุราได้เข้าสิงในตัวอย่างถาวร คอยติดตามทำลายล้างผลาญแก๊บบี้ไปตลอดชีวิต

ครั้งที่แล้วผมแนะนำให้รู้จักสตีลกีตาร์ หรือที่เรารู้จักกันทั่วไปว่า กีตาร์ฮาวาย ได้เขียนถึงวิธีการเล่นของมือ(ขวา)ที่ใช้ดีดสาย ซึ่งใช้ปิ้กเหล็กสวมนิ้ว แต่สำหรับแก๊บบี้ เขาจะใช้นิ้วดีดตรงๆไม่สวมปิ้กเหมือนคนอื่น ซึ่งเสียงที่ออกมาจะกลมกล่อมทุ้มน่าฟัง เขาให้เหตุผลของการใช้นิ้วสัมผัสสายโดยตรงว่า เป็นการถ่ายทอดจิตวิญญาณจากคนเล่นไปสู่เครื่องดนตรีได้ดีกว่า เหมือนหล่อหลอมให้คนกับกีตาร์เป็นหนึ่งเดียวกัน

เจมส์ บลา พาฮินิวอี ลูกชายคนหนึ่งของแก๊บบี้ ซึ่งเป็นนักสแล็กคีย์กีตาร์ฝีมือเยี่ยมคนหนึ่ง พูดถึงพ่อว่า

ผู้คนมากมายซาบซึ้งโดนใจกับพ่อ เพราะว่า เขาถ่ายทอดสิ่งที่อยู่ในใจออกมาแบ่งปัน ในรูปแบบที่ตรงและจริงใจ

ครับ, เสียงกีตาร์ของแก๊บบี้เป็นตัวสื่อจากใจคนเล่นไปยังใจคนฟัง ใครที่ได้ฟังแล้ว ยากที่จะไม่หลงใหล อยากฟังซ้ำแล้ว ซ้ำอีก อย่างไม่รู้เบื่อ

แม้ฝีมือการเล่นสตีลกีตาร์จะบรรลุในระดับชั้นเทพ แต่แก๊บบี้กลับเป็นที่รู้จักในเชิงสแล็กคีย์กีตาร์มากกว่า สำหรับผู้ที่ไม่ได้ติดตามฉบับที่แล้ว สแล็กคีย์กีตาร์ (Slack-Key Guitar) คือกีตาร์โปร่งธรรมดาทั่วไป ที่นำมาปรับตั้งสายใหม่ให้เป็นเสียงคอร์ด ซึ่งมีวิธีตั้งเสียงกันหลากหลายไม่ต่ำกว่า 30 แบบ การเล่นคล้ายกับแนวเกากีตาร์แบบปิ้กกิ้ง เป็นสไตล์ดนตรีที่ฟังสบายๆ ให้บรรยากาศแห่งความรื่นรมย์เช่นเดียวกับลีลาของกีตาร์ฮาวาย

แก๊บบี้เริ่มบันทึกเสียงการเล่นสแล็กคีย์กีตาร์ครั้งแรกในปี 1946 ตั้งแต่สมัยที่แผ่นเสียงยังทำด้วยครั่ง ใช้เครื่องเล่นไขลานแบบโบราณ ตัวบ่งบอกถึงความสำเร็จของดนตรีชาวเกาะฮาวายในยุคนั้น คือการได้ออกลุยเล่นไปทั่ว ตามบาร์ สถานบันเทิงต่างๆร่วมกับนักดนตรีเก่งๆ ผลงานเด่นที่นำมาอวดอ้างได้ในช่วงต่อมา คือ การได้เล่นถ่ายทอดออกอากาศทางวิทยุเป็นประจำ และเป็นสมาชิกรุ่นก่อตั้งของวง The Sons of Hawaii ร่วมกับ Eddie Kamae ในช่วงทศวรรษหกสิบ ซึ่งเป็นตัวจุดประกายก่อให้เกิดกระแสอนุรักษ์ดนตรีท้องถิ่นของฮาวาย ที่กำลังเลือนหายไป ให้กลับมามีคุณค่าคงอยู่ตลอดไป






ความสำเร็จในการทำงานที่ผลตอบแทนต่ำ ไม่เพียงพอที่จะจ่ายค่าเช่าบ้าน และเจียดเป็นค่าอาหารสำหรับเลี้ยงดูลูก 13 คนของแก๊บบี้ได้ เขาและเอมีลีคู่ชีวิตที่ร่วมหัวจมท้ายกันมาตั้งแต่ตอนอายุ 17 จึงต้องหอบหิ้วกระเตงครอบครัวใหญ่ย้ายถิ่นฐาน ไปปักหลักสร้างบ้านใหม่ที่ไวมานาโลในช่วงทศวรรษห้าสิบ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นแหล่งนัดพบของเหล่านักดนตรีในช่วงวันหยุด ที่แวะเวียนมาคารวะ และผลัดคิวเล่นดนตรีกันอย่างต่อเนื่องยาวนาน จากสว่างจนมืด มืดจนสว่างอีกครั้ง ใครหิวก็แวะเข้าครัว ตักกินเนื้อสตูว์ในหม้อที่อุ่นอยู่บนเตา ที่เตรียมรับแขกอยู่ตลอดเวลา มองออกไปข้างหลังบ้านจะเห็นกระป๋องและขวดเปล่าของเบียร์กองสุมเป็นภูเขาอยู่

แก๊บบี้ถอดใจกับอาชีพการเล่นดนตรี รับจ๊อบเป็นครั้งคราวเมื่อมีคนจ้างไปเล่นตามงานปาร์ตี้ เขาเปลี่ยนอาชีพไปทำงานโยธา แผนกซ่อมบำรุงถนน ทำอยู่ถึง 14 ปี จนกระทั่งเกิดอุบัติเหตุ ต้องลาออกเพราะร่างกายหมดสภาพที่จะทำงานต่อไป กระทั่งในปี 1971 ที่เลิกเล่นไปแล้ว มีเด็กหนุ่มสามคนมาติดต่อให้เขาบันทึกเสียงผลงานดนตรีที่เป็นฮาวายของแท้ สำหรับค่ายเพลงใหม่ Panini Productions ทำให้แก๊บบี้ต้องฟอร์มทีม ชวนคู่หูเก่าแก่ทางดนตรีมือเบส Manuel "Joe Gang" Kupahu และนักกีตาร์ Leland "Atta" Issacs ร่วมสมทบกับ Bla Pahinui, Cyril Pahinui, Philip Pahinui และ Martin Pahinui ลูกๆ 4 นาย ที่หล่นไม่ไกลต้น มาเป็นตัวประกอบ ผลที่ได้เป็นอัลบั้ม “Gabby” ซึ่งต่อมาเป็นที่รู้จักกันว่า “Brown Album” โดยเรียกจากเฉดสีซีเปียออกน้ำตาลของหน้าปกแผ่นเสียง นับเป็นผลงานระดับอนุสาวรีย์ของแก๊บบี้ จารึกความครบเครื่องในเชิงกีตาร์ฮาวายที่ไร้เทียมทาน รวมทั้งนำเอาเพลงลายเซ็นประจำตัว "Hililawe" ซึ่งเป็นเพลงแรกของแนวสแล็กคีย์กีตาร์ ที่ได้รับการบันทึกเสียงไว้ ตั้งแต่ตอนหนุ่ม ปี 1947 มาเบิกโรง และปิดท้ายด้วยเวอร์ชันอัดเสียงใหม่ เพลงเด่นอื่นๆ ก็มี "Ka Makani Ka'ili Aloha," "Royal Hawaiian Hotel," "Hula 0 Makee," และ "Aloha O'e"









The Gabby Pahinui Hawaiian Band, Volume One (1975) เป็นผลงานที่ได้ค่ายใหญ่อย่างวอร์เนอร์จัดจำหน่ายกระจายในวงกว้างไปทั่วโลก อีกทั้งยังได้ราย คูเดอร์ (Ry Cooder) ศิลปินระดับนักดนตรีของนักดนตรี ผู้ชื่นชมในตัวของแก๊บบี้ ขอแจมมีส่วนร่วมอย่างถ่อมตัว เก็บกีตาร์สงบนิ่งอยู่ในกล่อง เล่นแค่แมนโดลินและยูคูลีลี มาช่วยรับประกันคุณภาพ และหลังจากนั้นอีกไม่กี่เดือนต่อมา เสียงกีตาร์ฮาวายของแก๊บบี้มาแทนคำขอบคุณ เป็นตัวสีสันให้กับอัลบั้ม “Chicken Skin Music” ของราย คูเดอร์ ซึ่งเมื่อได้ฟังแล้วจะออกอาการขนลุกซู่เหมือนชื่ออัลบั้ม ที่ฝรั่งเปรียบเปรยเป็นเหมือนหนังไก่ สำหรับบ้านเราจะเป็นอาการขึ้นกรูด คือ ผิวจะเป็นตะปุ่มตะป่ำเหมือนผิวลูกมะกรูด ผมยังขึ้นกรูดทุกครั้งที่ฟังเพลงชุดนี้ ผมคิดว่าใครที่อยากจะฟังเสียงกีตาร์ฮาวายของแก๊บบี้ น่าจะควานหาซีดีชุดนี้ได้ง่ายกว่าชุดอื่น แต่สำหรับนักช็อปทางเน็ตคงหาฟังในฟอร์แมตต่างๆได้มากกว่าแน่นอน หาฟังไว้นะครับ ฟังแค่ตัวอย่างฟรี 30 วิ ก็ยังดี จะเป็นบุญหูอย่างมาก




ในจังหวะที่จะได้แจ้งเกิดใหม่ฟอร์มใหญ่ กลับกลายเป็นว่า ร่างกายหมดสภาพโดยสิ้นเชิง จากผลของการก๊งหนักอย่างไม่บันยะบันยังมานานปี บวกกับอาการบาดเจ็บเรื้อรังจากอุบัติเหตุงานโยธา วันสุดท้ายของแก๊บบี้ เขากลับถึงบ้านในตอนเช้า หลังจากกินเหล้า เล่นดนตรีทั้งคืน แล้วยังไปออกรอบตีกอล์ฟอีก จนเป็นลม ล้มหมดสติ ไปไม่กลับ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี .......ที่หลุม 11 ทำให้ตำนานแห่งฮาวายบทนี้ ต้องปิดฉากลงด้วยวัยแค่ 59 ปี

แก๊บบี้ฝากผลงานทรงคุณค่า 4 ชุดไว้กับคนหนุ่มฮาวายรุ่นหลัง ที่เห็นคุณค่าของดนตรีพื้นเมือง ได้อนุรักษ์และฟื้นฟูต่อไป


(ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสาร Phuket Bulletin ฉบับที่ 98 กรกฎาคม 2010)


4 comments:

  1. ถ้ามีใครได้นำข้อความเหล่านี้ มาอ่านให้ผมฟัง จะพนันกันก็ได้ว่า
    ผมจะรู้ได้ทันทีว่า นี่เป็นผลงานของ "อาจารย์เฒ่า" คนที่ผมรู้จักคน
    เดียวเท่านั้น

    ผมตื้นตันใจและภูมิใจ ที่ได้รับรู้ / รับเห็น / เป็นพยานว่า เมืองไทย
    ยังมีคนที่รัก, เข้าใจ และรู้แจ้งเห็นจริง กับดนตรีรอบโลก ด้วยมาตร
    ฐานสูง อย่างนี้

    ถ้าจะ "เอามะพร้าวห้าวจากชาวเกาะภูเก็ตมาขายสวนให้กับชาว
    เกาะฮาวาย" คงจะขายได้เละไปเลย ล่ะครับ..ผมว่า!
    คนฮาวายอย่างผม ได้อ่านแล้ว ก็ "ชี๊กเก่นสะกิน" ไปสามรอบ เลย
    จริงๆ!

    ขอให้สุขกายสบายใจนะครับ, อาจารย์
    อภิรักษ์.

    ReplyDelete
  2. ขอบคุณที่ได้สละเวลา เขียนเรื่องของ Django Reinhardt มาให้เราได้อ่านกัน
    ในภาคภาษาไทยแบบง่ายๆ, ไม่เลี่ยน และได้แรงอก (หรอยม่ากๆ!)

    ผมเองก็ยังคิดอยู่เสมอว่า จังโก้ และ พีระมิด มีลักษณะเฉพาะ ที่คล้ายคลึง
    กันในด้าน art & drama ที่ว่า:

    นอกจากความสวยงามและความยิ่งใหญ่ ของเนื้อหาที่ได้ทิ้งไว้ให้ชาวโลก
    ได้ชื่นหู ชื่นตา ชื่นใจกันแล้ว ยังได้ทิ้งลาย ไว้ให้เป็นการบ้านแก่ เหล่าอัจฉริ
    ยบุคคลรุ่นหลังทั้งหลาย ได้ลับสมองเกาหัว ทำบวก-ลบ-คูณ-หาร หาสูตร
    หาทฤษฎี มาแก้ปมแก้ปริศนา กันกับผลงานของมนุษย์โบราณระดับนี้ ต่อกัน
    ไปอีก ให้เป็นหลายชั่วโคตร, ร้อยๆพันๆปี ว่า..."มันทำกันได้ยังไง..หว่า!!!"

    อภิรักษ์.

    ReplyDelete
  3. ขอบใจมากเพื่อนรักที่แวะมาเยี่ยม
    วันก่อนผมตอบแล้ว แต่เน็ตมีปัญหา

    รักษาสุขภาพเช่นกันครับ
    ไปเยี่ยมบ้านเมื่อไหร่ ส่งข่าวล่วงหน้าด้วย
    คงไม่คลาดกันอีกครับ

    ReplyDelete
  4. ผมเคยเจอลูกศิษท์ อ. มาจากภูเก็ต ที่ร้าน Rex Video เห็นบอกว่า อ.ฝากซื้อด้วย อยากแจ้งว่าร้านจะปิดสิ้นปีนี้นะครับ

    ReplyDelete