บทความนี้ ผมขอเอามะพร้าวห้าวจากชาวเกาะภูเก็ตมาขายสวนให้กับชาวเกาะฮาวาย ฝากความคิดถึงอย่างแรง ให้กับเพื่อนรักที่ไม่ได้เจอกันกว่า 30 ปี
มีเหตุการณ์หลายอย่างมาเป็นส่วนประกอบให้หน้าโลว์ของการท่องเที่ยวภูเก็ต ลดระดับลงไปถึงขนาดซูเปอร์โลว์ มันเงียบถึงขนาดที่พรรคพวกซึ่งเปิดร้านขายของอยู่แถวกะตะเปรียบเปรยให้ฟังว่า ถ้าเอากระป๋องมาเตะกลางถนน เสียงสะท้อนจะก้องได้ยินไปไกลทั้งตลาดเลย แต่ในความหงอยเหงาของเหล่าผู้ประกอบการทั้งหลาย กลับเป็นการคืนความสงบเล็กๆให้กับชาวบ้านที่ไม่ได้มีส่วนได้เสียกับธุรกิจการท่องเที่ยว ซึ่งพวกเขาต้องทนกับความเปลี่ยนแปลงอย่างไร้รูปแบบที่กระหน่ำโหมมายิ่งกว่าสึนามิจนตั้งตัวไม่ทัน เช่นเดียวกับชาวเกาะฮาวายที่ไม่ชอบคนต่างถิ่น ที่เข้าทำลายทุกสิ่ง จนเหลือสิ่งที่เป็นฮาวายเพียงอย่างเดียวสำหรับพวกเขา คือ ดนตรี
ผมจะขอแนะนำให้ได้รู้จักกับตำนานที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของดนตรีฮาวาย แก๊บบี้ พาฮินิวอี (Gabby Pahinui) สุดยอดแห่งนักเล่นกีตาร์ฮาวาย ทั้งในแบบสตีลกีตาร์(Steel Guitar) และสแล็กคีย์กีตาร์ (Slack-Key Guitar)
แก๊บบี้ ชื่อจริง Charles Philip Pahinui (ชาตะ 22 เมษายน 1921 - มรณะ 13 ตุลาคม 1980) เขาเกิดมาจนและโตในย่านชุมชนแออัดของเมืองคาคาอะโค หลายชีวิตของครอบครัวอาศัยอยู่ในบ้าน ที่อยู่ในสภาพทรุดโทรม เขาเล่าว่า หลังคาสังกะสีที่คุ้มหัว ดูง่อนแง่นพร้อมที่จะหล่นลงมาตลอดเวลา พอโตขึ้นมาหน่อยเด็กชายแก๊บบี้ต้องทำงานหารายได้เสริมให้ครอบครัว ด้วยการเป็นเด็กขัดรองเท้าและขายหนังสือพิมพ์ ความแร้นแค้นขัดสนในชีวิตทำให้เขาต้องจบการศึกษาในโรงเรียนเพียงแค่เกรด 5 เทียบบ้านเราก็ ประถมห้า
แก๊บบี้เริ่มเล่นดนตรีราวอายุ 13 ปี ได้รับการยอมรับในฝีมือภายในช่วงเวลาไม่นาน เขาเริ่มเล่นกับชาร์ลี “ไทนี่” บราวน์ และต่อมาได้สั่งสมประสบการณ์ร่วมเล่นกับนักดนตรีแนวหน้าของเกาะ พัฒนาฝีมือการเล่นสตีลกีตาร์จนเก่งกว่าใครอื่นทั้งหมด ในขณะเดียวกันก็ริหัดดื่มเหล้าไปด้วย จนปีศาจสุราได้เข้าสิงในตัวอย่างถาวร คอยติดตามทำลายล้างผลาญแก๊บบี้ไปตลอดชีวิต
ครั้งที่แล้วผมแนะนำให้รู้จักสตีลกีตาร์ หรือที่เรารู้จักกันทั่วไปว่า กีตาร์ฮาวาย ได้เขียนถึงวิธีการเล่นของมือ(ขวา)ที่ใช้ดีดสาย ซึ่งใช้ปิ้กเหล็กสวมนิ้ว แต่สำหรับแก๊บบี้ เขาจะใช้นิ้วดีดตรงๆไม่สวมปิ้กเหมือนคนอื่น ซึ่งเสียงที่ออกมาจะกลมกล่อมทุ้มน่าฟัง เขาให้เหตุผลของการใช้นิ้วสัมผัสสายโดยตรงว่า เป็นการถ่ายทอดจิตวิญญาณจากคนเล่นไปสู่เครื่องดนตรีได้ดีกว่า เหมือนหล่อหลอมให้คนกับกีตาร์เป็นหนึ่งเดียวกัน
เจมส์ “บลา” พาฮินิวอี ลูกชายคนหนึ่งของแก๊บบี้ ซึ่งเป็นนักสแล็กคีย์กีตาร์ฝีมือเยี่ยมคนหนึ่ง พูดถึงพ่อว่า
“ผู้คนมากมายซาบซึ้งโดนใจกับพ่อ เพราะว่า เขาถ่ายทอดสิ่งที่อยู่ในใจออกมาแบ่งปัน ในรูปแบบที่ตรงและจริงใจ”
ครับ, เสียงกีตาร์ของแก๊บบี้เป็นตัวสื่อจากใจคนเล่นไปยังใจคนฟัง ใครที่ได้ฟังแล้ว ยากที่จะไม่หลงใหล อยากฟังซ้ำแล้ว ซ้ำอีก อย่างไม่รู้เบื่อ
แม้ฝีมือการเล่นสตีลกีตาร์จะบรรลุในระดับชั้นเทพ แต่แก๊บบี้กลับเป็นที่รู้จักในเชิงสแล็กคีย์กีตาร์มากกว่า สำหรับผู้ที่ไม่ได้ติดตามฉบับที่แล้ว สแล็กคีย์กีตาร์ (Slack-Key Guitar) คือกีตาร์โปร่งธรรมดาทั่วไป ที่นำมาปรับตั้งสายใหม่ให้เป็นเสียงคอร์ด ซึ่งมีวิธีตั้งเสียงกันหลากหลายไม่ต่ำกว่า 30 แบบ การเล่นคล้ายกับแนวเกากีตาร์แบบปิ้กกิ้ง เป็นสไตล์ดนตรีที่ฟังสบายๆ ให้บรรยากาศแห่งความรื่นรมย์เช่นเดียวกับลีลาของกีตาร์ฮาวาย
แก๊บบี้เริ่มบันทึกเสียงการเล่นสแล็กคีย์กีตาร์ครั้งแรกในปี 1946 ตั้งแต่สมัยที่แผ่นเสียงยังทำด้วยครั่ง ใช้เครื่องเล่นไขลานแบบโบราณ ตัวบ่งบอกถึงความสำเร็จของดนตรีชาวเกาะฮาวายในยุคนั้น คือการได้ออกลุยเล่นไปทั่ว ตามบาร์ สถานบันเทิงต่างๆร่วมกับนักดนตรีเก่งๆ ผลงานเด่นที่นำมาอวดอ้างได้ในช่วงต่อมา คือ การได้เล่นถ่ายทอดออกอากาศทางวิทยุเป็นประจำ และเป็นสมาชิกรุ่นก่อตั้งของวง The Sons of Hawaii ร่วมกับ Eddie Kamae ในช่วงทศวรรษหกสิบ ซึ่งเป็นตัวจุดประกายก่อให้เกิดกระแสอนุรักษ์ดนตรีท้องถิ่นของฮาวาย ที่กำลังเลือนหายไป ให้กลับมามีคุณค่าคงอยู่ตลอดไป
ความสำเร็จในการทำงานที่ผลตอบแทนต่ำ ไม่เพียงพอที่จะจ่ายค่าเช่าบ้าน และเจียดเป็นค่าอาหารสำหรับเลี้ยงดูลูก 13 คนของแก๊บบี้ได้ เขาและเอมีลีคู่ชีวิตที่ร่วมหัวจมท้ายกันมาตั้งแต่ตอนอายุ 17 จึงต้องหอบหิ้วกระเตงครอบครัวใหญ่ย้ายถิ่นฐาน ไปปักหลักสร้างบ้านใหม่ที่ไวมานาโลในช่วงทศวรรษห้าสิบ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นแหล่งนัดพบของเหล่านักดนตรีในช่วงวันหยุด ที่แวะเวียนมาคารวะ และผลัดคิวเล่นดนตรีกันอย่างต่อเนื่องยาวนาน จากสว่างจนมืด มืดจนสว่างอีกครั้ง ใครหิวก็แวะเข้าครัว ตักกินเนื้อสตูว์ในหม้อที่อุ่นอยู่บนเตา ที่เตรียมรับแขกอยู่ตลอดเวลา มองออกไปข้างหลังบ้านจะเห็นกระป๋องและขวดเปล่าของเบียร์กองสุมเป็นภูเขาอยู่
แก๊บบี้ถอดใจกับอาชีพการเล่นดนตรี รับจ๊อบเป็นครั้งคราวเมื่อมีคนจ้างไปเล่นตามงานปาร์ตี้ เขาเปลี่ยนอาชีพไปทำงานโยธา แผนกซ่อมบำรุงถนน ทำอยู่ถึง 14 ปี จนกระทั่งเกิดอุบัติเหตุ ต้องลาออกเพราะร่างกายหมดสภาพที่จะทำงานต่อไป กระทั่งในปี 1971 ที่เลิกเล่นไปแล้ว มีเด็กหนุ่มสามคนมาติดต่อให้เขาบันทึกเสียงผลงานดนตรีที่เป็นฮาวายของแท้ สำหรับค่ายเพลงใหม่ Panini Productions ทำให้แก๊บบี้ต้องฟอร์มทีม ชวนคู่หูเก่าแก่ทางดนตรีมือเบส Manuel "Joe Gang" Kupahu และนักกีตาร์ Leland "Atta" Issacs ร่วมสมทบกับ Bla Pahinui, Cyril Pahinui, Philip Pahinui และ Martin Pahinui ลูกๆ 4 นาย ที่หล่นไม่ไกลต้น มาเป็นตัวประกอบ ผลที่ได้เป็นอัลบั้ม “Gabby” ซึ่งต่อมาเป็นที่รู้จักกันว่า “Brown Album” โดยเรียกจากเฉดสีซีเปียออกน้ำตาลของหน้าปกแผ่นเสียง นับเป็นผลงานระดับอนุสาวรีย์ของแก๊บบี้ จารึกความครบเครื่องในเชิงกีตาร์ฮาวายที่ไร้เทียมทาน รวมทั้งนำเอาเพลงลายเซ็นประจำตัว "Hililawe" ซึ่งเป็นเพลงแรกของแนวสแล็กคีย์กีตาร์ ที่ได้รับการบันทึกเสียงไว้ ตั้งแต่ตอนหนุ่ม ปี 1947 มาเบิกโรง และปิดท้ายด้วยเวอร์ชันอัดเสียงใหม่ เพลงเด่นอื่นๆ ก็มี "Ka Makani Ka'ili Aloha," "Royal Hawaiian Hotel," "Hula 0 Makee," และ "Aloha O'e"
The Gabby Pahinui Hawaiian Band, Volume One (1975) เป็นผลงานที่ได้ค่ายใหญ่อย่างวอร์เนอร์จัดจำหน่ายกระจายในวงกว้างไปทั่วโลก อีกทั้งยังได้ราย คูเดอร์ (Ry Cooder) ศิลปินระดับนักดนตรีของนักดนตรี ผู้ชื่นชมในตัวของแก๊บบี้ ขอแจมมีส่วนร่วมอย่างถ่อมตัว เก็บกีตาร์สงบนิ่งอยู่ในกล่อง เล่นแค่แมนโดลินและยูคูลีลี มาช่วยรับประกันคุณภาพ และหลังจากนั้นอีกไม่กี่เดือนต่อมา เสียงกีตาร์ฮาวายของแก๊บบี้มาแทนคำขอบคุณ เป็นตัวสีสันให้กับอัลบั้ม “Chicken Skin Music” ของราย คูเดอร์ ซึ่งเมื่อได้ฟังแล้วจะออกอาการขนลุกซู่เหมือนชื่ออัลบั้ม ที่ฝรั่งเปรียบเปรยเป็นเหมือนหนังไก่ สำหรับบ้านเราจะเป็นอาการขึ้นกรูด คือ ผิวจะเป็นตะปุ่มตะป่ำเหมือนผิวลูกมะกรูด ผมยังขึ้นกรูดทุกครั้งที่ฟังเพลงชุดนี้ ผมคิดว่าใครที่อยากจะฟังเสียงกีตาร์ฮาวายของแก๊บบี้ น่าจะควานหาซีดีชุดนี้ได้ง่ายกว่าชุดอื่น แต่สำหรับนักช็อปทางเน็ตคงหาฟังในฟอร์แมตต่างๆได้มากกว่าแน่นอน หาฟังไว้นะครับ ฟังแค่ตัวอย่างฟรี 30 วิ ก็ยังดี จะเป็นบุญหูอย่างมาก
ในจังหวะที่จะได้แจ้งเกิดใหม่ฟอร์มใหญ่ กลับกลายเป็นว่า ร่างกายหมดสภาพโดยสิ้นเชิง จากผลของการก๊งหนักอย่างไม่บันยะบันยังมานานปี บวกกับอาการบาดเจ็บเรื้อรังจากอุบัติเหตุงานโยธา วันสุดท้ายของแก๊บบี้ เขากลับถึงบ้านในตอนเช้า หลังจากกินเหล้า เล่นดนตรีทั้งคืน แล้วยังไปออกรอบตีกอล์ฟอีก จนเป็นลม ล้มหมดสติ ไปไม่กลับ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี .......ที่หลุม 11 ทำให้ตำนานแห่งฮาวายบทนี้ ต้องปิดฉากลงด้วยวัยแค่ 59 ปี
แก๊บบี้ฝากผลงานทรงคุณค่า 4 ชุดไว้กับคนหนุ่มฮาวายรุ่นหลัง ที่เห็นคุณค่าของดนตรีพื้นเมือง ได้อนุรักษ์และฟื้นฟูต่อไป
(ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสาร Phuket Bulletin ฉบับที่ 98 กรกฎาคม 2010)