Wednesday, February 8, 2012

Gypsy Jazz

.

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กระแสความนิยมในดนตรีแบบยิปซีแจ๊ส ไม่ได้โหมกระหน่ำแบบวูบวาบ ฉาบฉวย แต่ค่อยๆไหลมาอย่างสม่ำเสมอ มั่นคง แฟนเพลงแนวนี้จะค่อนข้างจะมีแนวโน้มว่า เมื่อมาชอบถูกใจกันแล้ว ก็จะไม่เบื่อกันง่ายๆ

ยิปซีแจ๊ส (Gypsy Jazz) หรืออาจจะรู้จักกันในนาม ยิปซีสวิง (Gypsy Swing) หรือถ้าจะให้เท่กว่านั้นต้องเรียกเป็นภาษาฝรั่งเศส "แจ๊สมานูช" (Jazz Manouche) หรือว่า "Manouche Jazz” ก็มีความหมายถึง ยิปซีแจ๊สเหมือนกัน และในยิปซีแจ๊สทั้งหลายทั้งปวงนั้น มีเทพเจ้ายิปซีองค์หนึ่งเป็นผู้ให้กำเนิดดนตรีนี้ขึ้นมา ซึ่งคอแจ๊สทั้งหลายจะรู้จัก “จังโก้ ไรน์ฮาร์ด” (Django Reinhardt) เป็นอย่างดี

จังโก้ ชื่อเป็นทางการ Jean Baptiste Reinhardt เกิดเมื่อ 23 มกราคม 1910 ในกองคาราวานโชว์เร่ของยิปซี ระหว่างแวะพักที่หมู่บ้านของเมืองลิเบอร์ชี ประเทศเบลเยี่ยมติดชายแดนฝรั่งเศส มีพ่อเป็นนักไวโอลิน แม่เป็นนักกายกรรมและร้องเพลง เธอเป็นหญิงใจเด็ด ไม่ยอมติดสอยห้อยตามสามีไปพเนจรอย่างนกขมิ้นไร้รัง รับภาระเลี้ยงดูลูกน้อยอยู่ในชนเผ่า ซึ่งเป็นยิบซีที่สืบเชื้อสายดั้งเดิมมาจากอินเดีย ที่ร่อนเร่ไปถึงแถบยุโรปตั้งแต่ศตวรรษที่สิบห้า แต่เค้าของความสวยแบบคมขำ และผิวที่ดำคล้ำยังหลงเหลืออยู่ แม่จะเรียกลูกน้อยของเธอว่า จังโก้ จนติดปาก ไม่มีใครเรียกชื่อจริงที่เหมือนพ่อเลย

ตอนจังโก้ 8 ขวบ กองคาราวานเคลื่อนขบวนไปที่แถบชานเมืองปารีส ปักหลักจอดอยู่บนที่ว่าง บริเวณที่ทิ้งขยะของเทศบาล แม้บรรยากาศรอบตัวจะไม่เจริญหูเจริญตา แต่ชิวิตวัยเยาว์ของเขาก็มีความสุขดี แม่ปล่อยให้เตร็ดเตร่ไปไหนมาไหนอย่างเสรี ซึ่งทำให้เขาพลาดโอกาสทางการศึกษาไปด้วย ไม่ได้เข้าโรงเรียนเหมือนเด็กทั่วไป กลายเป็นคนที่ไม่รู้หนังสือ อ่านไม่ออก เขียนไม่เป็น ซึ่งภายหลังที่โด่งดัง เมื่อมีคนมาขอลายเซ็น เลยต้องแอบให้คนอื่นเซ็นแทน เขามาเริ่มเรียนเขียนอ่านภาษาฝรั่งเศสก็ในตอนช่วงท้ายของชีวิตแล้ว

ความหลงใหลในเสียงดนตรีของจังโก้ ส่อเห็นได้ชัดตั้งแต่ตอนที่เขาอายุยังน้อย คราใดที่ได้เห็นวงดนตรีบรรเลงเพลง ก็จะเข้าไปฟังด้วยใจจดจ่อ ลืมทุกอย่างที่อยู่รอบตัวไปหมด ตอนอายุ 10 ขวบ เคยรบเร้าให้แม่ซื้อกีตาร์ แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนอง ในสิ่งที่แม่คิดว่าเป็นความอยากชั่วคราวของเด็กๆ ประกอบกับความจนที่ไม่มีปัญญาซื้อ จนอีก 2 ปีต่อมา ความฝันเป็นจริง เมื่อเพื่อนบ้านยกแบนโจกีตาร์ให้ตัวหนึ่ง เจ้าหนูจังโก้ใช้วิธีครูพักลักจำ ไปดูวิธีการเล่นและจดจำท่าทางของผู้ใหญ่ แล้วกลับไปหัดดีดอย่างหามรุ่งหามค่ำในคาราวาน จนสามารถเล่นกีตาร์ได้ในเวลาอันสั้น ทำเอานักดนตรีเพื่อนบ้านรู้สึกทึ่งในฝีมือ ที่เล่นได้เร็วและแม่นยำของมือใหม่หัดดีดคนนี้มาก เมื่อได้ฟังเขาเล่นครั้งแรก หลังจากนั้นเพียงไม่กี่วัน จังโก้น้อยก็หิ้วกีตาร์ออกภาคสนามกับพ่อตามคาเฟต่างๆ พออายุย่างเข้า 14 ปี ก็เก่งกล้าบุกเข้าไปเล่นตามคลับในปารีส ฝีมือเข้าขั้นมืออาชีพเต็มตัว

แม่เริ่มเข้ามามีบทบาทเป็นผู้จัดการส่วนตัว ตามไปเก็บค่าตัวทุกที่ ที่ไปทำการแสดง ไม่เช่นนั้นแล้ว จังโก้จะเอาเงินไปเล่นการพนันจนเกลี้ยงทุกครั้ง ไม่เคยเหลือติดกระเป๋ากลับบ้านเลย เขาติดการพนันตั้งแต่เริ่มมีเงินพกติดตัว มีเท่าไหร่ก็เล่นหมด บ่อยครั้งที่ไปทำงานสาย เพราะเอาเงินค่ารถ 2 ฟรังก์ที่แม่ให้ ไปเสี่ยงโชค จนต้องเดินไปทำงาน

ในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี จังโก้ก็ก้าวขึ้นไปอยู่แถวหน้าของนักดนตรียิบซีชั้นนำ แต่ในขณะที่ทุกสิ่งที่ดูเหมือนว่ากำลังดำเนินไปได้อย่างสวยงาม แทบจะต้องพังทลายไปในพริบตาเดียวในคืนวันที่ 2 พฤศจิกายน 1928 จังโก้กลับถึงคาราวานที่พักกลางดีกหลังเลิกงาน ซึ่งเขาอาศัยอยู่กับเมียท้องแก่ ระหว่างที่เปลี่ยนผ้า เขาได้ยินเสียงหนูในกองดอกไม้เทียม ซึ่งเมียรับมาขายหาลำไพ่พิเศษ เลยจุดเทียนส่องหา ลูกไฟเกิดหล่นลงบนดอกไม้เทียมซึ่งไวไฟ ทำให้เกิดการลุกไหม้อย่างรวดเร็ว จังโก้คว้าผ้าห่มคลุมตัว โอบเมียฝ่ากองเพลิง ขาและแขนของเขาโดนไฟลวกอย่างสาหัส ต้องพักรักษาตัวอยู่ในสถานพยาบาลนานถึง 18 เดือน นิ้วนางและนิ้วก้อยมือซ้ายงอหงิกใช้การไม่ได้ โอกาสที่จะได้กลับมาเล่นกีตาร์อีกครั้ง ดูเหมือนจะหมดไปแล้ว แต่ด้วยใจรักดนตรีอย่างแรงกล้า เกินกว่าที่จะยอมจำนนเลิกรา เขาสั่งให้คนนำเอากีตาร์ไปที่โรงพยาบาลและลองเล่นดู จนนิ้วชี้ นิ้วกลางและนิ้วโป้งกลับมาใช้งานได้เหมือนเดิม จังโก้ต้องปรับวิธีการเล่นกีตาร์ของเขาขึ้นมาใหม่ ชดเชยความสูญเสีย ให้สัมพันธ์เกิดประสิทธิภาพสูงสุดกับนิ้วที่เหลืออยู่

จังโก้หวนกลับเข้าไปทำงานดนตรีในปารีส เขาได้สัมผัสดนตรีแจ๊สครั้งแรก ที่กำลังอินเทรนด์ในหมู่นักดนตรีและอาร์ติสฝรั่งเศส โดยเพื่อนศิลปินพาไปฟังแผ่นเสียงของดุ๊ก เอลลิงตัน, นักกีตาร์เอ็ดดี แลง และเมื่อฟังมาถึงเพลง Dallas Blues ของหลุยส์ อาร์มสตรอง เขาถึงกับเอามือซบหน้า สะอื้นไปกับเสียงทรัมเป็ต และขอให้เล่นเพลงนี้ ซ้ำแล้ว ซ้ำอีก อย่างไม่รู้เบื่อ หลายปีต่อมา เขาได้มีโอกาสเล่นกับหลุยส์ที่ปารีส

ในปี 1934 จังโก้ตั้งวง Quintette du Hot Club de France ร่วมกับสเตฟาน เกรพเพลลี (Stephane Grappelli) นักไวโอลินหนุ่ม ผู้คลั่งใคล้อยากจะเล่นแจ๊ส ซึ่งเขาได้รู้จักคุ้นเคยมาบ้างพอสมควร ทั้งสองเป็นเสียงนำของวง ซึ่งมีนักกีตาร์อีกสองและหนึ่งคนเบส มาร่วมเป็นตัวประกอบ วงนี้ตั้งขึ้นมาด้วยใจรักในเสียงเพลงแจ๊สของสมาชิกทุกคนจริงๆ ในยุคแรกเริ่มของวง ซึ่งผมขอเรียกสั้นๆว่า “ควินเต็ต” ครับ ค่าตัวนั้นแทบจะไม่ต้องพูดถึง บางงานได้แค่ค่ารถก็บุญแล้ว บางงานเล่นฟรี แต่ก็ไม่มีใครปริปากบ่น เล่นกันเพราะอยากจะเล่น จนกระทั่งพวกเขาได้มีโอกาสอัดแผ่นเสียงครั้งแรกตอนเดือนธันวาคม 1934 เพลง Tiger Rag และ Dinah ของวงควินเต็ต ทำให้วงนี้ดังระเบิด จนฉุดไม่อยู่ ต้องผลิตผลงานออกมาป้อนตลาดอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังได้ร่วมแสดงและอัดแผ่นเสียงกับศิลปินแจ๊สระดับยักษ์หลายคน และยังมีงานเดินสายไปแสดงตามประเทศต่างๆในยุโรป





แม้ว่าจังโก้กับเกรพเพลลีจะเริ่มต้นเป็นดาวเด่นของวงควินเต็ตคู่กันมา แต่ยิ่งอยู่ไปนานวันเข้า จังโก้ยิ่งผงาดพุ่งขึ้นมาเป็นพระเอกแต่ผู้เดียว บดบังรัศมีและบทบาทของเกรพเพลลีให้ดูด้วยลงไป ในช่วงระหว่างปี 1936 – 1939 เป็นเวลาที่เสียงจากปลายนิ้วของยิปซีผู้ยิ่งใหญ่นี้ เปล่งพลังออกมาสูงสุด สะกดให้คอแจ๊สโดยเฉพาะเหล่านักดนตรีทั้งในยุโรปและอเมริกา ต้องตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของเขา จังโก้นับเป็นนักดนตรีคนแรกที่ไม่ใช่เป็นอเมริกันชน ซึ่งขึ้นมาเป็นต้นแบบให้วงการแจ๊สยอมรับได้

ความเป็นยิปซีของจังโก้ได้ติดตัวเขาไปตลอดชีวิตไม่เคยเปลี่ยนแปลง แม้ในช่วงที่ประสบความสำเร็จมาก มีความเป็นอยู่อย่างดี เขามักจะหายตัวไปจากห้องชุดที่พักของโรงแรมหรูระดับห้าดาว ไปคลุกคลีอยู่กับกลุ่มยิปซีที่ตั้งแคมป์อยู่กันอย่างแออัด หรือไม่ก็ไปนอนตามม้ายาวในสวนสาธารณะ เขาพอใจที่จะเล่นกีตาร์โดยไม่มีค่าตัว โดยไม่สนใจกับงานใหญ่ ค่าจ้าง(ตัว)แพง ที่ตัวเองรับไว้ จนงานล่ม เพราะคนเล่นหายตัวไป เงินทองไม่เคยมีความหมายสำหรับเขา มีเท่าไหร่ก็ใช้หมด หรือไม่ก็เล่นการพนันจนเกลี้ยง

มีอยู่ครั้งหนึ่งที่จังโก้ ควักเงินสดซื้อรถโรลส์รอยซ์สุดหรู แล้วจ้างโชเฟอร์ชาวอังกฤษให้ขับพากินลมไปเรื่อยๆ ในขณะที่เขาดื่มไวน์เฮฮาอย่างสนุกสนานกับเพื่อนฝูงอยู่ที่เบาะหลัง คนขับรถประสาทเสีย เครียดจนคุมสติไม่อยู่ ขับรถแฉลบไหล่ทางตกลงไปในคู ฝ่ายเจ้าของรถ เมื่อตะกายเอาตัวออกมาได้ เดินจากไปอย่างไม่แยแสกับรถราคาแสนแพงที่เพิ่งถอยออกมานั้นเลย

ตอนที่จังโก้มีบ้าน ก็จะเป็นสถานที่ชุมนุม มีแขกขวักไขว่ เข้าออกกันทั้งวันทั้งคืน นั่งล้อมวงจัดเลี้ยงกันในห้องนั่งเล่น จำลองบรรยากาศลานที่ยิปซีชุมนุมกัน ขนเอาหม้อไหและเตาไฟมาวางทำครัวกันกลางห้อง รื้อของที่วางเป็นระเบียบให้รกรุงรัง เพื่อให้ได้ความรู้สึกเป็นกันเอง

นิสัยส่วนตัวของจังโก้นั้นเป็นคนขี้อาย รักเด็ก สุภาพและอารมณ์ดี แม้จะไร้การศึกษาภาคบังคับในโรงเรียน แต่ในเวลาที่ต้องเข้าไปอยู่ในสังคมชั้นสูง เขาก็รู้จักวางมาดผู้ดี สามารถปรับตัวเข้าสมาคมกับพวกไฮโซได้อย่างกลมกลืน ไร้ความเคอะเขิน นอกจากดนตรีแล้ว จังโก้ยังมีพรสวรรค์ในด้านเกมกีฬาต่างๆ ฝีมือการสอยคิวบิลเลียดของเขานั้นอยู่ในระดับเซียน ที่ประกบขับเคี่ยวกับแชมป์ได้อย่างสบาย แต่เขากลับฝักไฝ่กับเกมที่ต้องเสี่ยงโชค มากกว่าเกมที่ต้องใช้ฝีมือ การพนันเป็นจุดอ่อนของเขา

จังโก้มีพรสวรรค์ทางดนตรีที่หายาก ที่ยอดนักดนตรีด้วยกันยังยอมรับ เขาอ่านโน้ตไม่ออก ไม่รู้จักสเกล ไม่รู้จักคอร์ด หรือคีย์ที่เล่น แต่เขามีหูทิพย์ ที่เล่นตามได้ทุกอย่างที่คนอื่นเล่นออกมา นักเขียนท่านหนึ่งเปรียบเปรยไว้ดีมากว่า น้ำสำหรับปลาและอากาศสำหรับนก ดนตรีสำหรับจังโก้

“ถ้าคุณไปฟังซิมโฟนีกับจังโก้ เขาจะบอกคุณถึงความผิดพลาดในการเล่นที่เกิดขึ้นให้รับรู้ทันทีเลย”

สเตฟาน เกรพเพลลีคู่หูของจังโก้ เป็นนักไวโอลินที่ผ่านการศึกษาแบบคลาสสิกระดับสูงจากปารีสคอนเซอร์วาทอรี พูดถึงเพื่อนรักด้วยความชื่นชม

ตอนที่เขาไปทัวร์อเมริกา เมื่อปี 1946 กับวงดุ๊ก เอลลิงตัน ตอนซ้อมก่อนแสดงคอนเสิร์ตครั้งแรก ท่านดุ๊กถามว่า เล่นคีย์อะไร? จังโก้ตอบกลับทันทีว่า

“ไม่มีคีย์ ท่านขึ้นเพลงมาเลย ผมตามได้สบายมาก”











จังโก้ค่อนข้างผิดหวังกับอเมริกา เขาต้องเปลี่ยนมาเล่นกีตาร์ไฟฟ้าที่เขาไม่ถนัด เปล่งมนต์ขลังได้ไม่เท่ากีตาร์โปร่งที่คุ้นเคย แล้วยังพยายามใส่ลูกเล่นบีบ็อปที่กำลังมาแรง ซึ่งไม่ใช่ตัวตนของเขา และเขาก็ไม่ได้ประทับใจกับอเมริกาอย่างที่คิดฝันเอาไว้ พอกลับไปฝรั่งเศส สุขภาพเริ่มแย่ลง เพราะโดนโรคความดันโลหิตสูงคุกคามจนไม่สบายตัว

ตอนปลายทศวรรษสี่สิบ เป็นยุคตกต่ำของจังโก้ คนรุ่นใหม่หันไปฟังบีบ็อปแทนแนวสวิงที่เขาเป็นเลิศ จังโก้รู้สึกเหนื่อยหน่ายกับวงการ จนถึงกับแขวนกีตาร์ทิ้งไว้หลังรถแวน ให้ฝุ่นเข้ามาเกาะแทนที่รอยนิ้วมือของเจ้าของที่ถอดใจ หายหน้าไปจากปารีส พเนจรไปกับกลุ่มยิปซีคาราวาน ไร้ข่าวคราวให้ผู้คนได้รับรู้

จังโก้คัมแบ็กในปี 1951 ประเดิมด้วยการเล่นเปิดคลับเซงต์เจอร์เมนที่ปารีส ผู้คนยังแห่กันมาให้การต้อนรับอย่างดีเยี่ยม ขณะที่สุขภาพเขายิ่งทรุดลงเรื่อย แต่ยังดื้อไม่ยอมหาหมอ เขาซื้อบ้านริมฝั่งแม่น้ำเซนนอกเมืองปารีส ออกไปราว 40 ไมล์ ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับการตกปลาและการเล่นบิลเลียด จะเข้าเมืองเฉพาะช่วงมีงานอัดเสียง หรือเล่นถ่ายทอดสดออกอากาศ เขามีความสุขกับวิถีชีวิตแบบนี้มาก เลิกการพนันได้อย่างเด็ดขาดแล้ว หันมาทดแทนด้วยการสะสมเบ็ดตกปลา

ฉากสุดท้ายของจังโก้ รูดม่านปิดลงเมื่อเขาล้มหมดสตินอกบ้าน เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 1953 แม้จะลาโลกไปด้วยวัยแค่ 43 ปี แต่ก็นับว่าจังโก้ได้ใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่า ฝากรอยนิ้วบดขยี้บนเฟร็ตกีตาร์ บันดาลเสียงหวานไม่มีใครเกิน ให้เราได้ซาบซึ้งอย่างถาวรยาวนานตลอดไป



(ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสาร Phuket Bulletin ฉบับที่ 99 สิงหาคม 2010)