Saturday, August 13, 2011

คอร์ด(Chords)(1)



คอร์ด(Chords)
คือ กลุ่มโน้ตตั้งแต่สามตัวขึ้นไปที่เปล่งเสียงออกมาพร้อมกัน
โดยปกติแล้ว คอร์ด จะต้องประกอบขึ้นด้วยโน้ตตั้งแต่สามตัวขึ้นไป ถ้าต่ำกว่านั้นก็ไม่ใช่คอร์ด โน้ตสองตัวที่มามีความสัมพันธ์กันก็จัดเป็นอินเตอร์วัล ที่เราเพิ่งผ่านมาหยกๆนั่นเอง

คราวนี้กีตาร์ขาร็อกที่กระแทก ”พาวเวอร์คอร์ด” (Power Chord) ในเพลงอย่าง “Smoke On The Water” ของวง Deep Purple ก็คงข้องใจเกิดความสงสัยว่า เจ้า”พาวเวอร์คอร์ด” ที่เราเล่นอยู่นี้ มันมีโน้ตแค่ 2 ตัวเองนี่หว่า? ทำไมจึงมาบอกว่า คอร์ดต้องมี 3 โน้ตขึ้นไป? งงหว่ะ...? แล้วมันจะเอายังไงกันแน่... (วะ)?

ครับ! “พาวเวอร์คอร์ด” ที่ใช้แค่ 2 โน้ต ตามหลักการแล้วต้องเป็นอินเตอร์วัล แต่ดันมาเรียกว่าคอร์ด ก็น่าจะทำความสับสนให้กับพวกที่เรียนโน้ตได้ขมวดคิ้วกันอยู่ ถ้าไปถามใครแล้วได้คำตอบที่ยังไม่หายคาใจ ลองมาดูคำเฉลยนี้กัน

คำว่า “พาวเวอร์คอร์ด” ที่ใช้เรียกกันจนติดปากในชุมชนชาวร็อกนั้น หมายถึง เอ็ฟเฟ็กท์ทางเสียงที่เกิดจากการเล่นกีตาร์ผ่านแอมป์ที่เปิดดังมากๆ จนเสียงแตกพร่า (Distortion) หรือเล่นผ่านเอ็ฟเฟ็กท์ที่ทำให้เกิดเสียงแตก ด้วยตัวโน้ตที่ผสมออกมาเป็นอินเตอร์วัลคู่ห้าเปอร์เฟ็กต์ (P5) หรือคู่เสียงผกผันของมัน ซึ่งก็คือคู่สี่เปอร์เฟ็กต์ (P4) อาจจะเสริมโน้ตอ็อกเทฟซ้ำให้เสียงหนักแน่นขึ้น หรือไม่เสริมก็ได้ เสียงที่เกิดจากการสั่นสะเทือนของสายกีตาร์ มีผลให้โน้ตที่เล่นบันดาลเสียงโอเวอร์โทน (Overtone) คือ เสียงต่างๆอีกหลายเสียง อันเกิดจากความถี่ของคลื่นเสียงนั้นในระดับสูงขึ้นไป ผสมกันออกมาเป็นเนื้อเสียง (Timbre) ของเครื่องดนตรีนั้น การประกบกันของโน้ต 2 เสียงเป็นคู่ห้านี้ ให้ความกลมกลืน ส่งเสริมพลังกันดีมาก สามารถเล่นได้เสียงดังจนลำโพงหวีดหอน โดยไม่มีปัญหาความขัดแย้งในความถี่ของคลื่นเสียงเลย แต่ถ้าเติมตัวโน้ตลำดับที่สามเข้ามาแจมด้วยเมื่อไหร่ ไม่ว่าจะเป็นตัวสามเมเจอร์หรือสามไมเนอร์ เสียงโอเวอร์โทนของคู่สามจะเข้ามาก่อกวน ทะเลาะมีปัญหากับเสียงอื่นทันที จนอยู่กันไม่ได้ เลยต้องโดนกีดกันออกไป ไม่ให้มาร่วมตะโกนเสวนาด้วย

นั่นก็เลยเป็นสาเหตุว่า ทำไม “พาวเวอร์คอร์ด” จึงมีเพียงแค่ 2 โน้ต ซึ่งแทนที่จะเรียกว่า Bare Fifth ตามศัพท์ดั้งเดิมที่เขาเรียกกันมานานแล้ว กลับดันทุรังมาตั้งชื่อเรียกใหม่เป็น “พาวเวอร์คอร์ด” ให้คนสับสน หลงผิดอีกต่างหาก

ก็ขอฟันธงไว้ตรงนี้เลยว่า “พาวเวอร์คอร์ด” ขาดคุณสมบัติที่จะเป็นคอร์ดอย่างแน่นอน และถ้าคุณไปเจอครูหรืออาจารย์ดนตรีไม่ว่าจะเก๋าระดับไหนก็ตาม มาบอกว่า คอร์ดประกอบด้วย 2 โน้ต ก็โต้ตอบตอกกลับไปได้เลยว่า “ผิด”

ในแนวดนตรีตะวันตกที่เราศึกษานั้น โดยทั่วไปแล้ว คอร์ดสร้างขึ้นมาจากการผสมในหลายๆรูปแบบของคู่สามเมเจอร์ และคู่สามไมเนอร์ โดยการใช้โน้ตตัวเว้นตัวจากสเกล ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสเกลที่เราเลือกนำมาใช้สร้างคอร์ด ซึ่งจะมีความเข้าใจดีขึ้น เมื่อติดตามศึกษาตามลำดับต่อไป

ไตรแอด(Triad)

ในลำดับแรกของการศึกษาเรื่องคอร์ด เราจะเริ่มกันที่ไตรแอด (Triad) คือ คอร์ดที่ประกอบด้วยโน้ต 3 ตัว (คำว่า Tri มาจากภาษาลาติน และภาษากรีก แปลว่า 3 ซึ่งมีความหมายและวิธีใช้เหมือนกับคำว่า ไตร หรือตรี ในภาษาไทย)

ไตรแอดมีแบบพื้นฐานอยู่ 4 ชนิด คือ เมเจอร์(Major) ไมเนอร์(minor) ดิมินิช(diminished) และอ็อกเม็นเต็ด (Augmented)

ตัวอย่างที่ 1 แสดงถึงไตรแอดทั้ง 4 ชนิด ซึ่งสร้างจากฐานโน้ต C

ตัวอย่างที่ 1

C Major Triad = C E G
C Minor Triad = C Eb G
C Augmented Triad = C E G#
C Diminished Triad = C Eb Gb

จากตัวอย่างที่ 1 เราสามารถนำมาเปรียบเทียบกับโครงสร้างของเมเจอร์สเกล และสรุปออกมาเป็นสูตรการสร้างคอร์ดไตรแอดได้ โดยแปลงลำดับขั้นของเมเจอร์สเกลให้เข้ากับโครงสร้างของคอร์ดไตรแอด ดังนี้

สูตรการสร้างคอร์ดไตรแอดแปลงจากเมเจอร์สเกล

Major Triad = 1 3 5
Minor Triad = 1 b3 5
Augmented Triad = 1 3 #5
Diminished Triad = 1 b3 b5

สูตรนี้สำคัญมาก ต้องจำให้ขึ้นใจ เป็นวิธีสร้างและวิเคราะห์คอร์ดได้รวดเร็วกว่าวิธีอื่น เป็นระบบที่หลักสูตรนี้ได้กำหนดไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่า เราจะยึดเมเจอร์สเกลเป็นหลักในการนำไปสัมพันธ์กับความรู้ใหม่ ที่ได้เรียนเพิ่มเติมหลังจากนั้น คนที่ได้ทำการบ้านจนทะลุปรุโปร่งในเมเจอร์สเกลทุกลำดับขั้นในทุกคีย์ มาถึงขั้นนี้และขั้นต่อไปก็จะไม่มีปัญหา ใครที่ยังไม่คล่องก็จะยิ่งไม่สนุก โดนทิ้งห่างไปเรื่อยๆ จนในที่สุดต้องยกธงขาว ขอโหวตตัวเองออกไปจากคอร์สนี้ เรายังเพิ่งจะเริ่มต้นกันไม่ไกล ตอนนี้ยังไม่สายที่จะย้อนกลับไปฟิตให้คล่องในเมเจอร์สเกล แล้วจะยิ่งซาบซึ้งในคุณค่าของมัน เมื่อศึกษาขึ้นไปในระดับสูง

วิธีสร้างคอร์ดไตรแอดที่พูดถึงในตอนแรก โดยการเอาอินเตอร์วัลคู่สามเมเจอร์และคู่สามไมเนอร์มาผสมกันในหลายรูปแบบ คือ สูตรเมเจอร์ไตรแอดก็จะเป็น คู่สามเมเจอร์ผสมกับคู่สามไมเนอร์ จากตัวอย่างที่ 1 คอร์ด C Major Triad ประกอบด้วยตัวโน้ต 3 ตัว คือ C, E และ G จะเห็นว่าช่วงห่างระหว่าง C และ E เป็นอินเตอร์วัลคู่สามเมเจอร์ และช่วงห่างระหว่าง E และ G เป็นอินเตอร์วัลคู่สามไมเนอร์ สำหรับสูตรของไมเนอร์ไตรแอดก็คือ คู่สามไมเนอร์ผสมกับคู่สามเมเจอร์ เป็นต้น การฝึกหาคอร์ดโดยวิธีนี้ เป็นการลับสมอง ซ้อมความคล่องในการหาอินเตอร์วัลดีเหมือนกัน

นอกจากนั้น เราอาจจะสร้างคอร์ดไตรแอดโดยวิธีนับจากระยะห่างของเสียงก็ได้เหมือนกัน จากตัวอย่างที่ 1 คอร์ด C Major Triad ประกอบด้วยตัวโน้ต 3 ตัว คือ C, E และ G จะเห็นว่าช่วงห่างระหว่าง C และ E มีระยะห่างกันสองเสียงเต็ม (4 ครึ่งเสียง) และช่วงห่างระหว่าง E และ G มีระยะห่างกันหนึ่งเสียงครึ่ง (3 ครึ่งเสียง) สูตรเมเจอร์ไตรแอดโดยวิธีนี้ ก็จะได้เป็น 2+1 1/2 เสียง หรือ 4+3 ขั้นของครึ่งเสียง ใครที่ชอบนับระยะห่างของเสียงก็ขอแนะนำให้ใช้วิธีนี้


แผนผังแสดงเปรียบเทียบวิธีสร้างไตรแอด 3 แบบ










เลือกใช้กันตามกิเลสนะครับ ไม่บังคับกัน สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ให้ได้ผลลัพธ์เร็วที่สุด




(ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสาร Overdrive ฉบับที่ 107 มิถุนายน 2007)