Monday, January 24, 2011
JAZZ (1987)
วันก่อนลูกสาว อยากรู้เรื่องราวของแจ๊สโดยสังเขป ผมก็เลยส่งบทความเก่าอันนี้ไปให้ ซึ่งเขียนไว้นานมากแล้ว ตั้งแต่ พ.ศ. 2530 อันเป็นช่วงเวลาที่ใครฟังแจ๊สแล้วเท่ห์ ซึ่งยังลากยาวมาจนถึงวันนี้ กระแสแจ๊สก็ยังรักษาระดับอินเทรนด์อยู่ แม้ว่าโดยส่วนใหญ่แล้ว แจ๊สที่เขาว่าแจ๊สจังแล้ว จะไม่ได้เข้าข่ายแจ๊สจริง อย่างที่คอแจ๊สพันธุ์แท้เขาฟันธงก็ตาม ผมขออนุญาตเอาของเก่า ซึ่งคิดว่ายังน่าจะมีประโยชน์อยู่มาฉายซ้ำ รักษาอารมณ์เก่าๆ ให้คนใหม่ที่เพิ่งมาอ่านได้รับรู้ โดยไม่มีการอัพเดท แก้ไข เปลี่ยนแปลง คิดว่ายังน่าจะเป็นตัวช่วยแนะนำให้รู้จักแจ๊ส สำหรับมือใหม่หัดฟัง เหมือนเมื่อครั้งกระโน้น
ความเป็นมาของแจ๊สที่แท้จริงนั้น ยังไม่มีใครรู้อย่างแน่ชัด ที่เราได้อ่าน ได้ฟังกันมาก็เกิดจากการคาดเดาต่างๆนานาทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นที่มาของชื่อ หรือสถานที่จุดเริ่มต้น หรือนักดนตรีผู้ริเริ่มการเล่นแจ๊ส แต่ที่รู้ๆกันอยู่ก็คือ แจ๊สได้กลายเป็นดนตรีที่มีคนชื่นชมไปทั่วทุกมุมโลกในศตวรรษที่ 20 นี้ แม้แต่บ้านเราในปีท่องเที่ยวไทย 1987 แจ๊สก็เป็นส่วนประกอบอันหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงรสนิยมอันสุนทรียะของคนหนุ่มสาวยุคใหม่
ตำนานเล่าขานกันมาว่า นักดนตรีแจ๊สคนแรกชื่อ บัดดี้ โบลเด็น (Buddy Bolden) นักเป่าคอร์เน็ตจากนิวออร์ลีน ผู้ซึ่งภายหลังเกิดคลุ้มคลั่งเสียสติ และจบชีวิตในโรงพยาบาลบ้า
เมืองนิวออร์ลีน ซึ่งอยู่ทางภาคใต้ของอเมริกา ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 รับเอาวัฒนธรรมของฝรั่งเศสและสเปน ที่เคยครอบครองดินแดนแถบนี้มาก่อน ผสมกับวัฒนธรรมจากหมู่เกาะคาริเบียนและทวีปแอฟริกาที่ติดตัวมากับทาสนิโกร หล่อหลอมออกมาเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใคร ดนตรีที่ออกมาจากนิวออร์ลีนก็มีลักษณะพิเศษ ที่ผิดแปลกไปจากแนวอื่นๆ ซึ่งต่อมาเป็นที่รู้จักกันว่า “แจ๊ส”
ในปี 1917 โลกภายนอกได้มีโอกาสฟังดนตรีจากนิวออร์ลีนเป็นครั้งแรก
ผ่านทางแผ่นเสียงของวงแจ๊สเด็กหนุ่มผิวขาว “ออริจินัลดิ๊กซีแจ๊สแบนด์” (Original Dixie Jazz Band) ซึ่งได้มีโอกาสอัดเสียงแนวดนตรีที่พวกเขาได้ฟังจากวงคนดำ และจำมาหัดเล่นตามอย่าง ทำให้แจ๊สเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปตั้งแต่นั้นมา
นี่เป็นจุดเริ่มต้นแห่งการชุบมือเปิบของนักดนตรีฝรั่งผิวขาว ไปสู่ความมั่งคั่งและชื่อเสียง ในขณะที่นักดนตรีผิวดำต้นแบบยังต้องอยู่อย่างลำบากแร้นแค้นไม่มีใครรู้จัก
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง นิวออร์ลีนเป็นเมืองท่ายุทธภูมิที่สำคัญแห่งหนึ่ง ถิ่นสตอรีวิล(Storyville) แหล่งโลกีย์ใหญ่แห่งเมืองนี้ โดนคำสั่งทหารกวาดล้างจนสิ้นซาก นักดนตรีก็หมดที่ทำมาหากิน พากันโยกย้ายขึ้นไปทางเหนือ ไปรวมกลุ่มหาที่เล่นกันที่ชิคาโก และได้มีโอกาสอัดเสียงดนตรีนิวออร์ลีนโดยนักดนตรีดำครั้งแรกที่นี่
ครีโอลแจ๊สแบนด์(Creole Jazz Band) ของคิง โอลิเวอร์(King Oliver) เป็นวงยอดเยี่ยมวงแจ๊สของแจ๊ส วงนี้เป็นที่รวมของนักดนตรีหัวกะทิแห่งยุคนั้น ลูกวงที่โดดเด่นอย่างไม่มีใครเทียบ ไม่ว่าจะเป็นในทางฝีมือการเล่นหรือจินตนาการสร้างสรรค์ที่เหนือล้ำยุคอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เป็นเด็กหนุ่มจากนิวออร์ลีนที่คิง โอลิเวอร์ตามตัวขึ้นไปร่วมวงที่ชิคาโก เขาบรรจงห่อคอร์เน็ตคู่ใจใส่ถุงกระดาษ เดินทางสู่เมืองใหญ่ด้วยใจหวาดหวั่น อย่างไม่มีความมั่นใจในตัวเอง ต่อมาเสียงแตรของเขาได้พลิกเปลี่ยนโฉมหน้าของแจ๊สไปสู่อีกมิติหนึ่ง เขาเป็นคนวางรากฐานแห่งการเล่นแบบด้นสด (Improvise) ซึ่งกลายเป็นหัวใจของการเล่นแจ๊สตั้งแต่นั้นมา ทุกสิ่งที่เขาเล่นหรือร้องจะกลายเป็นดนตรีที่ทรงคุณค่าอย่างไม่น่าเชื่อ คงจะไม่มีใครทำได้อีกแล้ว นอกจากหลุย อาร์มสตรอง(Louis Armstrong) คนนี้คนเดียว
ผลงานจากวงฮ็อตไฟฟ์ (Hot Five) และฮ็อตเซเวน (Hot Seven) จากยุคทศวรรษยี่สิบ และสามสิบของอาร์มสตรอง เป็นมาสเตอร์พีซแห่งแจ๊สที่ควรค่าแก่การแสวงหามาฟังกัน
ทศวรรษที่สามสิบเป็นยุคเฟื่องฟูของดนตรีสวิง (Swing) นับเป็นคลื่นระลอกสาม และซัดมาแรงที่สุดแห่งแนวดนตรีแอโฟร-อเมริกัน ที่ทำให้ผู้คนคลั่งใคล้กันอย่างหนัก ต่อจากแร็กไทม์ (Ragtime) และดิ๊กซี (Dixie)
เบ็นนี กู้ดแมน (Benny Goodman) นักคลาริเน็ตอเมริกันเชื้อสายยิว ได้รับการยกย่องให้เป็น “คิงอ็อฟสวิง” (King Of Swing) ชื่อเสียงของเขาเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีทั่วไป ไม่เฉพาะแต่วงการแจ๊สเท่านั้น วงดนตรีของกู้ดแมนได้รับการยกย่องมาก ทั้งในแบบบิ๊กแบนด์และวงเล็ก
นอกจากวงของกู้ดแมนแล้ว ก็ยังมีทอมมี ดอร์ซี (Tommy Dorsey) และเกล็น มิลเลอร์ (Glenn Miller) ที่ได้รับความนิยมมาก พวกนักศึกษาหนุ่มสาวที่แห่กันไปฟังวงเหล่านี้อย่างแน่นขนัด ไม่มีใครสักคนที่จะคิดว่า นั่นเป็นดนตรีที่เอามาจากคนผิวดำทั้งดุ้น จากต้นฉบับที่แต่งโดยศิลปินดำ เฟล็ตเชอร์ เฮ็นเดอร์สัน (Fletcher Henderson) นายวงบิ๊กแบนด์ยุคบุกเบิก ผู้ริเริ่มแนวการเล่นหลายแบบของบิ๊กแบนด์ ต้องมารับจ้างเบ็นนี กู้ดแมนแต่งเพลงและอเรนจ์ เพราะไม่ได้รับการยอมรับจากฝรั่ง
ยุคสวิงที่ฮิตขึ้นมาอย่างรวดเร็ว เพราะเป็นดนตรีที่เต้นรำได้ ความมันของดนตรีสวิงทำให้คนฟังรู้สึกคึกคักอยากจะเต้นไปกับเพลง สถานเต้นรำต่างก็ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด เพื่อสนองความต้องการของนักเต้นรำ นับเป็นยุคที่คลั่งเต้นรำมาก
ในขณะที่นักดนตรีผิวขาวรับเละกับเพลงเต้นรำ วงของผิวดำอย่างดุ๊ก เอลลิงตัน (Duke Ellington) และเคาท์ เบซี (Count Basie) ก็ได้พัฒนาด้านศิลปะของสวิงไปจนถึงจุดอิ่มตัว ฝรั่งขาวเริ่มยอมรับวงคนดำมากขึ้น วงผสมระหว่างนักดนตรีต่างผิวก็เริ่มจะเป็นของธรรมดา
ในยุคสวิงมีนักดนตรีแจ๊สฝีมือเยี่ยมเกิดขึ้นมากมาย มาตรฐานการเล่นได้รับการพัฒนาไปสู่อีกระดับหนึ่ง เสียงเพลงที่บรรเลงโดยโคลแมน ฮอว์คิน (Coleman Hawkins), เลสเตอร์ ยัง (Lester Young), รอย เอ็ลดริดจ์ (Roy Eldridge), เท็ดดี วิลสัน (Teddy Wilson), ชาร์ลี คริสเตียน (Charlie Christian) และคนอื่นอีกมากจากยุคนี้ ยังเป็นที่ชมชอบของคอแจ๊สอยู่อย่างไม่เสื่อมคลาย
ตอนปลายยุคสวิง ในนครนิวยอร์ก ช่วงระหว่างปี 1940 ถึง 1944 มีนักดนตรีแจ๊สหัวก้าวหน้ากลุ่มหนึ่งมาคลุกคลีอยู่ด้วยกัน เพื่อคิดค้นหาวิธีการเล่นใหม่ๆ แหวกออกไปจากแนวสวิง ที่พวกเขาเล่นกันอยู่อย่างซ้ำซากคืนแล้วคืนเล่า ได้มินตัน เพลย์เฮ้าส์ (Minton’s Playhouse) บาร์แจ๊สย่านฮาร์เล็ม เป็นที่ลองของ หลังจากที่ทดลองเล่นกันอยู่นาน ดนตรีแจ๊สแนวใหม่ก็ก่อตัวเป็นรูปร่างขึ้นมา ได้ออกมาเป็น “บีบ็อพ” (Bebop) หรือ “บ็อพ” (Bop) แนวดนตรีที่พยายามหลีกหนีแนวเก่าในทุกรูปแบบ นักดนตรีบีบ็อพนี้จะต้องมีทักษะเหนือกว่าแนวสวิง โครงสร้างดนตรีมีความซับซ้อนและยุ่งยากมากขึ้น ไม่ใช่ดนตรีสำหรับเต้นรำหรือฟังเล่นๆ เป็นดนตรีเพื่อความสะใจคนเล่นมากกว่า ทำให้บีบ็อพไม่ได้รับความนิยมมากเหมือนสวิง แจ๊สเริ่มเป็นศิลปะ และกำลังจะก้าวไปสู่ยุคโมเดอร์นแจ๊ส (Modern Jazz)
นักเป่าอัลโตแซ็ก ชาร์ลี พาร์เกอร์ (Charlie Parker) เป็นนักดนตรีสุดยอดแห่งบีบ็อพ เสียงแซ็กที่ลื่นไหลในระดับความเร็วจัด เต็มไปด้วยลีลาและเรื่องราว ยังเป็นความมหัศจรรย์ที่ไม่มีใครเทียบได้
ช่วงปลายทศวรรษสี่สิบ ความเร้าใจอย่างไม่หยุดหย่อนของบีบ็อพ โดนแนวเรียบง่ายและนิ่มเบาของ “คูล” (Cool) เข้ามาแทนที่ โดยมีไมล์ เดวิส (Miles Davis) เด็กเก่าของพาร์เกอร์ และเล็นนี ทริสตาโน (Lennie Tristano) เป็นตัวนำขบวน
พวกนักดนตรีที่ไม่เห็นด้วยกับความนิ่มของคูล ก็หันมาเล่นแจ๊สกันอย่างเร่าร้อน คึกคัก จังหวะหนักแน่น เต็มไปด้วยชีวิตชีวาและพลัง ใช้บีบ็อพเป็นแนวทาง มีมือกลองอาร์ต เบลคีย์ (Art Blakey) และมือเปียโนโฮเรซ ซิลเวอร์ (Horace Silver) นำทีมดนตรีที่เรียกว่า “ฮาร์ดบ็อพ” (Hard Bop)
ย่างเข้าทศวรรษหกสิบ แจ๊สเริ่มตกต่ำอย่างหนัก แต่กลับเป็นยุคที่แจ๊สขยายแนวออกไปอย่างกว้างขวางที่สุดในทุกวิถีทาง ไมล์ เดวิสออกแผ่น Kind Of Blue ในปี 1959 ชี้ทางการเล่นแบบใหม่โดยใช้โหมด (Mode) ซึ่งเป็นบันไดเสียงสมัยกรีกโบราณ ปลดปล่อยแจ๊สออกมาจากพันธนาการที่เต็มไปด้วยคอร์ดมากมายในแต่ละเพลง ที่ทำให้นักดนตรีไม่มีเวลาคิดสร้างสรรค์ทำนองที่สวยงาม เพราะมัวพะวงอยู่กับทางคอร์ด อัลบั้มชุดนี้ชนะใจคนฟังและนักวิจารณ์อย่างเป็นเอกฉันท์ เป็นแผ่นที่ขายดีมากและเป็นแผ่นแจ๊สที่สำคัญที่สุดชุดหนึ่ง
“ฟรีแจ๊ส” (Free Jazz) เป็นอีกแนวทางที่เปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หลวงที่สุด แทบจะไม่เหลือของเดิมไว้เลย แต่ก็ได้ฟื้นฟูแนวการเล่นแบบด้นสดพร้อมกันหลายคนของนิวออร์ลีนมาใช้ แนวนี้ค่อยๆก่อตัวมาตั้งแต่กลางทศวรรษที่ห้าสิบ แต่ไปเริ่มนับเอาวันที่ออร์เน็ต โคลแมน (Ornette Coleman) นำวงของเขาไปเล่นที่บาร์ไฟฟ์สปอต (Five Spot) นครนิวยอร์ก เมื่อปี 1959 นักดนตรีแตกแยกความคิดเป็นสองฝ่าย ถกเถียงกันอย่างไม่รู้จบมาจนถึงทุกวันนี้
ฟรีแจ๊สเป็นแนวที่คนฟังรับได้ยากที่สุดในบรรดาแนวแจ๊สทั้งหมด ไม่มีอะไรเป็นหลักให้ยึดได้เลย เหมือนกับการเล่นมั่วไปคนละทาง หาชุด Song X ของแพ็ท เมธีนี (Pat Metheny) มาฟังดู แล้วจะได้ไอเดียว่า ฟรีแจ๊สมันเป็นยังไง
ดนตรีร็อก, โซล และพ็อพ เข้าครอบครองตลาดแผ่นเสียงอย่างเต็มที่ในช่วงทศวรรษที่หกสิบ มีนักดนตรีแจ๊สหลายคนพยายามเอาดนตรีเหล่านี้มายำใหญ่กับแจ๊ส แต่ก็ออกมาไม่เข้าท่าสักที จนกระทั่งไมล์ เดวิส ออกอัลบั้มชุด In A Silent Way เมื่อปี 1969 วงการถึงจะยอมรับว่าเป็นจุดกำเนิดอย่างทางการของดนตรีฟิวชั่น ไมล์ผสมร็อกและแจ๊สออกมาได้ความสวยงามที่สมดุลอย่างน่าพึงพอใจที่สุด
ไมล์และลูกทีมเก่าของเขาอย่าง เฮอร์บี้ แฮนคอก (Herbie Hancock), ชิก โคเรีย (Chick Corea), โจ ซาวินัล (Joe Zawinul), เวย์น ชอร์เตอร์ (Wayne Shorter) และจอห์น แม็กลัฟลิน (John McLaughlin) ช่วยกันทำให้ฐานฟิวชั่นหนักแน่น มั่นคง เป็นแนวหลักอีกอันหนึ่งของแจ๊ส ที่ปรับตัวไปตามสมัย แม้จะโดนมองด้วยความสงสัยในเจตนารมณ์ตอนแรกว่า มุ่งหวังในทางการค้าก็ตาม
เมืองไทยในวันนี้พอจะมีแจ๊สทุกสไตล์ให้ซื้อหามาฟังกันตามใจชอบ แม้จะไม่มากมาย แต่ก็ไม่ถึงกับขาดแคลนเหมือนเมื่อวานนี้ ขอขอบคุณคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่ไม่หยุดยั้งในการแสวงหาสิ่งที่ดีกว่ามาจรรโลงชีวิต
( ตีพิมพ์ครั้งแรกใน หนังสือ BMW “เพื่อคุณ” ปีที่สอง ฉบับที่ 7/ 2530)
Labels:
Jazz
Thursday, January 13, 2011
Berklee: Ear Training 1
ขอวกกลับไปเรื่อง Aural Training สักหน่อย เพราะมีคนโทรไปถามกันมาก แล้วผมจะย้อนกลับมาเขียนเรื่องเพลงสแตนดาร์ดต่อ หรืออาจจะสลับกันไปตามความเหมาะสม
หลังจากเริ่มต้นด้วยการท่องเพลงกันมาหลายเดือน จำเพลงจนขึ้นใจทั้งเพลงนับสิบเพลง เราก็มาถึงระดับขั้นต่อไปของการฝึก Aural Training ที่ผ่านมาเราฝึกกันแบบคนไม่รู้โน้ตเลย ใช้หูรับฟังและจดจำเสียงที่เราได้ยิน แล้วถ่ายทอดโดยการร้องออกมาไม่ให้ผิดเพี้ยนจากที่ได้ยิน แต่ในขั้นตอนต่อจากนั้น ก็จะเริ่มมีเรื่องของทฤษฏีดนตรีเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยแล้ว
คนที่มาเรียนเรื่อง Aural Training โดยปกติแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นพวกที่อยู่ในระดับกลางขึ้นไป คือ มีความรู้ทางทฤษฎีดนตรีพอสมควรแล้ว ในขณะที่ผมกำลังจะแนะนำถึงการฝึกขั้นต่อไป และจั่วหัวตั้งชื่อเรื่องไว้เรียบร้อยแล้ว ก็มานึกขึ้นได้ว่า แล้วเขาจะรู้เรื่องกันทุกคนหรือ?
ครับ, ผมนึกถึงคนอ่านโน้ตไม่ออกก่อนใครเพื่อน พวกรู้แล้ว ให้รอไปอีกหน่อย คิดว่าเป็นการทวนของเก่าก็แล้วกัน บางทีอาจจะเป็นการเรียนซ้ำในเนื้อหาเดิม แต่ด้วยมุมมองแตกต่างออกไป ก็ทำให้เกิดปัญญาเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งก็มีตัวอย่างของจริงมาเล่าให้ฟัง
ในชั่วโมงแรกของทุกคนที่มาเรียนกับผม จะเริ่มต้นจากบทที่หนึ่ง เรื่องเมเจอร์สเกลเหมือนกันหมด ไม่ว่าจะมีพื้นฐานเดิมมาระดับไหน เป็นการปรับให้ตัวผู้เรียนเข้ากับระบบหลักสูตร ทบทวนและทดสอบไปในตัวสำหรับผู้ที่อ้างว่ามีพื้นมาแล้ว จะไล่ไปเรื่อยๆ จนสะดุดในหัวข้ออะไร ก็จะหยุดเน้นสอนหรือซ่อมในจุดนั้น แล้วไปต่อ จนถึงจุดสุดภูมิปัญญาของเขา ซึ่งโดยทั่วไปก็ประมาณ 3 – 4 บท
เท่าที่ผ่านมาผมยังไม่เคยเจอคนไหน ที่ผ่านบทที่ 1 โดยไม่สะดุดเลย แม้แต่ 1 คน เคยมีนักดนตรีเล่นอาชีพมานานเป็น 10 ปี เขาบอกว่าเคยเรียนอเรนจิ้งคอร์สจากสถาบันดังมาแล้ว แต่หลังจากได้เรียนชั่วโมงแรกผ่านไป เขาสารภาพว่า รู้สึกโล่ง เห็นความสว่าง ได้คำตอบไขข้องใจที่มืดมนมานานหลายปี
หลักสูตรทฤษฏีดนตรีของอาจารย์เฒ่า ที่แพร่หลายอยู่ใต้ดินมานาน กำลังจะโผล่ขึ้นมาให้สาธารณะชนได้รับรู้กันอย่างเป็นทางการเสียที ในเวอร์ชันที่อัพเดทปรับปรุงใหม่ และดีกว่าเดิม
คนที่เริ่มต้นวันนี้ มีโอกาสที่จะเรียนให้ทันคนที่รู้โน้ตอยู่แล้วได้ อย่างที่เขาว่า ความรู้เรียนทันกันหมด และอาจจะแซงหน้าเลยไปด้วยซ้ำ ถึงคิวของคนไม่รู้โน้ต ต้องมาเรียนโน้ตกันแล้ว จะหลีกเลี่ยงไม่เอาอีกต่อไปไม่ได้อีกแล้ว ถ้าต้องการรู้ให้ลึกซึ้งและลึกล้ำกว่าที่เป็นอยู่นี้ ซึ่งก็ไม่ได้ใช้เวลามากไปกว่าที่มัวไปโง่อยู่เสียนาน
มีคนอ่านคอลัมน์นี้โทรไปหาผม ขอคำปรึกษา แนะนำ เรื่องวิธีการฝึก การเรียน มีหลายคนที่ไม่มีความรู้ทางทฤษฏีดนตรีเลย บางคนก็รู้แบบงูๆปลาๆ บางคนเป็นนักดนตรีที่เล่นมานานแล้ว แต่ก็ยังวนอยู่ในอ่าง ถึงทางตัน เพราะเขาเล่นกอปปี้จากต้นแบบ(เทป, ซีดี, วิดีโอ) คิดสร้างเองไม่เป็น ผมก็ได้แนะนำให้ไปหัดอ่านโน้ตให้ออก เป็นขั้นตอนแรก โดยให้ข้อเปรียบเทียบไปว่า มันก็เหมือนกับความรู้ทั่วไปนั่นแหละ ถ้าเราอ่านหนังสือไม่ออก เราจะไปค้นหาเรียนรู้อะไรมันก็ยากกว่าคนที่รู้หนังสือ ถ้าเราอ่านโน้ตได้ เราก็จะมีแหล่งความรู้ให้ค้นคว้ามากมาย เกิดมาอีกสิบชาติก็ยังมีอะไรให้เรียนได้ไม่รู้จบ
ปัญหาหนักหนาอย่างหนึ่งสำหรับคนที่เล่นดนตรีเป็นแล้ว ต้องย้อนกลับมาเริ่มต้นหัดอ่านโน้ตใหม่ อย่างเช่น เราเล่นกีตาร์ได้คล่องแล้ว ต้องกลับมานั่งดีดโน้ตทีละตัว เคาะนับจังหวะ เหมือนเด็กหัดใหม่ มันไม่ใช่เรื่องสนุกเลย ซึ่งตัวผมเองก็เจอมาแล้ว เป็นสิ่งที่หนักหนาสาหัสเอาเรื่อง แต่ก็ต้องกัดฟันสู้ เพราะเราต้องการพัฒนายกระดับตัวเอง
วิธีแก้ปัญหาให้การหัดอ่านโน้ตเป็นเรื่องไม่น่าเบื่อ ท้าทายและได้ทักษะทางดนตรีเพิ่มเติมอีกด้วย แทนที่จะไปหาตำราฝึกหัดกีตาร์เบื้องต้นมาให้นักกีตาร์ ผมได้แนะนำ(ยัดเยียด, กำหนด)ทางเลือก ให้คนที่มาเรียนส่วนตัวกับผม ให้ลองเรียนวิชา Ear Training ตามแบบหลักสูตรของ Berklee College Of Music ที่ผมเคยเรียนมาแล้วและได้ใช้สอนอยู่ด้วย ซึ่งใช้หลักการของระบบ Sol-Fege สำหรับร้อง Sight Singing แต่ได้ดัดแปลงแบบฝึกหัดให้สอดคล้องไปกับแนวดนตรีร่วมสมัย
ประโยชน์ที่ได้จากการเรียนวิชานี้ คือ
1. เราจะได้เรียนรู้การอ่านโน้ต 2 กุญแจ คือ Treble Clef(G Clef) และ Bass Clef(F Clef) ในระบบ Moveable Doh
2. เพ็ทเทิร์นสำหรับ Conducting ในบทเพลงอัตราจังหวะ 4/4 และ 3/4
3. ทักษะในทางปฏิบัติอัตราโน้ตพื้นฐานทั่วไปในเพลง Pop
4. สามารถร้องหรือฮัมทำนองเพลงจากหนังสือโน้ตเพลง ในคีย์เมเจอร์ ได้ถึง 5 คีย์ ( C, F, Bb, G และ D) โดยไม่ต้องอาศัยเครื่องดนตรีช่วย
5. สามารถบันทึกเพลงง่ายๆ ที่ได้ฟังจากเทป เป็นตัวโน้ตได้
6. เรียนรู้ถึงโครงสร้าง รูปแบบฟอร์มเพลงทั่วไป
นั่นคือ ความรู้ที่จะได้หลังจากเรียนจบ Ear Training 1 คอร์สสำหรับ 16 สัปดาห์ ซึ่งปกติจะใช้เวลาเรียนกันประมาณ 2 – 6 เดือน ขึ้นอยู่กับความเอาใจใส่ของผู้เรียน ซึ่งจะเห็นว่าการเรียนคอร์สนี้ มีประโยชน์สำหรับผู้เรียนมาก เป็นการปูพื้นฐานความรู้เบื้องต้นทางดนตรี เพื่อที่จะศึกษาต่อในระดับสูงขึ้นไป หรือใช้สำหรับหัดเล่นเครื่องดนตรี หรือขับร้องเพลงก็ได้ ผมมีลูกศิษย์คนหนึ่งเป็นนักร้องอาชีพ แต่ไม่มีความรู้ทางทฤษฎีดนตรีเลย หลังที่ได้เรียน Ear Training 1 ประมาณ 2 เดือน ก็พออ่านโน้ต ร้องออกมาเป็นทำนองและเขียนโน้ตได้บ้าง และเริ่มแต่งเพลงง่ายๆได้ โดยไม่ต้องอาศัยเครื่องดนตรีช่วย หลังจากนั้น เมื่ออยากจะหัดเล่นกีตาร์ ก็เล่นได้ฉลุย มีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว เพราะเมื่อเรามีความรู้เรื่องโน้ต เข้าใจเรื่องอัตราส่วนจังหวะแล้ว ก็จะมีเรื่องต้องพะวงเพียงแค่ ทำความคุ้นเคยกับเครื่องดนตรีเพียงอย่างเดียว แทนที่จะต้องเผชิญปัญหา ตั้งแต่ตาดูโน้ต ว่าเป็นตัวอะไร? มีกี่จังหวะ? แล้วนิ้วมือซ้ายมันต้องกดช่องไหน? นิ้วมือขวาหรือปิ๊กจะต้องดีดสายอะไร? หรือถ้าจะไปหัดเล่นเปียโนหรือคีย์บอร์ด ก็ได้ประโยชน์จากการอ่านโน้ตได้ทั้งสองกุญแจแล้ว จะไปเรียนทางทฤษฏี, ฮาร์โมนี หรืออเรนจิ้ง ก็ได้เปรียบกว่าคนที่ไม่เคยผ่าน Ear Training
ในส่วนเพิ่มเติม ผมขอแนะนำให้ไปค้นคอลัมน์ย้อนหลังของอาจารย์ปู่ เกี่ยวกับเรื่อง Ear Training ลองศึกษาดู ท่านสอนไว้ดีมาก ถ้าจะให้ดีกว่านั้น ก็ต้องไปสมัครเรียนโดยตรงกับตัวอาจารย์ปู่
ในความเห็นของผม การเรียน Ear Training ด้วยตัวเองนั้น เป็นเรื่องยากมาก มีโอกาสหลงทางสูงมาก ถ้าทำผิดๆไปแล้ว จะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี การฝึกด้วยตัวเองโดยไม่มีคนช่วยแนะนำ ขอให้เป็นทางเลือกสุดท้ายเลย ขนาดสอนกับตัวต่อตัว ยังต้องแก้ไขกันตลอดเวลา เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก หลุดไปนิดเดียว ก็มีสิทธิเข้ารกเข้าพง เข้าป่าหายสาบสูญ สุดที่จะกู่ให้กลับมาได้
ดีที่สุด ก็คือ เรียนโดยตรงกับครูที่รู้จริง
(ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสาร Overdrive ฉบับที่ 91 กุมภาพันธ์ 2006)
Labels:
Ear Training
Subscribe to:
Posts (Atom)