Monday, November 15, 2010
Intervals ภาคปฏิบัติ (3)
อินเตอร์วัล (Intervals) (7)
ถ้าใครได้ไปลองฝึกตามที่ได้แนะนำไปแล้ว ก็คงพัฒนาหูของตัวเองขึ้นไปบ้างตามสมควรนะครับ ถ้าเพียงแค่อ่านผ่านไป ก็จะไม่เป็นประโยชน์อะไรสำหรับหูของคุณ อาจจะได้ประโยชน์สำหรับปากของคุณ ให้เอาไปคุยได้ว่า เฮ้ย! ต้องใช้เพลงอ้างอิงฝึกอย่างนี้อย่างนั้น ซึ่งก็นับว่าเป็นการทำตัวให้เป็นประโยชน์อย่างหนึ่งเหมือนกัน ในการเผยแพร่วิธีการพัฒนาหูให้พรรคพวกได้รับรู้ ถ้าเขานำไปปฏิบัติแล้วได้ผลดี คุณก็ได้รับส่วนบุญไปด้วย
ผมเคยเสาะแสวงหาวิธีการฝึกหูอยู่นานหลายปี แต่ก็ไม่เจอวิธีไหนที่จะช่วยพัฒนาการรับรู้เสียงให้เห็นผลที่น่าพอใจ บางครั้งยังนึกว่าเป็นเรื่องของพรสวรรค์ ที่ต้องทำใจยอมรับสภาพระดับจำกัดในการรับรู้แห่งเสียงดนตรีของตนเอง เพราะจากประสบการณ์ที่เคยเจอมาทั้งในและนอกประเทศนั้น อาจารย์ผู้สอนเขาจะเคาะคอร์ดมาเป็นชุดมาให้แจงว่า เป็นคอร์ดอะไรบ้าง? ฟังแล้วมึน ได้บ้าง แต่ไม่ได้บ้างมากกว่า พอไปถามขอคำแนะนำในการฝึก อาจารย์ก็บอกให้ไปเคาะคอร์ด ฟังให้มันติดหู แล้วจะได้เอง เราก็ไปนั่งเคาะเปียโน เคาะไป ฟังไป ซึ่งก็ช่วยได้บ้าง แต่ก็ยังคาใจอยู่เสมอว่า น่าจะมีวิธีการฝึกเป็นลำดับขั้นตอน ให้เราได้เรียนรู้พัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมมากกว่านี้ จนกระทั่งได้มาเจออาจารย์แรน เบลค (Ran Blake) คณบดีของคณะ Contemporary Improvisation แห่ง New England Conservatory ซึ่งเป็นที่ยอมรับในวงการดนตรีทั้งสายคลาสสิกและแจ๊ส ว่าเป็นสถาบันดนตรีที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
อาจารย์แรน เบลค เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกของการเรียนรู้ดนตรีโดยให้ความสำคัญของหูล้วนๆ ท่านเป็นนักเปียโนหัวก้าวหน้าระดับหัวแถวของโลก ผลงานทุกอัลบั้มเป็นงานคุณภาพที่ได้รับการยกย่องจากวงการแจ๊ส ท่านโดดเด่นทั้งในด้านการเล่นและการสอนมากว่า 40 ปีแล้ว ณ วันนี้ ท่านยังคงปฏิบัติกิจกรรมทั้งสองด้านอย่างไม่เหนื่อยล้าในวัยย่างเข้า 72 ปี
ขั้นตอนการสอนในปีแรกของอาจารย์แรน ท่านจะเริ่มปูพื้นฐานตั้งแต่ให้ท่องเพลงจนจำขึ้นใจ ร้องทำนองไม่เพี้ยน ตุนเป็นต้นทุนได้หลายสิบเพลง จนมีความแข็งแกร่งพอตัว ต่อมาถึงจะเป็นการฝึกอินเตอร์วัลโดยใช้เพลงอ้างอิงอย่างที่ผมได้ชี้แนะมาแล้ว นี่เป็นการเรียนรู้อย่างเป็นลำดับขั้นตอน ให้คนเรียนได้มีพัฒนาการอย่างหนักแน่นมั่นคง การที่เราจะข้ามขั้นไปหัดฟังเสียงคอร์ด ซึ่งประกอบด้วย 3 เสียงขึ้นไป โดยที่ยังไม่ผ่านการฝึกฟังอินเตอร์วัลซึ่งมีแค่ 2 เสียงนั้น ย่อมจะไม่เป็นผลดีต่อผู้เรียนอย่างแน่นอน ดั่งที่ผมได้ประสบมากับตัวเอง
ในครั้งที่แล้วที่เคยบอกว่า ถ้าเรา ร้องได้ ก็จะฟังออก มาคราวนี้ก็จะแจงในรายละเอียดของการฝึกฟังอินเตอร์วัลในด้านการรับรู้ (Passive) ในการฝึกระดับต้นนั้น เราต้องเริ่มฝึกอย่างช้าๆก่อน ช่วงระยะเวลาในการเปล่งเสียง(เล่น)ตัวโน้ตแต่ละตัวนั้น ควรเว้นระยะห่างให้ประสาทหูได้ซึมซับรับรู้กับแต่ละเสียงได้เต็มที่ จนกระทั่งมีความไวในการรับฟังเพิ่มขึ้น สามารถแจงอินเตอร์วัลได้อย่างแม่นยำไม่ผิดเพี้ยน แล้วจึงจะค่อยๆเร่งความถี่ในการเล่นให้กระชั้นชิดเข้าไปเรื่อยๆ โดยที่เสียงของตัวโน้ตก็จะหดสั้นลงไปเรื่อยตามความเร็วของสปีดที่เล่น จนกระทั่งแทบจะเล่นทั้งสองเสียงออกมาพร้อมกัน ด้วยเสียงที่สั้นกุดมากๆในเศษเสี้ยวของวินาที ก็ยังฟังออกบอกได้ว่าเป็นอินเตอร์วัลใด
กระบวนการรับฟังอินเตอร์วัล พอจะลำดับขั้นตอนได้ดังนี้ คือ
1) หูได้ยินเสียงอินเตอร์วัลโจทย์
2) นึกเปรียบเทียบเสียงอินเตอร์วัลที่ได้ยินกับเพลงอ้างอิง
3) ได้คำตอบประเภทของอินเตอร์วัลนั้น
พอผ่านด่านนี้ได้แล้ว ก็มาฝึกฟังเสียงอินเตอร์วัลที่เปล่งเสียงออกมาพร้อมกัน ซึ่งก็คือ ฮาร์โมนิกอินเตอร์วัล (Harmonic Intervals) โดยเริ่มจากช้าก่อน เช่นเดียวกันกับการฝึกเมโลดิกอินเตอร์วัล (Melodic Intervals) ก่อนหน้านี้ ค่อยๆบรรจงจิ้มนิ้วชี้ทั้งสองมือ เคาะลงบนคีย์เปียโนอย่างช้าๆ ให้เสียงของตัวโน้ตทั้งสองก้องกังวานอยู่ในหูเรา ถ้าเรายังจำแนกไม่ออก ก็ให้กดซ้ำเพื่อฟังซ้ำอีกครั้ง และซ้ำไปอีกหลายๆครั้ง ถ้ายังฟังไม่ออก ถ้าทำซ้ำเป็นสิบครั้ง ยังไม่ได้อีก ก็ต้องเล่นแยกทีละตัวแบบเมโลดิกอินเตอร์วัล พอจับเสียงได้แล้ว ก็เคาะพร้อมกันย้ำให้ประสาทหูเราได้จดจำรับรู้อีกหลายๆครั้ง ทำอยู่อย่างนี้เรื่อยไป จนเกิดทักษะ
การฝึกฮาร์โมนิกอินเตอร์วัลด้วยตัวเอง อาจจะมีอุปสรรคอยู่บ้าง บางคนอาจจะไม่มีเปียโนหรือคีย์บอร์ดเพื่อใช้ฝึก แม้จะมีเปียโนเอง การเคาะฝึกเองก็ยังเป็นปัญหา ครูบางคนจะแนะนำให้กำดินสอไว้มือละด้าม ใช้ด้านที่มียางลบจิ้มสุ่มลงบนคีย์เปียโน เพื่อที่เราจะได้ไม่รู้ว่าเป็นคีย์อะไร ถ้าจะให้ดีแล้ว ควรหาคนมาเล่นให้เราทายว่าเป็นอินเตอร์วัลอะไร จะเป็นตัวช่วยฝึกที่ดีมาก
เมื่อเราผ่านการร้องและฟังอินเตอร์วัลได้แล้ว หูของเราได้พัฒนาขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง ด่านต่อๆไปจะไม่ยากมหาโหดเหมือนด่านนี้ เราได้ปูพื้นฐานที่สำคัญที่สุดในช่วงนี้แล้ว ขอรับรองว่า เส้นทางต่อจากนี้ไปจะไม่วิบากกว่าที่ผ่านมานี้อีกอย่างแน่นอน
ข้อสำคัญที่สุด คือ คุณจะผ่านด่านอินเตอร์วัลไปได้หรือไม่? นั่นแหละคือตัวปัญหาที่จะต้องพิชิตให้ได้ก่อน
(ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสาร Overdrive ฉบับที่ 103 กุมภาพันธ์ 2007)
Labels:
Ear Training
Subscribe to:
Posts (Atom)