Tuesday, October 12, 2010

Intervals ภาคปฏิบัติ (2)


อินเตอร์วัล (Intervals) (6)


ารฝึกอินเตอร์วัลภาคปฏิบัติเป็นเรื่องที่ต้องค่อยเป็นค่อยไป จะใจร้อนเร่งรีบ เร่งรัด ตัดตอนกระบวนการไม่ได้เลย เราจะต้องฝึกจนรู้แจ้งด้วยตัวเองไปทีละน้อย ทีละขั้น ฝึกเน้นทีจะคู่ ตั้งมาตรฐานให้กับตัวเองให้สูงเข้าไว้ อย่าเข้าข้าง อนุโลมให้กับตัวเอง ถ้ายังทำไม่ได้ 100% ก็อย่ายอมให้ผ่านโดยเด็ดขาด เพราะสิ่งที่ตามมาในภายหลังจะเลวร้ายมากๆ ดังนั้นจึงต้องใจเย็นๆ ค่อยๆทำไปทีละขั้น ย้ำเตือนกับตัวเองอยู่เสมอว่า ก่อนหน้าที่เราจะรู้ถึงเคล็ดลับในการฝึกอินเตอร์วัลนี้ เราก็ยังอยู่ได้สบายดีกับความไม่รู้มาตั้งนาน พอมารู้ถึงเคล็ดลับ เราก็ไม่ควรจะมาเร่งรัดรีบร้อนตักตวงจนเกินไป ตัวผมเองเล่นดนตรีมาตั้ง 10 กว่าปีแล้ว และต้องผ่านการฝึกเอียร์เทรนนิงทั้งแบบอ่านโน้ต แบบท่องจำเพลงอีกเป็นปี กว่าจะได้มาเริ่มฝึกโดยใช้เพลงอ้างอิงนี้ ซึ่งเหมือนได้เลื่อนชั้นไปเรียนคอร์สใหม่อีกเกือบปี เมื่อมาได้ฝึกก็โดนเคี่ยวกันหนักหนาสากรรจ์ ต้องอดทนสู้กันอย่างเลือดตาแทบกระเด็น เพราะอยากได้วิชาเองไง จึงต้องยอมอดทนให้อาจารย์โขกสับ ไม่มีใครบังคับ เสียตังค์ค่าเรียนก็แพงอีกต่างหาก


เวลาที่ใช้ฝึกควรจะแบ่งเป็นหลายช่วง ครั้งละ 15 – 20 นาที ไม่ควรฝึกจนหูล้า เพราะจะไม่ได้ประโยชน์อะไรถ้าหูไม่รับรู้ จนแยกแยะเสียงไม่ได้ การฝึกแบบนี้ต้องใช้สมาธิมาก ถ้าร่างกายไม่พร้อม จะทำให้ได้ผลไม่เต็มที่ ก่อนเริ่มฝึก นั่งสมาธิทำใจว่างนิ่งๆ ให้จิตสงบอย่างน้อยสัก 1 นาที ก็จะยิ่งดีมาก

ในการฝึกอินเตอร์วัลนั้น แบ่งออกได้เป็น 2 ส่วนด้วยกัน คือ ด้านกระทำ (Active) ซึ่งเราเป็นผู้ปฏิบัติเสียงอินเตอร์วัล อย่างที่แนะนำให้ฝึกในครั้งที่แล้วนั้น เป็นการฝึกในแบบแอ็กทีฟ คือเราต้องออกแรง Action หรือบู๊ ต่อสู้กับตัวโน้ตโจทย์ที่มาท้าทายให้เราพิชิต ไม่ว่าตัวโน้ตโจทย์จะเปล่งเสียงอะไรออกมาก็ตาม เราจะต้องสามารถเปล่งเสียงร้องให้ตรงกับโน้ตนั้นก่อนเป็นลำดับแรก จากนั้นจึงจะนึกถึงเพลงอ้างอิงไปยังอินเตอร์วัลที่โจทย์กำหนดได้ ว่ากันถึงเรื่องการฝึกอินเตอร์วัลนี้ เมื่อเราผ่านการฝึกไปหลายๆคู่สักระยะหนึ่ง จะมีความรู้สึกว่าอินเตอร์วัลแต่ละคู่ จะมีความยากง่ายต่างกัน บางคู่จะถูกโฉลกกัน ใช้เวลาไม่นานก็รู้จักกันดี สนิทกันเร็ว ได้มาง่ายๆ แต่บางคู่นั้นเสียงฟังไม่เข้าหูเลย กว่าจะยอมเป็นมิตรให้ความคุ้นเคย ก็ต้องใช้เวลานาน ที่น่าสนใจ คือ แต่ละคนจะมีปัญหากับอินเตอร์วัลไม่เหมือนกัน อินเตอร์วัลคู่หนึ่งอาจจะเป็นกล้วยสำหรับนาย ก. แต่กลับเป็นโคตรหินสำหรับนาย ข. และในทางกลับกัน

ในส่วนที่สองของการฝึกอินเตอร์วัล คือ ด้านการรับรู้ (Passive) เราจะเป็นฝ่ายถูกกระทำ นั่นคือ อินเตอร์วัลจะเป็นฝ่ายรุกจู่โจมเข้ามากระทบโสตประสาทการรับฟังของเรา เมื่อเราได้ยินเสียงอินเตอร์วัล ก็จะต้องจำได้ทันทีว่าเป็นอินเตอร์วัลคู่อะไร? สามารถบ่งชี้ออกมาได้อย่างถูกต้อง

ด้านกระทำนั้นจะยากกว่าด้านการรับรู้ และจะต้องออกแรงฝึกให้ได้ก่อน ด้านการรับรู้ก็จะเป็นของแถมมาเอง


สรุปง่ายๆว่า ถ้าเราร้องได้ เราก็จะฟังออก

ในการฝึกอินเตอร์วัลภาคปฏิบัตินั้น ถ้าเราหาเพื่อนสักคนมาเป็นคู่ฝึก หรือ พาร์ตเนอร์ ก็จะช่วยได้มากทีเดียว ย้อนกลับไปดูรายละเอียดเรื่องพาร์ตเนอร์ในฉบับเก่านะครับ ถ้าลืมไปแล้ว

แม้ว่าเมื่อเราสอบผ่านภาคปฏิบัติอินเตอร์วัลไปแล้วก็ตาม เรายังต้องทบทวนในส่วนนี้อยู่เป็นประจำ ผมต้องหน้าแตกอยู่บ่อยครั้งเวลาสอนเรื่องนี้ รู้อยู่ว่าจะร้องไปหาเสียงอะไร แต่ดันเสียงหลงไปหาโน้ตอื่น พอได้ยินเสียงของตัวเองก็รู้ว่า เสียท่าไปแล้ว ด้านการรับรู้นั้นไม่ค่อยมีปัญหา แต่ด้านกระทำยังต้องย้ำให้ตัวเองได้ยินอยู่เสมอ ถ้าเกิดว่างเว้นไปนานๆ ก็จะร้องไม่ได้อย่างใจนึก คือ นึกเสียงถูก แต่ร้องเพี้ยนเป็นเสียงอื่นไป

อย่างที่เคยบอกไว้ว่า ด่านภาคปฏิบัติของอินเตอร์วัลนั้น ยากมาก แต่ก็ไม่ยากเกินกว่าความมุ่งมั่นพยายาม ที่จะฝึกให้มันอยู่ในโอวาทของเราให้ได้ เคล็ดลับในการพัฒนาหู มันก็คล้ายๆกับเคล็ดลับในความสำเร็จอื่นๆ ที่พวกคนดัง คนเด่น คนเก่ง หรือดาราที่กำลังฮ็อตๆถอยพ้อคเก็ตบุ้ค ออกมาชี้ทางสว่างให้พวกเราได้เก่ง ได้พูดภาษาสำเนียงเหมือนฝรั่ง ได้รวย ได้หุ่นดี ได้ประสบความสำเร็จเหมือนพวกเขาบ้าง ในเรื่องการฝึกอินเตอร์วัลให้อยู่หมัดก็เช่นกันครับ แนะนำกันหนึ่งครั้งนี้สองครั้ง ก็พอจะเห็นลู่ทางไปช่วยตัวเองได้แล้ว

เห็นมั้ยครับ อินเตอร์วัลง่ายนิดเดียว........... แต่ยากมากๆ ครับ ฟังดูก็ง่ายๆ ไม่มีอะไร แต่เวลาที่ลองทำดู แล้วจะรู้ว่า ย า ก...... รากเลือด

เบื้องหลังแห่งความสำเร็จของทุกอย่าง ไม่ได้มากันง่ายๆ ต้องออกแรงกันมาก ทำงานกันหนัก กว่าจะได้รับผลตอบแทนที่น่าชื่นใจ

ตบท้ายด้วยรายการเพลงตัวอย่างของผม ที่สองโน้ตแรกของทำนองอิงกับอินเตอร์วัล มาฝากกัน เริ่มกันที่คู่สาม ทั้งขาขึ้นและขาลง
(ถ้าอ่านไม่ชัด ให้คลิกที่ภาพเพื่อขยาย ครับ)


และขยายความกระจ่างจากชีตเพลง






(ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสาร Overdrive ฉบับที่ 102 มกราคม 2007)