Tuesday, December 15, 2009

Intervals (2)

.

จากอินเตอร์วัล (Intervals) (1) เราได้ทำความรู้จักกับอินเตอร์วัล และได้รู้ว่า เราได้อินเตอร์วัล 2 ประเภท คือ เมเจอร์ (Major) และเปอร์เฟ็ค (Perfect) จากเมเจอร์สเกล อินเตอร์วัลประเภทเมเจอร์ ได้แก่ คู่สอง, คู่สาม, คู่หก และคู่เจ็ด อินเตอร์วัลประเภทเปอร์เฟ็ค ได้แก่ คู่หนึ่ง, คู่สี่, คู่ห้า และคู่แปด ซึ่งเราจะใช้อินเตอร์วัลประเภทเมเจอร์ (Major) และเปอร์เฟ็ค (Perfect) ที่ได้มานี้ เป็นหลักในการคิดหาอินเตอร์วัลประเภทอื่นๆต่อไป

จำไว้เลยให้แม่นเลย แล้วอินเตอร์วัลจะไม่กวนใจอีกต่อไป

อินเตอร์วัลอาจจะขยาย(เพิ่มขนาดขึ้นอีกครึ่งขั้นเสียง) หรือหด(ลดขนาดลงอีกครึ่งขั้นเสียง)

1) คู่เสียงเมเจอร์ (Major) ใดๆ ถ้าระยะห่างระหว่างตัวโน้ตเพิ่มขนาดขึ้นอีกครึ่งขั้น ก็จะกลายเป็นออกเม็นเต็ด (Augmented) ถ้าเมเจอร์ลดขนาดลงครึ่งขั้นก็จะกลายเป็นไมเนอร์ (minor) และจากไมเนอร์ถ้าลดขนาดลงไปอีกครึ่งขั้นก็จะกลายเป็นดิมินิช (diminished)

2) คู่เสียงเปอร์เฟ็ค (Perfect) ใดๆ ถ้าระยะห่างระหว่างตัวโน้ตเพิ่มขนาดขึ้นอีกครึ่งขั้น ก็จะกลายเป็นออกเม็นเต็ด (Augmented) และถ้าเปอร์เฟ็คลดขนาดลงไปอีกครึ่งขั้น ก็จะกลายเป็น ดิมินิช (diminished)

แผนผังต่อไปนี้ แสดงถึงกฎการขยายและหดของอินเตอร์วัล โดยยึดถือเอาเมเจอร์ และเปอร์เฟ็คอินเตอร์วัลเป็นหลัก ตามที่ได้อธิบายมาข้างต้น

แผนผังที่ 1



เราจะเห็นว่า แผนผังช่วยให้เข้าใจและจดจำกฎการขยายและหดของอินเตอร์วัลได้ง่ายขึ้นมาก จากการที่ยึดถือเอาเมเจอร์ และเปอร์เฟ็คอินเตอร์วัลเป็นหลัก ซึ่งเมื่อเพิ่มขนาดขึ้นอีกครึ่งขั้น ทั้งเมเจอร์และเปอร์เฟ็คอินเตอร์วัลก็จะกลายเป็นออกเม็นเต็ดอินเตอร์วัลเช่นเดียวกัน และถ้าเปอร์เฟ็คลดขนาดลงไปอีกครึ่งขั้น ก็จะกลายเป็น ดิมินิช ในส่วนของเมเจอร์อินเตอร์วัล ถ้าลดขนาดลงครึ่งขั้น ก็จะกลายเป็นไมเนอร์อินเตอร์วัลก่อน และจากไมเนอร์อินเตอร์วัลถ้าลดขนาดลงไปอีกครึ่งขั้น จึงจะกลายเป็นดิมินิชอินเตอร์วัล

อินเตอร์วัลอาจจะขยายให้กว้างกว่าออกเม็นเต็ด ก็จะกลายเป็นดับลีออกเม็นเต็ด (Doubly Augmented) หรือหดให้แคบกว่าดิมินิช ก็จะกลายเป็นดับลีดิมินิช (Doubly diminished) ซึ่งทั้งสองกรณีนี้คงมีให้เห็นน้อยมาก เพียงต้องการให้ได้รับรู้ไว้ว่า มันเป็นไปได้ ถ้าเกิดไปเจอปัญหาเข้า ก็จะได้ไม่งง

การขยายและหดของอินเตอร์วัลนั้น ไม่ได้จำกัดไว้ว่า จะต้องเกิดขึ้นเฉพาะกับตัวโน้ตฐานหรือตัวโน้ตยอด ตัวใดตัวหนึ่งเท่านั้น อินเตอร์วัลสามารถขยายและหดได้ทั้ง 2 ทาง ไม่ว่าจะเป็นจากฐานหรือจากยอดก็ได้เช่นเดียวกัน เช่น C กับ E (ระยะห่างกันสองขั้น) มีความสัมพันธ์กันเป็นคู่สามเมเจอร์ (Major 3rd) ถ้าเราขยายไปทางยอด คือ E กลายเป็น C กับ E# ก็จะเป็นคู่สามออกเม็นเต็ด (ระยะห่างกันสองขั้นครึ่ง) หรือถ้าเราขยายจากทางฐาน คือ C ได้เป็น Cb กับ E ก็จะเป็นคู่สามออกเม็นเต็ด (ระยะห่างกันสองขั้นครึ่ง) เช่นเดียวกัน คราวนี้ลองหดไปทางยอด คือ E ดูบ้าง ได้เป็น C กับ Eb ซึ่งเป็นคู่สามไมเนอร์ (ระยะห่างกันหนึ่งขั้นครึ่ง) หรือถ้าเราหดขนาดจากทางฐาน คือ C เป็น C# กับ E ก็จะได้เป็นคู่สามไมเนอร์ (ระยะห่างกันหนึ่งขั้นครึ่ง) เช่นเดียวกัน แถมให้อีกตัวอย่าง ระหว่าง D กับ A เป็นคู่ห้าเปอร์เฟ็ค ขยายไปทางยอดเป็น D กับ A# ได้เป็นคู่ห้าออกเม็นเต็ด ถ้าขยายไปทางฐาน ก็จะเป็น Db กับ A ได้เป็นคู่ห้าออกเม็นเต็ดเหมือนกัน ถ้าหดไปทางยอด เป็น D กับ Ab ได้เป็นคู่ห้าดิมินิช หดไปทางฐาน เป็น D# กับ A ก็ได้ผลลัพธ์เดียวกัน เป็นคู่ห้าดิมินิช

หวังว่าคงไม่มึนหรือสับสนนะครับ ถ้ายังไม่กระจ่าง พิจารณาซ้ำหลายๆเที่ยว แล้วจะเกิดปัญญา เข้าใจเอง ดูตำแหน่งโน้ตบนคีย์บอร์ด หรือกีตาร์ก็น่าจะช่วยได้

เราสามารถที่จะจำแนกอินเตอร์วัล โดยวิธีนับจำนวนขั้นเสียงเต็ม และ/หรือ ครึ่งขั้นเสียง เช่น Major 2nd มีระยะห่างกันหนึ่งขั้นเสียงเต็ม หรือสองครึ่งขั้นเสียงผสมกัน minor 3rd มีระยะห่างกันหนึ่งขั้นครึ่ง หรือสามครึ่งขั้นผสมกัน การคิดหาอินเตอร์วัลวิธีนี้ ใช้ได้ดีกับอินเตอร์วัลคู่เล็กที่มีระยะห่างกันไม่มาก แต่ถ้าไปเจออินเตอร์วัลคู่ใหญ่ที่มีระยะห่างกันมาก อาจจะช้าและเสียเวลามากกว่าอีกวิธีหนึ่ง คือ การเชื่อมโยงเข้าไปสัมพันธ์กับเมเจอร์สเกล โดยกำหนดให้ตัวโน้ตฐานเป็นตัวโทนิกของเมเจอร์สเกล

แผนผังต่อไปนี้ แสดงถึงอินเตอร์วัลทั้งหมดโดยการใช้ตัวโน้ต C เป็นจุดอ้างอิง

แผนผังที่ 2




ในอินเตอร์วัล Augmented fourth และ diminished fifth เราจะเห็นว่า มีชื่อ ''Tritone" ปรากฏอยู่ (Tri นั้นก็คือ ไตร หรือ ตรี ซึ่งหมายถึง สาม) โดยที่อินเตอร์วัลคู่นี้มีระยะห่างกันของช่วงเสียง 3 เสียงเต็ม อันเป็นที่มาของชื่อ “ไตรโทน” ซึ่งนิยมใช้เรียกแทนอินเตอร์วัลออกเม็นเต็ดโฟธ และดิมินิชฟิฟธ์ “ไตรโทน” เป็นอินเตอร์วัลที่มีคุณสมบัติพิเศษ เมื่อพลิกกลับแล้วความสัมพันธ์ของเสียงยังคงเดิม เนื่องจากเป็นตัวแบ่งครึ่งของอ็อคเท็ฟ ซึ่งเราจะได้ศึกษาถึงความพิสดารของมันต่อไปในอีกไม่นาน

นักดนตรีควรจะสะกดอินเตอร์วัลให้ถูกต้องตามเสียงพ้อง (enharmonics) แห่งไวยากรณ์ดนตรี นั่นคือ คู่สาม ควรจะเกี่ยวกับสองโน้ตที่ห่างกันเป็นสาม คู่ห้า ควรจะเกี่ยวกับสองโน้ตที่ห่างกันเป็นห้า ฯลฯ ตัวอย่างเช่น อินเตอร์วัลจากโน้ต C ไปหา G# คือ Augmented 5th (ออกเม็นเต็ดฟิฟธ์) ไม่ควรจะเรียกเป็น minor 6th (ไมเนอร์ซิกธ์) ด้วยเหตุที่ระยะห่างแห่งเสียงจาก C ถึง G นั้นเป็นคู่ห้า ถ้าจะเป็นคู่ไมเนอร์ซิกธ์ ก็ควรจะเป็นระหว่าง C และ Ab

อย่างไรก็ตาม ด้วยสาเหตุทางดนตรีนานาประการ (โดยเฉพาะในทางปฏิบัติ)ทำให้มีการ "สะกดผิด" (mispelled) เสียงพ้องกันอยู่เสมอ ด้วยอักขระที่บันดาลเสียงถูกต้อง แต่ระยะห่างแห่งเสียงไม่ถูกต้อง ยกตัวอย่าง คู่เสียงดิมินิชเซเวนธ์ (diminished seventh) จะเป็นกรณีที่เห็นได้ชัดมาก แทนที่จะเขียนเป็น C กับ Bbb ( B Double Flat) กลับมักจะเขียนเป็น A แทน Bbb ซึ่งไม่ถูกต้องในทางทฤษฎี แต่ถ้าเป็นทางปฏิบัติ ก็น่าจะอนุโลมได้ เพราะถ้าเราไปเขียนโน้ตให้คนเล่น ระหว่าง A กับ Bbb คิดดูแล้วกันว่า คนเล่นจะสะดุดกับโน้ตตัวไหน?

จึงควรที่นักศึกษาดนตรีจะต้องมีความคล่องตัว ในการปรับใช้ให้ถูกต้องเหมาะสม ทั้งตามหลักวิชาการ และการใช้งานจริง

เพื่อความคล่องตัวในการศึกษาและสื่อสาร เขาได้กำหนดใช้ตัวย่อสำหรับอินเตอร์วัลต่างๆ ดังต่อไปนี้

P = Perfect
M = Major
m = minor
A = Augmented
d = diminished

อินเตอร์วัล Perfect 4th เราก็จะเขียนแค่ P4, Major 3rd เป็น M3, minor 6th เป็น m6, Augmented 4th เป็น A4, diminished 5th เป็น d5 เป็นต้น

มาถึงขั้นนี้ เราควรจะแจงอินเตอร์วัลได้ไม่ผิดพลาดแล้วนะครับ!


(ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสาร Overdrive ฉบับที่ 97 สิงหาคม 2006)



1 comment:

  1. ถึงกับเหงื่อตกครับ อาจารย์ - -"

    ReplyDelete