Tuesday, November 24, 2009

Banglumpoo Band



คุณ
อนันต์ ลือประดิษฐ์ ส่งข่าวมากระตุ้นต่อมบลูส์ ผมเลยบอกต่อมายังคอบลูส์ทั้งหลายให้ไปช่วยเป็นกำลังใจด้วย





เตรียมพบกับจุดประกายคอนเสิร์ต ซีรีส์ ที่ 36 คนหัวใจบลูส์ เปิดตัวทายาท หงา คาราวาน น้องกันตรึมกับวง บางลำพู แบนด์ 13 ธ.ค. นี้


เพราะสังคมไทยกำลังอยู่ในห้วงบรรยากาศ "บลูส์" ถึงเวลาของการเสพฟังดนตรีบลูส์อย่างลึกซึ้งถึงขั้วหัวใจ

โปรดเตรียมตัวให้พร้อม เพื่อพบกับกลุ่มศิลปินหัวใจบลูส์ระดับแนวหน้าของสยามประเทศ วง บางลำพู แบนด์ บนเวที จุดประกาย คอนเสิร์ต ซีรีส์ # 36

ใน วันอาทิตย์ที่ 13 ธันวาคม 2552 เวลา 17.00 น. ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย บัตรราคา 500, 800 และ 1000 บาท มีจำหน่ายแล้วที่ไทยทิคเก็ทเมเจอร์ โทร.02-2623456



.

Wednesday, November 11, 2009

MEET MILES

.

ตั้งแต่ข้อเท้าหักจากประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ ในเดือนตุลาคม ปี 1972 ถ่วงให้กิจกรรมทางดนตรีของไมล์ เดวิส (Miles Davis) ต้องถดถอยลงไปมาก เขาต้องทนทรมานกับอาการปวดเรื้อรัง แล้วยังโดนรุมซ้ำด้วยโรคไตกับเบาหวานอีกระลอกหนึ่ง ทำให้ไมล์ต้องหวนกลับมาพึ่งยาเสพติด ทั้งโคเคนและผงขาว เพื่อช่วยระงับความเจ็บป่วยทางร่างกาย ไมล์ถึงกับต้องจำใจเกษียนตัวเองตั้งแต่ปี 1975 เมื่ออาการเพียบหนักจนต้องผ่าตัดสะโพก ข่าวคราวของเขาแผ่วไปในช่วงปลายทศวรรษเจ็ดสิบ แต่คอแจ๊สต่างก็อัพเดทอาการป่วยของเขาอยู่เสมอ คอยลุ้นให้สุขภาพของเขาฟื้นโดยเร็ว เพื่อจะได้กลับมาเล่นดนตรีอีก ซึ่งผมก็เป็นคนหนึ่งในจำนวนนั้น ที่ใฝ่ฝันอยากจะดูไมล์เล่นสดอย่างน้อยสักครั้งหนึ่งในชีวิต

ในราวปี 1979 กระแสข่าวลือการกลับมาของไมล์ เดวิส แพลมออกมาเป็นระยะๆ เดี๋ยวมีข่าวว่าคนนี้คนนั้นไปซ้อมกับไมล์ ซึ่งตัวหลักๆก็มีคนแซ็ก เดฟ ลิบแมน (Dave Liebman) และมือกลองอัล ฟอสเตอร์ ( Al Foster) สมาชิกจากวงเก่า ก่อนที่จะหยุดเว้นวรรค ชื่อของมาคัส มิลเลอร์ (Marcus Miller) ผุดขึ้นมาบ่อยครั้งมาก ยังมีแบร์รี ฟิแนร์ตี (Barry Finerty) นักกีตาร์ฟิวชัน ที่ผมเคยเบียดเสียดผู้คนเข้าไปดู ตอนไปเล่นที่บอสตัน เพราะแว่วเสียงลือว่าเป็นมือกีตาร์วงใหม่ของไมล์ ต่อมามีเสียงกระทบหนาหูมาว่าบิล แอเวน (Bill Evans) หนุ่มนักเป่าเทเนอร์และโซปราโนแซ็กโซโฟน ซึ่งชื่อและนามสกุลไปบังเอิญพ้องกับนักเปียโนระดับตำนาน เข้ามาเล่นแทนอาจารย์เดฟ ลิบแมนของเขา เมื่อบิลไปเล่นที่บอสตันกับไมค์ เสติร์น (Mike Stern) ยอดนักกีตาร์ประจำเมือง คนแห่กันไปดูจนแน่น Michael’s แจ๊สคลับข้างบ้านผม พร้อมด้วยใบหน้าเปื้อนเครื่องหมายคำถาม ทุกคนอยากรู้ว่า เล่นเก่งยังไงถึงได้ถูกกิเลสไมล์

คืนหนึ่งผมได้มีโอกาสต้อนรับอาเซดิน เวสตัน (Azzedin Weston) นักเคาะเพอร์คัสชัน ซึ่งชัค เมลเฮ็ม (Chuck Melhem) คอแจ๊สตัวยง เป็นผู้พาไปหาที่อพาร์ตเมนต์ เขาเล่าให้ฟังว่า ได้ซ้อมกับไมล์เป็นประจำ ดนตรีน่าสนใจมาก แต่ยังไม่ลงตัวในตัวลูกทีม ซึ่งยังมีการเปลี่ยนตัวกันอยู่เรื่อยๆ อาเซดินนั้นเดิมชื่อว่าไนล์ (Niles) แต่ต่อมาได้เข้ารีตเป็นมุสลิม ก็เลยเปลี่ยนชื่อไปด้วย เขาเป็นลูกชายของนักแต่งเพลงและนักเปียโนระดับตำนานแรนดี เวสตัน (Randy Weston) พ่อแต่งเพลง “Little Niles” ให้เมื่อตอนเขายังเด็ก เป็นเพลงที่เพราะมาก มีคนนิยมเอาไปเล่นอยู่เหมือนกัน ถ้าเห็นเครดิตบนปกซีดี เป็น Azzedin Niles Weston เข้า ก็คนนี้แหละ เขาเป็นนักเคาะเพอร์คัสชันฝีมือดี มีผลงานมากโขอยู่

ช่วงปลายหน้าหนาวต้นปี 1981 ผมไปเยี่ยมเพื่อนที่ชิคาโก ได้แวะพักที่นิวยอร์กตอนขากลับ การเข้านิวยอร์กแต่ละครั้งเป็นเหมือนกับการได้ไปชาร์จแบตเตอรี เติมพลังให้เต็มประจุ แม้ว่าบอสตันจะเป็นเมืองที่มีบรรยากาศแจ๊ส แต่ความหลากหลายในเมนูนั้นเทียบไม่ได้เลยกับนิวยอร์ก ซึ่งมีมากจนเลือกลำบาก เพราะอยากไปดูเสียหมด คืนนั้นเราเลือกที่จะไป “Fat Tuesday” เพื่อฟังเฟร็ดดี้ ฮับบาร์ด (Freddie Hubbard) ยอดฝีมือทรัมเป็ตแจ๊ส

“Fat Tuesday” แจ๊สคลับมีระดับสถานหนึ่งในนครนิวยอร์ก เมืองหลวงแห่งแจ๊สของโลกใบนี้ ตั้งอยู่แถวถนนสายที่ 17 กับเอเวนิว สาย 3 อยู่ในละแวกใกล้เคียงกับ Union Square และ Gramercy Park ชื่อ Fat Tuesday มาจาก Mardi Gras เทศกาลขึ้นชื่อประจำปีของเมืองนิวออร์ลีน รัฐหลุยเซียนา Mardi Gras เป็นภาษาฝรั่งเศส ซึ่ง Gras คือ Fat และ Mardi คือ Tuesday ในภาษาอังกฤษ คลับนี้เคยเป็นเสมือนบ้านของดิ๊ซซี กิลเลสปี (Dizzy Gillespie), รอน คาร์เตอร์ (Ron Carter), โฮเรซ ซิลเวอร์ (Horace Silver) และศิลปินแจ๊สดังอีกมากมาย รวมทั้งยอดนักกีตาร์เลส พอล (Les Paul) ซึ่งยึดครองวันพุธ ตั้งแต่ปี 1984 จนกระทั่งวันปิดในช่วงปลายปี 1995

ผมมีความคุ้นเคยกับสถานที่พอสมควร เพราะเคยเข้าไปใช้บริการหลายครั้งอยู่ ทางเข้าของคลับทำเป็นเหมือนปล่องท่ออุโมงค์ ซึ่งนำไปสู่ห้องฟังเพลงชั้นใต้ดิน ดูทันสมัยด้วยแนวการตกแต่งเน้นการใช้กระจกเงาติดรอบด้าน กลมกลืนไปกับความแวววาวของโครเมียม พื้นปูด้วยพรมสีเทา ในคืนหนาวเหน็บที่ผมไปดูโชว์รอบสองของเฟร็ดดี้ ฮับบาร์ดนั้น แขกค่อนข้างน้อย บางตา มีโต๊ะว่างให้พวกเราเลือกนั่งตามสบาย หลังจากสั่งเครื่องดื่มกันแล้ว มองขึ้นไปบนเวทีเห็นเฟร็ดดี้กำลังเป่าทรัมเป็ตร่วมกับวงอย่างสนุกสนาน มือกีตาร์บอบบี้ บรูม (Bobby Broom) ยืนยิ้มเล่นอยู่ข้างๆ เหลือบมองไปทางโต๊ะติดกับเวที ผมถึงกับขนลุกซู่ เมื่อเห็นจอร์จ เบ็นสัน (George Benson) นั่งมาดเท่ห์ในชุดสูทสวย ร่วมโต๊ะกับนักเป่าแซ็กโซโฟนลู โดนัลด์สัน (Lou Donaldson) ในช่วงเวลานั้นเบ็นสันดังมากๆ อยู่ในระดับซูเปอร์สตาร์แล้ว ไม่นึกฝันว่าจะได้มาเจอในบรรยากาศกันเองแบบนี้ พอเพลงจบ เฟร็ดดี้ก็ชวนเบ็นสันขึ้นแจม เริ่มโจทย์แรกด้วย “Billie’s Bounce” เพลงบีบ็อปบลูส์ของชาร์ลี พาร์เกอร์ (Charlie Parker) ในอัตราความเร็วที่ต้องโดนเขียนใบสั่งและยึดใบขับขี่ เบ็นสันเล่นอย่างเต็มที่ สุดฝีมือ ด้วยสีหน้าที่เปี่ยมไปด้วยความปิติ ดูเขามีความสุขมากที่ได้มาเล่นแจ๊สเพื่อตัวเอง อย่างที่ใจอยากทำ หลังจบเพลง เฟร็ดดี้ประกาศออกไมค์ พร้อมกวักมือเรียก และชี้ไปทางด้านหลัง

“Come On, Miles, Come On”

ผมหันไปตามทิศทางมือ ในมุมมืดสลัวของห้อง เห็นสาวสวย ผมทอง ใส่แจ็กเก็ตหนังดำ กางเกงยีน ยืนคู่กับบุรุษผิวสีเข้ม ซึ่งกลมกลืนไปกับความมืด จนจับเค้าหน้าซึ่งซ่อนสายตาอยู่หลังแว่นเลนส์ดำไม่ถนัด ส่วนที่เด่นให้เห็นได้ชัดคือปกและขอบชายเสื้อขนสัตว์สีขาวของโอเวอร์โค้ตตัวใหญ่ที่เขาสวมทับอยู่
พอเพ่งมองจะจะ ก็เกิดอาการหัวใจเต้นแรงด้วยความตื่นเต้น เพราะคนที่ยืนอยู่นั่น มัน “Prince Of Darkness” นี่หว่า

“โอ้โฮ ! Miles Davis ตัวจริง”

ไมล์ยืนสงบนิ่ง ไม่สนใจกับคำเรียกร้องจากเวที ตรงโต๊ะด้านหน้าเขา เห็นมีเด็กหนุ่มกำลังหยิบแซ็กโซโฟนออกจากกล่อง ไมล์ส่งสัญญาณมือให้เขาขึ้นเวที และเจ้าหนุ่มน้อยก็ขึ้นไปแจมอย่างสุดฝีมือ ผมคุ้นหน้าเด็กคนนี้มาก จำได้ว่าเคยเห็นอยู่บ่อยๆที่บอสตัน สงสัยอยู่ว่ามาโผล่ถึงนี้ได้ไง เขาคือโดนัลด์ แฮริสัน (Donald Harrison) นักเป่าอัลโตแซ็ก ซึ่งขณะนั้นยังเรียนอยู่ที่เบิร์คลี (Berklee) หลังดนตรีเลิก ไฟเปิดสว่าง ก็รีบหันไปมองตรงจุดที่ไมล์ยืน เขายังยืนอยู่ตรงนั้น ตอนนี้เห็นชัดเจนเลย ผมรู้สึกประหม่า สองจิตสองใจ อยากเข้าไปทักทาย แต่ยังกล้าๆกลัวๆ เพื่อนที่ไปด้วยยุให้เข้าไปหา เลยเดินดิ่งเข้าไป จับมือของไมล์ขึ้นมาเขย่ากับมือของผม โดยที่เจ้าตัวไม่ทันตั้งตัว เห็นแหม่มสาวยืนยิ้มพยักหน้าเชียร์ ได้ยินเสียงตัวเองตะโกนก้องอยู่ข้างใน

“กูได้จับมือกับไมล์แล้ว! กูได้จับมือกับไมล์แล้ว!”

มันเป็นความรู้สึกสุดยอดครั้งหนึ่งในชีวิต ที่ผมจะไม่มีวันลืม คืนนั้นของวันที่ 18 มีนาคม 1981

ผมกลับบอสตันไม่นาน ก็ได้ข่าวคราวยืนยันว่าไมล์กำลังจะคัมแบ็กอย่างแน่นอน และต่อมาก็รีบคว้าอัลบั้ม “The Man With the Horn” ไปฟัง วางคาอยู่บนเทอร์นเทเบิ้ล พลิกกลับข้างไปมา ฟังแต่แผ่นนั้นอยู่หลายวัน รู้สึกปลื้มกับไมค์ สเติร์น คนรู้จักมักคุ้น ที่เคยนั่งฟังเขาฝึกวิทยายุทธอย่างไม่รู้เหนื่อยอยู่นานนับปี จนในที่สุด ได้เล่นกับสุดยอดแห่งแจ๊ส แล้วความหวังที่จะได้เห็น “Miles Davis in Concert” ก็ใกล้เป็นจริงขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง เมื่อเห็นโฆษณาการกลับสู่เวทีอีกครั้งของเขา ซึ่งประเดิมเอาฤกษ์ที่บอสตัน ภายใต้การนำเสนอโดยเฟร็ด เทย์เลอร์ (Fred Taylor)

เฟร็ด เทย์เลอร์ ผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการแจ๊สเมืองบอสตัน เป็นเพื่อนบ้านคบหากับจอร์จ วีน (George Wein) โปรโมเตอร์คนดังผู้ก่อตั้ง “Newport Jazz Festival” ตั้งแต่วัยเด็ก เส้นทางชีวิตของทั้งสองคล้ายคลึงกันมาก เป็นคนเก่งเรื่องการจัดการทั้งคู่ เฟร็ดบ้าแจ๊สตั้งแต่สมัยวัยรุ่น เขาจะหอบหิ้วเทปไปบันทึกการแสดงสดด้วยเสมอ ผลงานบันทึกเสียงระดับสมัครเล่นม้วนหนึ่งของเขา ซึ่งอัดที่สตอรีวิลล์ของจอร์จ วีน ได้กลายเป็นมาสเตอร์ของแผ่นเสียงชุด “Jazz at Storyville: Dave Brubeck and Paul Desmond” (Fantasy, 1953) ได้รับการยกย่องจากหนังสือพิมพ์ The New York Times ให้เป็นงานแจ๊สใหม่ยอดเยี่ยมแห่งปี ส่งผลให้เดฟ บรูเบ็กได้เซ็นสัญญากับโคลัมเบีย และก้าวขึ้นเป็นศิลปินแจ๊สใหญ่ในเวลาต่อมา

เฟร็ด เทย์เลอร์เป็นเจ้าของร่วม “Jazz Workshop” ตั้งแต่ปี 1965 เขาปลุกปั้นแจ๊สคลับนี้จนดังไปทั่วโลก ด้วยฝีมือการนำเสนอศิลปินแจ๊สระดับแนวหน้า และให้โอกาสคนหนุ่มไฟแรงได้แสดงฝีมือ เทย์เลอร์ว่าจ้างไมล์ให้เล่นที่แจ๊สเวอร์กชอปครั้งแรกในปี 1967 แม้เขาจะรู้ซึ้งถึงกิตติศัพท์ในอัตตาที่ไม่ธรรมดาของยอดนักทรัมเป็ต แต่ในฐานะเจ้าบ้านที่ดีที่ต้องแสดงอัธยาศัยต่อแขกผู้มาเยือน เขาเดินเข้าไปแนะนำตัวเองกับศิลปินแจ๊สผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งนั่งอยู่ที่เคาน์เตอร์บาร์ และก็โดนตอกกลับด้วยเสียงแหบ ห้วน ไร้ไมตรี ตามฟอร์มของไมล์ ซึ่งเป็นที่รู้กันในวงการ

“เรามาเล่น, เพื่อน”

แต่เฟร็ดตั้งการ์ดเตรียมรับปฏิกิริยาโต้ตอบเชิงลบเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว เขาตอบรับอย่างรู้ทันเกม ไม่ตอแยด้วย

“ที่นี่เราเริ่มสามทุ่ม ปิดตีสอง ยกให้เจ้านายจัดการตามสบายเลย”

มิตรภาพของทั้งสองเริ่มผูกพันกันตั้งแต่นั้นมา จนเมื่อไมล์มีความพร้อมที่จะคัมแบ็กในปี 1981 เขานึกถึงเฟร็ดเป็นคนแรก ที่จะให้จัดการเรื่องคอนเสิร์ต ซึ่งนักวิจารณ์แจ๊สประเมินว่า เป็นเหมือนการซ้อมใหญ่ ประมาณว่าอุ่นเครื่องก่อนขึ้นเวทีใหญ่ที่นิวยอร์ก แต่ข่าววงในที่ผมได้รับทราบจากชัค เมลเฮ็ม เพื่อนสนิท ผู้เคยทำงานเป็นบาร์เท็นเดอร์ให้กับเฟร็ดที่ Jazz Workshop ว่า ที่เฟร็ดได้รับงานนี้ เพราะว่าในช่วงที่ไมล์ป่วยอยู่นั้น พรรคพวกหายหัวกันหมด ไม่ค่อยมีใครโผล่ไปเยี่ยมเลย มีแต่เฟร็ดที่ไปดูแลเป็นขาประจำอย่างเสมอต้นเสมอปลาย ทำให้ไมล์รู้สึกซาบซึ้งและตอบแทนน้ำใจ

พวกเราคอแจ๊สคนไทยในบอสตัน พลอยตื่นเต้นไปกับเขาด้วย รีบนัดแนะไปจองตั๋วล่วงหน้าทั้งที่บอสตันและนิวยอร์ก พอถึงคืนวันที่ 27 มิถุนายน 1981 ก็ยกพวกดิ่งไปที่ “Kix” ซึ่งปกติเป็นคลับแบบดิสโก้ แหล่งบันเทิงของคนหนุ่มสาว ได้ถูกจัดตั้งเวทีสำหรับงานนี้โดยเฉพาะขึ้นมา ได้แวะยลโฉมรถสปอร์ต Ferrari รุ่น Testarossa สีเหลืองของไมล์ จอดเด่นอยู่ด้านหน้า กันอยู่พักหนึ่ง ก่อนที่จะเข้าไปในคลับ ซึ่งผู้คนเริ่มทยอยกันเข้าไปกันอย่างต่อเนื่อง เห็นซิเซลี ไทสัน (Cicely Tyson) ดาราสาวใหญ่หวานใจในตอนนั้นของไมล์ นั่งให้กำลังอยู่ติดขอบเวที อยู่ในกลุ่มแขกวีไอพี ซึ่งหลังจากนั้นไม่นาน ทั้งสองก็แต่งงานกันในเดือนพฤศจิกายน พวกเราได้ที่ยืนอยู่แถวหน้าห่างจากเวทีประมาณ 10 เมตร ไมค์ สเติร์น เดินถือกีตาร์เตรียมขึ้นเวที เขาหยุดตรงหน้าผม ยื่นมือมาให้จับ ผมจับมือกับเขา พร้อมกับอวยพรให้โชคดี บรรยากาศคึกคักขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเห็นนักดนตรีขึ้นมาพร้อมหน้ากันบนเวที คนดูพร้อมใจกันตะโกนเป็นเสียงเดียว


"WE WANT MILES!"

"WE WANT MILES!"


"WE WANT MILES!"



เมื่อไมล์ปรากฏตัว เสียงกรี๊ดต้อนรับ กึกก้องมากจนหูอื้อ แสงแฟล็ชจากกล้องถ่ายรูปของผู้สื่อข่าวจากทั่วโลกบริเวณขอบเวที วูบวาบเต็มไปหมด คนดูเฮตอบรับกับเสียงดนตรีตลอดเวลา วงดนตรีตอบสนองคนดูจนถึงตีสอง ถึงได้เลิกรา เป็นประสบการณ์ที่สุดจะบรรยายได้จริงๆ







ผมได้ติดตามไปดูไมล์ที่นิวยอร์กในอาทิตย์ต่อมา และทุกครั้งที่ไปแสดงที่บอสตัน แต่ครั้งแรกเป็นความประทับใจสุดๆ แม้ว่าในตอนหลังจะได้เห็นไมล์ในฟอร์มที่สดกว่าก็ตาม






ขอบันทึกถึงความประทับใจไว้ให้รับรู้กัน ถึงครั้งหนึ่งในชีวิตของแฟนเพลงแจ๊ส ที่ได้สัมผัสกับเทพแจ๊สระดับสูงสุดองค์หนึ่ง



(ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร JazzSeen มกราคม 2006)