Friday, October 30, 2009

Melodic Resolution


การเกลาแห่งแนวทำนอง


ในยุคดึกดำบรรพ์แรกเริ่มกำเนิดดนตรีมาเป็นเสียงเพลง ก่อนที่จะมีการใช้แนวเสียงประสาน คอร์ดและทางคอร์ดที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้นั้น มีแค่เพียงจังหวะกับทำนองเพลงเท่านั้น ที่ใช้ร้องขับขานกันในหมู่ชุมชนประชากรโลก เครื่องดนตรีที่ใช้เล่นบรรเลงจะเป็นพวกขลุ่ย หรือเครื่องสายที่สร้างขึ้นมาอย่างง่ายๆ แม้แต่ในทุกวันนี้เราก็ยังพบเห็นว่าเหล่าชนเผ่าต่างๆทั่วทุกมุมโลก ยังคงยึดเน้นแค่ทำนองเพียงอย่างเดียวในการละเล่นบรรเลงเพลงของพวกเขา

แนวดนตรีตะวันตกนั้นต้องใช้เวลานานหลายร้อยปี กว่าจะวิวัฒนาการแนวทำนองมาลงตัวเข้าที่เข้าทาง จนสรุปได้ว่า เป็นทางทำนองแห่งเมเจอร์สเกล ซึ่งคนรุ่นหลังได้รวบรวมบทเพลงทั้งหลาย เอามาศึกษาวิเคราะห์ถึงพฤติกรรมของเหล่าบรรดากลุ่มตัวโน้ตที่ใช้กันมา จนได้ความกระจ่างถึงแนวทางปฏิบัติที่สามารถสรุปเป็นกฎทั่วไปได้ว่า ในแต่ละลำดับขั้นของเมเจอร์สเกลที่ถูกนำมาร้อยเรียงเป็นวลี เป็นประโยคของแต่ละท่อนทำนองเพลงที่ลงตัวอย่างสละสลวยนั้น จะมีโน้ตบางลำดับขั้นที่ฟังแล้วให้ความรู้สึกขัดหูกระด้างกว่า จักต้องมีการเกลาเสียงระคายหูนั้น โดยการเคลื่อนเข้าหาเสียงที่ฟังเสนาะหูกว่า เนื่องมาจากใจเราจะรู้สึกถึงความเป็นโทนาลิตี้ (Tonality) คือ ได้เลือกกำหนดเสียงหลักหนึ่งเสียง ให้เป็นจุดรวมที่สำคัญที่สุดกว่าเสียงอื่นๆในสเกลเสียงนั้น นั่นคือ ตัวโทนิก(Tonic) ซึ่งทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางแห่งคีย์ (สเกล) โดยที่ตัวโทนิกนี้จะมีความมั่นคง สงบนิ่ง เป็นตัวหลักที่ดำรงอยู่ได้โดยตัวเอง ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเคลื่อนไปหาโน้ตลำดับอื่น ดังนั้น เมื่อมีโน้ตลำดับอื่นมาสัมพันธ์กับตัวโทนิก โสตการรับฟังของเราก็จะมีแนวโน้มที่จะเลือกยึดเอาโน้ตสำคัญกว่าอิงเป็นหลักไว้ก่อน นั่นก็คือ ตัวโทนิก

ในเมเจอร์สเกล ตัวโน้ตที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นโทนิกเมเจอร์คอร์ด คือ ลำดับขั้นที่หนึ่ง ลำดับขั้นที่สาม และลำดับขั้นที่ห้า กลุ่มตัวโน้ตเหล่านี้จะมีความมั่นคง ไม่มีความจำเป็นจะต้องเคลื่อนไปหาโน้ตลำดับอื่น ส่วนโน้ตลำดับขั้นที่สอง ลำดับขั้นที่สี่ ลำดับขั้นที่หก และลำดับขั้นที่เจ็ด จะเป็นกลุ่มตัวโน้ตที่ไม่มีความสงบนิ่ง มีความกระด้าง ความตึงสูง จักต้องมีการผ่อนคลาย ลดความกระด้าง ด้วยเกลาเข้าหาตัวโน้ตสมาชิกของโทนิกเมเจอร์คอร์ดที่อยู่ใกล้เคียงตัวมัน ดังตัวอย่างต่อไปนี้


จะเห็นว่า โน้ตลำดับขั้นที่สองเกลาเข้าหาโน้ตลำดับขั้นที่หนึ่ง, ลำดับขั้นที่สี่เกลาเข้าหาโน้ตลำดับขั้นที่สาม, ลำดับขั้นที่หกเกลาเข้าหาโน้ตลำดับขั้นที่ห้า และลำดับขั้นที่เจ็ดเกลาเข้าหาโน้ตลำดับขั้นที่หนึ่ง

ความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งในกฎการเกลาแห่งแนวทำนอง เป็นพื้นฐานสำคัญมากสำหรับคนดนตรีในทุกสาขา เมื่อเราตระหนักในเส้นทางเดินของตัวโน้ต และได้นำเอาความรู้นี้มาใช้ปฏิบัติ ผลงานที่ออกมาย่อมจะต้องดีขึ้นกว่าเดิมอย่างแน่นอน เราสามารถแจงถึงเหตุและผล ในการนำเอาตัวโน้ตแต่ละตัวมาใช้ ช่วยให้เราสามารถวิเคราะห์สิ่งที่เราทำไปจากแรงดาลใจ ที่ให้ผลลัพธ์ออกมาดี น่าพอใจ หรือรู้ถึงความบกพร่องในเพลงที่แต่งออกมาแล้ว ไม่ถูกใจ ไม่ลงตัว แต่หาสาเหตุไม่ได้

ภาษาดนตรีดั้งเดิมของไทยเรานั้น โดยทั่วไปจะใช้อักขระดนตรีเพียง 5 ตัวโน้ต หรือเพ็นตาโทนิก (Pentatonic) แม้จะดูเหมือนว่า เราไม่ได้ใส่ใจอย่างจริงจัง ให้กับดนตรีไทยอันเป็นมรดกล้ำค่าของชาติ ซึ่งบรรพบุรุษได้สร้างเอาไว้ให้ แต่เราก็จะมีความคุ้นเคยกับสำเนียงนี้โดยอัตโนมัติ มันเป็นสิ่งที่ฝังอยู่ในสายเลือดของเรา เช่นเดียวกับที่ว่ากันว่า คนไทยทุกคนเตะเป็นตั้งแต่อยู่ในท้องแม่แล้ว ครั้นเมื่อเรามารับเอาภาษาดนตรีของฝรั่ง ซึ่งมีวิวัฒนาการที่พัฒนามาจากอักขระดนตรี 7 ตัว หรือเมเจอร์สเกลนี้ เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับดนตรีไทยแล้ว จะเห็นได้ว่า มันจะมีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด เราไม่ได้เติบโตมากับวัฒนธรรมดนตรีตะวันตก พื้นฐานความรู้สึกแห่งชนชาติของเราก็ไม่เหมือนกับฝรั่ง แม้ว่าในสมัยนี้คนรุ่นใหม่ของเราจะพยายามมอมเมาตัวเอง สร้างค่านิยมด้วยการรับวัฒนธรรมประเภทแดกด่วนทั้งหลายทุกรูปแบบ ก็ไม่ได้ทำให้พวกเขากลายพันธุ์เป็นฝรั่ง หรือญี่ปุ่น หรือเกาหลี ไปได้ ภาษาดนตรีก็น่าจะคล้ายกับภาษาพูด ซึ่งบางทีแม้เราจะพยายามอย่างเต็มที่แล้ว เราก็ยังพูดได้ไม่เหมือนเจ้าของภาษา หรือแม้แต่จะเข้าโรงเรียนแบบนานาชาติ ให้เขาล้างสมองตั้งแต่ยังเยาว์วัย จนพูดฝรั่งได้ไม่ผิดเพี้ยนไม่เหลือเค้าสำเนียงของโคตรพ่อโคตรแม่มัน มันก็ยังไม่ใช่ฝรั่งอยู่ดี (อันนี้ไม่ได้หมายถึงรูปลักษณ์ภายนอก ครับ)

การที่เราจะเอาเมเจอร์สเกลของฝรั่งมาใช้แต่งทำนองเพลงหรือด้นไปตามทางคอร์ด ซึ่งยึดสเกลนี้เป็นหลัก การศึกษาให้รู้ซึ้งถึงทางเดินของตัวโน้ตนั้น เป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่ละเลยไม่ได้เป็นอันขาด การแต่งทำนองเพลงเป็นศาสตร์ขั้นสูง ที่ต้องใช้ความรู้ประกอบจินตนาการ ในทำนองเพลงดีๆ ที่ฟังกันได้ไม่รู้เบื่อ ถ้าเรานำมาศึกษาวิเคราะห์เส้นทางเดินของตัวโน้ตแห่งทำนองเพลงนั้น ก็จะได้เห็นถึงความลงตัว เป็นไปตามกฎของการเกลาแห่งแนวทำนอง เป็นต้นแบบที่ดีในการเรียนรู้ นักแต่งเพลงเก่งๆ หรือ คีตกวีทั้งหลายจะมีความเชี่ยวชาญในการควบคุม วางตำแหน่งของตัวโน้ต โดยเฉพาะเหล่าตัวโน้ตกระด้างทั้งหลาย ซึ่งเป็นเสน่ห์ของเพลง นักปราชญ์ผู้รู้ทางดนตรีกล่าวกันว่า ถ้าจะดูว่าใครเก่งในเรื่องแต่งเพลงแล้ว จะต้องดูกันที่ความสามารถในการบังคับใช้โน้ตตัวกระด้าง ซึ่งขยายความได้ว่า เหล่าโน้ตตัวกระด้างนั้น เปรียบเสมือนอุปสรรค หรือตัวร้ายในนวนิยาย ซึ่งมาช่วยแต่งเติมสร้างสีสันให้เรื่องราวมีความน่าสนใจ ชวนให้ติดตาม ทำให้ผู้อ่านอยากรู้ว่าจะดำเนินเรื่องไปอย่างไร? ความไม่สงบนิ่งของโน้ตกระด้างจะเป็นตัวดึงดูดความสนใจของผู้ฟังในบทเพลง ทำให้เกิดการคาดเดาหรือคาดหวังในเป้าหมายของตัวโน้ตเหล่านั้น ว่าจะเกลาไปทางใด? คนแต่งเพลงที่ดีจะต้องหลอกล่อให้ผู้ฟังติดตาม และคล้อยตามไปกับทำนองเพลงของเขา

สำหรับนักแต่งเพลงมือใหม่ ผมขอแนะนำว่า เวลาที่แต่งเพลงนั้น ให้ใช้อารมณ์ จินตนาการ บวกกับประสบการณ์ รังสรรค์ผลงานให้เต็มที่ ส่วนกฎการเกลาแห่งแนวทำนองนั้น มีประโยชน์ในการตรวจสอบวิเคราะห์ผลงาน ให้เอามาใช้ในตอนหลัง

หวังว่า คงจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ศึกษาดนตรีผ่านทางคอลัมน์นี้ เช่นเดียวกับที่ผมได้ใช้สอยมาจนถึงทุกวันนี้ และต้องขอถือโอกาสกราบขอบพระคุณอาจารย์โป้ป พนัสชัย ศุภมิตร ที่สอนผมมา ณ ที่นี้ด้วยครับ



(ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสาร Overdrive ฉบับที่ 95 มิถุนายน 2006)


2 comments:

  1. เป็นประโยชน์มากเลยครับ เคยแต่งเพลงมาเยอะ หลายๆแนว(งานโทรทัศน์)
    บางครั้งติดจริงๆ รู้สึกขัดๆ พออ่านแล้วเข้าใจเลยครับ ต้องเกลาให้เนียนจริงๆ ^^

    ReplyDelete