Thursday, October 8, 2009
Major Scale
ผมจะทยอยนำความรู้พื้นฐานทางทฤษฎีดนตรีตั้งแต่เริ่มต้นมาลงในบล็อกนี้ สำหรับคนทั่วไปที่อินไปกับเสียงเพลง จนเกิดความรู้สึกอยากจะเปิดโลกทัศน์ให้เห็นเป็นตัวถั่วงอก เต้นไปเต้นมา หรือเห็นเป็นตัวลูกน้ำที่ยั้วเยี้ยเต็มหน้ากระดาษ แล้วสามารถสื่อรับรู้ได้ เห็นเป็นรูปธรรมมากกว่าการสื่อด้วยความรู้สึกเพียงอย่างเดียว และน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่พอมีความรู้พื้นฐานอยู่บ้าง เช่น นักเรียนที่ต้องไปสอบทฤษฎีดนตรีเบื้องต้น และสำหรับแฟนนิตยสารโอเวอร์ไดรฟ์ ที่ขานรับในทฤษฎีดนตรีระดับเบสิกอย่างอ้อมแอ้มไม่เต็มเสียง หรือไม่ได้ติดตามมาตั้งแต่เริ่มต้นเบสิก เมื่อมาอ่านคอลัมน์ของผมในตอนนี้ ซึ่งมีการวิเคราะห์เพลงสแตนดาร์ดที่ซับซ้อนพอสมควร ถ้าไม่มีพื้นฐาน คงจับต้นชนปลายไม่ถูกอย่างแน่นอน สำหรับครูอาจารย์ดนตรีก็มีมุมมองที่น่าสนใจมาฝาก ซึ่งผมได้ค้นคว้ามานำใช้ในการเรียนรู้สำหรับตัวเอง และสอนลูกศิษย์ ใครที่คิดว่ารู้ดีอยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องอ่าน ผ่านไปได้เลยครับ
โครงสร้างของเมเจอร์สเกล (The Structure of the Major Scale)
เมเจอร์สเกลประกอบขึ้นมาจากลำดับขั้นในสเกลที่แตกต่างกันเจ็ดลำดับ ซึ่งในแต่ละลำดับขั้นของสเกลจะมีช่วงห่างของเสียงเป็นระยะเต็มขั้น (whole step) และครึ่งขั้น (half step) ลำดับขั้นของสเกลที่มีช่วงระยะห่างของเสียงเต็มขั้น (whole step) ได้แก่ลำดับขั้นที่หนึ่งและสอง, สองและสาม, สี่และห้า, ห้าและหก, หกและเจ็ด ลำดับขั้นของสเกลที่มีช่วงระยะห่างของเสียงครึ่งขั้น (half step) ได้แก่ลำดับขั้นที่สามและสี่กับเจ็ดและแปด จำง่ายๆว่า สามสี่เจ็ดแปด เป็นครึ่งเสียง นอกนั้น เป็นหนึ่งเสียงเต็ม
แผนผังแสดงโครงสร้างของ C เมเจอร์สเกลจากคีย์บอร์ด
พูดง่ายๆว่า เมเจอร์สเกล จะมีเสียงเป็น โด เร มี ฟา ซอล ลา ที โด ที่เราคุ้นเคยนั่นเอง ถ้าผิดจากนี้ ก็ไม่ใช่เมเจอร์สเกล จะเป็นสเกลอะไรนั้น เราค่อยวิเคราะห์กันในระดับต่อไปครับ ดูตัวอย่างการไล่เมเจอร์สเกลจากยูทูบ
ชื่อของตัวโน้ตในเมเจอร์สเกลจะใช้ A ถึง G (A-B-C-D-E-F-G) นั่นก็คือ ระบบAlphabetic ผู้ที่เคยชินกับการเรียกในระบบ Syllabic ที่เรียกตัวโน้ตแบบโด เร มี ก็จะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเรียกชื่อตัวโน้ตใหม่ ให้เข้ากับระบบนี้ด้วยทั้งนี้เพราะระบบตัวอักษรนี้มีผู้ใช้กันเป็นที่แพร่หลายมากที่สุด และตำราดนตรีภาษาอังกฤษที่เราจะค้นคว้าศึกษาเพิ่มเติม หรือถ้าเรามีโอกาสที่จะไปศึกษาต่อยังเหล่าสถาบันดนตรีทั้งหลายในอเมริกา ต่างก็ใช้ระบบตัวอักษรแทบทั้งสิ้น
ลำดับขั้นของเมเจอร์สเกลจะถูกเรียกโดยตัวเลข(อราบิก) และโดยที่ลำดับขั้นของเมเจอร์สเกล เราถือว่าเป็นลำดับขั้นเนเจอรัล (natural) ทั้งหมด หน้าตัวเลขจะไม่มีเครื่องหมายแฟล็ต หรือชาร์ปมากำกับ เช่น b3, b7 หรือ #5 เป็นต้น
เราก็ได้รู้สูตรการสร้างเมเจอร์สเกลแบบพื้นฐานแล้ว ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่าเมื่อเมเจอร์สเกลถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนเท่ากันระหว่างลำดับขั้นที่สี่และห้าของสเกล จะได้กลุ่มโน้ตสี่ตัวที่มีสัดส่วนเหมือนกันสองกลุ่ม คือ ลำดับขั้นที่หนึ่งและสอง, สองและสาม มีช่วงห่างของเสียงเป็นระยะเต็มขั้น ในลำดับขั้นที่สามและสี่ของกลุ่มจะมีช่วงระยะห่างของเสียงครึ่งขั้น กลุ่มโน้ตสี่ตัวนี้ มีชื่อเรียกว่า Tetrachord (tetra แปลว่า สี่) และเราจะเรียกอ้างอิงตามตำแหน่งที่ตั้งของมัน โดยกลุ่มแรกเป็น Lower Tetrachord และกลุ่มที่สองจากลำดับขั้นที่ห้าไปถึงลำดับขั้นที่แปด ก็จะเป็น Upper Tetrachord ซึ่งได้รับการขนานนามให้เป็น Major Tetrachord จากการที่เราพบกลุ่ม Tetrachord นี้ในเมเจอร์สเกล เราสามารถสร้างเมเจอร์สเกลโดยวิธีผสม Tetrachord เข้าด้วยกันก็ได้
จำไว้ให้ดีนะครับว่า เตตระคอร์ด (Tetrachord) คือ กลุ่มโน้ตสี่ตัว ซึ่งมีช่วงกว้างของเสียงไม่เกินคู่สี่เปอร์เฟ็ก (Perfect Fourth) หรือสองเสียงครึ่ง เตตระคอร์ด ไม่ใช่คอร์ด แม้จะมีคำว่าคอร์ดอยู่ในชื่อเรียกก็ตาม
เมื่อเราได้ฝึกสร้างเมเจอร์สเกลจากวิธีคำนวณระยะห่างของเสียงจนคล่องแล้ว ลองไปดูวิธีอื่นบ้าง
ทางเลือกอีกวิธีหนึ่งของการสร้างเมเจอร์สเกล คือ ในการหาคีย์ทางแฟล็ตลำดับต่อไปจากคีย์ที่เราสร้างขึ้นมา ให้นับไปสี่ลำดับจากคีย์เดิม เช่นอยู่ในคีย์ C นับจาก C ไปสี่ ก็จะเจอ F จากนั้นเราก็เอาโน้ตในคีย์ C มาเรียงลำดับใหม่ โดยเริ่มจาก F เป็น F G A B C D E F แล้วจัดการเติมเครื่องหมายแฟล็ตเข้าไปที่ลำดับที่สี่ คือ ตัวโน้ต B เราก็จะได้ F เมเจอร์สเกล (1 Flat) ซึ่งประกอบด้วยตัวโน้ต F G A Bb C D E F ถ้าต้องการหาคีย์ลำดับต่อไป ก็นับสี่ ได้ Bb นับไปอีกสี่ ได้ E เติมแฟล็ตเข้าไป เป็น Eb เราก็จะได้ Bb เมเจอร์สเกล (2 Flat) ซึ่งประกอบด้วยตัวโน้ต Bb C D Eb F G A Bb ไล่ไปเรื่อยๆจนครบคีย์ทางแฟล็ต ถ้าจะเอาสูตรนี้ไปใช้กับคีย์ทางชาร์ปก็ได้เช่นกัน สำหรับหาคีย์ที่มีชาร์ปน้อยลงหนึ่งคีย์ เช่น จากคีย์ E (4 Sharp) นับสี่ ก็จะได้คีย์ A (3 Sharp) นับไปอีกสี่ ได้ D# เติมแฟล็ตเข้าไปหักลบกัน เป็น D เนเจอรัล ให้จำวิธีนี้ง่ายๆว่า สูตรสี่สี่ (4_4)
สำหรับวิธีการหาคีย์ทางชาร์ปลำดับต่อไปจากคีย์ที่เราสร้างขึ้นมา ใช้สูตรห้าเจ็ด (5_7) ให้นับไปห้าลำดับจากคีย์เดิม เช่นอยู่ในคีย์ C นับจาก C ไปห้า ก็จะเจอ G จากนั้นเราก็เอาโน้ตในคีย์ C มาเรียงลำดับใหม่ โดยเริ่มจาก G เป็น G A B C D E F G แล้วจัดการเติมเครื่องหมายชาร์ปเข้าไปที่ลำดับที่เจ็ด คือ ตัวโน้ต F เราก็จะได้ G เมเจอร์สเกล (1 Sharp) ซึ่งประกอบด้วยตัวโน้ต G A B C D E F# G ถ้าต้องการหาคีย์ลำดับต่อไป ก็นับห้า ได้คีย์ D แล้วเติมชาร์ปเข้าไปในลำดับที่เจ็ด คือ C เป็น C# เราก็จะได้ D เมเจอร์สเกล (2 Sharp) ซึ่งประกอบด้วยตัวโน้ต D E F# G A B C# D จะเอาไปใช้กับคีย์ทางแฟล็ต สำหรับหาคีย์ที่มีแฟล็ตน้อยลงหนึ่งคีย์ เช่น Bb เมเจอร์สเกล (2 Flat) นับห้า ก็จะได้คีย์ F (1 Flat) นับไปอีกเจ็ด ได้ Eb เติมชาร์ปเข้าไปหักลบกัน เป็น E เนเจอรัล
นั่นก็เป็นวิธีสร้างเมเจอร์สเกลหลายแบบ นำมาเสนอให้เลือกใช้กันตามกิเลส ชอบวิธีไหนก็เลือกใช้กันตามใจชอบ หรือจะใช้ผสมกันหลายแบบก็ได้ หรือใครมีวิธีสร้างนอกเหนือจากนี้ ก็ช่วยบอกมาด้วย จะได้มีทางเลือกเพิ่มขึ้นอีก
เมเจอร์คีย์นำมาจัดเรียงลำดับจากคีย์ทางแฟล็ตไปหาคีย์ทางชาร์ป ได้ดังต่อไปนี้ คือ C, F, Bb, Eb, Ab, Db(C#), Gb(F#), B, E, A, D และ G
ตารางเมเจอร์สเกล
ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่า ตัวโน้ตที่ชื่ออักษรเดียวกัน ในคีย์ทางแฟล็ตและชาร์ป เมื่อนำจำนวนมารวมกันแล้ว จะได้ผลลัพธ์เป็น 7 เสมอ เช่น คีย์ Eb(3 flats) และคีย์ E(4 sharps), คีย์ D(2 sharps) กับคีย์ Db(5 flats) และคีย์ F(1 flat) กับคีย์ F#(6 flats) เป็นต้น
ท่องให้ได้ขึ้นใจทุกตัวเลยนะครับ แล้วเส้นทางการศึกษาทฤษฎีดนตรีจะเปิดโล่งให้คุณ
(ปรับปรุงจากตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสาร Overdrive ฉบับที่ 93 เมษายน 2006)
Labels:
Theory
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
เรียนดนตรีมาหลายปี เพิ่งจะเคยเรียนรู้เรื่องนี้เป็นเรื่องราวก็คราวนี้แหละค่ะ
ReplyDeleteช่วยเติมพื้นฐานที่ไม่ค่อยจะแข็งแรงของหนู ได้ความรู้มากเลยค่ะ
ขอบคุณมากค่ะ
ได้ความรู้ที่แน่นขึ้นมากๆเลยค่ะ
ReplyDeleteเอาไว้สอบค่ะ อิ อิ
:)