.
อุปกรณ์ภาคบังคับในการฝึกหูในหลักสูตรของศาสตราจารย์ Ran Blake นอกจากเครื่องบันทึกเสียงสำหรับแกะเพลงด้วยหูแล้ว เรายังจะต้องมีแฟ้มอีก 1 แฟ้ม สำหรับบันทึกในส่วนที่เกี่ยวกับการฝึก ภาคทฤษฎี และอื่นๆ ซึ่งแฟ้มนี้จะเป็น Log Book แยกออกเป็นส่วนย่อยต่างๆออกไป 6 ส่วน ดังนี้
1. Log
2. Ear Theory
3. Melodic Dictation
4. Repertoire
5. Listening
6. Tape Index
ส่วนที่หนึ่ง Log คือ ส่วนที่เราจะใช้บันทึกรายละเอียดในการฝึก จะคล้ายกับการบันทึกไดอะรีในแต่ละวัน แต่จะเน้นเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับการฝึกหูของเราเท่านั้น เราจะเริ่มบันทึกกันตั้งแต่ชั่วโมงแรก ที่เริ่มฝึกเพลงแรกเลย ยกตัวอย่างเช่น เราเริ่มออกสตาร์ตกันด้วย B.L. เป็นเพลงแรก ในเวลา 9.00 น ของวันที่ 1 ธันวาคม 2547 ก็จะต้องบันทึกลงไปใน Log Book วัน เวลา ระยะเวลาที่ฝึกในแต่ละช่วง พยายามวิเคราะห์ ประเมินผลของการฝึกหัดให้เป็นนิสัยติดตัวตั้งแต่ต้น จะส่งผลดีไปถึงการดำเนินชีวิตของเราด้วย ทำให้ผมนึกถึง หนังสือบันทึกการปฏิบัติธรรมของท่านอาจารย์พุทธทาส ซึ่งท่านได้ทำตารางการปฏิบัติธรรมไว้ละเอียดมาก เป็นแนวทางที่มีคุณค่ามาก การฝึกของเราไม่ต้องถึงขนาดนั้น แต่ก็จะต้องมีวินัย ความขยันหมั่นเพียร และความอดทนมาก จึงจะประสบความสำเร็จในการเรียนรู้ ต่อไปนี้ คือ ตัวอย่างการบันทึกการฝึก
วันที่ 1 ธันวาคม 2547
9.00 น. B.L. (45 นาที)
เปิดเทป ฟัง 10 เที่ยว แล้วจึงเริ่มฝึกร้องตาม ตัวโน้ตที่สามรู้สึกแปร่งๆ ร้องตามยาก ต้องเปิดเน้นฟังอีกหลายเที่ยว กว่าจะร้องตามได้ แต่เมื่อลองร้องปากเปล่าดู ก็ยังรู้สึกติดขัด ไม่คล่องปาก เสียงยังเพี้ยนอยู่บ้าง
10.00 น. B.L. (40 นาที)
เปิดเทป ฟัง 5 นาที พยายามจำท่อนแรก ฝึกร้องจนคล่อง และจำได้แล้ว
14.00 น. Deep Song (45 นาที)
เปิดฟังซ้ำผ่านหูหลายๆเที่ยว ประมาณ 20 นาที แล้วจึงมาเน้นฟังอย่างละเอียด จนพอจะเริ่มคุ้นเคยกับทำนองบ้างแล้ว
ก็คงพอจะได้แนวทางสำหรับการบันทึกการฝึกแล้วนะครับ ลองเขียนบันทึกไปเรื่อยๆ เป็นไดอารี่ดนตรีส่วนตัวของเรา แล้วค่อยย้อนกลับมาไล่ตรวจสอบดู ในอีก 3 เดือน หรือ 6 เดือนข้างหน้า ประเมินผลงานที่ผ่านมาของตัวเอง ว่าก้าวหน้าไปถึงไหน อย่างไร ควรจะปรับปรุงในส่วนไหนบ้าง ทำให้เราไม่หยุดนิ่งในการพัฒนาตัวเอง ให้มีฝีมือรุดหน้าขึ้นไปเรื่อยๆ
2. Ear Theory คือ ภาคทฤษฎีทางดนตรี ประกอบด้วยความรู้ทางด้าน Harmony, Arranging และ Composition ควบรวมกันไป ซึ่งจะเริ่มศึกษาหลังจากที่เราได้ผ่านการพัฒนาโสต จนถึงระดับที่สามารถจำแนกความแตกต่างของขั้นคู่เสียงได้ทุกคู่ คอร์ดทุกประเภทแล้ว
3. Melodic Dictation คือ การบันทึกทำนองเพลงที่เราได้ยิน ลงบนกระดาษโน้ตบันทัด 5 เส้น เป็นทักษะอย่างหนึ่งที่นักดนตรีจะต้องฝึกปรือให้มีความคล่อง นี่คือ การแกะเพลงด้วยหู แล้วถอดบันทึกเป็นตัวโน้ตลงบนกระดาษ ครูดังๆทางด้าน Ear Training อย่าง Charlie Banacos จะเน้นในเรื่อง Transcribe (การแกะเพลง)นี้มาก นักเรียนของท่านจะต้องแกะโซโล่ต่างๆ เป็นการบ้านหลักทุกวัน ไม่มีวันหยุด การได้สัมผัสดนตรีทางตา มีประโยชน์ทางด้านวิเคราะห์ศาสตร์การด้นของของครูเพลงทั้งหลาย ว่าท่านเหล่านั้นมีวิธีการดึงเอาตัวโน้ตจากสเกล มาจัดเรียงเป็นวลี และประโยคดนตรีที่สวยงามได้อย่างไร เป็นแนวศึกษาเพื่อที่เราจะได้นำไปเป็นแบบอย่างที่ดีต่อไป
4. Repertoire เป็นกรุสมบัติเพลงส่วนตัวของเรา รายชื่อเพลงต่างๆที่เรารู้จักดี มีความคุ้นเคย จะถูกรวบรวมมาอยู่ด้วยกันในแผนกนี้ ซึ่งบางเพลงเหล่านี้ อาจจะถึงขั้นความสัมพันธ์ลึกซึ้ง เกิดเป็นความรัก ความชอบ ในระดับที่จะแต่งงาน อยู่กินกันไปยาวนาน ต้องนำมาเล่นบรรเลงกันไปตลอดอย่างไม่มีวันเลิกรา เราจะสังเกตเห็นว่า นักดนตรี หรือนักร้องที่เราชื่นชอบ พวกเขาจะมีเพลงเก่ง เพลงดัง ที่ชอบนำมาแสดงเป็นประจำ เพราะนั่นคือ เรเพอร์ทัวร์ของเขา เราจะต้องหาเส้นทางดนตรีของตัวเองให้เจอ แล้วสร้างเรเพอร์ทัวร์ให้สอดคล้องกับแนวการเล่นของเรา
5. Listening เป็นส่วนสำหรับจดบันทึกรายการเทป ซีดี หรือแผ่นเสียงในคอเล็คชันส่วนตัวของเรา การฟังเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับนักดนตรี เป็นอาหารสำหรับสมอง เพื่อบำรุงให้เราได้เติบโตทางดนตรี ยิ่งได้ฟังมากเท่าไหร่ วิสัยทัศน์ทางดนตรีของเราก็ยิ่งขยายกว้างไกลออกไป เราจะต้องเปิดใจให้กว้าง รับฟังดนตรีให้หลากหลายสไตล์เท่าที่จะหามาฟังได้
6. Tape Index เป็นสารบัญรายการเพลงที่เราใช้ในเป็นแบบฝึกหัด ซึ่งได้บันทึกไว้ในเทป เพื่อความสะดวกในการค้นหา
ทั้งหมดนี้ คือ ส่วนต่างๆใน Log Book ของเรา ซึ่งในระยะแรกเริ่มนี้ ส่วนลำดับ 1. Log จะเป็นส่วนหลักที่เราจะใช้จดบันทึกรายละเอียดผลการฝึก
(ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสาร Overdrive ฉบับที่ 77 ธันวาคม 2004)
Monday, October 19, 2009
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
อ่านแล้วจะร้องไห้ครับ
ReplyDeleteCharlie Banacos เสียชีวิตแล้ว ด้วยโรคมะเร็งเมื่อคืนวันที่ 8 ธันวาคม
เวลาประมาณ 2 ทุ่ม...
Interesting thoughtss
ReplyDelete