Friday, October 30, 2009

Melodic Resolution


การเกลาแห่งแนวทำนอง


ในยุคดึกดำบรรพ์แรกเริ่มกำเนิดดนตรีมาเป็นเสียงเพลง ก่อนที่จะมีการใช้แนวเสียงประสาน คอร์ดและทางคอร์ดที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้นั้น มีแค่เพียงจังหวะกับทำนองเพลงเท่านั้น ที่ใช้ร้องขับขานกันในหมู่ชุมชนประชากรโลก เครื่องดนตรีที่ใช้เล่นบรรเลงจะเป็นพวกขลุ่ย หรือเครื่องสายที่สร้างขึ้นมาอย่างง่ายๆ แม้แต่ในทุกวันนี้เราก็ยังพบเห็นว่าเหล่าชนเผ่าต่างๆทั่วทุกมุมโลก ยังคงยึดเน้นแค่ทำนองเพียงอย่างเดียวในการละเล่นบรรเลงเพลงของพวกเขา

แนวดนตรีตะวันตกนั้นต้องใช้เวลานานหลายร้อยปี กว่าจะวิวัฒนาการแนวทำนองมาลงตัวเข้าที่เข้าทาง จนสรุปได้ว่า เป็นทางทำนองแห่งเมเจอร์สเกล ซึ่งคนรุ่นหลังได้รวบรวมบทเพลงทั้งหลาย เอามาศึกษาวิเคราะห์ถึงพฤติกรรมของเหล่าบรรดากลุ่มตัวโน้ตที่ใช้กันมา จนได้ความกระจ่างถึงแนวทางปฏิบัติที่สามารถสรุปเป็นกฎทั่วไปได้ว่า ในแต่ละลำดับขั้นของเมเจอร์สเกลที่ถูกนำมาร้อยเรียงเป็นวลี เป็นประโยคของแต่ละท่อนทำนองเพลงที่ลงตัวอย่างสละสลวยนั้น จะมีโน้ตบางลำดับขั้นที่ฟังแล้วให้ความรู้สึกขัดหูกระด้างกว่า จักต้องมีการเกลาเสียงระคายหูนั้น โดยการเคลื่อนเข้าหาเสียงที่ฟังเสนาะหูกว่า เนื่องมาจากใจเราจะรู้สึกถึงความเป็นโทนาลิตี้ (Tonality) คือ ได้เลือกกำหนดเสียงหลักหนึ่งเสียง ให้เป็นจุดรวมที่สำคัญที่สุดกว่าเสียงอื่นๆในสเกลเสียงนั้น นั่นคือ ตัวโทนิก(Tonic) ซึ่งทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางแห่งคีย์ (สเกล) โดยที่ตัวโทนิกนี้จะมีความมั่นคง สงบนิ่ง เป็นตัวหลักที่ดำรงอยู่ได้โดยตัวเอง ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเคลื่อนไปหาโน้ตลำดับอื่น ดังนั้น เมื่อมีโน้ตลำดับอื่นมาสัมพันธ์กับตัวโทนิก โสตการรับฟังของเราก็จะมีแนวโน้มที่จะเลือกยึดเอาโน้ตสำคัญกว่าอิงเป็นหลักไว้ก่อน นั่นก็คือ ตัวโทนิก

ในเมเจอร์สเกล ตัวโน้ตที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นโทนิกเมเจอร์คอร์ด คือ ลำดับขั้นที่หนึ่ง ลำดับขั้นที่สาม และลำดับขั้นที่ห้า กลุ่มตัวโน้ตเหล่านี้จะมีความมั่นคง ไม่มีความจำเป็นจะต้องเคลื่อนไปหาโน้ตลำดับอื่น ส่วนโน้ตลำดับขั้นที่สอง ลำดับขั้นที่สี่ ลำดับขั้นที่หก และลำดับขั้นที่เจ็ด จะเป็นกลุ่มตัวโน้ตที่ไม่มีความสงบนิ่ง มีความกระด้าง ความตึงสูง จักต้องมีการผ่อนคลาย ลดความกระด้าง ด้วยเกลาเข้าหาตัวโน้ตสมาชิกของโทนิกเมเจอร์คอร์ดที่อยู่ใกล้เคียงตัวมัน ดังตัวอย่างต่อไปนี้


จะเห็นว่า โน้ตลำดับขั้นที่สองเกลาเข้าหาโน้ตลำดับขั้นที่หนึ่ง, ลำดับขั้นที่สี่เกลาเข้าหาโน้ตลำดับขั้นที่สาม, ลำดับขั้นที่หกเกลาเข้าหาโน้ตลำดับขั้นที่ห้า และลำดับขั้นที่เจ็ดเกลาเข้าหาโน้ตลำดับขั้นที่หนึ่ง

ความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งในกฎการเกลาแห่งแนวทำนอง เป็นพื้นฐานสำคัญมากสำหรับคนดนตรีในทุกสาขา เมื่อเราตระหนักในเส้นทางเดินของตัวโน้ต และได้นำเอาความรู้นี้มาใช้ปฏิบัติ ผลงานที่ออกมาย่อมจะต้องดีขึ้นกว่าเดิมอย่างแน่นอน เราสามารถแจงถึงเหตุและผล ในการนำเอาตัวโน้ตแต่ละตัวมาใช้ ช่วยให้เราสามารถวิเคราะห์สิ่งที่เราทำไปจากแรงดาลใจ ที่ให้ผลลัพธ์ออกมาดี น่าพอใจ หรือรู้ถึงความบกพร่องในเพลงที่แต่งออกมาแล้ว ไม่ถูกใจ ไม่ลงตัว แต่หาสาเหตุไม่ได้

ภาษาดนตรีดั้งเดิมของไทยเรานั้น โดยทั่วไปจะใช้อักขระดนตรีเพียง 5 ตัวโน้ต หรือเพ็นตาโทนิก (Pentatonic) แม้จะดูเหมือนว่า เราไม่ได้ใส่ใจอย่างจริงจัง ให้กับดนตรีไทยอันเป็นมรดกล้ำค่าของชาติ ซึ่งบรรพบุรุษได้สร้างเอาไว้ให้ แต่เราก็จะมีความคุ้นเคยกับสำเนียงนี้โดยอัตโนมัติ มันเป็นสิ่งที่ฝังอยู่ในสายเลือดของเรา เช่นเดียวกับที่ว่ากันว่า คนไทยทุกคนเตะเป็นตั้งแต่อยู่ในท้องแม่แล้ว ครั้นเมื่อเรามารับเอาภาษาดนตรีของฝรั่ง ซึ่งมีวิวัฒนาการที่พัฒนามาจากอักขระดนตรี 7 ตัว หรือเมเจอร์สเกลนี้ เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับดนตรีไทยแล้ว จะเห็นได้ว่า มันจะมีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด เราไม่ได้เติบโตมากับวัฒนธรรมดนตรีตะวันตก พื้นฐานความรู้สึกแห่งชนชาติของเราก็ไม่เหมือนกับฝรั่ง แม้ว่าในสมัยนี้คนรุ่นใหม่ของเราจะพยายามมอมเมาตัวเอง สร้างค่านิยมด้วยการรับวัฒนธรรมประเภทแดกด่วนทั้งหลายทุกรูปแบบ ก็ไม่ได้ทำให้พวกเขากลายพันธุ์เป็นฝรั่ง หรือญี่ปุ่น หรือเกาหลี ไปได้ ภาษาดนตรีก็น่าจะคล้ายกับภาษาพูด ซึ่งบางทีแม้เราจะพยายามอย่างเต็มที่แล้ว เราก็ยังพูดได้ไม่เหมือนเจ้าของภาษา หรือแม้แต่จะเข้าโรงเรียนแบบนานาชาติ ให้เขาล้างสมองตั้งแต่ยังเยาว์วัย จนพูดฝรั่งได้ไม่ผิดเพี้ยนไม่เหลือเค้าสำเนียงของโคตรพ่อโคตรแม่มัน มันก็ยังไม่ใช่ฝรั่งอยู่ดี (อันนี้ไม่ได้หมายถึงรูปลักษณ์ภายนอก ครับ)

การที่เราจะเอาเมเจอร์สเกลของฝรั่งมาใช้แต่งทำนองเพลงหรือด้นไปตามทางคอร์ด ซึ่งยึดสเกลนี้เป็นหลัก การศึกษาให้รู้ซึ้งถึงทางเดินของตัวโน้ตนั้น เป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่ละเลยไม่ได้เป็นอันขาด การแต่งทำนองเพลงเป็นศาสตร์ขั้นสูง ที่ต้องใช้ความรู้ประกอบจินตนาการ ในทำนองเพลงดีๆ ที่ฟังกันได้ไม่รู้เบื่อ ถ้าเรานำมาศึกษาวิเคราะห์เส้นทางเดินของตัวโน้ตแห่งทำนองเพลงนั้น ก็จะได้เห็นถึงความลงตัว เป็นไปตามกฎของการเกลาแห่งแนวทำนอง เป็นต้นแบบที่ดีในการเรียนรู้ นักแต่งเพลงเก่งๆ หรือ คีตกวีทั้งหลายจะมีความเชี่ยวชาญในการควบคุม วางตำแหน่งของตัวโน้ต โดยเฉพาะเหล่าตัวโน้ตกระด้างทั้งหลาย ซึ่งเป็นเสน่ห์ของเพลง นักปราชญ์ผู้รู้ทางดนตรีกล่าวกันว่า ถ้าจะดูว่าใครเก่งในเรื่องแต่งเพลงแล้ว จะต้องดูกันที่ความสามารถในการบังคับใช้โน้ตตัวกระด้าง ซึ่งขยายความได้ว่า เหล่าโน้ตตัวกระด้างนั้น เปรียบเสมือนอุปสรรค หรือตัวร้ายในนวนิยาย ซึ่งมาช่วยแต่งเติมสร้างสีสันให้เรื่องราวมีความน่าสนใจ ชวนให้ติดตาม ทำให้ผู้อ่านอยากรู้ว่าจะดำเนินเรื่องไปอย่างไร? ความไม่สงบนิ่งของโน้ตกระด้างจะเป็นตัวดึงดูดความสนใจของผู้ฟังในบทเพลง ทำให้เกิดการคาดเดาหรือคาดหวังในเป้าหมายของตัวโน้ตเหล่านั้น ว่าจะเกลาไปทางใด? คนแต่งเพลงที่ดีจะต้องหลอกล่อให้ผู้ฟังติดตาม และคล้อยตามไปกับทำนองเพลงของเขา

สำหรับนักแต่งเพลงมือใหม่ ผมขอแนะนำว่า เวลาที่แต่งเพลงนั้น ให้ใช้อารมณ์ จินตนาการ บวกกับประสบการณ์ รังสรรค์ผลงานให้เต็มที่ ส่วนกฎการเกลาแห่งแนวทำนองนั้น มีประโยชน์ในการตรวจสอบวิเคราะห์ผลงาน ให้เอามาใช้ในตอนหลัง

หวังว่า คงจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ศึกษาดนตรีผ่านทางคอลัมน์นี้ เช่นเดียวกับที่ผมได้ใช้สอยมาจนถึงทุกวันนี้ และต้องขอถือโอกาสกราบขอบพระคุณอาจารย์โป้ป พนัสชัย ศุภมิตร ที่สอนผมมา ณ ที่นี้ด้วยครับ



(ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสาร Overdrive ฉบับที่ 95 มิถุนายน 2006)


Monday, October 19, 2009

Log Book

.

อุปกรณ์ภาคบังคับในการฝึกหูในหลักสูตรของศาสตราจารย์ Ran Blake นอกจากเครื่องบันทึกเสียงสำหรับแกะเพลงด้วยหูแล้ว เรายังจะต้องมีแฟ้มอีก 1 แฟ้ม สำหรับบันทึกในส่วนที่เกี่ยวกับการฝึก ภาคทฤษฎี และอื่นๆ ซึ่งแฟ้มนี้จะเป็น Log Book แยกออกเป็นส่วนย่อยต่างๆออกไป 6 ส่วน ดังนี้

1. Log
2. Ear Theory
3. Melodic Dictation
4. Repertoire
5. Listening
6. Tape Index

ส่วนที่หนึ่ง Log คือ ส่วนที่เราจะใช้บันทึกรายละเอียดในการฝึก จะคล้ายกับการบันทึกไดอะรีในแต่ละวัน แต่จะเน้นเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับการฝึกหูของเราเท่านั้น เราจะเริ่มบันทึกกันตั้งแต่ชั่วโมงแรก ที่เริ่มฝึกเพลงแรกเลย ยกตัวอย่างเช่น เราเริ่มออกสตาร์ตกันด้วย B.L. เป็นเพลงแรก ในเวลา 9.00 น ของวันที่ 1 ธันวาคม 2547 ก็จะต้องบันทึกลงไปใน Log Book วัน เวลา ระยะเวลาที่ฝึกในแต่ละช่วง พยายามวิเคราะห์ ประเมินผลของการฝึกหัดให้เป็นนิสัยติดตัวตั้งแต่ต้น จะส่งผลดีไปถึงการดำเนินชีวิตของเราด้วย ทำให้ผมนึกถึง หนังสือบันทึกการปฏิบัติธรรมของท่านอาจารย์พุทธทาส ซึ่งท่านได้ทำตารางการปฏิบัติธรรมไว้ละเอียดมาก เป็นแนวทางที่มีคุณค่ามาก การฝึกของเราไม่ต้องถึงขนาดนั้น แต่ก็จะต้องมีวินัย ความขยันหมั่นเพียร และความอดทนมาก จึงจะประสบความสำเร็จในการเรียนรู้ ต่อไปนี้ คือ ตัวอย่างการบันทึกการฝึก

วันที่ 1 ธันวาคม 2547

9.00 น. B.L. (45 นาที)
เปิดเทป ฟัง 10 เที่ยว แล้วจึงเริ่มฝึกร้องตาม ตัวโน้ตที่สามรู้สึกแปร่งๆ ร้องตามยาก ต้องเปิดเน้นฟังอีกหลายเที่ยว กว่าจะร้องตามได้ แต่เมื่อลองร้องปากเปล่าดู ก็ยังรู้สึกติดขัด ไม่คล่องปาก เสียงยังเพี้ยนอยู่บ้าง

10.00 น. B.L. (40 นาที)
เปิดเทป ฟัง 5 นาที พยายามจำท่อนแรก ฝึกร้องจนคล่อง และจำได้แล้ว

14.00 น. Deep Song (45 นาที)
เปิดฟังซ้ำผ่านหูหลายๆเที่ยว ประมาณ 20 นาที แล้วจึงมาเน้นฟังอย่างละเอียด จนพอจะเริ่มคุ้นเคยกับทำนองบ้างแล้ว

ก็คงพอจะได้แนวทางสำหรับการบันทึกการฝึกแล้วนะครับ ลองเขียนบันทึกไปเรื่อยๆ เป็นไดอารี่ดนตรีส่วนตัวของเรา แล้วค่อยย้อนกลับมาไล่ตรวจสอบดู ในอีก 3 เดือน หรือ 6 เดือนข้างหน้า ประเมินผลงานที่ผ่านมาของตัวเอง ว่าก้าวหน้าไปถึงไหน อย่างไร ควรจะปรับปรุงในส่วนไหนบ้าง ทำให้เราไม่หยุดนิ่งในการพัฒนาตัวเอง ให้มีฝีมือรุดหน้าขึ้นไปเรื่อยๆ

2. Ear Theory คือ ภาคทฤษฎีทางดนตรี ประกอบด้วยความรู้ทางด้าน Harmony, Arranging และ Composition ควบรวมกันไป ซึ่งจะเริ่มศึกษาหลังจากที่เราได้ผ่านการพัฒนาโสต จนถึงระดับที่สามารถจำแนกความแตกต่างของขั้นคู่เสียงได้ทุกคู่ คอร์ดทุกประเภทแล้ว

3. Melodic Dictation คือ การบันทึกทำนองเพลงที่เราได้ยิน ลงบนกระดาษโน้ตบันทัด 5 เส้น เป็นทักษะอย่างหนึ่งที่นักดนตรีจะต้องฝึกปรือให้มีความคล่อง นี่คือ การแกะเพลงด้วยหู แล้วถอดบันทึกเป็นตัวโน้ตลงบนกระดาษ ครูดังๆทางด้าน Ear Training อย่าง Charlie Banacos จะเน้นในเรื่อง Transcribe (การแกะเพลง)นี้มาก นักเรียนของท่านจะต้องแกะโซโล่ต่างๆ เป็นการบ้านหลักทุกวัน ไม่มีวันหยุด การได้สัมผัสดนตรีทางตา มีประโยชน์ทางด้านวิเคราะห์ศาสตร์การด้นของของครูเพลงทั้งหลาย ว่าท่านเหล่านั้นมีวิธีการดึงเอาตัวโน้ตจากสเกล มาจัดเรียงเป็นวลี และประโยคดนตรีที่สวยงามได้อย่างไร เป็นแนวศึกษาเพื่อที่เราจะได้นำไปเป็นแบบอย่างที่ดีต่อไป

4. Repertoire เป็นกรุสมบัติเพลงส่วนตัวของเรา รายชื่อเพลงต่างๆที่เรารู้จักดี มีความคุ้นเคย จะถูกรวบรวมมาอยู่ด้วยกันในแผนกนี้ ซึ่งบางเพลงเหล่านี้ อาจจะถึงขั้นความสัมพันธ์ลึกซึ้ง เกิดเป็นความรัก ความชอบ ในระดับที่จะแต่งงาน อยู่กินกันไปยาวนาน ต้องนำมาเล่นบรรเลงกันไปตลอดอย่างไม่มีวันเลิกรา เราจะสังเกตเห็นว่า นักดนตรี หรือนักร้องที่เราชื่นชอบ พวกเขาจะมีเพลงเก่ง เพลงดัง ที่ชอบนำมาแสดงเป็นประจำ เพราะนั่นคือ เรเพอร์ทัวร์ของเขา เราจะต้องหาเส้นทางดนตรีของตัวเองให้เจอ แล้วสร้างเรเพอร์ทัวร์ให้สอดคล้องกับแนวการเล่นของเรา

5. Listening เป็นส่วนสำหรับจดบันทึกรายการเทป ซีดี หรือแผ่นเสียงในคอเล็คชันส่วนตัวของเรา การฟังเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับนักดนตรี เป็นอาหารสำหรับสมอง เพื่อบำรุงให้เราได้เติบโตทางดนตรี ยิ่งได้ฟังมากเท่าไหร่ วิสัยทัศน์ทางดนตรีของเราก็ยิ่งขยายกว้างไกลออกไป เราจะต้องเปิดใจให้กว้าง รับฟังดนตรีให้หลากหลายสไตล์เท่าที่จะหามาฟังได้

6. Tape Index เป็นสารบัญรายการเพลงที่เราใช้ในเป็นแบบฝึกหัด ซึ่งได้บันทึกไว้ในเทป เพื่อความสะดวกในการค้นหา

ทั้งหมดนี้ คือ ส่วนต่างๆใน Log Book ของเรา ซึ่งในระยะแรกเริ่มนี้ ส่วนลำดับ 1. Log จะเป็นส่วนหลักที่เราจะใช้จดบันทึกรายละเอียดผลการฝึก



(ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสาร Overdrive ฉบับที่ 77 ธันวาคม 2004)


Thursday, October 8, 2009

Major Scale



ผมจะทยอยนำความรู้พื้นฐานทางทฤษฎีดนตรีตั้งแต่เริ่มต้นมาลงในบล็อกนี้ สำหรับคนทั่วไปที่อินไปกับเสียงเพลง จนเกิดความรู้สึกอยากจะเปิดโลกทัศน์ให้เห็นเป็นตัวถั่วงอก เต้นไปเต้นมา หรือเห็นเป็นตัวลูกน้ำที่ยั้วเยี้ยเต็มหน้ากระดาษ แล้วสามารถสื่อรับรู้ได้ เห็นเป็นรูปธรรมมากกว่าการสื่อด้วยความรู้สึกเพียงอย่างเดียว และน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่พอมีความรู้พื้นฐานอยู่บ้าง เช่น นักเรียนที่ต้องไปสอบทฤษฎีดนตรีเบื้องต้น และสำหรับแฟนนิตยสารโอเวอร์ไดรฟ์ ที่ขานรับในทฤษฎีดนตรีระดับเบสิกอย่างอ้อมแอ้มไม่เต็มเสียง หรือไม่ได้ติดตามมาตั้งแต่เริ่มต้นเบสิก เมื่อมาอ่านคอลัมน์ของผมในตอนนี้ ซึ่งมีการวิเคราะห์เพลงสแตนดาร์ดที่ซับซ้อนพอสมควร ถ้าไม่มีพื้นฐาน คงจับต้นชนปลายไม่ถูกอย่างแน่นอน สำหรับครูอาจารย์ดนตรีก็มีมุมมองที่น่าสนใจมาฝาก ซึ่งผมได้ค้นคว้ามานำใช้ในการเรียนรู้สำหรับตัวเอง และสอนลูกศิษย์
ใครที่คิดว่ารู้ดีอยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องอ่าน ผ่านไปได้เลยครับ


โครงสร้างของเมเจอร์สเกล (The Structure of the Major Scale)

เมเจอร์สเกลประกอบขึ้นมาจากลำดับขั้นในสเกลที่แตกต่างกันเจ็ดลำดับ ซึ่งในแต่ละลำดับขั้นของสเกลจะมีช่วงห่างของเสียงเป็นระยะเต็มขั้น (whole step) และครึ่งขั้น (half step) ลำดับขั้นของสเกลที่มีช่วงระยะห่างของเสียงเต็มขั้น (whole step) ได้แก่ลำดับขั้นที่หนึ่งและสอง, สองและสาม, สี่และห้า, ห้าและหก, หกและเจ็ด ลำดับขั้นของสเกลที่มีช่วงระยะห่างของเสียงครึ่งขั้น (half step) ได้แก่ลำดับขั้นที่สามและสี่กับเจ็ดและแปด จำง่ายๆว่า สามสี่เจ็ดแปด เป็นครึ่งเสียง นอกนั้น เป็นหนึ่งเสียงเต็ม




แผนผังแสดงโครงสร้างของ C เมเจอร์สเกลจากคีย์บอร์ด



พูดง่ายๆว่า เมเจอร์สเกล จะมีเสียงเป็น โด เร มี ฟา ซอล ลา ที โด ที่เราคุ้นเคยนั่นเอง ถ้าผิดจากนี้ ก็ไม่ใช่เมเจอร์สเกล จะเป็นสเกลอะไรนั้น เราค่อยวิเคราะห์กันในระดับต่อไปครับ ดูตัวอย่างการไล่เมเจอร์สเกลจากยูทูบ






ชื่อของตัวโน้ตในเมเจอร์สเกลจะใช้ A ถึง G (A-B-C-D-E-F-G) นั่นก็คือ ระบบAlphabetic ผู้ที่เคยชินกับการเรียกในระบบ Syllabic ที่เรียกตัวโน้ตแบบโด เร มี ก็จะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเรียกชื่อตัวโน้ตใหม่ ให้เข้ากับระบบนี้ด้วยทั้งนี้เพราะระบบตัวอักษรนี้มีผู้ใช้กันเป็นที่แพร่หลายมากที่สุด และตำราดนตรีภาษาอังกฤษที่เราจะค้นคว้าศึกษาเพิ่มเติม หรือถ้าเรามีโอกาสที่จะไปศึกษาต่อยังเหล่าสถาบันดนตรีทั้งหลายในอเมริกา ต่างก็ใช้ระบบตัวอักษรแทบทั้งสิ้น

ลำดับขั้นของเมเจอร์สเกลจะถูกเรียกโดยตัวเลข(อราบิก) และโดยที่ลำดับขั้นของเมเจอร์สเกล เราถือว่าเป็นลำดับขั้นเนเจอรัล (natural) ทั้งหมด หน้าตัวเลขจะไม่มีเครื่องหมายแฟล็ต หรือชาร์ปมากำกับ เช่น b3, b7 หรือ #5 เป็นต้น

เราก็ได้รู้สูตรการสร้างเมเจอร์สเกลแบบพื้นฐานแล้ว ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่าเมื่อเมเจอร์สเกลถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนเท่ากันระหว่างลำดับขั้นที่สี่และห้าของสเกล จะได้กลุ่มโน้ตสี่ตัวที่มีสัดส่วนเหมือนกันสองกลุ่ม คือ ลำดับขั้นที่หนึ่งและสอง, สองและสาม มีช่วงห่างของเสียงเป็นระยะเต็มขั้น ในลำดับขั้นที่สามและสี่ของกลุ่มจะมีช่วงระยะห่างของเสียงครึ่งขั้น กลุ่มโน้ตสี่ตัวนี้ มีชื่อเรียกว่า Tetrachord (tetra แปลว่า สี่) และเราจะเรียกอ้างอิงตามตำแหน่งที่ตั้งของมัน โดยกลุ่มแรกเป็น Lower Tetrachord และกลุ่มที่สองจากลำดับขั้นที่ห้าไปถึงลำดับขั้นที่แปด ก็จะเป็น Upper Tetrachord ซึ่งได้รับการขนานนามให้เป็น Major Tetrachord จากการที่เราพบกลุ่ม Tetrachord นี้ในเมเจอร์สเกล เราสามารถสร้างเมเจอร์สเกลโดยวิธีผสม Tetrachord เข้าด้วยกันก็ได้



จำไว้ให้ดีนะครับว่า เตตระคอร์ด (Tetrachord) คือ กลุ่มโน้ตสี่ตัว ซึ่งมีช่วงกว้างของเสียงไม่เกินคู่สี่เปอร์เฟ็ก (Perfect Fourth) หรือสองเสียงครึ่ง เตตระคอร์ด ไม่ใช่คอร์ด แม้จะมีคำว่าคอร์ดอยู่ในชื่อเรียกก็ตาม

เมื่อเราได้ฝึกสร้างเมเจอร์สเกลจากวิธีคำนวณระยะห่างของเสียงจนคล่องแล้ว ลองไปดูวิธีอื่นบ้าง

ทางเลือกอีกวิธีหนึ่งของการสร้างเมเจอร์สเกล คือ ในการหาคีย์ทางแฟล็ตลำดับต่อไปจากคีย์ที่เราสร้างขึ้นมา ให้นับไปสี่ลำดับจากคีย์เดิม เช่นอยู่ในคีย์ C นับจาก C ไปสี่ ก็จะเจอ F จากนั้นเราก็เอาโน้ตในคีย์ C มาเรียงลำดับใหม่ โดยเริ่มจาก F เป็น F G A B C D E F แล้วจัดการเติมเครื่องหมายแฟล็ตเข้าไปที่ลำดับที่สี่ คือ ตัวโน้ต B เราก็จะได้ F เมเจอร์สเกล (1 Flat) ซึ่งประกอบด้วยตัวโน้ต F G A Bb C D E F ถ้าต้องการหาคีย์ลำดับต่อไป ก็นับสี่ ได้ Bb นับไปอีกสี่ ได้ E เติมแฟล็ตเข้าไป เป็น Eb เราก็จะได้ Bb เมเจอร์สเกล (2 Flat) ซึ่งประกอบด้วยตัวโน้ต Bb C D Eb F G A Bb ไล่ไปเรื่อยๆจนครบคีย์ทางแฟล็ต ถ้าจะเอาสูตรนี้ไปใช้กับคีย์ทางชาร์ปก็ได้เช่นกัน สำหรับหาคีย์ที่มีชาร์ปน้อยลงหนึ่งคีย์ เช่น จากคีย์ E (4 Sharp) นับสี่ ก็จะได้คีย์ A (3 Sharp) นับไปอีกสี่ ได้ D# เติมแฟล็ตเข้าไปหักลบกัน เป็น D เนเจอรัล ให้จำวิธีนี้ง่ายๆว่า สูตรสี่สี่ (4_4)

สำหรับวิธีการหาคีย์ทางชาร์ปลำดับต่อไปจากคีย์ที่เราสร้างขึ้นมา ใช้สูตรห้าเจ็ด (5_7) ให้นับไปห้าลำดับจากคีย์เดิม เช่นอยู่ในคีย์ C นับจาก C ไปห้า ก็จะเจอ G จากนั้นเราก็เอาโน้ตในคีย์ C มาเรียงลำดับใหม่ โดยเริ่มจาก G เป็น G A B C D E F G แล้วจัดการเติมเครื่องหมายชาร์ปเข้าไปที่ลำดับที่เจ็ด คือ ตัวโน้ต F เราก็จะได้ G เมเจอร์สเกล (1 Sharp) ซึ่งประกอบด้วยตัวโน้ต G A B C D E F# G ถ้าต้องการหาคีย์ลำดับต่อไป ก็นับห้า ได้คีย์ D แล้วเติมชาร์ปเข้าไปในลำดับที่เจ็ด คือ C เป็น C# เราก็จะได้ D เมเจอร์สเกล (2 Sharp) ซึ่งประกอบด้วยตัวโน้ต D E F# G A B C# D จะเอาไปใช้กับคีย์ทางแฟล็ต สำหรับหาคีย์ที่มีแฟล็ตน้อยลงหนึ่งคีย์ เช่น Bb เมเจอร์สเกล (2 Flat) นับห้า ก็จะได้คีย์ F (1 Flat) นับไปอีกเจ็ด ได้ Eb เติมชาร์ปเข้าไปหักลบกัน เป็น E เนเจอรัล

นั่นก็เป็นวิธีสร้างเมเจอร์สเกลหลายแบบ นำมาเสนอให้เลือกใช้กันตามกิเลส ชอบวิธีไหนก็เลือกใช้กันตามใจชอบ หรือจะใช้ผสมกันหลายแบบก็ได้ หรือใครมีวิธีสร้างนอกเหนือจากนี้ ก็ช่วยบอกมาด้วย จะได้มีทางเลือกเพิ่มขึ้นอีก

เมเจอร์คีย์นำมาจัดเรียงลำดับจากคีย์ทางแฟล็ตไปหาคีย์ทางชาร์ป ได้ดังต่อไปนี้ คือ C, F, Bb, Eb, Ab, Db(C#), Gb(F#), B, E, A, D และ G


ตารางเมเจอร์สเกล




ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่า ตัวโน้ตที่ชื่ออักษรเดียวกัน ในคีย์ทางแฟล็ตและชาร์ป เมื่อนำจำนวนมารวมกันแล้ว จะได้ผลลัพธ์เป็น 7 เสมอ เช่น คีย์ Eb(3 flats) และคีย์ E(4 sharps), คีย์ D(2 sharps) กับคีย์ Db(5 flats) และคีย์ F(1 flat) กับคีย์ F#(6 flats) เป็นต้น

ท่องให้ได้ขึ้นใจทุกตัวเลยนะครับ แล้วเส้นทางการศึกษาทฤษฎีดนตรีจะเปิดโล่งให้คุณ



(ปรับปรุงจากตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสาร Overdrive ฉบับที่ 93 เมษายน 2006)