Sunday, September 6, 2009

Pick A Song

.

ในโอกาสนี้จะขอขยายความจากบทเกริ่นนำร่อง แนะนำเรื่องการฝึกหูแบบ Third Stream สำหรับคนที่สนใจจะนำวิธีการนี้ไปฝึกด้วยตนเอง ต่อจาก First Aural Training Lesson ครับ

อันดับแรก คงจะเป็นเรื่องเพลงแบบฝึกหัด ซึ่งแต่ละเพลงที่อาจารย์กำหนดไว้ คงจะหามาฟังกันได้ไม่ง่าย ดังนั้น จึงต้องประยุกต์แบบเรียน หาเพลงที่อยู่ใกล้ตัว ใกล้มือ หยิบหามาฟังได้สะดวก มาเป็นเพลงครูแทน

การเลือกเพลงในแนวโปรดของเรามาเป็นต้นแบบ น่าจะเป็นการเริ่มต้นที่ดีที่สุด เพราะเราจะมีความสุขกับกับฟังซ้ำๆซากๆในเพลงที่เราชอบ และเลือกมาเอง มากกว่าเพลงที่โดนบังคับให้จำ ใครชอบดนตรีแนวไหนก็ให้เลือกเพลงจากแนวนั้นมาเป็นบทเพลงอาขยาน และสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งในจุดเริ่มออกสตาร์ต คือ ควรจะเลือกเพลงที่ทำนองจำง่าย ติดหู ท่อนไม่ยุ่งยากซับซ้อน ดนตรีประกอบไม่รกรุงรังจนไปกลบรบกวน ทำให้ฟังทำนองหลักไม่ชัดเจน ถ้าจะให้ดีที่สุด คือ หาเพลงที่มีเครื่องดนตรีชิ้นเดียว เล่นเฉพาะทำนองเพียงอย่างเดียว

หลักง่ายๆ ในการพิจารณาว่า เพลงที่เราจะเลือกมาฝึกท่องจำนั้น อยู่ในระดับไหนนั้น คือ ถ้าเป็นเพลงที่เมื่อเราได้ยินไม่กี่เที่ยวก็สามารถร้องตามได้อย่างไม่มีปัญหา เพลงนั้นก็จะเป็นเพลงง่ายสำหรับเรา

การได้เก็บสะสมเอาปริมาณเข้าตุนไว้ในสมุดเพลงส่วนตัวสักจำนวนหนึ่งก่อน เป็นสิ่งที่ดีมากสำหรับการฝึกในแนว Aural Training นี้ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการฝึกฝนว่า เราสามารถจำขึ้นใจ และร้องทำนองเพลงได้จบเพลงหลายเพลงแล้ว

ขั้นตอนต่อไป ให้หาเพลงที่สามารถร้องตามได้เป็นส่วนใหญ่ แต่มีบางช่วงทำนองที่ยังติดขัด ต้องฟังซ้ำอีกหลายครั้ง จึงจะร้องตามได้ พยายามหาเพลงระดับนี้มาฝึกสักระยะหนึ่ง ประมาณสัก 20-30 เพลงเป็นอย่างต่ำ จากนั้นก็ลองยกระดับไปหัดท่องเพลงแนว Musical จำพวกเพลงชุดจากละครบรอดเวย์ดังๆ ที่เราคุ้นเคยจากเวอร์ชันที่เอามาทำเป็นหนัง อย่าง The Sound of Music หรือ West Side Story เพลงประเภทนี้จะมีประโยชน์มากสำหรับการพัฒนาโสตของเราในระดับต่อไป โดยเฉพาะเพลงอย่าง Tonight, Maria และ Somewhere จาก West Side Story (หาฟังได้จากยูทูบ)







ในการวัดผลถึงความสำเร็จของแต่ละเพลงที่เราฝึกท่องจำนั้น เราจะต้องสามารถร้องทำนองออกมาได้ โดยไม่ต้องมีเครื่องดนตรีประกอบแต่อย่างใด คือ ต้องร้องปากเปล่า ตั้งแต่ตัวโน้ตแรกจนถึงตัวโน้ตสุดท้ายของเพลง โดยไม่ผิดเพี้ยนในทำนองเพลง แต่ไม่จำเป็นจะต้องเป็นคีย์เดียวกับต้นแบบ

กฎเหล็กที่จะต้องรักษาอย่างเคร่งครัด และมีความซื่อสัตย์ต่อตนเอง คือจะต้องไม่ใช้เครื่องดนตรีมาช่วยแกะ ถ้าหูเรายังจับเสียงปัญหาไม่ได้ ก็ให้เล่นกรอซ้ำอยู่อย่างนั้น จนจับเสียงนั้นได้ เมื่อสามารถร้องทำนองออกมาได้ไม่ผิดเพี้ยนจากเพลงต้นแบบ จึงจะอนุญาตให้ผ่านด่านนี้ได้ เพื่อไปเผชิญด่านเสียงตัวปัญหาต่อไปในช่วงทำนองถัดไปเรื่อยๆจนจบเพลง

การฝ่าด่านทำนองแต่ละตัวโน้ตปัญหา เป็นสิ่งที่ต้องใช้ความพยายาม และความอดทนอย่างมาก เป็นจุดสำคัญที่จะพิสูจน์ว่า เราจะฟันฝ่าพิชิตอุปสรรคขั้นต้นไปได้หรือไม่ จากประสบการณ์ส่วนตัวที่ผมผ่านมา เมื่อไปเจอตัวโน้ตเจ้าปัญหาแต่ละตัว ในตอนที่เริ่มเรียนแนวนี้ใหม่ๆ ก็ได้พยายามฟังอย่างจริงจังทุกวัน วันละ 2 – 3 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ จนมึนไปหมด ก็ยังฟังไม่ออก ต้องหยุดพักให้สมองโปร่งโล่ง แล้วกลับมาฟังใหม่ มึนแล้วพัก เอาใหม่ ซ้ำซากอยู่อย่างนี้ ทำอยู่อย่างไม่ย่อท้อ จนทำได้ในที่สุด โน้ตบางตัวต้องสู้กันเป็นอาทิตย์ เมื่อเอาชนะเจ้าโน้ตคู่ปรับจอมหินแต่ละตัวได้ ก็รู้สึกปลื้มกับตัวเองสุดๆ เหมือนได้รับเหรียญโอลิมปิกทีเดียว

คุณพร้อมที่จะลำบากเพื่อก้าวเดินสู่ความเป็นหูทิพย์ในเส้นทางของ Third Stream หรือยัง?



(ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสาร Overdrive ฉบับที่ 75 ตุลาคม 2004)


1 comment:

  1. สั้นๆ แต่คงยากน่าดูเลยครับ อาจารย์

    ReplyDelete