Wednesday, September 30, 2009
Live At The Village Vanguard
ด้วยความก้าวหน้าในด้านการสื่อสารผ่านทางโลกไซเบอร์ในวันนี้ ทำให้เรามีโอกาสฟังการแสดงสด “Live At The Village Vanguard” พร้อมๆกับคนที่ไปนั่งฟังในคลับ และเมื่อไม่นานมานี้ได้แถมวิดีโอควบมาด้วย แวะไปฟังวงของมือกลองรุ่นเก๋า Billy Hart Quartet ที่เพิ่งจะออกอากาศไปเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2009ที่ผ่านมาได้ที่ http://www.npr.org/templates/story/story.php?storyId=90611896&ps=sa เป็นเว็บไซต์ที่ดีมากสำหรับดนตรีทุกประเภท แวะไปเยี่ยมนะครับ หรือถ้าอยากไปสัมผัสบรรยากาศถึงที่ เข้าไปดูกำหนดการแสดงของศิลปินที่สนใจ จองตั๋วออนไลน์ล่วงหน้าได้เลย ที่ http://villagevanguard.com/frames.htm
และเพิ่งผ่านไปหยกๆ เมื่อวันเสาร์ที่ 26 กันยายน 2009 วิลเลจ แวนการ์ดยิ่งเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกมากขึ้น เมื่อซูเปอร์สตาร์ บาร์บรา สตรัยแซนด์ (Barbra Streisand) ไปเปิดการแสดงฟรีคอนเสิร์ตสำหรับแฟนเพลงผู้โชคดีของเธอเพียง 100 คน โดยมีครอบครัวคลินต้นเป็นแขกวีไอพีมาร่วมชมด้วย ณ สถานที่ที่เคยเป็นเหมือนบ้านในช่วงเริ่มต้นอาชีพ ที่จากไปนานตั้งแต่ปี 1962 แวะไปดูที่เว็บไซต์ของเธอได้ที่ http://www.barbrastreisand.com/us/village-vanguard-2009
พูดถึงแจ๊สคลับแล้ว คงจะไม่ที่ไหนที่จะโด่งดังไปกว่า Village Vanguard แห่งนิวยอร์ก เมืองที่น้ำประปาบริสุทธ์กว่าน้ำแร่แพริเอร์ ชื่อนี้คอแจ๊สทั่วโลกล้วนต่างมีความคุ้นเคยกับผลงานของนานาศิลปิน ที่บันทึกการแสดงสดที่นั่น แวนการ์ดเปิดดำเนินการมานานจนจะครบรอบ 70 ปีแล้ว และทางคลับก็ได้จัดโปรแกรมพิเศษ “The Village Vanguard’s 70th Anniversary” ฉลองวาระสำคัญนี้ ในช่วงระหว่างวันที่ 15 – 20 เดือนกุมภาพันธ์ 2005 โดยนักทรัมเป็ต Roy Hargrove ได้รับเกียรติเล่นวันเปิดงาน ต่อคิวตามลำดับในวันถัดมาด้วย Wynton Marsalis, The Bad Plus, Jim Hall, The Heath Brothers และปิดท้ายในวันที่ 20 ด้วยทริโอของ Bill Charlap นักเปียโนผู้สืบทอดสไตล์ของ Bill Evans
แวนการ์ดนับเป็นแจ๊สคลับที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ซึ่งก่อตั้งโดย Max Gordon ชายยิวร่างเล็กใจดี ผู้ทุ่มเทชีวิตให้กับสถานที่นี้จวบจนวาระสุดท้าย เมื่อปี 1989 ด้วยวัย 86 ทิ้งให้ลอเรน ภรรยาม่ายเป็นผู้รับช่วงสืบทอดเจตนารมณ์ต่อมาจนถึงวันนี้
“แวนการ์ด เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา เหมือนมีลิขิตที่ขีดเส้นเกณฑ์ชะตา ให้ฉันรักแจ๊สตั้งแต่ยังเยาว์ แจ๊สได้นำพาผ่านสายธารแห่งกาลเวลาอันน่าอภิรมย์ ได้คบค้ากับนักดนตรีที่ยิ่งใหญ่ทั้งหลาย และได้ซาบซึ้งถึงดนตรี ศิลปะยังคงอยู่ดีที่นี่ พวกนักดนตรีหนุ่มจะยกทีมกันมาฟัง และพวกรุ่นใหญ่ก็มาพบปะเฮฮากับเพื่อนฝูง แม็กทำทั้งหมดนี้ขึ้นมา มันยังอยู่ มันเป็นจริง และหวังว่าอย่างน้อยที่สุด ฉันจะประคองให้มันคงอยู่ต่อไป”
แม็กน้อยโดนหอบหิ้วอพยพตามครอบครัวจากบ้านเกิดในลิธัวเนียเมื่อปี 1908 ไปตั้งถิ่นฐานใหม่ที่เมืองพอร์ตแลนด์ รัฐโอเรกอน ซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของอเมริกา และเขาอพยพตัวเองอีกครั้งสู่มหานครนิวยอร์ก เพื่อเข้าเรียนกฎหมายที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ในปี 1926 ตามที่แม่มุ่งหวังอยากให้ลูกชายเป็นทนาย อาชีพที่ทำรายได้สูง แต่ฝืนใจตัวเองที่ใฝ่ฝันอยากเป็นนักเขียน แม็กทนอยู่ในสภาพนักศึกษาได้เพียง 6 อาทิตย์ ก็จัดกระเป๋า จับรถไฟใต้ดินมุ่งตรงไปยังกรีนิช วิลเลจ แหล่งชุมนุมอาร์ติส แสวงหาตัวเองในมหาวิทยาลัยแห่งชีวิต ประเดิมด้วยการล้างจานกองโตเป็นงานแรก และจากนั้นลุยทำทุกงานที่ขวางหน้าอยู่ 5 ปี ใช้เวลาว่างเข้าไปอ่านหนังสือหาความรู้ใส่ตัวจากห้องสมุดประชาชน กลางคืนก็มั่วคลุกคลีอยู่กับพวกนักเขียน กวี ตามคอฟฟีช็อป จนเพื่อนสาวเสิร์ฟยุให้เปิดร้านกาแฟของตัวเอง โดยจัดแจงวิ่งเต้นยืมเงินลงให้เสร็จสรรพ ในปี 1932 แต่ร้านวิลเลจ แฟร์ อยู่ได้เพียงปีเดียวก็ต้องเลิก เพราะพนักงานเสิร์ฟคนหนึ่งแอบเสิร์ฟเหล้าโดยพลการให้กับเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ โดยที่ทางร้านไม่มีใบอนุญาตจำหน่ายสุรา ต่อมาในปี 1934 แม็กเปิดร้านใหม่ชื่อ วิลเลจ แวนการ์ด ซึ่งตัวเขาเองก็จำไม่ได้แล้วว่า ทำไมถึงใช้ชื่อนี้ และในเดือนกุมภาพันธ์ ปีถัดมา แวนการ์ดก็ย้ายขึ้นไปทางเหนืออีกประมาณสองช่วงตึก ที่บ้านเลขที่ 178 เซเวน เอเวนิว ระหว่างถนนที่ 11 กับเวเวอร์ลี เพลซ ซึ่งปักหลักอยู่มาจนถึงทุกวันนี้
คงจะไม่มีสถาปนิกคนไหนที่คิดจะออกแบบวิลเลจ แวนการ์ด ให้มีรูปร่างอย่างที่เป็นอยู่ ซึ่งได้รับความลงตัวในรูปแบบอย่างบังเอิญ ตรงประตูทางเข้ามีกันสาดผ้าใบยื่นยาวออกมา เมื่อผ่านประตูไปก็จะเจอบันใดที่ค่อนข้างชัน นำลงไปสู่ห้องใต้ดินรูปขนมพาย ซึ่งมีความยาวประมาณ 60 ฟุต มีเวทีเล็กๆอยู่ทางด้านใต้สุดและบาร์เหล้าอยู่อีกสุดฝั่งหนึ่ง ด้านหลังเป็นช่องทางเดินเข้าไปในครัวเก่าที่ดัดแปลงมาเป็นห้องอเนกประสงค์ ใช้เป็นทั้งห้องทำงาน ห้องแต่งตัวของนักดนตรี และที่สังสรรค์ของนักดนตรี ฝาผนังของห้องใหญ่ที่เคยเป็นภาพเขียน ได้ถูกบดบังด้วยรูปถ่ายของนักดนตรีแจ๊ส มีป้ายแขวนบอกให้รู้ว่าที่นี่จุคนได้ไม่เกิน 123 คน ตามเทศบัญญัติ โต๊ะของลูกค้ามีขนาดเล็กพอให้วางได้เพียงแค่ขวดเบียร์และแก้ว เวลาที่นั่งฟังอยู่จะรู้สึกสะเทือนฝ่าเท้าเป็นครั้งคราว ยามที่รถไฟใต้ดินวิ่งผ่าน เมื่อมีใครถามแม็ก ถึงมัณฑนากรผู้ตบแต่งสถานที่ เขาจะบอกว่า มันแต่งของมันเอง
เราไปทัวร์ดูบรรยากาศของแวนการ์ดกับยูทูบ ประกอบคำบรรยาย น่าจะช่วยให้เห็นภาพได้ดียิ่งขึ้นครับ
แม็กแต่งงานและมีลูกสาว 2 คน แต่ในความเป็นจริงแล้ว คู่ชีวิตของเขา คือ วิลเลจ แวนการ์ด เขากล่าวถึงที่นี้ ราวกับว่ามันมีเลือดเนื้อจริงๆ
“ที่นี่เป็นเหมือนคู่สร้างคู่สมของผม ผมใช้เวลาส่วนใหญ่กับมันมากกว่าอื่นใด บางครั้งก็นอนอยู่นี่เลย ผมได้เรียนรู้ว่า ถ้าคุณดีกับแวนการ์ด แวนการ์ดก็จะดีตอบ มันดีกับผู้คนเสมอมา ไม่เคยดันแขกให้สั่งดริ๊งค์ ใครใคร่ดื่มก็ได้ ใครไม่สั่งก็ไม่ตื๊อกัน”
แม็กได้รับการเคารพนับถือจากคนที่เขาว่าจ้างมาก แม้ว่าเขาจะมีหูตาที่แหลมคม ในการเลือกเฟ้นนักดนตรีมาลงเล่น แต่เขาก็ไม่เคยที่จะเข้าไปบงการ ยุ่มย่าม กับการทำงานของศิลปินเลย ถ้าทำได้ดีอย่างที่หวังไว้ ก็จะได้รับการติดต่อให้กลับมาโชว์อีก เขากล่าวอย่างเสียดาย ว่า
“ผมไม่เคยได้รู้จักกับหลายคนที่มาเล่นที่แวนการ์ด บางทีพวกเขาอาจจะกลัวผม บางทีผมอาจจะกลัวพวกเขา บางทีพวกเขาเหมือนจอห์น โคลเทรน ที่มีผู้ศรัทธาห้อมล้อมอยู่เสมอ ผมรักดนตรีของเขา แต่ก็ไม่เคยพูดคุยกันสักคำ”
ก่อนที่จะมาเป็นสถานศักดิ์สิทธิ์แห่งแจ๊สในวันนี้ แรกเริ่มของแวนการ์ดนั้น ตั้งขึ้นไว้เพื่อเป็นที่นัดพบของเหล่ากวีหนุ่มทั้งหลาย มาใช้สถานที่อ่านบทกวีให้ลูกค้าและเพื่อนฝูงได้สดับฟังกันในบรรยากาศที่เป็นกันเอง ใครที่มีอารมณ์สุนทรียะแต่ไร้ทรัพย์ ก็สามารถเข้าไปดื่มด่ำกับบทกวี โดยไม่ต้องควักกระเป๋าอุดหนุน ทางร้านก็ยังยอมรับได้ เพราะค่าใช้จ่ายในสมัยนั้นยังน้อยอยู่ ต่อมาในสมัยช่วงทศวรรษสี่สิบ แม็กได้ปรับเปลี่ยนนโยบายใหม่ ด้วยการเอาดนตรีโฟล์ค การแสดงตลกและแนวการแสดงแบบคาบาเรต์ เข้ามาแทนที่การอ่านบทกวี ซึ่งก็ได้ช่วยเป็นบันไดขั้นแรกให้หลายต่อหลายคน ก้าวขึ้นจากห้องใต้ดินนี้ ไปสู่ความยิ่งใหญ่ในโลกบันเทิง ศิลปินอย่าง แฮรี เบลาฟองเต, วูดี กัธรี่, เลดเบลี, เลนนี บรูซ, วูดี แอลเลน และบาร์บรา สตรัยแซนด์ คือ ส่วนหนึ่งของคนดังเหล่านั้น
แวนการ์ดพลิกผันมาเป็นแจ๊สคลับจริงๆ ในช่วงกลางทศวรรษห้าสิบ เมื่อได้ศิลปินใหญ่อย่าง ธีโลเนียส มังค์, ชาร์ลี มินกัส, ไมล์ เดวิส, ออร์เน็ต โคลแมน, ดิ๊ซซี กิเลสปี, จอห์น โคลเทรน, บิล เอแวน และ ฯลฯ มาสถิตบำเพ็ญตบะอยู่เป็นนิจสิน ช่วยกันสร้างความขลังให้กับแวนการ์ด จนกลายเป็นที่ที่ไม่ธรรมดาสำหรับนักดนตรีแจ๊ส ซันนี รอลลิน (Sonny Rollins) เป็นนักดนตรีคนแรกที่ใช้คลับนี้เป็นที่บันทึกการแสดงสด "A Night At The Village Vanguard” ในโอกาสเปิดตัวเป็นนายวงครั้งแรกของเขาในปี 1957 ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน มีอัลบั้มการแสดงสดที่อัดบันทึกเสียงจากแวนการ์ดไม่ต่ำกว่า 100 ชุดแล้ว อัลบั้มที่โด่งดังและทรงอิทธิพล 2 ชุดของจอห์น โคลเทรนก็เป็นผลงานที่อัดบันทึกเสียงจากการแสดงสดที่นี่ นักเปียโนบิล เอแวนสร้างผลงานสุดยอดของเขา ณ ห้องใต้ดินนี้ เช่นเดียวกับมาสเตอร์พีซของจิม ฮอล นักเป่าแซ็กระดับตำนานเด๊กเตอร์ กอร์ดอน ฉลองการกลับสู่อเมริกา ในปี 1976 หลังจากลี้ภัยไปอยู่ยุโรปนานถึง 14 ปี ด้วยการเปิดตัวและอัดอัลบั้มที่แวนการ์ด แนวปฏิบัตินี้ได้สืบสานกันต่อมาอย่างไม่ขาดสาย จนถึงวีนตัน มาร์ซาลิส, จาชัว เร็ดแมน, แบรด เมห์ลเดา, ยูริ เคน และอีกมากมาย
คำว่า “สด จากวิลเลจ แวนการ์ด” บนแผ่นปกซีดี เป็นเสมือนประกาศนียบัตร รับรองคุณภาพดนตรี เฉกเช่นเดียวกับป้าย”เชลล์ ชวนชิม” ที่แขวนโชว์หน้าร้าน รับรองความอร่อยในรสชาติของอาหาร ถ้าไม่เด็ดจริงแล้ว อย่าบังอาจลงทะเบียนขึ้นทำเนียบเป็นอันขาด
ความฝันที่จะเป็นนักเขียนตั้งแต่วัยหนุ่มของแม็กก็เป็นจริงขึ้นมา เมื่อหนังสือบันทึกความทรงจำ “Live at the Village Vanguard” ที่เขาใช้เวลาบรรจงเขียนทีละบรรทัดนานถึง 7 ปี กว่าจะลุล่วงสำเร็จพิมพ์ออกมาเป็นเล่มได้ในปี 1980 เขาเก็บหนังสือไว้ที่คลับตั้งหนึ่ง ประมาณว่า เฉพาะที่ขายเองก็ปาเข้าไปกว่า 2,000 เล่มแล้ว
สำหรับกลุ่มนักดนตรีแจ๊สเลือดใหม่ ที่มีโอกาสขึ้นเล่นบนเวทีของแวนการ์ด นับว่าเป็นประสบการณ์ที่ยิ่งใหญ่และดาลใจให้เล่นอย่างสุดฝีมือ แบรนฟอร์ด มาร์ซาลิส ในวันนี้ เป็นศิลปินซึ่งทางคลับเก็บค่าตั๋วเข้าชมแพงกว่าปกติทั่วไป ทบทวนให้ฟังถึงความประทับใจ ว่า
“ครั้งแรกที่ผมเล่นที่นั่น ผมขอขึ้นไปเล่นกับเอลวิน โจนส์ ไม่เพียงแค่ตื่นเต้นเพราะเอลวิน โจนส์เท่านั้น เมื่อมองไปข้างฝา ทุกคนอยู่ตรงนั้น รู้สึกเหมือนมีวิญญาณสิงอยู่ที่นี่จริงๆ พูดไปแล้ว มันเป็นคลับที่ห่วยที่สุดในนิวยอร์ก มันเล็ก มืด อับ ไม่มีอะไรจะกิน แต่มันเป็นคลับที่ผมโตขึ้นมา กับการฟังทุกคนที่ผ่านการเล่นที่นี่ สำหรับตัวผมแล้ว ไม่มีทีไหนในโลก ที่ผมอยากเล่นมากกว่าที่นี่”
บิล ฟริเซล นักกีตาร์แจ๊สหัวก้าวหน้าที่สุดใน พ.ศ. นี้ กล่าวสั้นๆ ได้เนื้อหาเยอะๆ เหมือนเชิงกีตาร์ของเขา
“มันเหมือนกับได้เล่นที่คาร์เนกี้ ฮอล”
วันนี้ของวิลเลจ แวนการ์ด แม้ว่า Thad Jones และ Mel Lewis ผู้ก่อตั้ง Vanguard Jazz Orchestra อันโด่งดัง จะล่วงลับไปนานหลายปีแล้ว คืนวันจันทร์ยังคงกันไว้ให้วงของเขา ซึ่งผูกขาดวันแรกของสัปดาห์มาตั้งแต่ปี 1966 อยู่อย่างไม่เปลี่ยนแปลง แม้จะผลัดเปลี่ยนนักดนตรีในวงจนยาวเป็นบัญชีหางว่าวแล้วก็ตาม ในคืนวันอังคารถึงวันอาทิตย์จะเป็นโปรแกรมแสดงของศิลปินแจ๊สมีระดับ ซึ่งส่วนใหญ่จะเหมาเล่นกันเป็นอาทิตย์ แจ๊สรุ่นใหญ่ผู้ล่วงลับไปแล้วอย่าง แฮงก์ โจนส์, ทอมมี เฟลเนแกน, โจ เฮ็นเดอร์สัน, ดอน แชรี และโทนี วิลเลียม เคยเป็นหน้าเดิมที่แวะเวียนผลัดเปลี่ยนกันมาเล่นเป็นประจำ รุ่นนั้นที่ยังเหลืออยู่ก็มี จิม ฮอล, เค็นนี เบอร์เรล, พอล โมเทียน และชาลี เฮเด็น ซึ่งยังมีโปรแกรมหมุนเวียนมาสลับกับ พี่น้องตระกูลมาร์ซาลิสและก๊วนของพวกเขา, นักเปียโนสาวแจรี แอลเล็น, บิล ฟริเซล, โจ โลวาโน และรอย ฮากรูฟ ซึ่งเลื่อนขั้นมาจากรุ่นเล็ก สำหรับพวกหน้าใหม่ ทางคลับก็ไม่ละเลยที่จะจองตัวนักเปียโนบิล ชาร์ลาพ, แบรด เมห์ลเดา, นักกีตาร์เคอร์ต โรเซ็นวิงเคิล และวงแจ๊สพันทาง แบดพลัส ซึ่งแจ้งเกิดจากแวนการ์ด
ผู้เขียนเคยเข้าไปสัมผัสบรรยากาศแจ๊สที่แวนการ์ดหลายครั้งด้วยกัน ในช่วงทศวรรษแปดสิบ เร็ด มิทเชลมือเบสรุ่นเก๋า เคยเข้ามาโอบกอดทักทายอย่างสนิทสนม ด้วยคงจะจำผิดว่า เป็นนักดนตรีญี่ปุ่นที่แกเคยเล่นด้วย เคยเข้าห้องน้ำยืนเบาเคียงบ่าเคียงไหล่กับที่สุดแห่งแจ๊สกีตาร์ จิม ฮอล ได้เห็นแม็กแทบทุกครั้งที่ไปอุดหนุนแก บางครั้งก็เห็นแกนั่งอยู่ที่แคชเชียร์ หรือไม่ก็นั่งคุยกับนักดนตรีแถวหน้าบาร์ บางทีก็นั่งง่วนอยู่ในห้อง ไม่เคยสบโอกาสที่จะเข้าไปทักทาย ได้แต่โค้งคารวะให้ครั้งหนึ่ง เมื่อคราเดินสวนกัน เมื่อแกส่งยิ้มให้ ครั้งล่าสุดที่ไปแวะเยี่ยมเมื่อปลายปี 2002 ก็ยังรู้สึกได้ถึงความขลังของสถานที่เหมือนเก่า บรรยากาศโดยทั่วไปก็ยังคงเดิม ยังรู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือนของรถไฟใต้ดินเป็นครั้งคราว หลอดไฟที่โดนชาร์ล มินกัสเขวี้ยงแตกเมื่อหลายสิบปี ก็ยังคงคาทิ้งไว้เป็นอนุสรณ์อยู่อย่างนั้น แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปอย่างน่าชื่นชม คือ ระบบเสียงที่ปรับปรุงใหม่ แทนที่เครื่องร้องเฟ็นเดอร์รุ่นโบราณ ทำให้ได้อรรถรสในการฟังที่เป็นธรรมชาติมาก คืนที่ไปฟังวง Bobby Hutcherson นักไวบราฮาร์พฝีมือสุดยอด เป็นโชว์รอบสองของวันอาทิตย์ และการแสดงรอบสุดท้ายของวงในวาระนี้ เสียค่าตั๋วคนละ 30 เหรียญ เป็นค่าดูดนตรี 20 เหรียญ บวกกับค่าดริ๊งก์ 10 เหรียญ (เบียร์ 2 ขวดเล็ก) ไม่รวมค่าทิปคนเสิร์ฟอีก 2 เหรียญ คนดูก็ยังแน่นคลับ และเมื่อวงดนตรีสิ้นสุดการแสดง ไฟเปิดสว่าง ผู้คนทักทายกัน มองไปมองมา โอ้โฮ นักดนตรีเก๋าๆทั้งนั้น อย่างนักทรัมเป็ตเฟร็ดดี้ ฮับบาร์ด, นักทรอมโบนและนักเป่าหอยสังข์สตีฟ เทอร์ และมือเบสปีเตอร์ วอชิงตัน ซึ่งเพิ่งจะดูเขาเล่นกับบิล ชาร์ลาพ ก่อนหน้านี้เพียงสองวันที่ฟิลาเดลเฟีย และคงมีนักดนตรีอีกหลายคนที่ไม่คุ้นเคยหน้า วันอาทิตย์รอบสุดท้ายที่วิลเลจ แวนการ์ด เป็นจุดนัดพบของนักดนตรีแจ๊สนิวยอร์ก ลอเรน กอร์ดอน (Lorraine Gordon)ทำหน้าที่เจ้าบ้านได้อย่างดีเยี่ยม ทักทายกับผู้คนไปทั่ว รวมทั้งกับผู้เขียน อีกทั้งยังได้ถ่ายรูปร่วมกันเป็นที่ระลึกด้วย
ถ้าใครอยากเห็นว่าภายในแวนการ์ดเป็นยังไง ก็ต้องไปหาแผ่น DVD หรือแผ่น VCD ของเหล่าศิลปินแจ๊ส ที่บันทึกการแสดงสดจากที่นั่นมาดู หรือถ้ามีโอกาสไปนิวยอร์ก ก็ต้องแวะไปสัมผัสสถานที่จริงเลย แต่อย่าไปคาดหวังว่าจะเจอกับความหรูหรา หรือบรรยากาศที่แกล้งทำให้ดูโทรมอย่างคลับบ้านเรา เพราะที่นั่น
ทั้งเก่าและโทรมจริงๆ
(ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสาร Fitness 1990 ปรับปรุงตีพิมพ์ครั้งที่สองในนิตยสาร JazzSeen ฉบับที่สอง กุมภาพันธ์ – มีนาคม 2005)
Labels:
Jazz
Sunday, September 6, 2009
Pick A Song
.
ในโอกาสนี้จะขอขยายความจากบทเกริ่นนำร่อง แนะนำเรื่องการฝึกหูแบบ Third Stream สำหรับคนที่สนใจจะนำวิธีการนี้ไปฝึกด้วยตนเอง ต่อจาก First Aural Training Lesson ครับ
อันดับแรก คงจะเป็นเรื่องเพลงแบบฝึกหัด ซึ่งแต่ละเพลงที่อาจารย์กำหนดไว้ คงจะหามาฟังกันได้ไม่ง่าย ดังนั้น จึงต้องประยุกต์แบบเรียน หาเพลงที่อยู่ใกล้ตัว ใกล้มือ หยิบหามาฟังได้สะดวก มาเป็นเพลงครูแทน
การเลือกเพลงในแนวโปรดของเรามาเป็นต้นแบบ น่าจะเป็นการเริ่มต้นที่ดีที่สุด เพราะเราจะมีความสุขกับกับฟังซ้ำๆซากๆในเพลงที่เราชอบ และเลือกมาเอง มากกว่าเพลงที่โดนบังคับให้จำ ใครชอบดนตรีแนวไหนก็ให้เลือกเพลงจากแนวนั้นมาเป็นบทเพลงอาขยาน และสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งในจุดเริ่มออกสตาร์ต คือ ควรจะเลือกเพลงที่ทำนองจำง่าย ติดหู ท่อนไม่ยุ่งยากซับซ้อน ดนตรีประกอบไม่รกรุงรังจนไปกลบรบกวน ทำให้ฟังทำนองหลักไม่ชัดเจน ถ้าจะให้ดีที่สุด คือ หาเพลงที่มีเครื่องดนตรีชิ้นเดียว เล่นเฉพาะทำนองเพียงอย่างเดียว
หลักง่ายๆ ในการพิจารณาว่า เพลงที่เราจะเลือกมาฝึกท่องจำนั้น อยู่ในระดับไหนนั้น คือ ถ้าเป็นเพลงที่เมื่อเราได้ยินไม่กี่เที่ยวก็สามารถร้องตามได้อย่างไม่มีปัญหา เพลงนั้นก็จะเป็นเพลงง่ายสำหรับเรา
การได้เก็บสะสมเอาปริมาณเข้าตุนไว้ในสมุดเพลงส่วนตัวสักจำนวนหนึ่งก่อน เป็นสิ่งที่ดีมากสำหรับการฝึกในแนว Aural Training นี้ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการฝึกฝนว่า เราสามารถจำขึ้นใจ และร้องทำนองเพลงได้จบเพลงหลายเพลงแล้ว
ขั้นตอนต่อไป ให้หาเพลงที่สามารถร้องตามได้เป็นส่วนใหญ่ แต่มีบางช่วงทำนองที่ยังติดขัด ต้องฟังซ้ำอีกหลายครั้ง จึงจะร้องตามได้ พยายามหาเพลงระดับนี้มาฝึกสักระยะหนึ่ง ประมาณสัก 20-30 เพลงเป็นอย่างต่ำ จากนั้นก็ลองยกระดับไปหัดท่องเพลงแนว Musical จำพวกเพลงชุดจากละครบรอดเวย์ดังๆ ที่เราคุ้นเคยจากเวอร์ชันที่เอามาทำเป็นหนัง อย่าง The Sound of Music หรือ West Side Story เพลงประเภทนี้จะมีประโยชน์มากสำหรับการพัฒนาโสตของเราในระดับต่อไป โดยเฉพาะเพลงอย่าง Tonight, Maria และ Somewhere จาก West Side Story (หาฟังได้จากยูทูบ)
ในการวัดผลถึงความสำเร็จของแต่ละเพลงที่เราฝึกท่องจำนั้น เราจะต้องสามารถร้องทำนองออกมาได้ โดยไม่ต้องมีเครื่องดนตรีประกอบแต่อย่างใด คือ ต้องร้องปากเปล่า ตั้งแต่ตัวโน้ตแรกจนถึงตัวโน้ตสุดท้ายของเพลง โดยไม่ผิดเพี้ยนในทำนองเพลง แต่ไม่จำเป็นจะต้องเป็นคีย์เดียวกับต้นแบบ
กฎเหล็กที่จะต้องรักษาอย่างเคร่งครัด และมีความซื่อสัตย์ต่อตนเอง คือจะต้องไม่ใช้เครื่องดนตรีมาช่วยแกะ ถ้าหูเรายังจับเสียงปัญหาไม่ได้ ก็ให้เล่นกรอซ้ำอยู่อย่างนั้น จนจับเสียงนั้นได้ เมื่อสามารถร้องทำนองออกมาได้ไม่ผิดเพี้ยนจากเพลงต้นแบบ จึงจะอนุญาตให้ผ่านด่านนี้ได้ เพื่อไปเผชิญด่านเสียงตัวปัญหาต่อไปในช่วงทำนองถัดไปเรื่อยๆจนจบเพลง
การฝ่าด่านทำนองแต่ละตัวโน้ตปัญหา เป็นสิ่งที่ต้องใช้ความพยายาม และความอดทนอย่างมาก เป็นจุดสำคัญที่จะพิสูจน์ว่า เราจะฟันฝ่าพิชิตอุปสรรคขั้นต้นไปได้หรือไม่ จากประสบการณ์ส่วนตัวที่ผมผ่านมา เมื่อไปเจอตัวโน้ตเจ้าปัญหาแต่ละตัว ในตอนที่เริ่มเรียนแนวนี้ใหม่ๆ ก็ได้พยายามฟังอย่างจริงจังทุกวัน วันละ 2 – 3 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ จนมึนไปหมด ก็ยังฟังไม่ออก ต้องหยุดพักให้สมองโปร่งโล่ง แล้วกลับมาฟังใหม่ มึนแล้วพัก เอาใหม่ ซ้ำซากอยู่อย่างนี้ ทำอยู่อย่างไม่ย่อท้อ จนทำได้ในที่สุด โน้ตบางตัวต้องสู้กันเป็นอาทิตย์ เมื่อเอาชนะเจ้าโน้ตคู่ปรับจอมหินแต่ละตัวได้ ก็รู้สึกปลื้มกับตัวเองสุดๆ เหมือนได้รับเหรียญโอลิมปิกทีเดียว
คุณพร้อมที่จะลำบากเพื่อก้าวเดินสู่ความเป็นหูทิพย์ในเส้นทางของ Third Stream หรือยัง?
(ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสาร Overdrive ฉบับที่ 75 ตุลาคม 2004)
ในโอกาสนี้จะขอขยายความจากบทเกริ่นนำร่อง แนะนำเรื่องการฝึกหูแบบ Third Stream สำหรับคนที่สนใจจะนำวิธีการนี้ไปฝึกด้วยตนเอง ต่อจาก First Aural Training Lesson ครับ
อันดับแรก คงจะเป็นเรื่องเพลงแบบฝึกหัด ซึ่งแต่ละเพลงที่อาจารย์กำหนดไว้ คงจะหามาฟังกันได้ไม่ง่าย ดังนั้น จึงต้องประยุกต์แบบเรียน หาเพลงที่อยู่ใกล้ตัว ใกล้มือ หยิบหามาฟังได้สะดวก มาเป็นเพลงครูแทน
การเลือกเพลงในแนวโปรดของเรามาเป็นต้นแบบ น่าจะเป็นการเริ่มต้นที่ดีที่สุด เพราะเราจะมีความสุขกับกับฟังซ้ำๆซากๆในเพลงที่เราชอบ และเลือกมาเอง มากกว่าเพลงที่โดนบังคับให้จำ ใครชอบดนตรีแนวไหนก็ให้เลือกเพลงจากแนวนั้นมาเป็นบทเพลงอาขยาน และสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งในจุดเริ่มออกสตาร์ต คือ ควรจะเลือกเพลงที่ทำนองจำง่าย ติดหู ท่อนไม่ยุ่งยากซับซ้อน ดนตรีประกอบไม่รกรุงรังจนไปกลบรบกวน ทำให้ฟังทำนองหลักไม่ชัดเจน ถ้าจะให้ดีที่สุด คือ หาเพลงที่มีเครื่องดนตรีชิ้นเดียว เล่นเฉพาะทำนองเพียงอย่างเดียว
หลักง่ายๆ ในการพิจารณาว่า เพลงที่เราจะเลือกมาฝึกท่องจำนั้น อยู่ในระดับไหนนั้น คือ ถ้าเป็นเพลงที่เมื่อเราได้ยินไม่กี่เที่ยวก็สามารถร้องตามได้อย่างไม่มีปัญหา เพลงนั้นก็จะเป็นเพลงง่ายสำหรับเรา
การได้เก็บสะสมเอาปริมาณเข้าตุนไว้ในสมุดเพลงส่วนตัวสักจำนวนหนึ่งก่อน เป็นสิ่งที่ดีมากสำหรับการฝึกในแนว Aural Training นี้ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการฝึกฝนว่า เราสามารถจำขึ้นใจ และร้องทำนองเพลงได้จบเพลงหลายเพลงแล้ว
ขั้นตอนต่อไป ให้หาเพลงที่สามารถร้องตามได้เป็นส่วนใหญ่ แต่มีบางช่วงทำนองที่ยังติดขัด ต้องฟังซ้ำอีกหลายครั้ง จึงจะร้องตามได้ พยายามหาเพลงระดับนี้มาฝึกสักระยะหนึ่ง ประมาณสัก 20-30 เพลงเป็นอย่างต่ำ จากนั้นก็ลองยกระดับไปหัดท่องเพลงแนว Musical จำพวกเพลงชุดจากละครบรอดเวย์ดังๆ ที่เราคุ้นเคยจากเวอร์ชันที่เอามาทำเป็นหนัง อย่าง The Sound of Music หรือ West Side Story เพลงประเภทนี้จะมีประโยชน์มากสำหรับการพัฒนาโสตของเราในระดับต่อไป โดยเฉพาะเพลงอย่าง Tonight, Maria และ Somewhere จาก West Side Story (หาฟังได้จากยูทูบ)
ในการวัดผลถึงความสำเร็จของแต่ละเพลงที่เราฝึกท่องจำนั้น เราจะต้องสามารถร้องทำนองออกมาได้ โดยไม่ต้องมีเครื่องดนตรีประกอบแต่อย่างใด คือ ต้องร้องปากเปล่า ตั้งแต่ตัวโน้ตแรกจนถึงตัวโน้ตสุดท้ายของเพลง โดยไม่ผิดเพี้ยนในทำนองเพลง แต่ไม่จำเป็นจะต้องเป็นคีย์เดียวกับต้นแบบ
กฎเหล็กที่จะต้องรักษาอย่างเคร่งครัด และมีความซื่อสัตย์ต่อตนเอง คือจะต้องไม่ใช้เครื่องดนตรีมาช่วยแกะ ถ้าหูเรายังจับเสียงปัญหาไม่ได้ ก็ให้เล่นกรอซ้ำอยู่อย่างนั้น จนจับเสียงนั้นได้ เมื่อสามารถร้องทำนองออกมาได้ไม่ผิดเพี้ยนจากเพลงต้นแบบ จึงจะอนุญาตให้ผ่านด่านนี้ได้ เพื่อไปเผชิญด่านเสียงตัวปัญหาต่อไปในช่วงทำนองถัดไปเรื่อยๆจนจบเพลง
การฝ่าด่านทำนองแต่ละตัวโน้ตปัญหา เป็นสิ่งที่ต้องใช้ความพยายาม และความอดทนอย่างมาก เป็นจุดสำคัญที่จะพิสูจน์ว่า เราจะฟันฝ่าพิชิตอุปสรรคขั้นต้นไปได้หรือไม่ จากประสบการณ์ส่วนตัวที่ผมผ่านมา เมื่อไปเจอตัวโน้ตเจ้าปัญหาแต่ละตัว ในตอนที่เริ่มเรียนแนวนี้ใหม่ๆ ก็ได้พยายามฟังอย่างจริงจังทุกวัน วันละ 2 – 3 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ จนมึนไปหมด ก็ยังฟังไม่ออก ต้องหยุดพักให้สมองโปร่งโล่ง แล้วกลับมาฟังใหม่ มึนแล้วพัก เอาใหม่ ซ้ำซากอยู่อย่างนี้ ทำอยู่อย่างไม่ย่อท้อ จนทำได้ในที่สุด โน้ตบางตัวต้องสู้กันเป็นอาทิตย์ เมื่อเอาชนะเจ้าโน้ตคู่ปรับจอมหินแต่ละตัวได้ ก็รู้สึกปลื้มกับตัวเองสุดๆ เหมือนได้รับเหรียญโอลิมปิกทีเดียว
คุณพร้อมที่จะลำบากเพื่อก้าวเดินสู่ความเป็นหูทิพย์ในเส้นทางของ Third Stream หรือยัง?
(ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสาร Overdrive ฉบับที่ 75 ตุลาคม 2004)
Labels:
Ear Training
Subscribe to:
Posts (Atom)