`
ผมบังเอิญไปอ่านเจอกระทู้เกี่ยวกับเพลง “Manha de Carnaval” ในเว็บบอร์ด http://www.nimitguitar.com/mybb/showthread.php?tid=4564 มีการกล่าวพาดพิงมาถึงตัวผมด้วย ผมอ่านไป ขนลุกไป ดีใจที่ได้ทราบข่าวเพื่อนเก่า ซึ่งไม่ได้เจอกันนานกว่า 30 ปี เพื่อนคนนี้เป็นนักกีตาร์ระดับตำนานบทหนึ่งของเมืองไทย นักดนตรีเมืองกรุงรุ่นซิกตี้ (วัยรุ่นตอนนั้น วัย 60 ตอนนี้) น่าจะรู้ถึงความเก่งของเขาเป็นอย่างดี ผมได้เรียนรู้จากเขามากมาย และให้ความนับถือเสมือนเป็นครูคนหนึ่ง นอกเหนือจากความเป็นเพื่อน
ในโอกาสนี้ขอร่วมแจมในบทเพลง “Manha de Carnaval” ณ บล็อกนี้ ด้วยเรื่องราวของเพลงนี้ แด่ Long lost friend ของผม “อภิรักษ์ ศิลปชัย”
“Manha de Carnaval” ได้รับการบันทึกไว้เป็นหลักฐานจากหนังสือ Guinness Book of Records ว่าเป็นหนึ่งในสิบเพลงยอดนิยมของโลก ที่ได้รับการเผยแพร่มากที่สุด เราจะหาฟังเพลงนี้ได้ในหลากหลายแนวดนตรี ตั้งแต่สไตล์แบบคลาสสิก, ลาติน, แจ๊ส, พ็อพและครอบคลุมไปถึงแนวประเภทหวานเย็น( Easy Listening) ซึ่งมีอยู่ดาษดื่นมากจนนับไม่ถ้วน
“Manha de Carnaval” เป็นเพลงจากบราซิล ผลงานของ Luis Bonfa นักแต่งเพลงและนักกีตาร์ผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่ง ชื่อของเพลงนี้เป็นภาษาปอร์ตุเกส ถ้าแปลเป็นอังกฤษก็จะมีความหมายว่า "Morning of the Carnival" แปลเป็นไทยก็คงประมาณว่า “รุ่งอรุณแห่งคาร์นิวัล” เพลงนี้ได้รับการบันทึกเสียงครั้งแรกสำหรับซาวด์แทร็กหนัง “Orfeu Negro” หรือ “Black Orpheus” ในปี 1958 โดยมี Antonio Maria เป็นผู้แต่งเนื้อร้อง โด่งดังขึ้นมาจากหนังในปีต่อมา บางครั้งมีคนเรียกชื่อเพลงเป็น "Song de Orpheo" บ้าง หรือ "Morning of the Carnival" ก็มี ต่อมานักแต่งเพลง Carl Sigman ได้แต่งเนื้อร้องเป็นภาษาอังกฤษขึ้นมาใหม่ ภายใต้ชื่อ "A Day in the Life of a Fool" ให้นักร้อง Jack Jones ในปี 1966 ทำให้ทำนองเพลงเดียวกันนี้ของ Luis Bonfa มีชื่อเรียกต่างกันหลายชื่อ จนเป็นที่สับสนต่อคนฟังเพลงและแม้แต่นักดนตรีเอง ผมหวังว่าหลังจากอ่านบทความนี้แล้ว คงได้ความกระจ่างรู้แจ้งในเพลงนี้นะครับ
แม้จะเรียกขานกันหลายชื่อ แต่ชื่อจริงดั้งเดิม "Manha de Carnaval" เป็นที่ยอมรับกันมากที่สุด จะมีเรียกเพี้ยนเป็น "Manha de Carnival" อยู่บ้าง "Black Orpheus" เป็นชื่อที่นิยมเรียกเป็นอันดับรองลงมา หรือบางคนจะเรียกเต็มยศเป็น "Theme From Black Orpheus" สำหรับ "Day in the Life of a Fool" ก็มีคนเรียกอยู่พอสมควร เช่นเดียวกับ "Morning of the Carnival" ส่วนพี่ไทยเราไม่ชอบเรียกชื่อยาวๆ นักดนตรีบ้านเราจึงหดเหลือแค่ “Carnival" ซึ่งก็มีฝรั่งใช้อยู่บ้างเหมือนกัน แต่เขาจะวงเล็บชื่อจริงไว้ด้วย ไม่เช่นนั้นเราอาจจะไปเจอเพลงอะไรก็ไม่รู้ ที่บังเอิญมาใช้ชื่อพ้องกัน ซึ่งมีอยู่หลายเพลง
หนัง "Black Orpheus (Orfeu Negro)" ใช้เค้าโครงเรื่องจากตำนานนิยายกรีกโบราณเรื่อง "Orpheus and Eurydice" นำมาแต่งตัวใหม่ให้เป็นตำนานรักนิโกร จัดฉากกันที่งานเทศกาลคาร์นิวัลประจำปีแห่งเมืองริโอ เดอ จาเนโร โดยชายหนุ่ม Orpheus ได้ไปเจอและตกหลุมรักกับ Eurydice หญิงสาวผู้พึ่งจะตีจากจากคนรักเก่า และกำลังหลบหนีจากการไล่ล่าคุกคาม แต่ในที่สุด เธอก็โดนคนรักเก่าแผงตัวมาในคราบของยมทูตคร่าเอาชีวิตไปจนได้ ออร์เฟียสผู้มุ่งมั่นในความรักตามหาร่างไร้วิญญาณของยูริดาซีจนเจอ และพยายามจะชุบชีวิตของเธอให้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาด้วยพิธีกรรมทางไสยศาสตร์ แต่ก็ไม่สำเร็จ เรื่องจบลงด้วยความเศร้า แต่ตำนานรักของออร์เฟียสและยูริดาซี ยังเป็นที่เล่าขานกันต่อไปไม่รู้จบ
ฟังเพลงจากซาวด์แทร็กของหนังเรื่องนี้ และดูสไลด์ภาพประกอบจากยูทูบเรียกน้ำย่อยก่อนครับ หนัง "Black Orpheus (Orfeu Negro)" น่าสนใจดีครับ นอกจากจะเป็นตำนานรักอมตะ เรายังได้สัมผัสสภาพวิถีชีวิตชาวบราซิลเมื่อ 50 ปีที่แล้ว หนังระดับคลาสสิกอย่างนี้ไม่น่าจะหายากมาก
Luis Bonfa ( เกิด17 ตุลาคม 1922 ที่ Rio de Janeiro ประเทศบราซิล – ตาย12 มกราคม 2001 ที่ Rio de Janeiro ประเทศบราซิล) ชื่อเต็มว่า Luiz Floriano Bonfa พ่อเป็นชาวอิตาเลียนซึ่งย้ายรกรากไปอยู่ที่บราซิล เริ่มหัดกีตาร์ตั้งแต่อายุ 11 ขวบ ปีต่อมาได้เรียนกับอาจารย์ชื่อดังชาวอุรุกวัย Isaias Savio โดยเขาจะต้องนั่งรถไฟจาก Santa Cruz ซึ่งอยู่นอกเมืองริโอ แล้วเดินเท้าอีกเป็นระยะทางไกล กว่าจะถึงบ้านบนเนินเขา Santa Teresa ของครู ทำให้ครูรู้สึกประทับใจในความบากบั่นจริงจังของเด็กชายหลุยส์ เลยสอนให้ฟรี
หลุยส์ บองฟา เริ่มเป็นที่รู้จักในวงการเพลงบราซิล ตอนอายุ 24 ปี เมื่อเขาได้รับเชิญไปออกอากาศรายการ Radio Nacional ที่คัดเฟ้นดาวรุ่งหน้าใหม่มาโชว์ความสามารถ ผลงานของเขาได้รับการบันทึกเสียงในทศวรรษห้าสิบ และได้มีโอกาสเจอกับ Antonio Carlos Jobim และ Vinicius de Moraes เข้าไปร่วมเล่นกีตาร์ในละคร “Orfeo da Conceicao” ซึ่งเป็นต้นเค้าของหนัง “Black Orpheus” งานมาสเตอร์พีซของผู้กำกับหนังชาวฝรั่งเศส Marcel Camus ที่บองฟาได้มีส่วนแต่งเพลง "Manha de Carnaval" และ "Samba de Orfeu" ประกอบด้วย หนังเรื่องนี้ไล่กวาดรางวัลดังจาก Cannes Film Festival, Golden Globe และ Oscar สาขา Best Foreign Film ในปี 1959 ซาวด์แทร็กของหนัง “Black Orpheus” ช่วยทำให้บองฟาและโจบิมเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ นักดนตรีแจ๊สให้ความสนใจ นำเพลงไปเล่นกัน จนกลายเป็นกระแส Bossa Nova ที่มาแรงมากในเวลาต่อมา
บองฟาเป็นกำลังสำคัญในการช่วยเผยแพร่ให้บอสซาโนวาเป็นที่รู้จักกันในวงกว้าง ตั้งแต่เมื่อครั้งร่วมทีมรวมดาวจากบราซิล ขึ้นแสดงที่คาร์เนกีฮอลครั้งแรก ในปี 1962 เขาพำนักอยู่ในอเมริกาหลายปี มีผลงานออกมาหลายอัลบั้ม ก่อนที่จะย้ายกลับบ้านในปี 1975 แต่ก็ยังคงขยันทัวร์และสร้างผลงานอย่างไม่ว่างเว้น แม้จะไม่เป็นที่ฮือฮา มีอัลบั้มสุดท้ายออกมาในปี 1997 บองฟาเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง ในโรงพยาบาลเดียวกันกับที่เขาเกิด เมื่อ 78 ปีก่อนหน้านั้น
เพลงหลายชื่อ “Manha de Carnaval" เป็นเพลงที่ใช้กีตาร์สายไนลอนเล่นแล้วจะให้ความรู้สึกว่า ใช่เลย ตัวหลุยส์ บองฟาเจ้าของเพลงเอง เอาเพลงนี้มาใช้คุ้มมาก เขาฝากเสียงกีตาร์เฉพาะเพลงนี้ราว 20 อัลบั้ม เริ่มตั้งแต่ครั้งแรกในอัลบั้มซาวด์แทร็ก “Orfeu Negro” เวอร์ชันของบองฟาจะมาในแบบไพเราะ ฟังสบายๆ จะจืดกว่านักกีตาร์แดนแซมบ้าด้วยกันคนอื่นๆ ที่เอาเพลงของเขาไปทำซ้ำ ที่น่าหามาฟังก็มี Baden Powell เล่นอยู่หลายชุด ตั้งแต่หนุ่ม Tristeza on Guitar (1966) มาจนสูงวัย "Baden Live a Bruxelles" (2005) บราซิเลียนผิวหมึกผู้ไม่ประสาตัวโน้ต Bola Sete แต่เล่นได้กินใจมาก "At the Monterrey Jazz Festival"(1966) นักกีตาร์คลาสสิก Carlos Barbosa-Lima นำมาเรียบเรียงใหม่และตีความอย่างเป็นทางการ ระดับต้องใส่สูทเข้าไปฟังในหอดนตรี "Plays the Music of Luiz Bonfa & Cole Porter" (1984)
จากมุมมองของนักกีตาร์แจ๊สบ้าง ผมฟัง Johnny Smith ชุด "Johnny Smith" [Verve] (1967) ตั้งแต่หัดฟังแจ๊สใหม่ๆ ฟังครั้งแรกเมื่อราว 40 ปีที่แล้ว ที่บ้านเพื่อนใหม่ซิงๆของผม (คนที่เอ่ยนามตอนเริ่มเรื่องนั่นแหละ) บนชั้นสามของตึกแถวถนนราชปรารภ ใกล้สี่แยกมักกะสัน มาฟังตอนนี้ก็ยังทึ่งเหมือนเดิม ในความสละสลวยของลีลาและความสะอาดของลูกไล่นิ้วไฮสปีด เป็นอัลบั้มขึ้นหิ้งบูชาสำหรับนักกีตาร์ชุดหนึ่ง
Manha de Carnaval - Johnny Smith
Barney Kessel มาโชว์เดี่ยวแบบกล่อมใน "Solo"(1981) ของ Howard Roberts จาก "Whatever's Fair" (1966) ก็เล่นดีในจังหวะเร่งเร้าของแซมบ้า เป็นแนวทางให้รุ่นน้อง Jimmy Bruno ตามมาใน "Sleight of Hand" (1991)ด้วยลีลาเดียวกัน บรูโนเล่นคล่อง ฟังเพลิน จบไม่รู้ตัว ทีมสามสิงห์ "Guitar Trio: Paco de Lucia/John McLaughlin/Al Di Meola" (1996) มาในแนวอคุสติก แบ่งหน้าที่กันดี ไม่มีสปีดนิ้วพร่ำเพรื่อ ในซาวด์ใกล้เคียงกัน Stochelo Rosenberg ขยี้นิ้วแบบ Django Reinhardt เน้นทำนองอย่างไม่เร่งรีบใน "Caravan" (1994) ฟัง Tuck Andress เล่นใน "Reckless Precision" (1990) แล้ว เกิดคำถามว่า เขามีกี่มือ กี่นิ้วกันแน่ จึงเล่นอะไรออกมาได้มากมายเหลือเกิน Andy Summers อดีตร็อกซูเปอร์สตาร์ประกบคู่กับ Larry Coryell หัวหอกกีตาร์ฟิวชัน โดยมีนักเคาะเพอร์คัสชันจากอินเดีย Trilok Gurtu คอยเติมแต่งสีสันจังหวะ ด้วยเสียงแปลกๆบนเวทีแสดงสด "Pori Jazz" (1996) งานนี้บอกได้คำเดียวว่า แอนดี้กระดูกคนละเบอร์กับลาร์รี อนาคตจะเอาดีทางแจ๊ส ต้องเลิกคิดไปเลย
นักร้องสาวบราซิเลียน Astrud Gilberto ผู้ผันชีวิตจากแม่บ้านมาเป็นนักร้องเต็มตัว หลังแจ้งเกิดจากเพลง The Girl From Ipanema ซึ่งเป็นตัวแพร่เชื้อให้บอสซาโนวาลามระบาดไปทั่วโลกในยุคหกสิบ ร้องโชว์เสียงใสๆไร้มายาของเธอ โดยมีกีตาร์โปร่งและเบสใหญ่คลอประกอบใน "Bossa Nova: Music & Reminiscences" (1993) เวอร์ชันของ Nara Leao นักร้องสาวแซมบ้ารุ่นน้องใน "Garota De Ipanema" (2000) ก็น่าฟังในเสียงเสน่ห์ขึ้นนาสิกของเธอ นักร้องดังฝรั่งเศส Claudine Longet ร้องในแบบเซ็กซี่ของเธอใน "Look of Love" (1967) ศิลปินหญิงตำนานโฟล์กผู้ยิ่งใหญ่ Joan Baez เล่นกีตาร์คลอเสียงฮัมทำนองและเสียงร้องเนื้อปอร์ตุเกส เธอถ่ายทอดความรู้สึกได้น่าซาบซึ้งมาก ฟังแล้วขนลุก จาก "First 10 Years" (1970) นักร้องแจ๊ส เก่งแต่ไม่ดัง อย่าง Susannah McCorkle จากอัลบั้ม "Most Requested Songs" (2001) ก็น่าให้ความสนใจ ผู้ยิ่งใหญ่อย่าง Frank Sinatra ต้อนรับผลงานของบองฟาตั้งแต่ "Complete Reprise Studio Recordings" (1960) และตอกย้ำอีกครั้งในชุดดัง "My Way" (1969)
อัลบั้ม "Jazz Impressions of Black Orpheus" (1962) ของ Vince Guaraldi นักเปียโนแจ๊สนับเป็นผลงานบุกเบิกสำคัญ ที่ช่วยเผยแพร่ดนตรีบราซิล ซึ่งนักเล่นไวบ์ Cal Tjader ได้กล่าวสดุดีไว้และอุทิศเพลงให้เขาก่อนบรรเลงใน "Talkin' Verve: Roots of Acid Jazz" (1995) บอสซาโนวาทำให้คนทั่วไปรู้จักกับ Stan Getz นักเป่าเทเนอร์แซ็ก ซึ่งไม่เว้นที่จะเล่นเพลงดังนี้อยู่แล้ว ติดตามได้จาก"Big Band Bossa Nova" (1962) และ "Live in London" (2004) นักกีตาร์ Charlie Byrd คู่หูเก่าของเก็ตซ์ เล่นในชุด "Latin Byrd" (1962) แต่ฟังแล้วไม่อยากฟังซ้ำแล้วซ้ำเล่า เหมือนเวอร์ชันของนักเป่าอัลโตแซ็ก Paul Desmond ซึ่งเป่าได้หวานกลมกลืนกับเสียงกีตาร์ของ Jim Hall ใน "Complete RCA Victor Recordings" (1961) และในช่วงบั้นปลายของเขา "Paul Desmond Quartet Live" (1975) บันทึกจากการแสดงสดในคลับที่โทรอนโต ร่วมกับ Ed Bickert ยอดนักกีตาร์แจ๊สคานาดา
ขอปิดท้ายแนะนำฟังด้วย Itzhak Perlman สุดยอดฝีมือแห่งไวโอลินคลาสสิก แต่ใจชื่นชมแจ๊ส เล่นให้ฟังแบบหวานใน "Cinema Serenade" (1997) สาวไวโอลินแจ๊ส Regina Carter ผู้ได้รับการปลูกฝังทางด้านคลาสสิกมา ผสมผสานอารมณ์ดนตรีทั้งสองกับลาตินได้น่าฟังใน "Paganini: After a Dream" (2003)
"Manha de Carnaval" ในเชิงวิเคราะห์ด้านทฤษฎีดนตรี เป็นเพลงในสำเนียงไมเนอร์ คีย์ที่นิยมใช้เล่นกัน คือ A minor ประกอบด้วยท่อนทำนองหลัก 2 ท่อน แต่ละท่อนมีความยาว 16 ห้อง บวกกับท่อน tag อีก 6 ห้อง เอาไว้ปิดท้ายตอนจบ หรือใช้เกริ่นนำก่อนเข้าทำนองหลักก็ได้
วิธีการแต่งทำนองของเพลงนี้มีความเป็นตรรกะ เป็นความสุดยอดคืนสู่สามัญ ดูง่ายๆ แต่ก็ทำไม่ได้อีกเลย เป็นครั้งเดียวในชีวิตของบองฟา ตัวโน้ต 8 ตัวของทำนองประโยคแรกกับประโยคที่สอง ต่างกันเพียงแค่ตัวเดียว และผันไปเพียงครึ่งเสียง คือ โน้ตตัวที่หก เปลี่ยนจาก G sharp เป็น G natural ในวลีเพลงต่อมาก็มีลักษณะเป็น Sequence ร่นลงไปตามตำแหน่งโน้ตในสเกล พอมาถึงทำนองในท่อนที่สอง ขึ้นต้นประโยคแรกเหมือนท่อนแรก แล้วตามด้วยประโยคแปลง รับด้วย Sequence วลีทำนองใหม่ 2 ชุด แล้วสรุปอย่างสวยงาม
ลักษณะฮาร์โมนีไม่ซับซ้อน ทางเดินคอร์ดเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่แหวกออกนอกคีย์ให้สะดุ้งหู ในท่อนแรกช่วงกลางจะมีย้ายโทนัลลิตี(Tonality) ไปเป็น C Major ซึ่งเป็นรีเลทีฟเมเจอร์ (Relative Major) ของคีย์ A minor อยู่ช่วงหนึ่ง ก่อนที่จะย้ายกลับไปจบที่คีย์ A minor ส่วนในท่อนหลังก็คงไว้ในคีย์ A minor ตลอด
ของฝากสำหรับคนที่ฝึก Aural Training, Ear Training จาก "Manha de Carnaval" โน้ตสองตัวแรกของเพลงนี้ มีความสัมพันธ์ทางอินเตอร์วัลเป็นคู่เสียงหกไมเนอร์ขาขึ้น ( Ascending minor sixth interval ) ซึ่งเป็นคู่เสียงหวาน กลมกล่อม ฟังรื่นหู
(ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสาร Overdrive ฉบับที่ 89 ธันวาคม 2005)
Friday, August 21, 2009
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
ขอบคุณครับ ^^
ReplyDelete