Thursday, August 6, 2009
Lady Day
วันที่ 17 กรกฏาคม 2009 ที่เพิ่งผ่านไปหยกๆ เป็นวันครบรอบ 50 ปี ที่ Billie Holiday ได้ลาจากโลกนี้ไป แต่โลกใบนี้ไม่เคยขาดเสียงเพลงของเธอ ผมขอแสดงความคารวะต่อท่านผู้หญิงเดย์ ด้วยบทความนี้อีกครั้งหนึ่งครับ
ผมได้เขียนเกริ่นถึงความยิ่งใหญ่ของ Billie Holiday มาบ้างแล้ว คราวนี้อยากให้ไปหาผลงาน ซึ่งมีอยู่มากมายของเธอมาฟังให้ซาบซึ้ง ประกอบกับเรื่องราวชีวิตอาภัพของเธอ
"พ่อกับแม่ยังเด็กทั้งคู่ ตอนที่แต่งงานกัน เขาสิบแปด หล่อนสิบหก และฉันสาม"
เป็นประโยคนำเรื่องจากหนังสือ “Lady Sings the Blues” อันเป็นเรื่องราวอัตชีวประวัติของบิลลี่ ฮอลิเดย์ ซึ่งเธอเล่าให้ฟังว่า เกิดที่บัลติมอร์ เมื่อปี 1915 แคลเรนซ์ ฮอลิเดย์ (Clarence Holiday) ผู้พ่อมีฝีมือทางกีตาร์อยู่บ้าง เขาเคยเล่าให้เพื่อนฝูงฟังอย่างคะนองปากว่า บิลลี่เป็นผลพลอยได้ออกมาที่ไม่ได้ตั้งใจทำ เขาผละลูกเมียไปเล่นกีตาร์อยู่กับเฟล็ตเชอร์ เฮ็นเดอร์สัน (Fletcher Henderson)ที่นิวยอร์ก ปล่อยให้เซดี เฟกิน (Sadie Fagin) ต้องตากหน้าหอบหิ้วพาลูกสาว กลับไปอาศัยอยู่กับพ่อแม่ของเธอ
เอลีอานอรา (Eleanora) เปลี่ยนชื่อตัวเองเป็นบิลลี่ เอาอย่างชื่อดาราหนังบิลลี่ โดฟ (Billie Dove) ตั้งแต่ครั้งเยาว์วัย ด้วยเหตุผลสั้นๆ และง่ายๆ ว่า
"รำคาญชื่อเก่า ที่โคตรจะยาวว่ะ"
บิลลี่เริ่มลุยชีวิตรับจ้างทำความสะอาดบ้าน ขัดห้องน้ำของเพื่อนบ้าน ตั้งแต่อายุหกขวบ ในขณะที่เด็กวัยเดียวกันยังไม่รู้ประสีประสาอะไร ตลอดไปถึงเข้าไปรับใช้แม่เล้าในซ่อง เพื่อแลกกับการได้ฟังแผ่นเสียงของเบสซี สมิธ (Bessie Smith) และหลุยส์ อาร์มสตรอง(Louis Armstrong) ที่เธอติดใจยิ่งกว่าตุ๊กตาหรือของเล่นใดๆ โดนคนที่มาเช่าห้องพักในบ้านข่มขืน ตอนอายุสิบขวบ เลยถูกส่งไปทัณฑสถานสำหรับเด็กหญิง เพราะดูแล้วส่อแววออกมาว่า จะใจแตกได้อยู่เหมือนกัน จากนั้นตามแม่ไปอยู่นิวยอร์ก และถูกจับเข้าคุกด้วยข้อหาฐานค้าประเวณีอีก 4 เดือน
ย่างเข้าหน้าหนาวของปี 1932 สองแม่ลูกต้องทุกข์ทรมานกับความหิวโหย ในห้องเช่าย่านฮาร์เล็ม บิลลี่เด็กสาวผู้กร้านโลกเกินวัย กัดฟันแต่งตัวออกไปข้างนอก เดินหางานไปตามถนนสายที่เจ็ด ในคืนที่หนาวเหน็บ แวะเข้าไปของานทุกบาร์ และร้านอาหารที่ขวางหน้า จนได้ลองเต้นในคลับที่ขาดนักเต้นอยู่พอดี แต่เมื่อขึ้นไปโยกลีลาได้ไม่กี่สเต็ป เจ้าของบาร์ก็ส่ายหน้าบอกให้หยุด คนเล่นเปียโนรู้สึกสมเพทเวทนา เลยถามว่าพอร้องเพลงได้ไหม ฮอลิเดย์ผู้รักการร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ แต่ไม่เคยคิดใฝ่ฝันอยากเป็นนักร้อง รีบตอบรับ และร้อง Trav'lin' All Alone ตามด้วย Body and Soul ทำเอาแขกที่กำลังดื่มคุยกันอยู่อย่างเอ็ดอึงถึงกับหยุดเงียบกริบ หันไปดูและฟังเธอร้องเหมือนโดนมนต์สะกด บางคนถึงกับน้ำตาไหลออกมาโดยไม่รู้ตัว เมื่อเพลงจบลงพวกเขาต่างก็โยนเงินทิปให้เธอจนเต็มเกลื่อนฟลอร์ และเจ้าของบาร์รีบกรากเข้ามาว่าจ้าง ให้เป็นนักร้องประจำทันที
บิลลี่ให้รางวัลกับตัวเองด้วยแซนวิซ อาหารมื้อแรกที่ตกถึงท้องของวันนั้น และซื้อไก่ย่างสองตัวกลับบ้านไปฝากแม่ ทั้งยังมีเงินเหลือพอสำหรับจ่ายค่าเช่าห้อง ที่กำลังจะถูกขับไล่ เพราะค้างค่าเช่าอยู่ ตั้งแต่นี้ต่อไปแม่ลูกคู่นี้จะไม่มีวันที่ต้องหิวโหย อดมื้อกินมื้อกันอีกแล้ว
ข่าวคราวของเด็กสาวที่ร้องเพลงไม่เหมือนใคร กระจายออกไปปากต่อปากในหมู่นักดนตรี จนเป็นที่รู้จักของใครๆในบาร์ละแวกถนน 133 และยังระบือไปไกลถึงหูของจอห์น แฮมมอนด์(John Hammond)โปรดิวเซอร์แจ๊สคนดัง ผู้มีอายุแก่กว่าเธอเพียงแค่สามปี และกำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของอาชีพเช่นกัน เขาประทับใจในมาดการวางตัวและลีลาการเอื้อนเสียงของเธอมาก หลังจากนั้นไม่นานแฮมมอนด์ก็จัดการ ให้ฮอลิเดย์ได้เข้าอัดเสียงครั้งแรกกับวงของเบ็นนี่ กู้ดแมน(Benny Goodman) การแจ้งเกิดของเธอไม่ประสบผลสำเร็จ แต่ก็ยังไม่ละความพยายามที่จะปั้นเธอต่อไป เมื่อได้จังหวะเหมาะก็พาฮอลิเดย์เข้าห้องอัดเสียงอีกครั้งหนึ่งในปี 1935 คราวนี้ได้เลือกเฟ้นนักดนตรีแจ๊สระดับหัวกะทิมาเล่นแบ็กอัพ ภายใต้การนำของเท็ดดี้ วิลสัน(Teddy Wilson) ยอดนักเปียโนจากวงเบ็นนี่ กู้ดแมน นับตั้งแต่นั้นไปอีก 7 ปี เธอได้บันทึกผลงานสุดยอดส่วนใหญ่ในช่วงนี้ ที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถรอบตัวอันยอดเยี่ยม ในการดัดแปลงทำนอง และจังหวะของเพลงธรรมดา ให้กลายเป็นดนตรีที่แท้จริง อย่างในเพลง Time on My Hand (1940), All of Me (1941) และ I Cover the Waterfront (1941) และที่สำคัญที่สุด เธอก้าวไกลไปถึงขั้นที่จะละทิ้งทำนองเดิม ซึ่งไม่เหมาะกับตัวเอง ด้นอันใหม่ใส่เข้าไปแทน อย่างใน The Man I Love (1939), Body and Soul (1940) และ Love Me or Leave Me (1941)
ไม่มีนักร้องคนไหนที่ร้องเพลงได้เหมือนฮอลิเดย์ ในช่วงต้นๆนี้เธอจะบีบเสียงให้เล็กกว่าที่เป็นจริง ฟังคล้ายเสียงเด็กผู้หญิง ซึ่งให้ความรู้สึกเป็นกันเอง อักขระของเนื้อร้องแต่ละคำชัดเจนเหมือนพูดออกมา และปล่อยลูกคอแค่เพียงพอดีกับอารมณ์ ไม่ขาดไม่เกิน เธอมีเสียงร้องที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่เหมือนกับนักร้องบลูส์หรือแจ๊สรุ่นก่อนที่คอเพลงคุ้นเคยกัน คนที่ได้ฟังเสียงเธอครั้งแรกจะรู้สึกแปลกๆ แต่เมื่อยิ่งฟังไป ก็จะยิ่งซึ้งในความลงตัวที่สมบูรณ์ไร้จุดตำหนิ แม้จะไม่เคยผ่านการฝึกฝนในด้านการร้องเพลงตามแบบแผนมา แต่วิธีการนำเสนอของเธอ กลับเปรียบได้ดั่งเช่นนักดนตรีแจ๊สผู้ยิ่งใหญ่ ตัวฮอลิเดย์เป็นเหมือนเครื่องให้จังหวะ มีความสำนึกในลีลาแห่งบทเพลง ที่ยากจะหานักดนตรีใดมาเทียบเทียมได้ เธอจะรื้อเพลงที่จังหวะทื่อๆซ้ำซาก มาจัดเรียงใหม่ให้มีความหลากหลาย ลอยละลิ่วอย่างมีชีวิตชีวา
Bobby Tucker คนเล่นเปียโนประกอบให้ฮอลิเดย์ กล่าวว่า
"เธอมีมโนภาพแห่งลีลาจังหวะที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เท่าที่ผมเคยได้ยินมา"
ถ้าเราคนฟังเพลงได้รู้ถึงเบื้องหลัง ของการผลิตมาสเตอร์พีซเหล่านี้แล้ว ก็จะทำให้ยิ่งรู้สึกทึ่งและนับถือพวกเขามากขึ้นเป็นทวีคูณ ฮอลิเดย์และนักดนตรีทุกคน ไม่ได้มีการซักซ้อมหรือเตรียมตัวล่วงหน้ากันมาก่อนเลย พวกเขาจะได้รับแจกกระดาษโน้ต"ลีด ชีต" ของเพลงพ็อพสมัยนั้น ซึ่งบันทึกเพียงแค่เนื้อเพลง ทำนอง และคอร์ดง่ายๆ ที่หลายต่อหลายเพลงไม่มีใครเคยได้ยิน หรือรู้จักมาก่อน คนแจ๊สเหล่านี้มีหน้าที่ที่จะเนรมิตก้อนกรวดทั้งหลายเหล่านี้ ให้เป็นเพชรนิลจินดาขึ้นมา ฮอลิเดย์ร้อง และด้นไปกับเพลงใหม่ ยังกับว่าเป็นเพลงที่คุ้นเคยมานานปี
ในเดือนมกราคม 1937 ฮอลิเดย์ได้นักทรัมเป็ตบั้ค เคลย์ตัน(Buck Clayton) และเทพแห่งเทเนอร์แซ็กเลสเตอร์ ยัง(Lester Young) พร้อมทั้งทีมจังหวะจากวงเคาท์ เบซี(Count Basie) มาเสริมอารมณ์สวิงและเชิงด้นของเธอ ให้ขึ้นไปถึงขีดสูงสุดเท่าที่ดนตรีแจ๊สจะบันดาลออกมาได้ ในผลงานระดับคลาสสิกที่ต่อเนื่องกันออกมานับสิบเพลง วิลสัน, เคลย์ตัน และยัง เป็นเพื่อนร่วมงานที่ฮอลิเดย์โปรดปรานเป็นพิเศษ โดยเฉพาะกับยัง ที่เสียงแซ็กของเขาคลอเคลียไปกับเสียงร้องของเธอ เป็นคู่พิศวาททางดนตรีที่หวานชื่น ยากจะหาคู่ใดมาเทียบเคียงได้ ทั้งสองเหมือนเป็นคู่แฝดในลีลาจังหวะและสำเนียงเสียง ขณะที่เธอร้อง เขาจะด้นทำนองสวน อย่างแผ่วเบาอยู่ข้างหลัง ชื่นชมเธอ โอบกอดเธอ และเชื่อมเสียงเข้าหากัน ที่เราจะหาฟังได้ในเพลง I'll Never Be the Same, A Sailboat in the Moonlight และ Born to Love ยังขนานฉายา "เลดี้" (Lady)หรือ "เลดี้ เดย์" (Lady Day)ให้กับมาดที่สูงศักดิ์ของฮอลิเดย์ และเธอก็ขนานฉายา "เพรซ"(Pres) ซึ่งย่อมาจาก "เพรซิเดนท์" (President) ตอบแทนกลับให้เขา ที่คนในวงการเรียกตามกันจนติดปาก กลายเป็นฉายาของคนทั้งสองไปในที่สุด
ฮอลิเดย์เข้าเป็นนักร้องประจำวงเคาท์ เบซี ในปี 1937 อยู่ได้ปีหนึ่ง แล้วไปร้องกับวงอาร์ตี้ ชอว์(Artie Shaw) อีกแปดเดือน นับเป็นนักร้องผิวดำคนแรกในวงผิวขาว กับทางวงนั้นไม่มีปัญหาอะไร ทุกคนรักเธอ แต่รอบตัวเต็มไปด้วยการดูถูกกีดกันเรื่องสีผิว จนเมื่อถึงที่สุดแห่งความอดทน เธอก็ตัดสินใจออกมาเป็นศิลปินเดี่ยว ไม่สังกัดอยู่กับวงใดอีกเลย เข้าร้องประจำในคาเฟ โซไซตี้(Cafe Society) คลับแห่งแรกที่ไม่กีดกันสีผิว ย่านดาวทาวน์นิวยอร์ก ในปี 1939 บาร์นี โจเซฟซัน(Barney Josephson)เจ้าของคลับ เล่าถึงเหตุการณ์ครั้งหนึ่งว่า
"หลังจากที่เธอร้องเพลงแรกจบลง และผมเข้าใจว่า เธอคงไม่พอใจกับปฏิกิริยาของคนดู ตามปกติพวกนักร้องจะใส่ชุดยาวกัน ไม่ใส่ชุดชั้นใน และเมื่อเพลงจบ บิลลี่ก็หันหลังให้คนดู ก้มตัวลง เลิกกระโปรงขึ้น แล้วเดินจากไป"
ในช่วงนี้ฮอลิเดย์ได้สร้างผลงานดัง จนกลายเป็นสิ่งที่ผูกพันธ์กับตัวเธอเป็นพิเศษ เธอแต่ง Strange Fruit ที่ระบายความรู้สึกถึงการโดนกดขี่ข่มเหง อย่างไม่เป็นธรรมของคนดำในภาคใต้ เพลงนี้โดนสถานีวิทยุหลายแห่งแบนไม่ยอมให้ออกอากาศ แต่ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ ยิ่งทำให้เพลงดัง คนฟังเรียกร้องมาก เป็นไฮไลท์ของการแสดงไปเลย และในปี 1941 ฮอลิเดย์ประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่ จาก God Bless the Child ที่เธอแต่งเกี่ยวกับความลำบากยากแค้น ในวัยเด็กของตัวเธอเอง ซึ่งได้กลายเป็นสื่อที่ถูกใจคนหนุ่มสาวบุปผาชนแห่งปลายทศวรรษหกสิบ และเป็นเพลงอมตะที่มีคนนำเอามาร้องบรรเลงกันอยู่เสมอ ทั้งในแบบแจ๊ส พ็อพ และบลูส์
ฮอลิเดย์ทำงานอยู่แถวถนน 52 ในทศวรรษสี่สิบ จากที่นี่เองที่เธอเริ่มเหน็บผมด้วยดอกการ์ดีเนีย จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของการนำเสนอตัวเอง ที่แฟนเพลงชินตาเมื่อเห็น ฮอลิเดย์ยืนเด่นบนเวที ดีดนิ้วมือซ้ายอย่างแผ่วเบาไปกับจังหวะดนตรี ข้อศอกพับเข้าหาตัว หน้าเงยขึ้นเล็กน้อย เวลาที่ร้อง จนเกือบจะมองเห็นดนตรีหลั่งไหลออกมาจากตัวเธอ
นักร้องหญิงซิลเวีย ซีม (Sylvia Syms) อ้างว่า เธอเป็นคนนำเอาดอกไม้มาเหน็บผมให้ฮอลิเดย์ครั้งแรก เนื่องจากคืนหนึ่งฮอลิเดย์ใช้เหล็กม้วนผม จนผมของเธอไหม้แหว่งไป ก่อนได้เวลาที่จะต้องขึ้นเวทีร้องเพลงอยู่พอดี ซีมเลยวิ่งออกไปซื้อดอกการ์ดีเนียมาให้ฮอลิเดย์ ติดทับปิดบังรอยแหว่งได้ทันเวลาอย่างหวุดหวิด
ฮอลิเดย์ประสบความสำเร็จแล้ว เสียงร้องของเธอให้ความสุขแก่คนทั้งโลก ผู้คนให้การต้อนรับเธออย่างล้นหลามในทุกแห่งหน แต่สำหรับตัวฮอลิเดย์เองแล้ว เธอไม่เคยมีความสุขเลย รู้สึกอ้างว้างเดียวดายอยู่ตลอดเวลา หลังจากมารดาซึ่งเป็นบุคคลเดียวในโลกนี้ที่เธอไว้วางใจ ได้เสียชีวิตไปแล้ว เธอมีความรู้สึกว่าโลกนี้ไม่มีมิตรแท้อีกแล้ว แม้เพื่อนฝูงจะช่วยกันปลอบโยนกันอย่างไร ก็ไม่เกิดผล ฮอลิเดย์ไม่เคยไว้ใจใครอีกเลย ทางด้านชีวิตคู่ของเธอนั้น ก็มีแต่ความล้มเหลวตลอด เคยยุ่งอยู่กับนักดนตรีหลายคน แต่ก็ไม่ถึงขั้นที่จะร่วมหัวจมท้ายด้วยกัน ตอนที่เธอดังขึ้นมา ก็เจอแต่ผู้ชายประเภทที่เข้ามาเพื่อแสวงหาผลประโยชน์แทบทั้งสิ้น และนอกจากจะโดนรีดไถเกาะกินแล้ว ยังถูกซ้อม ทุบตี ทำร้ายร่างกายเป็นประจำ นับเป็นสภาพที่น่าเวทนามาก เธอเคยเล่าให้ฟังว่า
"มีคนเคยบอกฉันว่า ไม่มีใครร้องคำว่า "หิว" ได้เหมือนที่ฉันร้อง หรือคำว่า "รัก""
นั่นคงจะเป็นเพราะว่า เธอรู้ซึ้งถ่องแท้ถึงความหมายของมันจากประสบการณ์ชีวิตจริง และสามารถที่จะสื่อให้คนฟังรับรู้มีอารมณ์ร่วมกับเธอได้
ฮอลิเดย์ไม่เคยทำรายได้มหาศาลนับล้านอย่างนักร้อง หรือนายวงชื่อดังทั้งหลายที่รับกันไม่รู้เรื่อง ได้มาปีหนึ่งๆเป็นแสนเหรียญ ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่มากกว่าคนธรรมดาทั่วไปหาทั้งชีวิต เธอผลาญเงินทองที่หามาได้ไปกับยาเสพติด และยอมให้เหล่าแมงดามาปอกลอกจนหมดตัว
ต้นทศวรรษห้าสิบ เสียงที่เคยสดใสของฮอลิเดย์ จางหายไปเกือบครึ่ง ถูกความแตกพร่าจากผลของการดื่มจัด เข้ามาแทนที่ เสียงที่ไม่เคยเพี้ยน ก็เริ่มจะแกว่ง ลีลาจังหวะที่เคยพลิ้วไหว กลับกลายเป็นอืดอาด เหลือแค่เพียงอารมณ์ลึกซึ้งในบทเพลง ที่ยังคงอยู่เหมือนเก่า ไม่เปลี่ยนแปร สุขภาพก็เริ่มทรุดโทรม โดนจับเรื่องยาบ่อย พอๆกับที่พยายามจะเลิก ฐานะทางการเงินเริ่มชักหน้าไม่ถึงหลัง เงินที่หมดไปกับยาเสพติดมากเกินกว่ารายได้ ที่เพียงแค่พอยาไส้ สภาพจิตก็เลวร้ายลง ชอบแสดงอาการเกรี้ยวกราดบ่อยครั้ง จนมีผลกระทบในการทำงาน เจ้าของบาร์ต่างเอือมระอาในพฤติกรรมที่เอาแต่ใจของเธอ
ฮอลิเดย์ยังคงร้องเพลงและอัดเสียง จนวาระสุดท้ายแห่งชีวิตของเธอ งานมีเข้ามาไม่บ่อยนัก สำหรับเลดี้เดย์คนนี้ ที่เมื่อสิบปีก่อนหน้านี้ เต็มไปด้วยผู้คนห้อมหน้าห้อมหลัง บัดนี้ต้องมานั่งดื่มอย่างเดียวดาย ในอพาร์ตเมนท์เล็กๆ แถบเวสต์ไซด์ ของเกาะแมนฮัตตัน สายตาจ้องมองไปอย่างไร้จุดมุ่งหมาย บนหน้าจอทีวีที่เปิดไว้เป็นเพื่อน เวลาแต่ละราตรีกว่าจะคืบคลานผ่านพ้นไปได้ รู้สึกเนิ่นนานไม่มีสิ้นสุด เธอเหนื่อยล้าเหลือเกินกับชีวิตที่ผ่านมา และวาระสุดท้ายแห่งชีวิตคืบคลานใกล้เข้ามาทุกขณะ
ฮอลิเดย์ไปร่วมพิธีศพของเลสเตอร์ ยัง ผู้รู้ใจเธอยิ่งกว่าใครๆ ในเชิงดนตรี ในเดือนมีนาคม 1959 ต่อจากนั้นไม่นานนัก เธอหมดสติไปในห้องพัก และถูกนำส่งโรงพยาบาล หลังจากการแสดงครั้งสุดท้ายของเธอในเดือนพฤษภาคม นอนป่วยอยู่ประมาณ 10 อาทิตย์ จนกระทั่งวันที่ 17 กรกฎาคม 1959 ชีวิตระทมของบิลลี่ ฮอลิเดย์ ก็หมดเวรหมดกรรมสู่สุคติ
(ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสาร Overdrive ฉบับที่ 70 เมษายน 2004)
Labels:
Jazz
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
อ่านเมื่อวาน เศร้าถึงเช้าเลยครับ ...
ReplyDelete