Wednesday, August 12, 2009

John Lee Hooker




จอห์น ลี ฮูเคอร์ ตำนานบลูส์บทหนึ่ง ผู้จากไปจากเราเมื่อไม่นานนัก เขาทิ้งมรดกดนตรีบลูส์อันเปี่ยมด้วยพลังบูกี้ ที่เร่งเร้าอารมณ์ให้คึกคัก ซึ่งใครๆยกย่องให้เขาเป็นบิดาแห่งสไตล์นี้

จอห์น ลี ฮูเคอร์โลดแล่นอยู่ในวงการบลูส์เกือบเจ็ดทศวรรษ ในช่วงเวลาเหล่านั้น มีทั้งเสี้ยวแห่งความสำเร็จที่พุ่งขึ้นสู่ยอดภูเขา และคราตกต่ำดิ่งลงสู่ก้นเหวลึก แต่เขาก็ยังยืนยันในความเป็นตัวของตัวเอง ผลิตผลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งหมดกว่า 100 อัลบั้ม โดยที่งานทุกชิ้นยังคงรักษาความดิบแห่งอารมณ์เพลง อย่างมั่นคงเหนียวแน่น ไม่ยอมขัดเกลา หรือเอาขึ้นเตาปิ้งย่างให้มันสุก ตามกระแสความต้องการของตลาด ที่ผันผวนเรื่อยไปไม่มีสิ้นสุด แม้บางครั้งจะยอมเออออปรับตัวไปบ้าง แต่ก็จะต้องเป็นสิ่งที่ไม่ถึงกับเอาจิตวิญญาณแห่งความเป็นจอห์น ลี ฮูเคอร์ เข้าไปแลก

จอห์น ลี ฮูเคอร์ เกิดใกล้กับเมืองคลาร์คสเดล รัฐมิสซิสซิปปี ไม่ห่างจากบ้านเกิดของ Muddy Waters ศิลปินบลูส์ผู้ยิ่งใหญ่อีกคนหนึ่งเท่าใดนัก เมื่อ 17 สิงหาคม 1917 เขาเป็นลูกของคนงานไร่ฝ้าย วิล มัวร์(Will Moore)ผู้พ่อเลี้ยง เป็นนักกีตาร์ฝีมือดีประจำหมู่บ้าน ที่ครูเพลงอย่างชาร์ลี แพททัน (Charlie Patton), ไบลด์ เบลค(Blind Blake) และไบลด์ เลมอน เจ็ฟเฟอร์สัน( Blind Lemon Jefferson) เรียกตัวไปช่วยงานอยู่เสมอ เมื่อพวกท่านข้ามเขตมารับงานแถบละแวกนี้ แต่มัวร์ผู้เติบใหญ่มาจากรัฐหลุยเซียนา ได้รับการปลูกฝังลีลาบลูส์ผิดแผกแตกต่างไปจากทางแถบเดลต้า ที่เขาไปทำมาหากิน คือ แนวกีตาร์นั้นจะเล่นย้ำอยู่คอร์ดเดียว ให้เสียงกระหึ่มต่อเนื่องอยู่อย่างไม่ขาดสาย มุ่งหมายที่จะโน้มน้าวสะกดจิตและอารมณ์ของคนฟังให้คล้อยตามไป จนจมลึกอยู่ภายใต้ภวังค์แห่งเสียงเพลง มีการเน้นลูกตอดด้วยการดีดกระแทกลงบนสายเล็กของกีตาร์เป็นครั้งคราว ลักษณะการร้องก็จะเป็นไปในแบบแหล่ด้นไปเรื่อยๆ

“สไตล์ของผมมาจากพ่อเลี้ยง สไตล์ที่ผมเล่นอยู่ ก็คือ สไตล์ที่เขาเล่นมาก่อนแล้ว”

ฮูเคอร์เล่าถึงที่มาของวิธีการเล่นกีตาร์ที่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใครของเขา บวกเข้ากับเสียงร้องทุ้มลุ่มลึกอันหนักแน่น กระเดียดมาทางเดลต้า ซึ่งบางครั้งมีส่วนคล้ายคลึงกับแก้วเสียงของมัดดี้ วอเตอร์ ผู้เคยเปรียบเปรยน้ำเสียงของฮูเคอร์ว่า เป็นที่สุดแห่งความลึกในบรรดานักร้องบลูส์ทั้งหมด ประสบการณ์ในวัยเด็กของฮูเคอร์ที่เหมือนกับวอเตอร์ คือ เคยเป็นเด็กร้องเพลงสวดในโบสถ์มาก่อน จนกระทั่งอายุ 14 ปี ที่เขาหนีออกจากบ้านไป

“ผมมีทางเลือกอยู่สองทาง ทางหนึ่ง อยู่ที่นั่นกับม้า หมู วัว ควาย และทำงานในฟาร์มไป ผมรู้สึกตั้งแต่เด็กแล้วว่า นั่นไม่ใช่ทางของผม ผมต้องการเป็นนักดนตรี ผมผิดแผกไปจากเด็กอื่นทั้งหมดโดยสิ้นเชิง”


ในช่วงทศวรรษสามสิบ เด็กชายฮูเคอร์ทำงานเป็นเด็กเดินตั๋วในโรงหนังที่เมมฟิส เมื่อมีเวลาว่างก็จะไปนั่งเล่นกีตาร์แถวหัวมุมข้างถนน แลกกับเศษเงินของผู้คนที่สัญจรไปมา ขนาบข้างกับโรเบอร์ต ไนท์ฮอว์ค(Robert Nighthawk) ผู้ซึ่งต่อมาเป็นศิลปินบลูส์มีระดับคนหนึ่ง ได้เล่นดนตรีตามงานปาร์ตี้ที่จัดตามบ้านเป็นครั้งคราว ช่วงนี้ยังอยู่ในระยะฝึกปรือฝีมือ และใจก็ยังไม่ได้คิดที่จะยึดการเล่นดนตรีเป็นอาชีพเท่าใดนัก

ฮูเคอร์ย้ายขึ้นไปทางเหนืออยู่กับญาติที่ซินซิเนติอยู่พักหนึ่ง ก่อนที่จะขยับไปถึงดีทรอยต์ ซึ่งมีช่องทางทำมาหากินดีกว่า ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ปี 1943 เขาได้ทำงานในโรงงานประกอบรถยนต์ ดนตรียังคงเป็นงานอดิเรกที่เล่นตามบ้านในวันหยุดสุดสัปดาห์ บางครั้งก็ไปขอเล่นกับวงตามบาร์อยู่บ้าง แนวการเล่นกีตาร์ของฮูเคอร์ก้าวมาถึงจุดเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ เมื่อเขาได้ชมการแสดงของที-โบน วอล์เกอร์ (T-Bone Walker) นั่นเป็นครั้งแรกในชีวิต ที่เขาได้ฟังบลูส์เล่นกับกีตาร์ไฟฟ้า เขาได้มีโอกาสสนิทสนมกับวอล์เกอร์ ซึ่งประทับใจในฝีมือของฮูเคอร์เช่นกัน จนถึงกับยกกีตาร์ไฟฟ้า Epiphone ให้ตัวหนึ่ง



ได้พลังเสียงของกีตาร์ไฟฟ้ามาเสริมความเร้าใจให้มันกว่าเดิม มีส่วนช่วยขับส่งให้ฮูเคอร์ขยับขึ้นมาเป็นบลูส์แถวหน้าของเมืองดีทรอยต์ แต่ก็ยังไม่ถึงกับดังมาก จนกระทั่งคืนหนึ่งในปี 1948 เจ้าของร้านแผ่นเสียงนายหนึ่งได้ฟังฮูเคอร์เล่นที่ตามบ้านแห่งหนึ่งโดยบังเอิญ รู้สึกชอบใจในฝีมือ จึงได้พาเขาไปพบกับเบอร์นี แบสแมน (Bernie Bessman) ยี่ปั๊วขายแผ่นเสียงประจำถิ่น ผู้กำลังมองหาช่องทางที่จะทำอะไรกับตลาดเพลงคนดำที่เปิดกว้างอยู่ เขามองเห็นแววดาราในตัวฮูเคอร์ รีบจัดการพาเข้าห้องอัดเสียง บันทึกเสียงครั้งแรกเพียงแค่สองเพลง สำหรับแผ่นซิงเกิ้ลแรก ด้านหน้าเป็นเพลง Sally Mae และด้านหลัง Boogie Chillen เพลงจังวะบูกี้เร้าใจ ดัดแปลงมาจากเพลงคุ้นหูตั้งแต่เด็ก ที่พ่อเลี้ยงเคยเล่นให้ฟัง เพลงนี้ประสบความสำเร็จมากในระดับท้องถิ่น ต่อมาแบสแมนได้ขายสิทธิให้กับบริษัทโมเดอร์นของบิฮาริส ซึ่งนำไปโปรโมตต่อในระดับประเทศ พอช่วงต้นปี 1949 เพลงBoogie Chillen ก็ไต่ขึ้นสู่อันดับหนึ่งในแนว R&B

“ไอ้หนูเอ๊ย เพลงนี้มันดังระเบิดจริงๆ ไปที่ไหนๆ ก็ได้ยินแต่เสียงคนเปิด “Boogie Chillen” ทุกแห่ง”

Boogie Chillen เป็นหนึ่งในเพลงสุดฮิตแห่งยุคนั้น และยังเป็นเพลงต้นแบบให้คนอื่นลอกเลียนแบบมากที่สุดเพลงหนึ่ง ห้าปีต่อมา จูเนียร์ ปาร์เกอร์ เอาไปแปลงเป็นเพลง “Feeling Good” ของเขา สิบห้าปีหลังจากนั้น วง Canned Heat ก็เอาลูกกีตาร์บูกี้อันเดิมนี้ เล่นผ่านแอมป์ เล่นเสียงดังเต็มที่ กลายเป็นส่วนหนึ่งของเพลงร็อกมาตรฐานตั้งแต่นั้นมา






“แต่ก่อนนี้ เขาเรียกกันว่า บูกี้ วูกี้ ผมเอามาแปลงใหม่เป็นบูกี้ เฉยๆ ไม่เปลี่ยนคอร์ด ใช้กลองกับเบสเล่นจังหวะเร้าหนักๆ แล้วทุกคนก็เหิรไปด้วยกัน”

ฮูเคอร์ยังคงทำงานหลักเลี้ยงชีพ ด้วยการเป็นภารโรงในโรงงานอยู่อีกระยะหนึ่ง ก่อนที่จะโดดเข้ามาเป็นนักดนตรีอาชีพเต็มตัว เมื่อมั่นใจว่าสามารถหารายได้เลี้ยงตัวได้แน่กับการร้องรำทำเพลง Bernie Bessman เป็นผู้จัดการที่แฟร์ เขาจ่ายเงินล่วงหน้าถึงหนึ่งพันเหรียญให้กับฮูเคอร์ สำหรับการอัดเสียง เขาจัดจำหน่ายมาสเตอร์เทปไปยังบริษัทแผ่นเสียงเล็กๆหลายแห่ง ภายใต้นามแฝงสารพัดชื่อ เป็นต้นว่า Texas Slim, Delta John, The Boogie Man, Birmingham Sam and his Magic Guitar และชื่อที่ใกล้ตัวมากอย่าง John Lee Booker แต่เพลงหัวกะทิทั้งหลายที่ขายดี ยังอยู่ภายใต้การจัดการของโมเดอร์น ช่วงระหว่างปี 1949-51 ฮูเคอร์มีเพลงฮิตตามมาหลายเพลงอย่าง Hobo Blues, Crawling King Snake Blues และ I’m In The Mood ซึ่งจุดเด่นของเพลงนี้คือเสียงก้อง ที่เกิดจากการร้องเข้าไปในไมค์ที่วางอยู่ในคอห่านของโถส้วม และเสียงเคาะเท้าลงบนแผ่นไม้อัดของฮูเคอร์



ผลงานยุคแรกๆของฮูเคอร์ มาในแบบศิลปินเดี่ยวจริงๆ เสียงร้องของเขาจะมีเพียงกีตาร์ไฟฟ้า ที่เขาใช้ดีดคลอ และเสียงเคาะเท้าให้จังหวะเท่านั้น ต่อมาจึงค่อยเพิ่มเครื่องดนตรีอื่น อย่างฮาร์โมนิก้า, เปียโน, กีตาร์มือสองเข้ามาผสม และบางครั้งก็มีกลองมาร่วมเล่นบ้าง จนล่วงมาถึงกลางทศวรรษห้าสิบ เมื่อย้ายสังกัดไปอยู่กับค่าย Vee Jay จึงเริ่มอัดเสียงกับวง แม้จะไม่มีทีมไหนจะเล่นได้กลมกลืน เข้ากับสไตล์ของเขาได้ดี แต่ก็ยังสามารถผลิตเพลงฮิต Boom Boom ออกมาในปี 1962 วงร็อกทั้งในอเมริกาและอังกฤษ นำเอาเพลงนี้ไปเล่นอยู่อย่างไม่ยอมเลิกราอยู่หลายปี โดยเฉพาะคณะ The Animals และ The Rolling Stones ที่เอาแนวเพลงของฮูเคอร์หลายเพลงไปแปลงเป็นของตัวเอง จนกลายเป็นร็อกคลาสสิกไป

เมื่อถึงยุคบูมของเพลงโฟล์ค ฮูเคอร์ก็โดนปรับตัวเป็นศิลปินโฟล์คบลูส์ไปตามยุค ซึ่งเป็นเรื่องง่ายดายมากสำหรับเขา เพียงแค่เปลี่ยนจากกีตาร์ไฟฟ้าไปเล่นกีตาร์โปร่ง ก็กลายโฉมแล้ว เขามีผลงานอคุสติกต่อเนื่องอยู่หลายชุด จนเป็นที่รู้จักกันดีในกลุ่มนักศึกษายุคแสวงหา นำพาสู่เวทีแสดงที่ Newport Folk Festival ในปี 1960-1963 และยังได้ร่วมทีมนี้ไปตะเวนยุโรปเป็นครั้งแรก ในปี 1962 ฮูเคอร์รู้สึกงงๆเหมือนฝันไป ที่กลายเป็นศิลปินดังอย่างไม่คาดคิด แฟนเพลงทางโน้นรู้จักเขาเป็นอย่างดี อีกทั้งยังได้รับการยกย่องบูชาจากเหล่านักดนตรี อย่างวง The Yardbirds, The Animals และ Them ซึ่งนำทีมโดยนักร้องหนุ่ม Van Morrison การได้ไปโชว์ตัว ทำให้ยิ่งดังมากขึ้น หลังจากนั้น ฮูเคอร์ได้กลับไปเยือนยุโรปอีกหลายครั้งในช่วงทศวรรษหกสิบ

ในปี 1970 ฮูเคอร์มีอันต้องแยกทางกับ Maudie Mathis เมียคนที่สาม ซึ่งร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาถึง 25 ปี และมีลูกด้วยกัน 7 คน เขาตัดสินใจย้ายออกจากดีทรอยต์ หนีบรรยากาศเดิมๆ ชวนให้คิดถึงความหลัง ไปตั้งรกรากใหม่อยู่ที่โอ๊คแลนด์ ทางคาลิฟอร์เนียเหนือ แถบเบย์แอเรีย ใกล้ซาน ฟรานซิสโก ที่พวกนักดนตรีบลูส์ย้ายถิ่นไปตั้งรกรากใหม่กันมาก อย่าง Carlos Santana, Mike Bloomfield, Elvin Bishop, Charlie Musselwhite และ Luther Tucker เขายังได้ไปคุ้นเคยกับ Bob Hite และ Al Wilson แห่งวง Canned Heat แฟนพันธุ์แท้แนวบูกี้ของฮูเคอร์ พวกเขาฝึกปรือกันจนช่ำชอง เป็นวงเก่งเชี่ยวชาญเฉพาะทางบูกี้ที่ไม่มีใครทาบ ศิษย์และครูได้ร่วมกันผลิตผลงาน Hooker ‘N’ Heat ซึ่งได้รับการตอบสนองอย่างดีจากแฟนเพลง เป็นอัลบั้มขายดีแห่งยุคเซเวนตี้ของฮูเคอร์ และเขาก็ยังตั้งวงเฉพาะกิจเวลาจะออกเดินสาย The Coast To Coast Band โดยรวบรวมตามตัวหานักดนตรีเอาจากแถวใกล้บ้าน ใครที่ว่างก็ชวนไปทัวร์กัน ฮูเคอร์ยังหากินของแกไปได้เรื่อยๆ ด้วยคนที่ชอบบูกี้นั้นยังมีอยู่ไม่น้อย ในปี 1982 ไปร่วมทัวร์อังกฤษกับBobby Bland และ B.B. King ก็ประสบความสำเร็จมาก แต่สถานการณ์โดยทั่วไปของเขาในช่วงทศวรรษแปดสิบนั้น นับเป็นยุคถดถอย กระแสความนิยมบลูส์จางลงไปมาก แม้เขาจะยังขยันออกทัวร์และสร้างงานใหม่ๆอยู่ไม่ขาดสายก็ตาม

และแล้วฮูเคอร์ก็มาถูกหวยกับ The Healer(1989) ที่ได้ทั้งเงินและกล่อง ตอนเขาอายุ 72 ปี อันเป็นวัยที่เลยวันเกษียณมากว่าสิบปี ของคนปกติทั่วไป แต่ศิลปินบลูส์รุ่นปู่ผู้นี้ ยังไม่มีโอกาสที่จะใช้ชีวิตอันสงบราบเรียบ ดุจเช่นคนชราในวัยเดียวกัน วันเวลาของเขาเต็มไปด้วยกิจกรรมมากมาย นับตั้งแต่การรับเชิญไปปรากฎตัวในรายการทีวี ไปจนถึงรายการคอนเสิร์ตที่จัดขึ้นเพื่อเทิดทูนเกียรติคุณให้กับเขาโดยเฉพาะ

“อายุปูนนี้แล้ว ผมดังยิ่งกว่าที่เคยดังมาตั้งนานซะอีก”

The Healer ทำให้จอห์น ลี ฮูเคอร์ กลับมาดังอย่างที่ไม่มีใครคาดคิด ด้วยยอดขายเกินกว่าล้านชุด และยังคว้ารางวัลแกรมมี่ประเภทเทรดิชั่นบลูส์ยอดเยี่ยม จากเพลง I’m In The Mood ที่เขาร้องคู่กับ Bonnie Raitt ศิลปินสาวใหญ่ผู้กลับมาประสบความสำเร็จอย่างมากเช่นกัน เธอได้รับรางวัลแกรมมี่ถึง 3 รางวัล จากชุด Nicks of Time และแถมตบท้ายอีกหนึ่งรางวัล จากผลงานร่วมกับฮูเคอร์

ผู้อยู่เบื้องหลังการคัมแบ็กครั้งนี้ ที่ไม่ควรมองข้าม คือ Roy Rogers นักกีตาร์สไลด์ฝีมือฉกาจ ผู้เล่นอยู่กับฮูเคอร์มานานปี เป็นผู้ดูแลการผลิต เขาเล็งเห็นถึงจุดที่จะทำให้อัลบั้มนี้ขาย ด้วยการใช้ศิลปินดังมาล่อเข้าหาบลูส์พร่ำบ่นของฮูเคอร์ เหล่าศิลปินรับเชิญ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากฮูเคอร์ไปสร้างชื่อจนโด่งดังให้กับตัวเอง ต่างก็รีบมาทดแทนบุญคุณกันอย่างเต็มใจ คุณปู่พูดถึงเด็กเหล่านี้ด้วยความตื้นตัน ว่า

“พวกเขากระตือรือร้นที่จะทำ ก็เพื่อนๆกันทั้งนั้นแหละ พวกเขาชื่นชมผม ผมก็ชื่นชมพวกเขา ก็เลยทำให้มันเกิดขึ้นมาได้”

Carlos Santana ผู้เคารพรักในผลงานและมีความสนิทสนมส่วนตัวเป็นพิเศษ มาร่วมเล่นในเพลงหนึ่ง หน้าหนึ่ง The Healer ในแนวลาตินร็อกที่เขาถนัด Robert Cray มาเติมสีสันให้ Baby Love มีจริตจะก้านมากขึ้น และวง Canned Heat ที่เกิดมาได้เพราะเพลงของฮูเคอร์โดยแท้ ก็มาบูกี้ร่วมกับอาจารย์ของพวกเขาอีกวาระใน Cutting Out นอกจากนี้ยังมีวง Los Lobos นักเป่าฮาร์โมนิก้า Charlie Musselwhite และดาราร็อกบลูส์ George Thorogood ก็มาร่วมลงมือด้วย

บอนนี เรท มาร่วมคารวะด้วยฝีมือกีตาร์สไลด์ที่เฉียบคม และร้องออเซาะโต้ตอบกับฮูเคอร์ ใน I’m In The Mood

“รู้สึกตื่นเต้นที่ได้ร่วมงานกับคนที่ฉันรักมากอย่างจอห์น ลี เขาเป็นหนึ่งในรุ่นสุดท้ายที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างมิสซิสซิปปี เดลต้า กับบลูส์เมืองสมัยใหม่ ที่ยังมีชีวิตอยู่ นอกจากนั้นมันยังเป็นบทพิศวาสทางดนตรีที่เร่าร้อนที่สุด เท่าที่ฉันเคยมีส่วนร่วมเกี่ยวข้องมา”







ครับ! เสียงพร่ำหาคู่ของฮูเคอร์ ที่เร่งเร้าอารมณ์ให้หวั่นไหว ไม่ใช่จะมีแค่ในบทเพลงของเขาเท่านั้น ตัวจริงของแกก็ไม่เบาน่าดูเลย ผมเคยดูแกที่คลับแถวฮาร์วาร์ด สแควร์ ใกล้มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ช่วงต้นทศวรรษแปดสิบ เห็นแกยืนคุยอยู่กับสาวสวยผมทองก่อนเวลาโชว์ ผมรีบปรี่เข้าไปขอลายเซ็น ด้วยความที่ชื่นชมผลงานกันมานานแล้ว คุณปู่ฮูเคอร์บอกให้รอก่อน แล้วหันกลับไปคั่วสาวต่ออย่างไม่สนใจ หลังจากนั้นก็เดินเข้าไปร่วมโต๊ะที่กลุ่มสาวๆนั่งกันอยู่เต็ม จนถึงเวลาขึ้นทำการแสดง พอเล่นจบก็รีบหิ้วแหม่มสาวสวยหายวับไปเลย

สมกับเป็นบูกี้ แมน จริงๆ !

I’m In The Mood ทำให้ชื่อของฮูเคอร์ได้รับการบันทึกโดย Guinness Book of Records ว่าเป็นศิลปินอายุมากที่สุด ผู้มีผลงานติดอันดับท็อปไฟฟ์ พอดังขึ้นมาอีก ใครๆก็อยากเอาเข้าสังกัด ค่าย Point Blank รีบคว้าตัวไป โดยยังคงให้รอย โรเจอร์ ทำหน้าที่โปรดิวเซอร์ ผลิตงานสูตรเดิม Mr. Lucky (1991) เชิญบลูส์เก๋าอย่าง Albert Collins, Jimmy Johnson, Ry Cooder, John Hammond Jr., Johnny Winter, Keith Richards และ Van Morrison มาสมทบดาราหน้าเดิมอย่าง Carlos Santana และ Robert Cray ซึ่งก็ยังประสบความสำเร็จในเชิงพาณิชย์อย่างน่าพอใจ ทำให้เกิดอาการได้ใจ ปั่นเอา Boom Boom(1992) ตามมาดูดเงินในกระเป๋าแฟนเพลงอีกครั้ง และยังมี Chill Out(1995) อัลบั้มฉลองอายุครบ 75 ปีของเขา ก่อนที่จะส่งท้ายโปรเจคท์รวมดาวกับ Don’t Look Back(1997) ซึ่งคว้าสองรางวัลแกรมมี่ไปครองในสาขา Best Traditional Blues Album และ Best Pop Collaboration ร่วมกับ Van Morrison ผู้เป็นโปรดิวเซอร์ของชุดนี้ด้วย


แม้จะยังคงผลิตสร้างผลงานออกมาบ้าง จอห์น ลี ฮูเคอร์ได้ปลดระวางตัวเองจากการเดินสายตะเวนแสดงไปตามเมืองต่างๆ ตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษเก้าสิบ คงเหลือเพียงแค่การโชว์ตัวบ้างเป็นครั้งคราว ซึ่งมักจะเป็นงานการกุศล หรือเป็นการเล่นในคลับเล็กๆ โดยไม่บอกให้รู้กันล่วงหน้า เขามีความสุขอยู่กับการติดตามกีฬาเบสบอลสุดโปรดอย่างคลั่งไคล้ ชอบขับรถหรูราคาแพงโฉบฉายไปมา รับงานเป็นนายแบบพรีเซนเตอร์โฆษณาให้กับกางเกงยีนและเหล้า รวมถึงการสังสรรค์เสวนากับเพื่อนฝูงและแฟนเพลง ที่แวะไปเยี่ยมเยือนถึงบ้านแถบ Los Altos และ Long Beach ซึ่งเปิดต้อนรับแขกอยู่ตลอดเวลา ชนิดหัวกระไดไม่เคยแห้ง ฮูเคอร์เปิดบาร์บลูส์ของเอง The Boom Boom Room ที่ซาน ฟรานซิสโกในปี 1997 เพื่อสนองตัณหาตัวเองในยามที่เกิดอารมณ์อยากจะเล่นขึ้นมา หรืออยากจะฟังบลูส์ ก็จะแวะไปเสพได้อย่างสะดวก

จอห์น ลี ฮูเคอร์จากโลกไปอย่างสงบ เขานอนหลับแล้วสิ้นลมไปเลย ในวันที่ 21 มิถุนายน 2001 ก่อนอายุจะครบ 84 ปี เพียงสองเดือนกับหนึ่งวัน เขามีลูก 8 คน หลานอีก 19 คน และเหลนอีกโขลงใหญ่

เขาเคยพูดไว้ว่า

“เมื่อผมตาย เขาจะฝัง”บลูส์”ไปกับผมด้วย แต่”บลูส์”จะไม่มีวันตาย”

นิตยสาร Time สรุป ได้ดีที่สุด ว่า

“จอห์น ลี ฮูเคอร์ไม่เพียงแค่ร้องเพลงบลูส์, และเขาไม่เพียงแค่เล่นดนตรีบลูส์...เขา คือ บลูส์”





(ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสาร Overdrive ฉบับที่ 60-61 มิถุนายน-กรกฎาคม 2003)

1 comment:

  1. ชอบที่แก ไม่เปลี่ยนตัวเองเลยครับ มีจุดยืนชัดเจน

    ReplyDelete