Thursday, July 9, 2009

Watermelon Man


ในปี 1963 กระแสลาตินแจ๊สถูกปลุกให้กระหึ่มลำโพงวิทยุ ไม่ว่าจะหมุนหน้าปัดหาคลื่นไปทางไหนก็หนีไม่พ้นเพลง Watermelon Man ผลงานแผ่นซิงเกิ้ลของ Mongo Santamaria นักตีกลองคองก้าจากคิวบา เพลงนี้ดังมาก จนใครๆก็ต้องเอามาเล่น และเล่นต่อเนื่องกันมา ไม่มีที่ท่าที่จะเลิกรา บ้านเราตอนนี้คนรู้จักมากขึ้น จากโฆษณาทางทีวีชิ้นหนึ่ง ที่นำเอาไปเป็นเพลงประกอบ ซึ่งทำให้คนทั่วไปรู้จักคุ้นเคยกับทำนองเพลง แต่ไม่รู้ว่าเป็นเพลงอะไร?

วงการแจ๊สวันนี้ ไม่มีใครไม่รู้จัก
Herbie Hancock ศิลปินใหญ่ผู้มีความสามารถรอบตัว ปราดเปรื่องทั้งในเชิงเปียโนแบบอคุสติก เล่นกันเพียวๆโดยไม่ต้องพึ่งพาเครื่องขยายเสียง ไม่ว่าจะเป็นการโชว์เดี่ยว เล่นคู่ หรือร่วมกับวง ไม่เกี่ยงในสไตล์ดนตรี จะเป็นฟั้งก์ แจ๊สหรือคลาสสิกก็รับได้ทั้งหมด และเขายังแบ่งใจไปฝักใฝ่ในเสียงสังเคราะห์บันดาลผ่านคีย์บอร์ด อยู่ในระดับแถวหน้าของแนวฟิวชันและอีเลคโทร แฮนคอกสลับเส้นทางดนตรีกลับไปกลับมาระหว่างแจ๊สและฟั้งก์ ด้วยความรักพี่เสียดายน้อง สร้างความหงุดหงิดให้กับแฟนเพลงพันธุ์แท้ของทั้งสองสไตล์เป็นอย่างมาก แต่สำหรับใครที่ชอบทั้งสองสไตล์เหมือนแฮนคอกก็คงสบายใจไร้ปัญหา มีแต่ได้กับได้

Herbie Hancock เป็นคนชิคาโก เกิดก่อนวันสงกรานต์หนึ่งวัน ในปี1940
พอเริ่มหัดเปียโนตอน 7 ขวบ ก็ฉายแววเก่งออกมาเลย ได้โชว์ Piano Concerto in D Major ของ Mozart ร่วมกับ Chicago Symphony เพียงอีกสี่ปีต่อมา แฮนคอกเรียนคลาสสิกเปียโนจนถึงอายุ 20 แต่ได้แบ่งใจให้กับแจ๊สตั้งแต่สมัยมัธยมปลาย ในปี 1956 เขาเข้าเรียนวิศวกรรมศาสตร์ ที่ Grinnell College รัฐไอโอวา พอเรียนจบก็กลับบ้าน ได้งานเล่นกับนักทรัมเป็ต Donald Byrd ผู้อุปการะแฮนคอกในช่วงต้น ช่วยวิ่งเต้นค่าย Blue Note จนได้อัดเสียงอัลบั้มแรก Takin' Off ในปี 1962 แฮนคอกแต่งเพลงเองทั้งหมด ได้นักทรัมเป็ตดาวรุ่ง Freddie Hubbard และ Dexter Gordon เทเนอร์แซกฝีมือเยี่ยม ผู้เพิ่งผ่านมรสุมชีวิตมาหลายลูก มาช่วยเป็นเสียงนำ มือเบส Butch Warren และมือกลอง Billy Higgins มาคุมจังหวะ

Watermelon Man เป็นเพลงเปิดอัลบั้มเล่นในลีลาฮาร์ดบ็อปของค่ายบลูโน้ต ซึ่งวางแนวทางโดยนักเปียโน Horace Silver อาจารย์ใหญ่ของสไตล์นี้ ขึ้นต้นเพลงด้วยทำนองหลักสองเที่ยว แล้วผลัดกันโซโล่คนละสองเที่ยว เริ่มจากเฟร็ดดี้ ส่งต่อให้เด็กซ์เตอร์และตามด้วยเฮอร์บี้ แล้วกลับเข้าหัวเพลงอีกสองเที่ยว เป็นอันจบ ดูแล้วพวกเขาจะเล่นกันในลักษณะไม่ได้เตรียมการล่วงหน้า พอไปเจอกันที่สตูดิโอ เฮอร์บี้คงแจกลีดชีด(Lead Sheet)ให้คนละแผ่น นัดแนะหัวเพลงท้ายเพลง คิวโซโล่ของแต่ละคน แล้วลุยกันเลย บทโซโล่ของแต่ละคนไม่โดดเด่นพิเศษ ฟังแล้วผ่านหู จะติดหูก็เฉพาะท่วงทำนองหลัก





หลังจากเสร็จงานของตัวเองไม่นานนัก มือแซ็ก Pat Patrick ชวนแฮนคอกผู้เป็นเพื่อน ให้ไปช่วยเล่นในวง Mongo Santamaria แทน Chick Corea นักเปียโนประจำวง ซึ่งอยู่ในช่วงเวลาฝึกบินเช่นเดียวกับเขา งานเล่นคืนนั้นมีแขกน้อย นักดนตรีเลยชวนกันหาเพลงมาแจมแก้เซ็ง แฮนคอกงัดเอา Watermelon Man มาร่วมกับเขาด้วย มองโกเกิดชอบใจเอาไปอัดเสียง ออกเป็นซิงเกิ้ลมาในเดือนมีนาคม ปี 1963 ใต่ขึ้นชาร์ตอย่างรวดเร็วจนติดอันดับทอปเท็น แจ้งเกิดให้กับทั้ง Mongo Santamaria และ Herbie Hancock อีกทั้งยังเป็นการเปิดศักราชยุคเฟื่องของ Latin Soul ซึ่งบางครั้งก็เรียก Popcorn หรือ Boogaloo ส่วนเพลง Watermelon Man เอง ก็ได้รับการตอบรับจากศิลปินแจ๊สเป็นอย่างดี มีการนำไปอัดเสียงกันมากมายหลายเวอร์ชัน ขึ้นทะเบียนเป็นเพลงสแตนดาร์ดไปโดยอัตโนมัติ

Watermelon Man
เวอร์ชันดังของนักคองก้า Mongo Santamaria มีความยาวเพียงแค่ 2 นาที 26 วินาที ซึ่งเหมาะกับเวลาออกอากาศทางวิทยุ Rodgers Grant เคาะเปียโนเพทเทิร์นคอร์ดขึ้นเพลงพร้อมกับแผงเครื่องเคาะ 4 ห้อง ปูทางให้ทีมเครื่องเป่าทำนองในแบบเบ่งเสียง โดยมีหางเครื่องคอยส่งเสียงแซว ฟังดูกวนๆ แต่เป็นสีสันให้ความคึกคักดี Marty Sheller นักทรัมเป็ตมือเยี่ยมแนวลาติน เริ่มโซโล่หลังจบทำนองสองเที่ยว โดยแซ็กคู่ของ Pat Patrick และ Bobby Capers เป่าริฟฟ์ตอบรับ เป็นโซโล่ชุดเดียว ที่เตรียมการมาก่อน เรียบง่าย ลงตัว ลูกสวยและติดหู จากนั้นกลับไปเล่นทำนองหนึ่งเที่ยว แล้วค่อยๆ เฝดหายไป

Poncho Sanchez
นักคองก้าหัวแถวของวันนี้ ยังคงทะนุบำรุงลีลาเดิมไว้อย่างดี ใน Conga Blue (1995) ซึ่งได้เชิญมองโก ซันตามาเรียมาร่วมแจมโชว์เดี่ยวลีลารัวคองก้าปิดท้ายเพลงด้วย แต่นักดนตรีเล่นกันคึกคักกว่า ใน Latin Soul (1999)

Herbie Hancock
หวนกลับมารีไซเคิล Watermelon Man อีกครั้งในปี 1973 ด้วย Head Hunters (1973) เขาตั้งโจทย์ถามตัวเอง ว่าทำอย่างไรถึงจะฟั้งก์ เมื่อได้ข้อสรุปว่า น่าจะอยู่ที่ตัวคุมจังหวะ จึงจัดการจ้างมือเบส Paul Jackson Jr. และมือกลอง Harvey Mason, Sr. คนแจ๊สรุ่นใหม่ที่โตมากับฟั้งก์ มาสมทบกับ Bennie Maupin นักเป่าแซ็กจากทีมเก่า และนักเคาะเพอร์คัสชัน Bill Summers พอแก้ปัญหาถูกจุด ก็แจ็กพอตได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำแผ่นแรกของแจ๊สทันที ซึ่งเผลอแพล่บเดียว เวลาผ่านไปกว่า 30 ปีแล้ว แต่เมื่อมาฟังทบทวนใหม่ตอนที่เขียนนี้ ยังได้ความสด ใหม่ เป็นบรรทัดฐานสำหรับเวอร์ชันหลังที่ตามมา อย่างของราชาออร์แกน Jimmy Smith บุกเบิกเสียง Hammond B-3 ให้เป็นที่ยอมรับในสังคมแจ๊สตั้งแต่ทศวรรษห้าสิบ ก่อนที่ลูกวงส่วนใหญ่ใน Damn! (1995) จะเกิดเสียอีก สมิธเคี้ยววอเตอร์เมลอน แมนเล่นเป็นขนมหวาน ด้วยสำเนียงบลูส์ที่อยู่ในสายเลือด แล้วส่งต่อให้ Mark Whitfield ซึ่งฟังแล้วนึกว่าเป็น George Benson คนเล่นคีย์บอร์ดควรเสาะหาเวอร์ชันนี้มาฟังครับ และฟั้งก์เข้าทางวง Fourplay ใน 30 Years of Montreux Jazz Festival (2000) David Benoit นักเปียโนรุ่นใหญ่ของ Crossover Jazz ตีความมาในแบบ Acid Jazz ให้แฟนๆเขาโยกไปกับดริ๊งในมือ ไม่ต้องคิดมาก จากชุด Right Here, Right Now (2003)





นักดนตรีบลูส์ก็นิยมเอา
Watermelon Man มาเล่นเป็นเพลงโชว์ ในแบบมันๆเร้าใจ ปลุกความฮึกเหิมให้กับแฟนบลูส์ในบรรยากาศเล่นสด Albert King เล่นทีไรก็สะใจมันหยดทุกที หาฟังได้จากชุดเด็ด Live Wire/Blues Power (1968) และ Blues at Sunset (1973) และ Albert Live (1979) แล้วลองเปรียบเทียบกับ Buddy Guy ในชุด Hold That Plane (1972) หรือชุด H.R. Is a Dirty Guitar Player (1963) โดยนักกีตาร์แจ๊ส Howard Roberts ถ้าเกิดสงสัยว่าเล่นในแบบโซลจะออกมาเป็นยังไง ก็ต้องฟังเวอร์ชันของเจ้าพ่อโซล James Brown ผมต้องขออภัย ไม่รู้เหมือนกันว่า มาจากอัลบั้มชุดไหน เพลงที่มีอยู่ก็ไม่ได้ให้รายละเอียดไว้ Les McCann นักเปียโนแนวโซลแจ๊ส นำมาเสนอใน Talkin' Verve (1998) ด้วยแนวที่เขาถนัด และ Sly & the Family Stone มาโขยกในแนว R&B ชุด Big Funked Up Hits (2000) มือเปียโนผู้ถนัดเชิงลาติน Michel Camilo มาให้แปลกใจเล็กๆ ด้วยลีลาฮาร์ดบ็อป ใน Thru My Eyes (1996)

Jon Hendricks
ศิลปินแจ๊สแนว Vocalese คนสำคัญ หนึ่งในสมาชิกวง Lambert, Hendricks and Ross ต้นแบบของ The Manhattan Transfer ที่คอแจ๊สวันนี้รู้จักดี Vocalese คือสไตล์แจ๊สที่เอาบทโซโล่เด่นดังของเพลงแจ๊ส มาใส่เนื้อร้อง Jon Hendricks ถอดทำนองและโซโล่เวอร์ชันของมองโก ซันตามาเรีย ให้เราฟังในอัลบั้ม ... In Person at the Trident (1963) และยกทีม Lambert, Hendricks & Bavan ขึ้นเวทีใหญ่ At Newport '63 (1963) ร่วมกับสองศิลปินใหญ่ Clark Terry และ Coleman Hawkins ส่วนนักร้องหญิง Dee Dee Bridgewater ผู้กำลังก้าวขึ้นเป็นเป็นรุ่นใหญ่ มาร้องลีลาฟั้งก์แบบของแฮนคอกใน Jazz a Saint Germain (1998) ถ้าบังเอิญไปได้ยิน Oscar Brown, Jr. ร้อง Watermelon Man ใน Sin & Soul...And Then Some (1960) แล้วรู้สึกว่า เป็นคนละเพลงเดียวกัน ก็ไม่ผิดครับ ของคุณออสการ์ เขาใช้ชื่อนี้มาก่อน


ในเชิงวิเคราะห์สำหรับนักศึกษาดนตรี Watermelon Man เป็นเพลงบลูส์ 16 ห้อง ซึ่งแตกต่างจากฟอร์มเพลงบลูส์ทั่วไปในช่วงท้ายเพลง เทียบกับ Basic Blues Form เราจะเห็นได้ชัดว่า 10 ห้องแรกนั้นยังรักษารูปแบบทางคอร์ดอย่างเคร่งครัด จะผิดเพี้ยนออกไปก็เพียง 6 ห้องหลัง ซึ่งความจริงก็ไม่ได้ผิดปกติอะไรมาก เพียงแค่ชะลอตอนจบด้วยการแทรกเพิ่มเข้ามา 4 ห้อง ด้วยคอร์ดห้า(V) และคอร์ดสี่(IV) อย่างละห้อง 2 ชุด พูดให้(น่าจะ)ง่ายเข้า ตามความรู้สึกของคนเล่นดนตรี โดยปกติถ้าเราเล่นคอร์ดส่งจากคอร์ดห้าตามมาด้วยคอร์ดสี่แล้ว เป้าหมายของคอร์ดต่อไปคือ คอร์ดหนึ่ง แต่ Watermelon Man กลับยื้อหน่วงเหนี่ยว ย้อนกลับไปคอร์ดห้าอีกสองเที่ยว ก่อนที่จะยอมจอดป้าย

ในส่วนของทำนองมีประโยคทำนองหลักเพียง 2 ประโยค ซึ่งฟังติดหู ร้องติดปาก เป็นความชาญฉลาดในการบริหารตัวโน้ตได้อย่างทรงประสิทธิภาพและประหยัดของคนแต่งเพลง วิเคราะห์สเกลที่ใช้ ประมาณว่าเป็นดอเรียนโหมด (Dorian) คือ ใช้ตัวโน้ตในโหมดดอเรียนเกือบครบทั้งหมด ขาดเพียงลำดับที่สี่

สำหรับสเกลที่จะใช้โซโล่กับทางคอร์ดของเพลงนี้ ซึ่งเป็นเพลงบลูส์ เราก็ใช้สเกลบลูส์ธรรมดา (1, b3, 4, 5, b7) ที่ใช้กับเพลงร็อกทั่วไปนี่แหละ เล่นเข้ากับคอร์ดดอมิเนนท์เซเวนธ์อยู่แล้ว

ในส่วนที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของ Watermelon Man คือ สองโน้ตแรกของทำนองมีความสัมพันธ์กันเป็นคู่เสียง (Interval) ไมเนอร์เซเวนธ์ขาลง (Descending Minor Seventh) มีประโยชน์มากสำหรับการฝึกหู เป็นคู่เสียงที่หาเพลงต้นแบบยากคู่หนึ่ง เป็นของฝากสำหรับคนที่ยังฝึก Aural Training อยู่

มีโอกาสจะกลับมาเขียนเรื่องราวของเพลงสแตนดาร์ดต่อครับ


(ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสาร Overdrive ฉบับที่ 88 พฤศจิกายน 2005)

1 comment:

  1. เคยได้ยินเพลงนี้มานาน เพิ่งจะได้รู้ประวัติก็วันนี้แหละค่ะ

    อยากอ่านเรื่องเพลงสแตนดาร์ดอีกเยอะๆเลยค่ะ ชอบมากค่ะ

    ReplyDelete