.
ในการเรียนรู้สิ่งใดก็ตาม ถ้าเราได้มีผู้รู้คอยเป็นพี่เลี้ยงประกบสอนอย่างใกล้ชิด ก็จะทำให้การเรียนรู้ในสิ่งเหล่านั้นมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว และไร้ปัญหา เพราะมีคนช่วยแนะนำแก้ไขให้ ก่อนที่เราจะทำอะไรผิดๆ จนฝังลึกกลายเป็นนิสัยเสีย ที่แก้ยากในภายหลัง ในทางดนตรีก็เช่นกัน การที่เราจะเริ่มหัดเล่นเครื่องดนตรีชนิดใดก็ตาม ถ้าได้เริ่มต้นอย่างถูกต้อง ด้วยการเรียนจากครูผู้เชี่ยวชาญในเครื่องมือเหล่านั้น จะช่วยป้องกันขจัดปัญหาอันไม่พึงประสงค์ ที่จะตามมาโดยไม่รู้ตัวได้มากมายเลยทีเดียว การเล่นเครื่องดนตรีแต่ละชนิดเป็นศาสตร์ที่ละเอียดอ่อนมาก ถ้าเราหัดเล่นมาผิดวิธี และตอกย้ำความไม่ถูกต้องนั้นไปเรื่อยๆโดยไม่รู้ตัว จนติดเป็นนิสัย ก็ต้องมาเสียเวลาแก้กัน ก่อนที่จะก้าวไปข้างหน้า บางคนถึงกับหมดอนาคตทางดนตรีไปเลยก็มี แม้จะมีข้อยกเว้นสำหรับบางคน ที่ลุยเล่นมาแบบผิดๆ จนกลายเป็นมิติใหม่ของการเล่นเครื่องดนตรีชนิดนั้นไป แต่คนพันธุ์พิเศษอย่างนั้นจะมีแค่เพียงหนึ่งในร้อยล้าน หรือพันล้านคนเท่านั้น
เด็กวัยรุ่นในยุคสมัยโลกไซเบอร์ไร้พรมแดนนี้ ได้เปรียบกว่าพวกศิษย์ไม่มีครูทั้งหลายอย่างพวกผม วัยรุ่นยุคซิกตี้อย่างเทียบกันไม่ได้เลย เด็กสมัยนี้จะไม่รู้จักคำว่า ครูพักลักจำ เหมือนคนรุ่นพ่อในยุคก่อนอีกต่อไปแล้ว พวกเขาอยากจะเรียนอะไร แบบไหน จากอาจารย์ดังคนไหน ก็ไปเลือกหาหยิบซื้อ ตามสะดวก เอาแผ่นวีซีดีของอาจารย์นั้นกลับไปให้สอนถึงบ้าน อยากจะให้สอนซ้ำสักกี่เที่ยวก็ได้ โดยไม่ต้องจ่ายค่าชั่วโมงเรียนเพิ่ม แต่การเรียนวิธีนี้มีข้อจำกัดอยู่ที่ว่า อาจารย์จะเป็นฝ่ายสอนให้เราได้รับรู้อยู่ข้างเดียว ไม่เปิดโอกาสให้ซักถาม หรือมาคอยชี้แนะ แก้ไข การเล่นของเราเวลาที่ปฏิบัติไม่ถูกต้อง ดังนั้น การไปขอคำแนะนำจากคนที่มีประสบการณ์มากกว่าเรา ก็ยังเป็นความจำเป็นที่ไม่ควรมองข้ามได้เลย
เช่นเดียวกับการฝึกหูโดยการท่องเพลงจากเทปของเรา วิธีการฝึกที่ผ่านมาของเรา จะเป็นการฝึกอยู่กับเทป ใช้เทปเป็นครู การฝึกอยู่คนเดียวเดี่ยวโดดๆ บางครั้งเราอาจจะทำให้เกิดความรู้สึกไม่มั่นใจขึ้นมาได้เหมือนกัน และที่สำคัญมาก คือ เราเองจะไม่รู้ตัวว่า ที่ฝึกอยู่นั้นมันถูกต้องจริง อย่างที่เราคิดหรือเปล่า สิ่งที่เราคิดว่าทำได้แล้วนั้น บางทีอาจจะได้แค่ในระดับต้น ที่ยังต้องพัฒนาไปอีกมาก การหาคนมาตรวจสอบความถูกต้อง จึงเป็นความสำคัญอย่างยิ่ง ตัวช่วยที่ดีที่น่าจะหาได้ไม่ยากนัก คือ คู่หูผู้ร่วมฝึก หรือ ที่จะเรียกกันต่อไปนี้ว่า Partner ซึ่งถ้าเราเล่นอยู่ในวง ก็พยายามตื๊อเพื่อนร่วมวงนั่นแหละ หรือเพื่อนที่ร่วมเรียนวิชาดนตรีด้วยกันก็ยิ่งดี
การมีคู่หูมาร่วมกันฝึก จะช่วยให้เกิดความก้าวหน้าได้รวดเร็ว และได้ความถูกต้องยิ่งกว่าการฝึกด้วยตัวเอง เรากับพาร์ตเนอร์จะสลับหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบความถูกต้องของอีกคนหนึ่ง เป็นการช่วยกันทำการบ้าน คนที่ทำได้แล้ว ก็เท่ากับว่าเป็นการทบทวนเพลง ให้จดจำรู้ซึ้งยิ่งขึ้น ส่วนอีกคนที่ยังทำได้ไม่ดี ก็จะต้องพยายามฝึกให้หนักยิ่งกว่าปกติ เพราะมีคนมาช่วยชี้จุดบกพร่องที่ตัวเองมองไม่เห็น ทำให้รู้ตัวปัญหาที่จะต้องไปขจัดเป็นการบ้าน และยังมีเงื่อนไขเวลาที่กำหนดนัดหมายบังคับไว้ ว่าจะต้องไปต่อเพลงที่ยังไม่ผ่านนี้กับพาร์ตเนอร์ ผู้เริ่มเรียนมาพร้อมๆกัน ซึ่งถ้าเป็นตัวเราเองภายใต้ความกดดันแบบนี้ ก็คงไม่มีใครอยากไปแสดงความไม่พร้อมให้เสียฟอร์ม จริงมั้ยครับ
โดยทั่วไปแล้ว ศาสตร์การท่องเพลงจากเทปนี้ ถ้าเริ่มฝึกพร้อมกัน ก็เหมือนกับออกจากจุดสตาร์ทเท่ากัน เริ่มต้นนับหนึ่งใหม่เหมือนกันหมด แม้พื้นฐานทางดนตรีจะมาไม่เท่ากันก็ตาม เมื่อตอนที่ผมไปเรียนกับอาจารย์แรน เบลค นั้น เพื่อนร่วมรุ่นเดียวกันมีตั้งแต่เด็กวัยรุ่นที่เพิ่งจบจากไฮสคูลมาหมาดๆ นักดนตรีอาชีพ ครูสอนดนตรี นักศึกษาแขนงอื่น นักศึกษาวิชาดนตรี ไปจนถึงนักศึกษาปริญญาโท ที่จบปริญญาตรีทางดนตรีจากสถาบันมีชื่อเสียง มาจากที่ต่างๆหลายมุมโลก แต่ท่านอาจารย์จะถือว่า ทุกคนที่มาเข้าเรียนคอร์ส Aural Training ในแนว Third Stream นี้ อยู่ในสถานภาพของผู้เริ่มต้นนับจากหนึ่งเท่ากันหมด คือ เป็นวิชาใหม่สำหรับทุกคน
เมื่อทุกคนได้เพลงการบ้านแล้ว ในช่วงแรกที่นักศึกษายังไม่คุ้นเคยกัน อาจารย์จะช่วยแนะนำจับคู่หาพาร์ตเนอร์ให้ก่อน ระยะต่อมาก็จะมีการเปลี่ยนสลับพาร์ตเนอร์ในกลุ่มกันบ้าง คนไหนที่ทำได้ดี อาจารย์ก็จะแนะนำให้ไปช่วยเพื่อนคนที่มีปัญหา เราจะได้เรียนรู้อะไรมากมายจากการฝึกร่วมกับพาร์ตเนอร์ กว่าการฝึกแบบหัวเดียวกระเทียมลีบหลายเท่าตัวเลยทีเดียว ถ้าเราได้เจอพาร์ตเนอร์ที่เก่งกว่า ก็จะเป็นฝ่ายได้รับมากกว่าให้ หรือแม้จะฝึกกับพาร์ตเนอร์ที่อ่อนกว่าเรา ก็ยังมีสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้ได้เรียนรู้เช่นกัน
รีบหาพาร์ตเนอร์มาช่วยกันฝึกให้ได้ จะเป็นสิ่งที่ดีมากๆเลยครับ
(ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสาร Overdrive ฉบับที่ 78 มกราคม 2005)
Saturday, July 25, 2009
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
อ่านแล้วเห็นความสำคัญในการมีคู่หูในการฝึกดนตรีนะครับ
ReplyDeleteโดยเฉพาะแจ๊สนี่ บางแห่ง บางจังหวัดดูออกจะโดดเดี่ยว ต้องฝึกเล่นกับ Band-in-a-Box หรือ Backing Track อย่างเดียวดาย
สมัยเรียนที่เชียงใหม่ จะไปเล่น จะไปแจมกับใครได้เยอะแยะเลย
แต่พอกลับมาบ้านที่ขอนแก่น
แจ๊สกลายเป็นตัวประหลาดยังไงก็ไม่รู้
ขอบคุณสำหรับบทความดีๆนะครับ