Monday, July 6, 2009
First Aural Training Lesson
กลับมาประจำการที่บล็อกแล้วครับ ผมหายไปจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ตัวเก่งหลายวัน ขออภัยแฟนประจำที่เข้ามาเยี่ยมแล้ว ไม่มีบทความใหม่อัพโหลดให้อ่าน
ผมได้มีโอกาสกลับไปเยี่ยมอาจารย์ Ran Blake อีกครั้งที่บอสตัน เมื่อปลายปี 2002 ท่านยังพำนักอยู่ที่คอนโดมิเนียมหลังเดิม แถวบรูคไลน์ ซึ่งผมเคยช่วยขนของย้ายบ้านให้ท่าน เมื่อราวยี่สิบกว่าปีที่แล้ว ท่านยังคงเป็นศาสตราจารย์สติเฟื่อง ผู้สมองไม่เคยว่างเว้นจากดนตรี ยังคงเป็นครูผู้เปี่ยมไปด้วยความเมตตา คอยช่วยเหลือและห่วงใยในบรรดาศิษย์ทั้งหลาย ยังคงเป็นเพื่อนผู้เปี่ยมด้วยน้ำใจสำหรับทุกคนที่รู้จัก ยังโปรดปรานทานอาหารไทย เพื่อเพิ่มความเผ็ดร้อนให้กับชีวิต เหมือนดนตรีของท่านที่ต้องปรุงรสด้วยคู่เสียงเผ็ดหู จานโปรดพิเศษของท่าน คือ สะเต๊ะไก่ ต้มข่าไก่ และพล่ากุ้ง เผ็ดกลาง เวลาของท่านก็ยังคงรัดตัวด้วยงานต่างๆมากมาย มีเวลาจำกัดสำหรับการนัดหมายพบปะ ซึ่งเลขาฯส่วนตัวที่คณะ Contemporary Improvisation แห่ง New England Conservatory ได้ติดต่อนัดหมายให้ผมไปเจอในเวลาที่ท่านเสร็จสิ้นจากการสอน ท่านพาผมและภรรยาไปทานอาหารไทยแถวใกล้บ้าน โดนท่านต่อว่าว่ามาอยู่น้อยวันเกินไป ทำให้ได้เจอกันเพียงช่วงสั้น ได้พบปะพูดคุยและทานอาหารกันไปราวชั่วโมงกว่า ท่านก็ต้องขอตัวไปทำงานต่อ ผมได้ถามท่านว่า นอกจากตัวผมแล้ว ท่านยังมีศิษย์คนอื่นๆ ที่เป็นคนไทยอีกหรือเปล่า ท่านตอบว่า ยังไม่มีเลย ผมเลยเรียนท่านว่า ผมได้ไปเผยแพร่ถ่ายทอดแนวการฝึกหูแบบ Third Stream ที่เมืองไทยอยู่บ้างเหมือนกัน แต่แค่เจอด่านแรกก็จอดกันเสียแล้ว ถ้ามีโอกาสก็จะพยายามสอนต่อไปอีก เผื่อจะไปเจอคนที่สนใจจะเรียนรู้อย่างจริงจังบ้างในอนาคต
มาเริ่มกันเลยดีกว่าครับ ก่อนอื่นต้องเตรียมอุปกรณ์การเรียนกันก่อน อุปกรณ์การเรียนหลัก คือ เครื่องเทปคาสเส็ตต์แบบพกพา ประเภททนทานต่อการใช้งานอย่างสมบุกสมบัน รุ่นที่มีไมโครโฟนอยู่ในตัว ใช้อัดเสียงได้ด้วย เครื่องเทปนี้ควรจะลงทุนซื้อของเกรดดี ที่ใช้งานง่าย คล่องตัว ถ้ามีปุ่มบังคับกรอกลับ(rewind) ที่แตะแล้วถอยหลังได้ทีละนิด ก็จะยิ่งดีมากๆสำหรับการฝึก ซึ่งเราจะต้องใช้กรอเทปกลับกลับมาเกือบตลอดเวลาของการฝึก เฉลี่ยแล้ววันละสามถึงสี่ชั่วโมง สำหรับปีแรกของการฝึก Aural Training นี้ สำหรับใน พ.ศ.นี้ เราอาจจะใช้คอมพิวเตอร์ ที่มีโปรแกรมเล่นเพลง ซึ่งอำนวยความสะดวกยิ่งกว่าเทปก็ได้ครับ
แฟ้มหรือสมุดบันทึก เป็นส่วนประกอบสำคัญอย่างหนึ่ง เพื่อจดบันทึกการเรียนในแต่ละครั้ง และรายละเอียดต่างๆของการฝึก Log Book ที่เราใช้เป็นเหมือนไดอารี่บันทึกความก้าวหน้าในการพัฒนาหูของเรา เมื่อเราได้ผ่านการฝึกฝนไประยะหนึ่ง แล้วย้อนกลับไปอ่านบันทึกที่ต้องต่อสู้อย่างหนัก กว่าจะผ่านด่านเสียงแต่ละด่าน ทำให้เกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง ว่าเราสามารถทำสิ่งที่ไม่เคยคิดว่าจะทำได้ เพราะคิดว่าสิ่งนั้น มันจะต้องเป็นพรสวรรค์ที่พระเจ้าประทานมาให้เฉพาะบางคนเท่านั้น แต่ด้วยพรแสวงภายใต้การคุมเข้มของครูผู้เคร่งครัด ไม่ยอมปล่อยให้ผ่าน ทำให้เกิดปาฏิหาริย์ขึ้นกับหูเราได้เหมือนกัน หูเรามีคุณภาพ เกินความคาดฝัน คุ้มค่าที่สุดกับเวลาที่ทุ่มเทลงไปเลยครับ
ในขณะที่เขียนบทความนี้ ผมได้ปัดฝุ่น Log Book ของผมขึ้นมาทบทวนประกอบไปด้วย ความทรงจำเก่าๆเมื่อครั้งที่ยังเรียนอยู่กับอาจารย์แรน เบลค ผุดขึ้นมามากมาย นึกถึงความยากลำบากในการฝึก ที่ต้องนั่งขลุกฟังเทปอยู่นานนับปีเหมือนคนบ้า นึกถึงผลของพัฒนาการทางโสตที่ได้รับในเวลาต่อมา ก็ต้องขออนุญาตย้ำอีกครั้งว่า คุ้มค่าที่สุดกับเวลาที่ทุ่มเทลงไปเลยครับ
ใครก็ตามที่เล่นดนตรีแล้ว หูไม่สามารถแยกแยะความเพี้ยนของเสียงได้ คนๆนั้นก็ไม่สมควรที่จะมาเป็นนักดนตรี
ในบทเรียนแรกนี้ เมื่อกดปุ่มอัดเทปแล้ว อาจารย์แรนจะเล่นเปียโน ทำนองเพลงสั้นๆ ประมาณ 5 – 6 เพลง เพื่อเป็นการบ้านให้เราไปท่องจำมาร้องให้อาจารย์ฟังในอาทิตย์หน้า เพลงแรกที่ต้องไปท่อง B.L. จะเป็นทำนองเบส มือซ้ายของเปียโน ตอนหลังถึงรู้ว่า B.L. นั้นก็คือ Bass Line ของเพลง Don’t Explain ที่เราต้องท่องทำนองในบทเรียนแรกนี้ด้วย สี่ตัวโน้ตแรกของ B.L. ขึ้นต้นด้วย C B Ab และ G ลองเล่นโน้ตชุดนี้ ตัวละหนึ่งจังหวะ แล้วร้องตาม จะรู้สึกว่าร้องไม่คล่องปาก เพราะไปสะดุดที่ตัวโน้ต Ab ซึ่งเป็นอุปสรรคแรกของบทเรียนนี้ ปกติเราจะชินกับเสียงของชุดโน้ต C B A G มากกว่า
เพลงที่สอง Go เป็นเพลงเน้นสัดส่วนจังหวะในช่วงแรก และลงท้ายด้วยทำนองล้อกันในวลีต่างระดับเสียง ที่เราจะต้องพิชิตความเพี้ยนให้ได้
ลำดับต่อมา Left Alone ผลงานของ Mal Waldron นักเปียโนหัวก้าวหน้ายุคบุกเบิก ผู้ที่อาจารย์แรน เคยเป็นศิษย์อยู่ระยะหนึ่ง เพลงนี้หาฟังได้จากอัลบั้มชุด Far Cry ของ Eric Dolphy ที่ผิวฟลู้ตได้อย่างยอดเยี่ยมมาก ปัญหาของเพลงนี้อยู่ที่ทำนองช่วงท้ายของท่อน ที่ต้องใช้สมาธิในการแกะด้วยหูอย่างละเอียดในทุกตัวโน้ต จะมั่วผ่านไม่ได้เลย
Vanguard ผลงานของอาจารย์แรนเอง ทำนองไพเราะน่าฟัง แต่แฝงเร้นด้วยโน้ตเท่ห์ ซึ่งเกิดจากการบิดแนวทำนองพื้นๆธรรมดา ให้เพี้ยนออกไปด้วยคู่เสียงเผ็ดร้อน กลายเป็นเพลงร่วมสมัย ฟังง่าย แต่ไม่ธรรมดา ทุกตัวโน้ตของเพลงนี้จะต้องตั้งใจฟังมากขึ้น เพราะมีตัวปัญหาซ่อนอยู่ในแทบทุกประโยคเพลงเลย หาฟัง Vanguard ได้จากอัลบั้ม Rapport ของ Ran Blake เป็นเล่นคู่กับ Anthony Braxton นักเป่าเครื่องลมตระกูลแซกโซโฟนแถวหน้าของแนวฟรีแจ๊ส ซึ่งใช้โซปราโนแซกเป่าเพลงนี้
You Better Go Now ของ Robert Graham คือ เพลงสุดท้ายที่อาจารย์เล่นทำนองสำหรับการบ้าน เพลงนี้ไม่มีด่านที่เป็นขวากหนามน่ากลัวอะไรมาก เป็นเพลงให้ท่องจำเพื่อสะสมคะแนนเก็บ รวบรวมเข้าบัญชีรายชื่อเพลงในกรุเพลงส่วนตัวของเรา ตุนเอาไว้เป็นทุนสำรองสำหรับใช้งานในอนาคต
แต่การบ้านยังไม่หมดเพียงแค่นั้นนะครับ ยังมีเพลงจากชุด Billie Holiday Story (Decca) ของ Billie Holiday อีก 3 เพลงที่จะต้องไปท่อง คือ I’ll Look Around, Deep Song และ Somebody’s On My Mind
บิลลี่ ฮอลิเดย์ คือ นักร้องหญิงสุดยอดตลอดกาลคนหนึ่งของดนตรีแจ๊ส นักร้องและนักดนตรีมากมายได้รับอิทธิพลจากเสียงร้องของเธอ ทุกวันนี้เสียงร้องอมตะของบิลลี่ ฮอลิเดย์ มีวางให้เลือกซื้อมากกว่าช่วงที่เธอยังมีชีวิตอยู่เสียอีก ผลงานที่อาจารย์แรนนำมาเป็นบทท่องจำภาคบังคับ เป็นยุคขาลงของฮอลิเดย์ เธอได้ผ่านจุดสุดยอดแห่งอาชีพไปแล้ว แต่ก็ยังมีเค้าแห่งความยิ่งใหญ่เหลืออยู่ ก่อนหน้าที่จะมาเรียนกับอาจารย์แรน ผมชอบฟังบิลลี่ ฮอลิเดย์อยู่แล้ว แต่ไม่เคยฟังอย่างจริงจังขนาดเอาเป็นเอาตายเกือบทุกวันตลอดทั้งปีเหมือนตอนที่เรียน ฟังกันจนซึมซาบเข้าไปในจิตวิญญาณ เหมือนกับคนที่ไปให้เขาสักรูปอะไรลงบนผิวกาย มันก็จะติดตัวเราไปจนตายอย่างนั้น Good Morning Heartache ของ Billie Holiday เป็นหนึ่งเพลงการบ้านในบทเรียนต่อมา ซึ่งฟังไป ท่องตามไป จนมึนกันไป ถึงกับเรียกชื่อเพลงเพี้ยนกลายเป็น Good Morning Headache ไปเลย
นั่นก็เป็นบทเรียนแรกเกี่ยวกับการเรียน Aural Training ในแบบ Third Stream ของท่านคณบดี Ran Blake ที่ผมได้ไปศึกษามา นำมาเผยแพร่ต่อเพื่อเป็นแนวทางประยุกต์ใช้ ตามความเหมาะสมสำหรับความใฝ่รู้ในแนวดนตรีเฉพาะทางของแต่ละคน ที่ต่างกิเลสกันไป
ซึ่งจะได้ขยายความกันในโอกาสต่อไป
(ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสาร Overdrive ฉบับที่ 69 มีนาคม 2004)
Labels:
Ear Training
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
อ่านบทความนี้แล้วคิดถึง Ran จับใจ
ReplyDeleteเป็นคนที่ไม่มีใครเหมือนจริงๆครับ
แกให้ฝึกเล่น melody มือขวา แล้วร้องเบสควบคู่ไป
สลับกับ เล่น Bass มือซ้าย แล้วร้อง melody ไปด้วย
เป็นอะไรที่สุดๆจริงๆ Left Alone, Don't Explain, Vanguard ฯลฯ นี่ใช่เลย...
ห้ามจับเครื่องดนตรี จนกว่าจะร้องเพลงนั้นได้
ผมเรียนกับ Ran ประมาณปีเศษๆ Ran บอกว่าเคยพา อ.เฒ่าไปทานอาหารที่ร้านประจำของ Ran บอกว่าเป็นบ้านที่สองของเขา :D ร้านข้าวสาร ตรง coolidge corner ซึ่งผมก็เคยไปทำงานอยู่ที่นั่นด้วย... Ran จะพาลูกศิษย์ไปเมา เอ๊ย ไปทานอาหาร แล้วก็ดื่มสังสรรค์อยู่เสมอๆ
อ่านแล้วคิดถึงจริงๆครับ
ตอนนี้เท่าที่รู้ มีศิษย์คนไทยสังกัดค่าย ศ.แรน เบลค 2 คนครับ
ReplyDelete