Saturday, May 30, 2009
Mike Stern
ผมเขียนถึงไมค์ เสติร์น ลงในนิตยสาร Overdrive เมื่อปี 2003 ตอนนั้นผมเริ่มเรื่องว่า
ในช่วงระหว่างวันที่ 23 กรกฎาคม ถึง 11 สิงหาคม 2003 นี้ บรรดาแฟนของนักกีตาร์ Mike Stern ที่อยู่ในหลายเมืองใหญ่ของญี่ปุ่นและจีน โชคดีที่ได้มีโอกาสดูการแสดงสดของยอดนักกีตาร์คนนี้ ร่วมกับ Dennis Chambers (กลอง), Lincoln Goines (เบส) และ Bob Franceschini (แซ็กโซโฟน) แต่สำหรับคอแจ๊สบ้านเราก็คงได้แต่รู้สึกอิจฉา และเสียดายที่พลาดได้ดูของดี(อีกแล้ว)
และ....ในที่สุด แฟนเพลงแจ๊สบ้านเราก็สมหวัง ได้ดูตัวเป็นๆของไมค์ สเติร์นกันเป็นครั้งแรก ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2006 เมื่อเขาบินเดี่ยวตรงจากอเมริกา มาทำเวอร์กชอป “Jazz Guitar Clinic” และแสดงคอนเสิร์ต ร่วมกับนักดนตรีแจ๊สไทย การมาเมืองไทยครั้งแรกของสเติร์นน่าจะเป็นแค่เรียกน้ำย่อยให้กับแฟนๆมากกว่า เพราะเขามาทำหน้าที่หลักในบทบาทของวิทยากรมากกว่า ทำให้ต้องร้องเพลงรอกันอีกพักหนึ่ง กว่าจะได้ประจักษ์แจ้งถึงศักยภาพที่เปล่งพลังออกมาเต็มสูบของยอดนักกีตาร์แจ๊สผมยาวสลวยคนนี้ ให้สมใจอยากแบบครบเครื่อง ตอนกลางเดือนมิถุนายน 2008 ในงาน “หัวหินแจ๊สเฟสติเวล 2008” เมื่อเขาพาทีมสนับสนุนระดับพรีเมียร์ลีกด้วยกัน อย่างมือกลอง Dave Weckl และ “Chris Minh Doky” มือเบสดาวรุ่งลูกครึ่งเวียตนามเดนมาร์ก
ไมค์ สเติร์น ผงาดขึ้นมาเป็นมือกีตาร์แจ๊สระดับแนวหน้า เทียบเท่ากับ Pat Metheny, John Scofield และ Bill Frisell ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ฝีมือของเขาได้รับการยกย่องยอมรับจากคนในวงการเดียวกัน และยังเป็นต้นแบบสำหรับเหล่านักกีตาร์รุ่นน้อง ผู้กำลังก้าวเดินตามมาในเส้นทางนี้ ด้วยทักษะทางเทคนิคอันลื่นไหลในเชิงบีบ็อป อย่างไม่มีอาการติดขัดสะดุดบนคอกีตาร์ หรือบันดาลเสียงแผดคำรามด้วยความหนักหน่วงของสำเนียงร็อก ที่กีตาร์ซาตานแห่งแนวเฮฟวี่เมตัล ได้ฟังแล้วต้องหนาวสะท้านถึงก้นบึ้งแห่งหัวใจ แล้วยังหักมุมปรับวูบมาสู่อารมณ์เพลงอ่อนไหวในลีลาแจ๊สรุ่นใหญ่ ได้อย่างไม่ขัดเขิน นี่เป็นคุณสมบัติโดดเด่นเฉพาะตัวของสเติร์น เป็นบารมีที่เขาได้มาจากความพากเพียรฝึกฝนนานนับสิบปี
คืนวันที่ 27 มิถุนายน 1981 ที่ Kix คลับใหญ่ในเมืองบอสตัน ซึ่งปรกติจะเป็นสถานดิสโก้ของหนุ่มสาว ได้ถูกเปลี่ยนโฉมให้เป็นเวทีอุ่นเครื่องการกลับสู่สังเวียนแจ๊สของ Miles Davis ผมได้ยกพวกไปกันเกือบสิบคน กับทั้งเพื่อนคนไทยและฝรั่ง ยืนรอกันในบรรยากาศคึกคัก แถวใกล้เวทีการแสดง ผู้คนในคลับมีตั้งแต่นักเรียนดนตรีไปจนถึงคนในวงการแจ๊สมากหน้าหลายตา ทุกคนต่างตั้งหน้าตั้งตาคอยวันนี้มานานแล้ว ผมรู้สึกตื่นเต้นมากที่จะได้ดูเจ้าชายแห่งความมืด ผู้เป็นตำนานแห่งแจ๊ส ครั้นใกล้เวลาแสดง ผมเห็นไมค์ สเติร์นเดินสะพายกีตาร์ตรงรี่เข้ามา เขายื่นมือมาทักทายจับมือกับผม แล้วเดินขึ้นเวที เหตุการณ์เมื่อกว่ายี่สิบปีของคืนนั้น ยังชัดเจนอยู่ในความทรงจำของผมตลอดมา สเติร์นแจ้งเกิดในคืนนั้นแล้ว และในวันนี้ตัวเขาคือยอดนักกีตาร์คนหนึ่ง
ไมค์ สเติร์น เกิดที่บอสตัน รัฐแมสซาชูเสต เมื่อ 10 มกราคม 1953 แต่ไปเจริญวัยที่วอชิงตัน ดี ซี เมืองหลวงของอเมริกา มีคุณแม่เป็นนักเปียโนคลาสสิก ฝีมือระดับอาชีพ เลยอยากให้ลูกชายเจริญรอยตาม จัดการให้เขาเริ่มเล่นเปียโนตั้งแต่ 8 ขวบ แต่พอโตขึ้นมาหน่อยราว 12 ขวบ ลูกชักอยากจะเปลี่ยนไปเล่นอะไรที่เป็นคนเลือกเอง เสติร์นลองขยับเล่นกีตาร์ดู เกิดติดใจ และติดพัน เอาจริงเอาจังจนไปเรียนกับครูอยู่พักหนึ่ง แล้วหันมาลุยเล่นเอง โดยอาศัยฟังและแกะเพลงจากแผ่นเสียงร็อกและบลูส์ ผลงานของ B.B. King, Buddy Guy, Jimi Hendrix, Jeff Beck และ Eric Clapton คือ ต้นแบบสไตล์กีตาร์ที่ยังติดตัวมาจนถึงทุกวันนี้ แต่ครั้นเมื่อเอาแผ่นเสียงแจ๊สของแม่ไปลองเล่นตามดูบ้าง กลายเป็นว่าจับทางไม่ถูก ไปไม่เป็น หลงทางตั้งแต่เริ่มเลย ทำให้รู้ถึงขีดจำกัดของตัวเองว่า ถ้าจะเล่นแจ๊สให้ได้ ยังต้องเรียนรู้อีกมากมาย
สเติร์นไปเรียนต่อทางดนตรีที่ Berklee College of Music ในปี 1971 ซึ่งได้เรียนรู้ถึงศาสตร์แห่งแจ๊สอย่างที่ใจมุ่งมั่น เขาได้ให้ความสนใจจริงจังกับการเล่นแจ๊สกีตาร์ โดยให้ความชื่นชมในฝีมือของ Wes Montgomery และ Jim Hall เป็นพิเศษ สไตล์การเล่นของสองนักแจ๊สกีตาร์ผู้ยิ่งใหญ่ ได้เข้ามามีอิทธิพลต่อการแสดงออกทางดนตรีของเสติร์นอย่างชัดเจนในเวลาต่อมา นอกจากนั้นเขายังได้ซึมทราบในดนตรีของ Miles Davis, John Coltrane, McCoy Tyner และ Bill Evans ในขณะที่เรียนกีตาร์กับ Mick Goodrick ครูกีตาร์ตัวเก๋า ชี้ทางให้มีความเป็นตัวของตัวเอง และ Pat Metheny ครูผู้อ่อนวัยกว่า แต่เหนือเชิงในคุณวุฒิ ซึ่งได้ให้กำลังใจและคำแนะนำอันเป็นประโยชน์ แก่ศิษย์ผู้ขาดความมั่นใจในฝีมือของตนเอง มากกว่าจะเป็นการสอนทางเทคนิคการเล่นทั่วไป หลังจากเวลาผ่านไปหนึ่งปี เมธีนีบอกกับสเติร์น ว่า
“โรงเรียนนั้นมันก็ดีหรอก แต่นายจะต้องออกไปเล่นข้างนอก”
สเติร์นกลับไปบ้านวอชิงตัน ดี ซี ลุยเล่นเสริมกระดูกให้แข็งแกร่ง ไปกับวงร็อกและบลูส์ทั่วละแวกนั้น เจ้าหนุ่มไมค์ผู้กังขาในศักยภาพของตัวเอง ใช้เวลาช่วงลาพักเรียน มุฝึกพัฒนาวิทยายุทธอย่างเอาเป็นเอาตาย จนกีตาร์แทบจะเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกาย ก่อนที่จะหวนกลับไปเบิร์คลีอีกครั้ง และเมธีนีได้แนะนำเขา ให้กับวง Blood, Sweat & Tears ในปี 1976 เมื่อวงแจ๊สร็อกรุ่นบุกเบิกนี้ กำลังมองหามือกีตาร์คนใหม่ แม้ว่าวง BS&T จะผ่านพ้นช่วงแห่งความรุ่งโรจน์ไปหลายปีแล้วก็ตาม แต่ก็ยังเป็นที่รวมของเหล่านักดนตรีฝีมือระดับพระกาฬ หนึ่งในนั้น คือ Jaco Pastorius มือเบสยอดฝีมือจอมทระนง ผู้ประกาศตนเป็นเจ้าแห่งเบสกีตาร์ไฟฟ้าไร้เฟร็ต สเติร์นได้คบหาเป็นเพื่อนสนิทกับจาโคตั้งแต่นั้นมา ความไร้เทียมทานสมราคาคุยในเชิงเบสไฟฟ้าของเพื่อน กลายเป็นแรงดาลใจอันยิ่งใหญ่ประทับไว้ในใจเขาอย่างไม่เสื่อมคลาย
หลังเก็บเกี่ยวชั่วโมงบินสองปีกับ BS&T เสติร์นกลับไปบอสตัน สมัครตัวเป็นศิษย์ Charlie Banacos อาจารย์อิสระ ผู้ไม่สังกัดสถาบันใด บานาคอสเป็นนักเปียโนบีบ็อปฝีมือร้ายกาจมาก แต่เขาเลือกที่จะเป็นครู จากความสามารถพิเศษเฉพาะตัว ในการวินิจฉัยความบกพร่องของลูกศิษย์แต่ละรายได้ถูกจุด ช่วยแก้ไขชี้แนะวิธีการขจัดปัญหาเหล่านั้น จนไต่เต้าขึ้นไปเป็นนักดนตรีระดับแนวหน้า นอกจาก Mike Stern แล้ว ยังมี Jeff Berlin, Mike Brecker, Bill Pierce, Leni Stern และคนอื่นๆอีกมาก ตัวผมเองได้เคยมีโอกาสเรียนรู้ระบบการสอนของบานาคอสอยู่บ้าง ในชั่วโมงเรียน Ear Training สมัยอยู่ Berklee จากครูผู้เป็นศิษย์ของท่าน และจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกับเพื่อนที่ไปเรียน สรุปได้ว่าหัวใจของหลักสูตรนี้ เน้นทางด้านการพัฒนาหูเป็นสำคัญสูงสุด การบ้านหลักของผู้เรียน คือ การแกะบันทึกลงเป็นตัวโน้ตบนกระดาษ (Transcribe) ท่อนโซโล่ของนักดนตรีแจ๊สสุดยอด อย่าง Miles Davis, John Coltrane หรือ Bill Evans เป็นประจำทุกวัน แล้วนำมาศึกษา วิเคราะห์ ประยุกต์ใช้งานกับเชิงด้นของตัวเอง
กิตติศัพท์ของบานาคอสเป็นที่รู้กันทั่วในวงการ ใครที่อยากจะไปเรียนด้วย ต้องไปกรอกใบสมัครเข้าชื่อต่อคิวไว้ สมัยเมื่อยี่สิบปีที่แล้วคิวรอเรียนประมาณหนึ่งปีครึ่ง ล่าสุดที่ทราบข่าวเมื่อไม่นานมานี้ว่า ต้องรอราวสามปี ถ้าใครสนใจจะไปเรียนจริงก็ต้องสืบหารายละเอียดเอาเองอีกที ที่ CharlieBanacos.com สำหรับคนไทยเราอาจจะมีภาษีดีอยู่หน่อย อาจารย์ท่านชอบทานแกงเขียวหวาน ที่เพื่อนบ้านคนไทยแกงไปฝากให้ทานอยู่ประจำ ไปให้คุณพี่เขาใช้เส้นช่วยลัดคิว อาจจะได้เรียนเร็วขึ้น หรือจะติดต่อเรียนทางไปรษณีย์ก็มี ขอเตือนเอาไว้ก่อนว่า อาจารย์รับสอนเฉพาะผู้ที่มุ่งมั่นเอาดีอย่างจริงจังเท่านั้น ประเภทไปชุบตัวเพื่อมาออกเทป ไม่รับครับ ปัจจุบันบานาคอสยังเข้าสอนที่ New England Conservatory ด้วย
ในช่วงตั้งหลักเตรียมตัวสำหรับก้าวเดินต่อไปในเส้นทางแจ๊สของสเติร์น เขาได้ร่วมเล่นอยู่ในวงฟิวชั่น Baku ภายใต้การนำของนักทรัมเป็ตญี่ปุ่นไทเกอร์ โอโคชิ (Tiger Okoshi) และลับความคมในแนวปฏิบัติสายหลักแห่งแจ๊สกับระดับหัวกะทิของเมือง อย่าง Jerry Bergonzi นักแซ็กโซโฟน เพื่อนรักของอาจารย์ ผู้เข้าสังกัดอยู่ในวง Dave Brubeck ซึ่งเมื่อมีโปรแกรมเล่นที่ซิมโฟนี ฮอล คนก็จะแห่กันไปดูเป็นพัน แต่เวลาที่มาหมกตัวเล่นในผับ อยู่ท้ายถนนเดียวกัน นับคนดูได้ไม่กี่สิบคน ทั้งๆที่คุณภาพดนตรีเข้มข้นกว่าเวทีใหญ่
เป็นช่วงเวลาที่ตัวผมได้มีโอกาสเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์จริง ผมได้เฝ้าดูสเติร์นซุ่มซ้อมสู่ความเป็นเลิศในเชิงบีบ็อป ณ Michael’s ผับใกล้บ้านกว่าสองปี จนมีความคุ้นเคย และรู้จักกันเป็นอย่างดี ตอนนั้นอาวุธคู่กายของเขาใช้เฟ็นเดอร์ สตราโตแคสเตอร์ รุ่นหัวโต สีฟ้า ชอบแต่งตัวตามสบาย เสื้อยืดดำ กางเกงยีน และรองเท้ากีฬา เขาตั้งใจเล่นเต็มร้อยอยู่เสมอ ไม่ว่าจะมีคนแน่นเต็มผับ หรือ บางครั้งมีเพียงแค่ผมกับเพื่อนนั่งจิบเบียร์ที่เคาน์เตอร์ก็ตาม ผมมีความรู้สึกว่า การได้แก้โจทย์เพลงด้วยทำนองด้นที่สละสลวยลงตัว เป็นรางวัลสูงสุดของในแต่ละคืนที่เขาเล่น มันมีความหมายมากกว่าค่าตัว ซึ่งในบางคืนเป็นแค่เศษเงินน้อยนิดกว่าเด็กล้างจาน ในช่วงกลางวัน หลังตื่นนอน กีตาร์จะอยู่ในมือไม่เคยห่าง ผัดไทยเป็นอาหารหลักอย่างหนึ่ง ที่ประทังชีวิตให้ผ่านพ้นไปในแต่ละมื้อ โดย Magdalena (ชื่อที่ผมรู้จักเธอในตอนนั้น) หรือ Leni Stern เมียสาวเยอรมัน จะแวะซื้อจากร้านบางกอก คูซีน กลับไปฝากให้เขาเป็นประจำ นานๆครั้งที่จะเห็นเขาออกมาร่วมโต๊ะทานในร้านด้วย
สเติร์นออกจากถ้ำ พร้อมถึงด้วยเขี้ยวเล็บอันคมกริบและพลังแก่กล้าในวิชาด้น เมื่อ Billy Cobham มือกลองจอมพลัง โทรตามตัวให้ไปร่วมเดินสายกับวงแนวฟิวชั่นของเขาในปี 1979 แต่เขาก็ยังแวะเวียนกลับมารังเก่า ซึ่งเปรียบเสมือนบ้านที่สองอย่าง Michael’s Pub เมื่อว่างเว้นจากการทัวร์ โดยชวนบิล แอเวน (Bill Evans) นักแซ็กโซโฟนหนุ่ม มาร่วมวงด้วย พร้อมกับข่าวกระพือออกไปว่า แอเวนคือ สมาชิกคนหนึ่งในวงใหม่ของไมล์ เดวิส ซึ่งเตรียมการจะกลับคืนสู่สังเวียนแจ๊สอีกครั้ง บรรดาคอแจ๊สบอสตันเลยแห่กันไปชมความเก่งกาจ ให้หายข้องใจ จนแน่นผับ ซึ่งจุเต็มที่ไม่เกิน 60 คน ระหว่างที่วงกำลังบรรเลงกันอยู่ ผมหันไปดูทางด้านประตูเข้า เห็นแพ็ท เมธีนี มาร่วมสังเกตการณ์ด้วย ในมือถือโค้กกระป๋อง ยืนหลบมุมฟังอยู่
จากสายสัมพันธ์กับแอเวน ชักนำไปสู่โอกาสทองครั้งสำคัญที่สุดในชีวิตของสเติร์น เมื่อไมล์มองหานักกีตาร์มาเสริมวง นักทรัมเป็ตตำนานแห่งแจ๊สรุดไปดูหน่วยก้านของมือกีตาร์แจ๊สผมยาว ซึ่งกำลังทำการแสดงอยู่กับค็อบแฮม ลูกน้องเก่าของเขา อยู่ที่คลับ Bottom Line ในนิวยอร์ก ตามแรงเชียร์ของแอเวน สไตล์กีตาร์ของสเติร์นสอบผ่าน ได้เข้าอยู่ใต้อาณัติไมล์ถึง 3 ปี ฝากเสียงกีตาร์ไว้ในอัลบั้ม “Man With The Horn” (1981), “We Want Miles” (1981) ซึ่งบันทึกการแสดงสดในคืนเปิดตัวที่ Kix และ “Star People” (1982)
แต่ชะตาชีวิตของเสติร์นต้องพลิกผัน เมื่อเขาถลำตัวเข้าไปแวะข้องกับยาเสพติด ทั้งโคเคนและเหล้า จนถึงขั้นฉีดเฮโรอินเข้าเส้น วันคืนของเขาตกอยู่ในภวังค์แห่งความพร่ามัว ไมล์สั่งพักงาน ให้ไปจัดการฟื้นสภาพร่างใหม่ แล้วค่อยกลับมา เมื่อขจัดยาออกไปได้แล้ว แต่ผีร้ายที่ครอบงำร่างกายอยู่ไม่ทำให้เขารู้สำนึกผิด สเติร์นเลือกเดินทางสายมืดต่อไป เขาเข้าร่วมทีมกับจาโคเพื่อนรัก ผู้มั่วสุมเมาอยู่ด้วยกัน ในปี 1984 ผมได้ดูวง Words of Mouth ชุดนี้ครั้งหนึ่ง พวกเขาขึ้นไปเล่นกันแบบลุยไปดาบหน้า เหมือนไม่มีการเตรียมการมาก่อน มีบางช่วงที่เล่นกันดีมาก ส่วนใหญ่จะเล่นกันแบบเลยเถิด ไม่ประทับใจอย่างที่คาดหวังไว้ คงจะเล่นกันในสภาพที่เมายา เพราะดูมีอาการแปลกๆอยู่ และหลังจากนั้นไม่นานมาก ผมได้ไปดูสเติร์นเล่นในบาร์เล็กๆ ก็ได้เห็นสภาพขี้ยาของเขาจังๆ ขณะผมเข้าไปในห้องน้ำทำธุระหนักกำลังจะเสร็จอยู่ ได้ยินเสียงเคาะประตูอย่างแรง พอผมเปิดประตู เจ้าไมค์รีบผลุนผลันสวนเข้าไปทันที ด้วยหน้าตาที่ซีดขาว และอีกสักพักหนึ่ง ผมเห็นเขาเดินออกมาอย่างอารมณ์ดี
สเติร์นติดยางอมแงม ส่งผลให้ร่างกายรับไม่ไหว สุขภาพแย่เลวร้ายจนปางตาย ทำให้เขาตาสว่างขึ้นมา รีบถ่อสังขารเข้าไปสถานบำบัดผู้ติดยา รักษาจนหายขาด ไม่ข้องแวะกับของมึนเมาอีกต่อไป เขาร่วมเดินสายกับนักแซ็กโซโฟน David Sanborn และเมื่อมีเวลาว่างก็จะใช้บาร์ 55 แถวกรีนิช วิลเลช เป็นที่ซ้อมมือ
เมื่อไมล์รู้ข่าวว่าเขาเลิกยาได้แล้ว สเติร์นได้รับการเรียกตัวกลับเข้าไปเล่นกับไมล์อีกครั้ง ในปี 1985 เขาเข้าไปแทนที่จอห์น สโกฟิลด์ ผู้เข้าไปแทนที่เขา ซึ่งดังแล้วแยกวง ออกไปบินเดี่ยว หนุ่มไมค์ยอมให้เจ้านายเก่าสับโขกอีกราวแปดเดือน สำหรับคราวหลังที่ไปอยู่นี้ แม้จะได้เรียนรู้อะไรมากมายจากการร่วมวงไมล์ แต่ใครๆก็รู้กันดีทั่วทั้งวงการว่า อยู่กับไมล์นั้น อยู่ยาก และเขารู้สึกหมดความอดทนอีกต่อไปแล้ว จึงขอลาจากกันด้วยดี โดยที่ตัวเองก็ยังไม่ได้วางแผนจะทำอะไรต่อไป แล้วเขาได้รับโทรศัพท์จากมือแซ็กไมค์ เบรเกอร์(Mike Brecker) ชวนให้ไปเล่นกับวง Steps Ahead ซึ่งเป็นวงระดับรวมดาว นำเสนอนักเคาะไวบ์ Mike Mainieri, มือเบส Victor Bailey, มือกลอง Steve Smith และ Mike Brecker
และในปี 1986 นี้ สเติร์นได้หันมาขะมักเขม้นในด้านการแต่งเพลงอย่างจริงจัง จนถึงกับสมัครเรียนกับ Edgar Grana แห่ง Juilliard สถาบันดนตรีสุดยอดทางด้านดนตรีคลาสสิก เมื่อเขาได้เซ็นสัญญาอัดเสียงกับ Atlantic ค่ายเพลงมีระดับ เปิดตัวด้วย “Upside Downside” อัลบั้มชุดแรกของเขา จึงเป็นโอกาสดีในการนำเสนอผลงานเขียนเพลงของเองทั้งชุด บวกกับโชว์การเล่นกีตาร์ร่วมกับ Bob Berg(แซ็ก), Mitch Forman(คีย์บอร์ด),Mark Egan(เบส), Dave Weckl(กลอง) และอีกหลายคน พร้อมดารารับเชิญ คนคุ้นเคยอย่าง Sanborn และ Jaco มาช่วยประโคมเสียง ในขณะที่ยังเป็นสมาชิกของวง Mike Brecker ด้วย จนถึงปี 1988 ซึ่ง “Time In Place” ผลงานเบอร์สองออกสู่ตลาด ได้รับการตอบรับดี จนต้องรีบปั่น “Jigsaw” (1989) ตามมาสนองอารมณ์แฟนแนวฟิวชั่น และยังฟอร์มวงร่วมกับ Bob Berg คนเป่าเทเนอร์แซ็กที่เข้าขากันตั้งแต่อยู่กับไมล์ โดยมี Dennis Chambers และ Lincoln Goines มาร่วมสมทบ ทีมนี้เกาะกลุ่มกันเหนียวแน่นจนถึงปี 1992 และได้ฝากฝีมือไว้ใน “Odds Or Evens” (1991)
สเติร์นเข้าร่วมทีมรวมตัวใหม่ของพี่น้อง Brecker Brothers Band ในปี 1992 สำเนียงกีตาร์สะใจโก๋ของเขา เป็นตัวช่วยสำคัญแห่งความสำเร็จของวงนั้น แต่สำหรับโปรเจคท์ส่วนตัว “Standards(And Other Songs)” (1992) กลับพลิกโผจากงานชุดก่อนๆ มาเป็นการโชว์ความสามารถด้านแจ๊สแท้ ที่แฟนส่วนใหญ่ไม่เคยได้รับรู้มาก่อน ผลลัพธ์ที่ตามมาคือ นักวิจารณ์และคนอ่านนิตยสาร Guitar Player ต่างเทคะแนนโหวตอย่างเป็นเอกฉันท์ให้เสติร์นเป็น Best Jazz Guitarist Of The Year แล้วเขาก็หวนกลับไปสู่สำเนียงฟิวชั่นด้วย “Is What It Is” (1994) และ “Between The Lines” (1996) ทั้งสองชุดนี้ ได้รับการเสนอเข้าชิงรางวัลแกรมมี่
“Give And Take” (1997) ได้สุดยอดแห่งแจ๊ส มือกลอง Jack DeJohnette และมือเบส John Patitucci มาร่วมเป็นวงทริโอหลัก ช่วยต้อนรับแขก Michael Brecker, David Sanborn, Gil Goldstein และ Don Alias ซึ่งมาร่วมบรรเลงเพลงสแตนดาร์ด 3 เพลง ผสมกับเพลงต้นแบบของสเติร์น และแถมด้วยเพลง Who Knows ของ Jimi Hendrix ทำให้ชุดนี้ได้รับกล่องอีกแล้ว คราวนี้เป็น Orville W. Gibson Award For Best Jazz Guitarist
บิล ฟริเซล และจอห์น สโคฟิลด์ ซึ่งสเติร์นรู้จักดี ตั้งแต่สมัยเรียนอยู่เบิร์คลี คือ สองนักดนตรีคนโปรดของเขา ซึ่งบังเอิญเป็นนักกีตาร์ด้วยกัน เขาชวนเพื่อนทั้งสองมาเป็นแขกรับเชิญ ใน “Play” ผลงานลำดับเก้า ออกมาในปี 1999 ใครที่ชื่นชมนักกีตาร์ทั้งสาม ไม่ควรพลาดอัลบั้มนี้ ซื้อหนึ่งได้สาม คุ้มค่ามากครับ เป็นงานดีมากชุดหนึ่งของสเติร์น งานชิ้นต่อมา “Voices” (2001) รับเอาอิทธิพลของ World Music เข้ามาอย่างชัดเจน ทั้งจากบราซิล อัฟริกา และสเปน การเอาเสียงร้องมาผสมผสานกับเสียงกีตาร์ นับเป็นสิ่งแปลกใหม่สำหรับวิถีดนตรีของสเติร์น และเขายังแต่งทำนองได้น่าประทับใจมาก ในอัลบั้มชุดสั่งลาจากค่าย Atlantic ที่เขาสังกัดมานานถึง 15 ปี
แม้สเติร์นจะเป็นศิลปินแจ๊สแนวหน้า อัลบั้มทั้ง 10 ชุดของเขาภายใต้สังกัด Atlantic มียอดขายในระดับพอเลี้ยงตัวได้ มีกำไรอยู่บ้าง และก็ยังพอขายได้เรื่อยๆ แบบน้ำซึมบ่อทราย คงจะไม่เป็นที่พอใจของฝ่ายบริหาร ที่ต้องการทำกำไรมากๆ เป็นเหตุให้ไม่มีการต่อสัญญาใหม่
สเติร์นต้องระหกระเหินไปซบอกค่ายเล็กๆ อย่าง ESC สำหรับงานชุดใหม่ของเขา “These Times” ในปี 2004 ซึ่งได้ตัวช่วยอย่าง Richard Bona มือเบสมหัสจรรย์จากแคมารูน, Kenny Garrett คนแซ็กศิษย์เก่าโรงเรียนไมล์ด้วยกัน และ Bela Fleck นักเกาแบนโจฝีมือไร้ขีดจำกัด มาเติมแต้มสีสันให้อัลบั้มนี้หลากหลายชวนฟังมากขึ้น โดยเฉพาะคนที่ชอบอัลบั้ม “Voices” เหมือนกับได้มาฟังต่อภาคสองจากชุดนี้
“Who Let the Cats Out?” อัลบั้มในปี 2006 กับ Heads Up ค่ายใหม่ สเติร์นยังคงเรียกใช้บริการซื้อเบสแถมร้องของริชาร์ด โบนา มาเป็นตัวหลักช่วยเสริมจุดขาย และยังเชิญแขกมาอีกเพียบเช่นเดียวกับอัลบั้มก่อนหน้านี้ ให้ได้ชิมอาหารหูกันหลายรส แต่ผมกลับติดใจ “Lifecycle” อัลบั้มปี 2008 ที่ไมค์ไปร่วมงานกับวง Yellowjackets มากกว่า ฟังแล้วได้ความรู้สึกต่อเนื่อง กลมกลืน เข้าขากันมาก เหมือนกับว่าสเติร์นเป็นสมาชิกวงตัวแตนนี้มานานแล้ว ผมยังได้ยินสำเนียงลายเซ็นที่คุ้นเคยตั้งแต่ครั้งกระโน้น สมัยที่เขาขัดเกลาฝีมือในคลับเล็กๆ จะแตกต่างที่วันนี้โน้ตทุกตัวจากปลายนิ้ว จะปล่อยออกมาอย่างเหมาะเจาะ สวยงาม สื่อความหมายชัดเจน และเล่าเรื่องราวชวนให้ติดตามได้ลุ่มลึกกว่า แม้จะยังคงลุ้ก 3 ย. (ผม)ยาว, (เสื้อ)ยืด และ(กางเกง)ยีน เหมือนเก่า
เขาได้บรรลุถึงจุดสุดยอดแห่งความเป็นนักดนตรีแล้ว
ดนตรีคือชีวิตของสเติร์น นับตั้งแต่เขาเริ่มจริงจังกับการเล่นกีตาร์ จนถึงทุกวันนี้ เขายังมีความสุขกับการได้ฝึกกีตาร์วันละหลายชั่วโมง และหาโอกาสเล่นร่วมกับคนอื่น การทำเงินเยอะๆ เล่นดนตรียังไม่ใช่เป้าหมายสูงสุดในชีวิต ที่ทุ่มเทให้กับศิลปะแห่งการด้นแจ๊ส ของชายผู้ได้รับการยกย่องว่า เล่นกีตาร์ได้เก่งที่สุดคนหนึ่งของโลกคนนี้
“บางครั้งค่าตัวก็ไม่ดี คลับก็ดูโทรม แต่มันเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องเล่นกันต่อไปเพื่อผู้คน ไมล์เคยพูดให้ฟังว่า เขาจะพยายาม”จับใจใครสักคน”อยู่เสมอ ใส่จิตและวิญญาณของคุณลงไปในดนตรี แล้วบางทีคุณอาจจะจับใจใครบางคนที่อยู่ข้างหน้าได้ สำหรับตัวผม จับได้คนเดียวก็เกินพอแล้ว”
(ปรับปรุงจากตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสาร Overdrive ฉบับที่ 63 - 64 กันยายน - ตุลาคม 2003)
Labels:
Jazz
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
โอ้โห สุดยอดครับ ความสุดยอดมาจากประสบการณ์และการฝึกฝนจริงๆ ทำให้ผมมีกำลังใจในการเรียนรู้ที่จะฝึกฝนอีักเยอะเลยครับ
ReplyDeleteขอบคุณมากๆสำหรับบทความดีๆครับ...........Beautyhair@hotmail.com