Friday, May 22, 2009

Intervals ภาคปฏิบัติ (1)

Intervals_(5)


โดยปกติแล้วระยะทางการฝึกเอียร์เทรนนิง(Ear Training) ก่อนที่จะมาเริ่มฝึกอินเตอร์วัล(Intervals)นั้น
ควรจะต้องผ่านการฝึกในระดับพื้นฐานมาแล้วอย่างน้อย 2 ปี หรือ ถ้าเป็นในแบบออรัลเทรนนิง (Aural Training) ของท่านอาจารย์แรน เบลค (Ran Blake) แห่งสถาบัน New England Conservatory ก็จะต้องผ่านการท่องจำเพลงด้วยหูล้วนๆ มาอย่างน้อย 1 ปี และสำหรับพวกเราที่ลุยมาแบบมวยวัด เรียนรู้มาด้วยตัวเอง หรือแบบประเภทครูพักลักจำ บางคนก็ได้เป็นศิษย์นักดนตรีระดับโลกผ่านทางวิดีโอ ก็ต้องยกเครดิตให้ว่ามีพื้นฐานมาแล้วทั้งสิ้น และส่วนสำคัญมากๆสำหรับที่จะใช้ในการฝึกปฏิบัติอินเตอร์วัล ก็คือ ประสบการณ์ในการฟังเพลงของตัวผู้ฝึก คนที่ฟังเพลงมามาก หลากหลายสไตล์ รู้จักเพลงมาก จะได้เปรียบกว่าคนที่ฟังเพลงมาน้อย และจำกัดแนวเพลง เพราะเราจะนำเอาบรรดาเพลงทั้งหลายที่บันทึกอยู่ในหัวสมองของแต่ละคนมาใช้ประโยชน์ เพื่อเป็นเพลงอ้างอิงส่วนตัว เพลงใครเพลงมัน คนที่อยู่ในวัยใกล้เคียงกัน เติบโตมากับเพลงร่วมสมัยรุ่นเดียวกัน ก็จะมีเพลงอ้างอิงคล้ายๆกัน

วิธีฝึกให้รู้จักสนิทสนมเป็นอย่างดีกับอินเตอร์วัลนั้น ไม่มีอะไรที่ลึกลับซับซ้อนเลยครับ เพียงแค่เอาสองตัวโน้ตแรกของทำนองเพลง ที่มีทำนองพ้องกับอินเตอร์วัลในแต่ละคู่ไปผูกเข้ากับอินเตอร์วัลคู่นั้นๆ ซึ่งเพลงที่เลือกเฟ้นเอามาเป็นครูฝึกนี้ ควรจะเป็นเพลงที่เรามีความคุ้นเคยเป็นอย่างดี หรือถ้าจะเป็นเพลงที่ไม่เคยรู้จักมักคุ้นมาก่อน ก็จะต้องทำความคุ้นเคยจนสนิทสนมกันเป็นอย่างดี เราอาจจะเลือกเพลงที่ขึ้นต้นด้วยอินเตอร์วัลคู่เดียวกันมาหลายๆเพลง แล้วมาคัดเลือกอีกที เพลงไหนที่เราสามารถนึกได้เร็วที่สุด จะถูกเลือกมาเป็น
เพลงอ้างอิงสำหรับอินเตอร์วัลคู่นั้น ยกตัวอย่าง เช่น อินเตอร์วัลคู่สี่ขาขึ้น (Perfect 4th Up) คือ จากโน้ตต่ำกว่าไปหาโน้ตสูงกว่า เราอาจจะเลือกเอาเพลง “Here Comes The Bride” เพลงแต่งงาน ซึ่งฝรั่งรู้จักกันดี และเป็นเพลงบังคับสำหรับนักดนตรีไทยที่หากินกับงานแต่งงาน หรือนักดนตรีไนต์คลับก็คงจะคุ้นเคยกับ “Perfidia” เพลงสแตนดาร์ดลาตินรุ่นเก่า ส่วนคอแจ๊สนั้นจะไม่มีเครื่องหมายคำถามบนใบหน้า เมื่อเอ่ยถึง “St. Thomas” เพลงสนุกลีลาคาลิปโซของซันนี รอลลิน (Sonny Rollins) สุดยอดแห่งแซ็กโซโฟนแจ๊สคนหนึ่ง และคอเพลงร็อกที่พ่วงด้วยแอนด์โรล ก็ยังปลื้มได้ทุกครั้ง เมื่อได้ยิน “Love Me Tender” ของราชาเพลงร็อกเอลวิส เพรสลีย์ (Elvis Presley) หรือแม้แต่เพลงลูกทุ่งบ้านเรา ก็ยังมี "สมศรี 1992" ของยิ่งยง ยอดบัวงาม ให้อ้างอิงได้

ครับ! ก็คัดกันเอาเอง ว่าใครคุ้นเคยกับเพลงแบบไหน คัดเอาเพลงที่เรารู้จักดีที่สุด มาเป็นเพลงอ้างอิงของอินเตอร์วัลคู่สมพงษ์นั้น

อินเตอร์วัลบางคู่หาเพลงอ้างอิงง่าย มีให้เลือกเยอะแยะ เกลื่อนไปหมด จากตัวอย่างที่ผ่านมา แต่อินเตอร์วัลบางคู่ก็หาเพลงอ้างอิงยากเหลือเกิน ถึงจะเอามาแนะนำให้ ก็ยังไม่รู้จักอยู่ดี ไม่รู้จะหาโน้ตมาฝึก หรือหาเพลงมาฟังจากไหน บางครั้งก็ต้องแต่งเพลงอ้างอิงขึ้นมาเอง ก็เก๋ไปอีกแบบ และเป็นปลื้มกับตัวเองอีกด้วย เมื่อต้องนึกถึงอินเตอร์วัลคู่นั้น

กระบวนการลำดับต่อไป ให้หากระดาษเปล่า มา 1 แผ่น เพื่อจัดทำตารางรายการเพลงอ้างอิงส่วนตัว สำหรับอินเตอร์วัลแต่ละคู่ ไล่ลำดับตั้งแต่ m2 (minor 2nd)ไปจนถึง M7 (Major 7th) เว้นช่องว่างแต่ละช่วง ให้มีเนื้อที่เผื่อไว้สำหรับใส่ชื่อเพลงอ้างอิงของแต่ละอินเตอร์วัล อย่างน้อยช่วงละ 3 - 4 เพลง ขีดเส้นแบ่งครึ่งหน้ากระดาษออกเป็น 2 ซีก หัวกระดาษซีกซ้ายมือให้เขียนจั่วหัวตัวโตๆ คำว่า “ขาขึ้น” หรือ “Up” ก็ได้ ส่วนทางซีกขวาก็เขียนคำว่า “ขาลง” หรือ “Down” อินเตอร์วัลแต่ละคู่ประกอบด้วยตัวโน้ต 2 ตัว จึงมีมุมมองแนวทำนองได้ 2 มุม คือ ทำนองที่ไล่จากตัวโน้ตเสียงต่ำกว่าขึ้นไปหาตัวโน้ตเสียงสูงกว่า ซึ่งเป็น “ขาขึ้น” และสำหรับ “ขาลง” คือ ทำนองจากตัวโน้ตเสียงสูงกว่าลงมายังตัวโน้ตที่ต่ำกว่า เช่น ตัวโน้ต C และ E ซึ่งเป็นอินเตอร์วัลคู่สามเมเจอร์ เราก็ต้องหาทำนองเพลงอ้างอิง ที่เริ่มจาก C ไปยัง E ซึ่งเป็น “ขาขึ้น” และทำนองเพลงอ้างอิง ที่เริ่มจาก E ลงไป C ซึ่งเป็น “ขาลง” เข้าใจนะครับ ! จากนั้นเราก็เริ่มบันทึกชื่อเพลงอ้างอิงของอินเตอร์วัลแต่ละคู่ ซึ่งงานนี้เป็นโปรเจ็กท์ที่ต้องใช้เวลานานพอควร กว่าจะรวบรวมรายชื่อเพลงให้ครบทุกรายการ ค่อยๆทำไป ไม่ต้องรีบร้อน

เมื่อเราได้รายชื่อเพลงมาแล้ว ให้คัดเลือกเอามาใช้งานแค่เพลงเดียวก่อน ควรจะเริ่มที่อินเตอร์วัลคู่เล็กๆ ประมาณคู่สาม หรือคู่สี่ก็ได้ ซึ่งน่าจะง่ายกว่าอินเตอร์วัลคู่กว้าง ถ้าเรามาวิเคราะห์ดูถึงอินเตอร์วัลในแต่ละคู่ เริ่มกันตั้งแต่คู่หนึ่ง (Unison) อันนี้ไม่มีปัญหาอะไร เพราะเป็นเสียงเดียวกันอยู่แล้ว คู่สอง ซึ่งก็มี สองไมเนอร์(Minor Second) กับ สองเมเจอร์(Major Second) อินเตอร์วัลคู่นี้ก็ไม่น่าจะเป็นตัวปัญหาให้หนักอกหนักใจอะไร มีระยะห่างกันแค่ครึ่งเสียงและหนึ่งเสียงเต็ม น่าจะนึกได้ในทันที โดยไม่ต้องใช้เพลงอ้างอิง ถ้าจะใช้ก็ไม่ว่ากัน

เอาเป็นว่า
เราจะเริ่มต้นฝึกกันที่คู่สี่ขาขึ้น ซึ่งได้ยกเพลงอ้างอิงมาให้เลือกกันหลายเพลงก็แล้วกัน สมมติว่า เราเลือกเอา "สมศรี 1992" มาเป็นเพลงอ้างอิง คราวนี้เราใช้กีตาร์หรือคีย์บอร์ดหรือเครื่องดนตรีประจำตัว เล่นสุ่มตัวโน้ตเสียงอะไรก็ได้ ซึ่งนั่นจะกำหนดให้เป็นโน้ตแรกของทำนองเพลง "สมศรี 1992" เมื่อเราได้ยินเสียงโน้ตโจทย์แล้ว ก็ต้องรีบซึมซาบเสียงนั้นให้ได้โดยเร็ว เปล่งเสียงนั้นออกมาให้ตรงกับเสียงที่ได้ยิน นึกถึงโน้ตตัวที่สองของทำนองเพลง "สมศรี 1992" แล้วเปล่งเสียงตามมา ตรวจสอบความถูกต้อง ด้วยการเล่นคู่เสียงนั้นกับเครื่องดนตรี แล้วเริ่มต้นใหม่จากตัวโน้ตใหม่ ปฏิบัติการไปตามขั้นตอนเดิมจนกว่าจะทำได้ถูกต้องทุกครั้ง ถึงจะยอมให้ผ่าน อนุญาตตัวเองให้ไปเริ่มฝึกอินเตอร์วัลคู่ใหม่ต่อไป

การฝึกอินเตอร์วัลวิธีนี้ จะเป็นในลักษณะที่เรียกว่า รีเลทีฟ พิทช์ (Relative Pitch) เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างตัวโน้ต 2 ตัว ไม่ได้มุ่งเน้นเรื่องการฟังให้ออกว่าจะต้องเป็นเสียงของตัวโน้ตอะไร

คงจะได้แนวทางปฏิบัติบ้างแล้วนะครับ คราวหน้าจะเพิ่มเติมรายละเอียดให้เห็นทางสว่างมากขึ้น คุณต้องลองไปทำด้วยตัวเองก่อน ถึงจะรู้ว่ามีปัญหาอะไรบ้าง แล้วเราจะได้มาคลี่คลายกันต่อไป

ขอให้หมกมุ่นในการฝึกอย่างบ้าคลั่ง แล้วเจอกันใหม่ตอนหน้า แต่อย่าเพิ่งบ้าพ้นไปก่อนก็แล้วกัน



(ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสาร Overdrive ฉบับที่ 101 ธันวาคม 2006)


No comments:

Post a Comment