Wednesday, May 6, 2009

Blue Monk


บลูส์เป็นรากของดนตรีแจ๊ส ร็อก ริธึ่มแอนด์บลูส์(Rhythm And Blues) และยังแผ่อิทธิพลขยายครอบคลุมไปถึงดนตรีร่วมสมัยเกือบทุกประเภท บลูส์เป็นส่วนประกอบสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยในแจ๊ส ตั้งแต่แรกเริ่มตั้งไข่มาจนถึงวันนี้ นักดนตรีแจ๊สเก่งๆทุกคนจะเล่นบลูส์ได้ดีมาก Blue Monk เป็นเพลงสแตนดาร์ดฟอร์มบลูส์ที่ได้รับความนิยมมากเพลงหนึ่ง นักดนตรีแจ๊สทุกคนจะต้องรู้จักเพลงนี้ และเล่นได้ด้วย ถ้ายังไม่รู้จัก ก็รีบมารู้จักกันเสียเลย


ธีโลเนียส มั้งค์ (Thelonious Monk) (1917 1981) คนแต่งเพลง Blue Monk เป็นคีตกวีคนสำคัญระดับเสาหลักของดนตรีแจ๊ส ด้วยความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่แปลกไม่เหมือนใคร ทั้งในด้านผลงานเพลงและสไตล์การเล่นเปียโนของเขา ทำให้เขาต้องตกระกำลำบากอยู่นานกว่าใคร ในบรรดาผู้บุกเบิกแนวดนตรีบีบ็อปด้วยกันทั้งหมด Monk เป็นคนสุดท้ายที่ได้รับการยกย่องยอมรับ เขาต้องทนทำงานในมุมอับ ในขณะที่พรรคพวกเล่นในคลับดังและออกทัวร์คอนเสริตอย่างหรูหรา พวกนักเขียนแจ๊สต่างเรียกขานเขาเป็นตัวประหลาด จากพฤติกรรมแผลงๆของเขา แถมยังดูถูกวิธีการเล่นเปียโนหาว่ากระโดกกระเดก เล่นไม่เป็น บทเพลงก็ฟังไม่เข้าหู จากการใช้คู่เสียงกระด้างและยังย้ายโน้ตไปอยู่ผิดที่ไม่เหมือนชาวบ้าน แต่มั้งค์เชื่อมั่นยืนยันในดนตรีของตัวเองอย่างหนักแน่น ไม่หวั่นไหวกับคำวิพากษ์วิจารณ์ทั้งหลาย ยอมทนสู้กับสภาพที่แร้นแค้น ผลิตผลงานสำคัญส่วนใหญ่ในช่วงวิกฤติการของชีวิต จนต่อมาภายหลังจากที่วงการแจ๊สได้ประจักษ์ถึงคุณค่าแห่งดนตรีของเขาแล้ว มั้งค์ได้รับการเทิดทูนว่า เป็นคีตกวีแจ๊สผู้ริเริ่มนับสืบต่อจาก Jelly Roll Morton และ Duke Ellington


แม้ว่าเขาจะใช้แบบฟอร์มพื้นๆของเพลงทั่วไปและบลูส์ก็ตาม สิ่งที่เขาเนรมิตออกมามิใช่เป็นแค่บทเพลง แต่เป็นคีตนิพนธ์ที่ลึกล้ำ ซึ่ง John Coltrane นักแซกโซโฟนผู้ยิ่งใหญ่ เคยกล่าวไว้ว่า


เมื่อคุณจะเรียนรู้งานสักชิ้นของมั้งค์ จะเอาเพียงแค่ทำนองกับคอร์ดเท่านั้นไม่ได้ คุณจะต้องเรียนรู้ถึงแนวเสียงภายใน และจังหวะที่กำหนดวางไว้อย่างเหมาะเจาะ ทุกส่วนสัมพันธ์กันอย่างประณีตประจง งานของเขา คือ คีตนิพนธ์


Blue Monk เป็นเพลงบลูส์ 12 ห้อง ในคีย์ Bb อัตราความเร็วประมาณ 116 เคาะต่อหนึ่งนาที ทางคอร์ดอยู่ในระดับพื้นฐานแบบ Basic Blues ไม่มีความซับซ้อน ทำนองเพลงเรียบง่าย และร้องตามได้ มีส่วนทำนองหลักอยู่สองส่วน ส่วนแรกเป็นกลุ่มโน้ตสี่ตัว ไล่ต่อเนื่องกันไปในระดับครึ่งเสียง (Chromatic) ซึ่งมีการขยับตำแหน่งเสียงไล่สูงขึ้นไป ส่วนทำนองสองเป็นทำนองเดิมที่เล่นซ้ำ แต่แฝงลูกเล่นอันล้ำลึกด้วยลูกหลอกให้หลงทาง โดยการย้ายตำแหน่งจังหวะตกให้ไปลงต่างที่กัน (Rhythm Displacement) นับเป็นเสน่ห์มากๆสำหรับเพลงนี้ อันนี้เป็นเทคนิกทางการแต่งเพลงที่มีคุณค่าควรแก่การศึกษามากอย่างหนึ่ง






โดยทั่วไปของการเล่นบลูส์ เรามักจะนึกถึงตัวโน้ตแฟล็ตสามของสเกลมาก่อนอื่น เพื่อให้ได้สำเนียงบลูส์ แต่ใน Blue Monk ท่านมั้งค์กลับขึ้นเพลงด้วยตัวโน้ตสามตรง (เนเจอรัล) ซึ่งเท่ห์มาก ผมชอบจะท้าทายให้ลูกศิษย์ลองอิมโพรไวส์เพลงนี้ โดยใช้โหมด Mixolydian เพื่อทดสอบดูว่าถ้าเล่นบลูส์โดยไม่ใช้โน้ตแฟล็ตสามแล้ว ยังจะไปเป็นกันหรือเปล่า?


ธีโลเนียส มั้งค์ บันทึกต้นแบบของ Blue Monk ให้กับค่าย Prestige อัลบั้ม Thelonious Monk Trio ในปี 1954 โดยเล่นเปียโนร่วมกับเบสและกลอง ทันทีที่มั้งค์เคาะเปียโนขึ้นทำนองเพลงประโยคแรก เสียงฉาบไฮแฮ็ตตอบรับเดินเครื่องคุมชีพจรจังหวะ ไปร่วมแรงแข็งขันกับเสียงเบสที่กระทุ้งรับในหัวห้องถัดมา แล้วผนึกกันเต็มวง ให้เราได้รับรู้ถึงทำนองเพลงเพียงเที่ยวเดียว จากนั้นมั้งค์ก็ด้นหาทางออกใหม่ๆบนโครงสร้างบลูส์ ด้วยแนวทำนองเฉพาะตัว โดยมีเสียงกลองของ Art Blakey คอยตอบรับลูกเน้นอย่างรู้ทันเกม ขณะที่ Percy Heath เดินเบสดุ่ยๆหนักแน่นคุมจังหวะให้ Blue Monk เป็นเพลงโปรดเพลงหนึ่งของท่านมั้งค์ในรายการแสดงสด ซึ่งได้บันทึกเสียงไว้ให้เราได้ติดตามฟังหลายเวอร์ชันจากหลายอัลบั้ม เวอร์ชันเด็ดที่ควรเสาะแสวงหามาฟัง อยู่ในอัลบั้ม Live at the Jazz Workshop[Complete] ซึ่งบันทึกจากการแสดงสด ที่ซาน ฟรานซิสโก เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 1964 โดยทีมที่ดีที่สุดของมั้งค์ในช่วงท็อปฟอร์ม ซึ่งมี Charlie Rouse เทเนอร์แซ็กคู่บารมีผู้รู้ใจมานานปี ช่วยเติมสีสันวงให้สมบูรณ์


ในอัลบั้ม Conversations with Myself (1963) ของ Bill Evans เป็นการเล่นเปียโนดูเอ็ตกับตัวเอง โดยใช้เทคนิกการอัดเสียงซ้ำ (Overdub) ซึ่งเป็นวิธีการค่อนข้างใหม่สำหรับยุคนั้น น่าฟังในแบบบิล เอแวนส์ ไม่ระคายหูเท่ากับต้นฉบับหรือใน Piano Standards (2000) ที่ Chick Corea เดี่ยวเปียโน เจาะลึกเข้าไปในเพลงด้วยมุมมองร่วมสมัยของเขาอย่างไม่ยั้งมือ แต่เมื่อมาประกบคู่กับ Bobby McFerrin ใน Rendezvous in New York (2003) โคเรียปรับลีลาการเล่นคู่กับเสียงร้องไร้เนื้อ ให้กลับลงมาติดดินได้อย่างสนุกน่าฟัง มาก นักเปียโนรุ่นใหญ่ McCoy Tyner เล่นแบบสบายๆ กับเสียงเคาะรัวมาริมบาอย่างมีชีวิตชีวา ซึ่งเสียงคล้ายระนาดบ้านเรามาก จาก Bobby Hutcherson ใน Manhattan Moods (1993) ในมุมมองของยอดนักไวบ์ Gary Burton ที่เล่นกับศิษย์รักจากญี่ปุ่น Makoto Ozone ชุด Face To Face (1994) กลับเป็นอารมณ์เหงาในยามดึก Kenny Barron นักเปียโนมือเยี่ยมผู้ปวารณาตัวเป็นสาวกมั้งค์คนหนึ่ง จับคู่กับ Michael Brecker นักเป่าเทเนอร์คนเก่งรอบตัว ร่วมกันเปล่งพลังออกมา เร้าใจและน่าตื่นเต้นมาก อันนี้เป็นเวอร์ชันเถื่อน ที่ยังไม่ผลิตออกขายในท้องตลาด


Jimmy Giuffre เป่าทำนองด้วยคลาริเน็ตใน Western Suite(1958) โดยมีเสียงทรอมโบนนิ้วกดของ Bob Brookmeyer เล่นแนวประสานและทำนองสอด เติมเข้ามาในช่องว่าง บนเสียงสับคอร์ดกีตาร์ของ Jim Hall ในสไตล์ของ Freddie Green ตัวจักรกลสำคัญในการขับเคลื่อนวง Count Basie จู๊ฟฟรีเป็นนักดนตรีหัวก้าวหน้าที่ชอบคิดค้นลองของใหม่ วงทริโอในรูปแบบไม่เหมือนชาวบ้านนี้ เป็นที่กล่าวขวัญมากในยุคทศวรรษ 50 พวกเขาเล่นกันเบาสบาย แฝงด้วยความล้ำลึก เวอร์ชันนี้อาจจะต้องใช้ความพยายามเสาะหาหน่อย แต่ก็คุ้มค่าเหนื่อย สำหรับชุด Live at Village West (1982) ของ Ron Carter และ Jim Hall ม่น่าจะหายาก เป็นการดูเอ็ตระหว่างกีตาร์กับเบสใหญ่ที่ลงตัวมาก โดยสองสุดยอดฝีมือคู่หูทางดนตรีมายาวนาน ทำให้คิดถึงอีกคู่หนึ่ง ต้องพาขึ้นไปทางเหนือของทวีปอเมริกา แวะไปฟัง Ed Bickert คนเล่นแจ๊สด้วยกีตาร์เทเลคาสเตอร์ เจ้าของฉายา จิม ฮอลแห่งแคนาดา และคนเบสใหญ่ Don Thompson ที่ขอมาแสดงฝีมือทางเปียโน ในอัลบั้ม Dance to the Lady (1983) ซึ่งกว่าจะรู้ว่าเป็นบลู มั้งค์ ก็เป็นตอนที่เขาเล่นทำนองปิดเพลงแล้ว อีกคู่หนึ่งของกีตาร์ตันกับเปียโนเป็น Bill Frisell และFred Hersch จากชุด Songs We Know (1998) ก็เล่นกันได้น่าฟัง


Ray Brown (1926 – 2002) ผู้ล่วงลับ คนเล่นเบสผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งในวงการแจ๊ส ทำเก๋ด้วยการเอาทายาทสไตล์เบสรุ่นลูก John Clayton (เกิด 1952) และรุ่นหลาน Christian McBride (เกิด 1972) ของเขา มารวมญาติเล่นด้วยกัน ใน Super Bass (1997) เป็นเวอร์ชันที่คนเบสต้องหามาศึกษา พวกเขาแบ่งหน้าที่กันได้ดีมาก ไม่น่าเชื่อเลยว่า เบสใหญ่ 3 ตัวจะมาเล่นด้วยกันได้น่าฟังอย่างนี้ ก็เลยต้องแนะนำต่อ ให้ฟัง Great Kai & J. J. (1960) โดย J.J. Johnson และ Kai Winding สองยอดนักทรอมโบนที่ทำทีมเล่นด้วยกัน แถมด้วยเสียงเปียโนจาก Bill Evans ถ้ายังไม่อิ่มในเสียงลากยาวของเครื่องเป่าทองเหลืองชนิดนี้ ก็ต้องให้ Bill Watrous มาบรรเลงในแบบหวือหวา จากชุด Live at the Blue Note (2000) แล้วเราก็ย้ายที่ไปฟังนักดนตรีนิวออร์ลีนตีความเพลง Blue Monk กันบ้าง จากอัลบั้มสดุดีท่านมั้งค์ That's the Way I Feel Now: A Tribute to Thelonious Monk (1984) โดย Dr. John โชว์เดี่ยวเปียโนในสไตล์ของ Dr. John ส่วนวง The Dirty Dozen Brass Band พากันยกทีมไปเดินแถวเล่นแบบวงมาร์ชกันถึงสวิตเซอร์แลนด์โน่น ใน Mardi Gras At Montreux(1985) เป็นเวอร์ชันที่เล่นกันมันมากๆ เรียกเสียงเฮจากคนดูตลอด น่าจะถูกใจคอร็อกที่ชอบจังหวะกลองหนักๆ เพลงบลูส์ Stormy Monday เข้ามาคั่นกลางเป็นแบบ Medley ก่อนที่จะกลับไปจบด้วย Blue Monk


นักร้องหญิง Abbey Lincoln ใส่เนื้อร้องให้ Blue Monk ในอัลบั้มชุดดังของเธอ Straight Ahead (1961) แต่คนจะชื่นชอบเวอร์ชันของ Carmen McRae มากกว่า ซึ่งเธอได้ไปเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น Monkery’s the Blues ในอัลบั้ม Carmen Sings Monk


พยายามหามาฟังให้มากเวอร์ชันที่สุดเท่าที่จะหาได้ แล้วย่อยออกมาเป็นเวอร์ชันของเราเอง


โชคดีครับ


(ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสาร Overdrive ปี 2005)

No comments:

Post a Comment