อัลเบิร์ต คิง ราชาบลูส์ผู้ไร้บัลลังก์
เจ้าของสำเนียงกีตาร์บลูส์ที่แพร่กระจาย ระบาดไปในวงกว้างยิ่งกว่าใครทั้งหมด ผ่านทางกีตาร์ฮีโร่ผู้ถูกครอบงำโดยความแรงยิ่งกว่าสารเสพติดของเสียงกีตาร์สยบวิญญาณ จนศิโรราบไม่อาจสลัดหลุดจากความเป็นทาสในพลังแห่งบลูส์ สู่ความเป็นตัวของตัวเองอย่างสมบูรณ์ได้ ไม่ว่าจะเป็นจิมิ เฮ็นดริกซ์, อีริก แคล็พตัน หรือสตีวี เรย์ วอห์น ก็ตาม
Albert King (อัลเบิร์ต คิง) ดังขึ้นมาช่วงกลางทศวรรษหกสิบ ในฐานะหนึ่งในศิลปินบลูส์ผู้ทรงอิทธิพลที่สุด ในสมัยนั้น นักเขียนบทความดนตรี Albert Goldman (อัลเบิร์ต โกลด์แมน) ได้โหมประโคมในหนังสือพิมพ์นิวยอร์ก ไทม์ เอาไว้ว่า
“นักดนตรีผิวดำผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งทศวรรษ”
และในนิตยสารไลฟ์
“คนบลูส์สุดบิ๊ก, ร้ายกาจที่สุด”
Robert Palmer (โรเบิร์ต พาล์เมอร์) นักวิจารณ์บลูส์ผู้ทรงอิทธิพล ถึงกับเทิดทูนความสำคัญของอัลเบิร์ต คิง ในทางบลูส์ให้อยู่ในระดับเดียวกับ John Coltrane (จอห์น โคลเทรน) ที่มีต่อแจ๊สทีเดียว
อัลเบิร์ต คิง น่าจะเป็นราชาบลูส์ตัวจริง แต่ผู้ที่ถือครองเป็นเจ้าของฉายา คือ บี บี คิง ดังนั้น คิงอัลเบิร์ต จึงเป็นได้เพียง กษัตริย์บลูส์ผู้ไร้บัลลังก์
ในสูติบัตรบันทึกไว้ว่า Albert Nelson (อัลเบิร์ต เนลสัน) ถือกำเนิดเมื่อวันที่ 25 เมษายน ค.ศ. 1923 ใกล้เมืองอินเดียโนลา รัฐมิสซิสซิปปี เป็นหนึ่งในสิบสามของพี่น้องในครอบครัวเนลสัน พ่อเป็นนักเทศน์ร่อนเร่ ทิ้งลูกเมีย หายลับไป ตอนอัลเบิร์ตอายุเพียงห้าขวบ เป็นคนบ้านเดียวกับบี บี คิง และเขามักจะอ้างตัวว่าเป็นพี่ชายของบี บี คิงบ้าง หรือเป็นลูกพี่ลูกน้องบ้าง แต่บี บี คิงไม่ยอมนับญาติด้วย จนในที่สุดสรุปได้ว่า เรื่องทั้งหมดอัลเบิร์ตกุขึ้นมาเอง เขาเล่าได้เป็นตุเป็นตะว่า
“ทางบ้านเขาเป็นห่วงบี บี กัน รุ้มั้ย เขากินเหล้าหนักเกิน, แล้วเดี๋ยวนี้หัวใจเขาก็ไม่ค่อยจะปกติ, พวกเขาห้ามก็ไม่ฟัง, ยังก๊งอยู่เหมือนเดิม”
แล้วยังเสริมต่อไปอีก
“พวกเราทุกคนไม่สบายใจ เมื่อเมียเขาตีจาก, ทั้งที่เขาดีแสนดีกับหล่อน นังนั่นอยู่ดีๆ ก็ไปซะเฉยๆ อย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย เขาเซ็งมากเลย, นายรู้มั้ย แล้วมันยังทิ้งลูกให้เขาเลี้ยงอีก, นายรู้มั้ย เด็กคนนึงเป็นลูกติดแม่ ไม่ใช่ลูกเองซะด้วยซ้ำ, แต่เขาก็เลี้ยงดูเหมือนลูกในใส้”
แสดงถึงความเป็นคนอารมณ์ดี มีนิสัยขี้อำของอัลเบิร์ต คิง
หนูน้อยอัลเบิร์ตต้องทำงานหนักในไร่ฝ้ายตั้งแต่เด็ก การเข้าไปร้องเพลงในโบสถ์ คือ ประสบการณ์แรกทางดนตรี ราวปี 1931 ครอบครัวย้ายเข้าเขตเมืองอาซีโอลา รัฐอาร์คันซอ ใกล้เส้นแบ่งเขตรัฐมิสซูรี และไม่ไกลจากเมืองเมมฟิส ข้อนิ้วของอัลเบิร์ตยังคงเน้นอยู่ที่การหักกิ่งและเด็ดดอกฝ้ายเหมือนเดิม ตอนอายุสิบขวบ ตอกตะปูสองตัวข้างฝาบ้าน เอาเส้นลวดมามัดกับหัวตะปู ขึง แล้วสอดขวดเข้าไปด้านบน สอดก้อนอิฐเข้าด้านล่าง
“การสอดขวดเข้าด้านบน, นั่นทำให้เราได้เสียงกังวานใส แล้วก้อนอิฐด้านล่างช่วยให้มันตึงแน่น เราเล่นกับมันไปเรื่อย แล้วเราเปลี่ยนเสียงด้วยการเลื่อนขยับอิฐและขวด”
อัลเบิร์ตอธิบายเทคนิคของการดีดเส้นลวดสายเดี่ยว สิ่งประดิษฐ์ชิ้นแรก ก่อนที่จะไปทำกีตาร์จากกล่องซิการ์ และในที่สุดเขาก็ได้เป็นเจ้าของกีตาร์จริงเมื่อสะสมเงินซื้อได้ ด้วยราคาหนึ่งเหรียญยี่สิบห้าเซ็นต์ ในปี 1939 กีตาร์กิลด์โปร่งตัวแรกตัวนั้นได้รับการเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี ภายหลังได้รับการบูรณะซ่อมแซมทำสีใหม่ และทำกล่องใส่อย่างดี เป็นของรักของหวงที่เอาอะไรมาแลกก็ไม่ยอม
เก็บตัวฝึกซ้อมฟูมฟักฝีมืออยู่คนเดียวถึง 5 ปี ก่อนที่จะไปร่วมเล่นกับคนอื่น ตอนแรกหัดเล่นในแบบกอสเปล แต่หลังจากที่ได้ฟัง Blind Lemon Jefferson (ไบลด์ เลมอน เจฟเฟอร์สัน), Lonnie Johnson (ลอนนี จอห์นสัน) และคนบลูส์อื่นๆ จากการออกอากาศถ่ายทอดเสียงรายการสดในละแวกนั้นอย่าง Elmore James (เอลมอร์ เจมส์), Sonnyboy Williamson II (ซันนี บอย วิลเลียมสัน เบอร์สอง(ไรซ์ มิลเลอร์), Howlin’ Wolf(ฮาวลิง วูล์ฟ) และ Robert Nighthawk (โรเบิร์ต ไนต์ฮอว์ก) ซึ่งตอนนั้นยังใช้ชื่อ Robert Lee McCoy (โรเบิร์ต ลี แม็กคอย)อยู่ ใจก็เอนเอียงมาทางบลูส์ทันที และเมื่อปักใจจะเป็นคนบลูส์ ก็มุ่งมั่นเดินไปในเส้นทางบลูส์อย่างแน่วแน่ไม่แปรเปลี่ยนตั้งแต่นั้นมา อัลเบิร์ตฝึกฝนการเล่นกีตาร์อย่างต่อเนื่อง ซึมซับสำเนียงบลูส์ที่กรอกหูจากวิทยุอยู่ทุกค่ำคืน ในขณะที่ยังคงเด็ดดอกฝ้ายในไร่เลี้ยงปากท้อง ก่อนที่จะย้ายงานไปเป็นช่างเครื่อง และขึ้นนั่งหลังพวงมาลัยรถไถบูลโดเซอร์ ตักไถดินและขุดตอในเวลากลางวัน กลางคืนหิ้วกีตาร์ไฟฟ้าที่ซื้อจากโรงจำนำ 125 เหรียญ ไปขอเล่นกับวง Yanceys’ Band ได้เรียนรู้อยู่สองสามเพลง ต่อมาจึงได้รวมทีมกับพวกเพื่อนๆตั้งวง In The Groove Boys เป็นวงแรกในชีวิต ในปี 1950
“พวกเราเล่นกันได้แค่สามเพลง แล้วเราก็เล่นมันในแบบเร็ว, กลาง และช้า กลายเป็นเก้าเพลง เราเล่นวนไปวนมาทั้งคืน, เอาตัวรอดไปได้”
จากสามเพลงก็กลายเป็นหลายเพลง เมื่อได้ออกงานอยู่เรื่อยๆ จนพอมีฝีมืออยู่บ้าง ราวปี 1952-3 อัลเบิร์ตลุยขึ้นทางเหนือไปที่แกรี รัฐอินเดียนา ได้เจอกับ Jimmy Reed (จิมมี รีด) ซึ่งย้ายจากเดลต้าไปปักหลักอยู่นั่น รีดซึ่งเล่นกีตาร์เช่นกัน กำลังมองหามือกลอง อัลเบิร์ตต้องการเงิน เลยต้องกลายเป็นมือกลองจำเป็นไปก่อน ในช่วงนี้เองที่เขาเปลี่ยนนามสกุล ตามอย่างบี บี คิงที่กำลังดังมากจากเพลง Three O’Clock Blues
ได้รู้จักและรับความช่วยเหลือจาก Willie Dixon (วิลลี ดิ๊กสัน) คนเบสและนักแต่งเพลงบลูส์ผู้ยิ่งใหญ่ พาไปออดิชันกับแผ่นเสียง Parrot (แพรร็อต) ตรานกแก้ว หลังผ่านการทดสอบก็ได้เข้าสตูดิโออัดเสียงเป็นครั้งแรกตอนปลายปี 1953 Johnny Jones (จอห์นนี โจนส์) นักเปียโนมือเยี่ยมคู่บารมีของเอลมอร์ เจมส์ รับงานแบ็กอัพให้ บันทึกเสียงไว้ห้าเพลง แต่คัดออกมาแค่ซิงเกิลเดียว Be On Your Merry Way ประกบคู่กับ Bad Luck Blues เป็นหลักฐานย้อนรอยสไตล์ระยะฟักตัวของอัลเบิร์ต คิง ที่ยังถูกห่อหุ้มด้วยสำเนียงของเอลมอร์ เจมส์ และโรเบิร์ต ไนต์ฮอว์ก ผลงานแรกทำยอดไม่เข้าเป้า ได้ค่าตอบแทนมา 14 เหรียญ อัลเบิร์ตกลับบ้านอาซีโอลาไปตั้งหลักใหม่อีกราวสองปี ก่อนที่จะหิ้วกีตาร์ไปเสี่ยงดวงที่เซ็นต์หลุยส์อีกครั้งในปี 1956
เซ็นต์หลุยส์เมืองใหญ่ที่อัลเบิร์ตเคยมาเยือนเมื่อหลายปีก่อน แต่ปรับตัวยังไม่ได้ กลับมาใหม่คราวนี้ เปิดฉากรุกทันทีด้วยการตะเวนไปตามคลับขอแจมกับวงเจ้าถิ่น อีกไม่กี่เดือนต่อมา ชื่ออัลเบิร์ต คิง ก็ขึ้นป้ายเรียกลูกค้าได้แล้ว จากนั้นเขาเลยยึดเซ็นต์หลุยส์เป็นฐานปฏิบัติการไปอีกหลายปี
ในช่วงสิบปีต่อมา อัลเบิร์ตพยายามพัฒนาขัดเกลาสไตล์ของเขา ด้วยการศึกษาทางกีตาร์โทนเสียงบางสะท้อนเนื้อไม้ และการสลับตัวโน้ตในแนวทำนองของบี บี คิง ด้วยใจจดจ่อ แต่เชื้อเก่าของเอลมอร์ เจมส์, ไนต์ฮอว์ก และ Willie Johnson (วิลลี จอห์นสัน) ได้ฝังลึกอยู่ในสายเลือดของอัลเบิร์ต จนเกินแก้แล้ว เขาจึงผสมผสานสังเคราะห์สไตล์ ออกมาเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่เป็นอัลเบิร์ต คิงซาวด์ เล่นแนวโซโลสายเดี่ยวโทนเสียงเส้นลวด เสียงใหญ่ ดังชัด ไม่ยัดเยียดตัวโน้ตให้มากรกหู ด้วยวลีที่ล้วงทะลวงเข้าไปในจังหวะ แล้วตักโกยขึ้นมาจากส่วนล่าง เหมือนกับที่เขาเคยบังคับรถแทรกเตอร์
อัลเบิร์ต คิงเป็นคนถนัดซ้าย และเล่นกีตาร์แบบไม่กลับสายเช่นเดียวกับโอติส รัช (Otis Rush) วิธีการเล่นจะตรงกันข้ามกับชาวบ้านทั่วไป การดันสายซึ่งปกติใช้ดันขึ้น แต่อัลเบิร์ตจะดันลง เวลาที่เขาดันสายเดียวกลับไปโดนสายอื่น ติดนิ้วป้อมใหญ่ทรงพลังตามมาด้วย โดยไม่ตั้งใจอยู่บ่อยครั้ง กลายเป็นเทคนิคดันสายคู่ที่เก๋ไปอีกแบบ บางครั้งดันควบไปถึงสามสายก็มี และช่วงเสียงที่ถูดันไปตามร่องเฟร็ตกีตาร์ของเขานั้น ได้ความเที่ยงตรงไม่ผิดเพี้ยน และระยะเป็นคู่เสียงที่กว้างกว่าใครเขาทั้งหมด ทั้งนี้เกิดจากการตั้งสายแบบหย่อนกว่าปกติถึงหนึ่งเสียงครึ่ง ที่เขาอุบเป็นความลับไม่ยอมเปิดเผย
ส่วนมือซ้ายที่ใช้ดีด เคยลองหัดกับปิ้กอยู่เหมือนกัน แต่เจ้าปิ้กก็ไม่เคยเชื่อง มันจะลื่นหลุดบินว่อนไปจากมือที่ใหญ่เหมือนใบพายของอัลเบิร์ตเป็นประจำ เลยใช้นิ้วเปลือยปะทะสายเหล็กตั้งแต่นั้นมา เสียงกีตาร์ของเขาจึงแปลกพิเศษกว่าคนอื่น อัลเบิร์ตได้ทีอวดว่า
“เราเรียนรู้สไตล์นั่นด้วยตัวเอง และไม่มีใครทำได้เหมือน, แม้จะมีหลายคนที่พยายามกันจัง”
บวกกับอาวุธประจำกายที่แตกต่างไปจากคนอื่น ของเขาเป็นกีตาร์กิ้บสัน รุ่น Flying V (ฟลายอิง วี) หุ่นรูปอักษร V สีแดงสด
“เราได้ฟลายอิง วี รุ่นแรกๆ ที่กิ้บสันผลิตออกมาเลย”
ลูซี (Lucy) เป็นชื่อของฟลายอิง วี สุดที่รัก มีที่มาจาก Lucille Ball (ลูซิลล์ บอล) ดาราทีวีสุดโปรดของเขา ซึ่งเขาบอกว่า ไม่ได้เลียนแบบลูซิลล์ กีตาร์ของบี บี คิง เพราะลูซี ของเขามาก่อน เป็นคู่ใจกันมาตั้งแต่ปี 1958 แต่ลูซี ตัวต่อมาได้โดนปรับเปลี่ยนรูปโฉมตามใจคนใช้ ย้ายที่ตั้งลูกบิดปรับเสียงให้เหมาะสมสำหรับคนถนัดซ้าย เอาหัวกีตาร์มาตรฐานของกิ้บสัน ฝังมุกชื่อ Lucy ใส่แทนที่หัวกีตาร์แหลมแบบปลายหอก ที่ดูลงตัวกับลำตัวรูปอักษรวีกลับหัว ด้านท้ายลำตัวที่แหลมก็ปรับให้มน และให้ฝังมุกชื่อ ALBERT KING เด่นเป็นสง่าลงบนคอกีตาร์
อัลเบิร์ตเริ่มดังเป็นที่รู้จัก จนบริษัทแผ่นเสียงบาบิน ตรากระสวย ชวนอัดเพลงขาย ตอนช่วงหน้าร้อน ปี 1959 เพลงของอัลเบิร์ตประสบความสำเร็จในระดับท้องถิ่น จนค่ายใหญ่ คิง เร็คคอร์ด ขอเช่าสิทธิเพลงบลูส์ช้าปานกลาง Don’t Throw Your Love On Me So Strong ไปจัดจำหน่ายในระดับประเทศ ตอนปลายปี 1961 และได้กลายเป็นเพลงฮิตไปทั่วอเมริกา เพลงนี้ไต่ขึ้นถึงอันดับสิบสี่ ของประเภทอาร์ แอนด์ บี คิง เร็คคอร์ดได้เช่าสิทธิเพลงไปขายต่ออีกหลายเพลง แต่ก็ไม่มีเพลงใดฮิตติดอันดับอีก
ออกจากบาบินปลายปี 1962 อีกหลายเดือนต่อมา แวะอัดให้คิงชุดหนึ่ง แต่ไม่ติดตลาด หลังจากนั้นไม่ถึงปี ก็เข้าสตูดิโออัดสี่เพลงให้กับค่ายอิสระคัน-ทรี ของนักร้องแจ๊ส Leo Gooden (ลีโอ กูเด็น) ซึ่งวางตลาดขายแค่เซ็นต์ หลุยส์, ชิคาโก และแคนซัส ซิตี้ เพียงสามเมือง แต่ก็ได้รับความนิยมมากในเซ็นต์ หลุยส์ ความสำเร็จของอัลเบิร์ตแทนที่จะได้รับความชื่นชมจากกูเด็น กลับกลายเป็นความอิจฉา ทำให้เขาโดนเขี่ยออกจากค่ายคัน-ทรี
ปีทองของอัลเบิร์ต คิงเริ่มตั้งแต่ ปี 1966 เมื่อเขาเข้าร่วมงานกับค่ายสแต็กซ์ (Stax) แห่งเมมฟิส ได้ทีมแบ็กอัพสุดยอดแห่งแนวโซล บูเกอร์ ที แอนด์ เธอะ เอ็ม จี (Booker T. and the M.G.’s) ที่ควบเป็นแพ็กเก็ตมากับทีมเป่าเสริม เมมฟิส ฮอร์น (Memphis Horns) ซึ่งปักหลักเตรียมพร้อมอยู่ในสตูดิโอ รอปั่นเพลงฮิตให้ศิลปินในสังกัดเพลงแล้วเพลงเล่า รวมทั้งผลงานของทีมเองจนเป็นตำนานแห่งเมมฟิสซาวด์
Estelle Axton(เอสเตลล์ แอ็กซ์ตัน) เจ้าของสแต็กซ์ กำลังมองหาศิลปินที่เหมาะสมมาร้องเพลง Laundromat Blues (1966) ขณะอัลเบิร์ตเดินเข้ามาหา เอสเตลล์จดเนื้อร้องยื่นให้, โดยไม่รู้มาก่อนว่า อัลเบิร์ตอ่านหนังสือไม่ออก ตอนที่อัดเสียงเขาจำเนื้อร้องท่อนสุดท้าย ซึ่งคนแต่งถือว่าเป็นท่อนเด็ดไม่ได้ แต่ทุกคนที่เกี่ยวข้องก็ไม่ติดใจอะไร ต่างพอใจในเสียงกีตาร์ที่สอดใส่เข้าไปแทน
Laundromat Blues กลายเป็นเพลงบลูส์สุดฮิตของปีนั้น จากการผสมผสานระหว่างเสียงร้องทุ้มต่ำ แหบห้าว กับกีตาร์เสียงแหลมแทงใจ โดดเด่นอยู่บนจังหวะร่วมสมัย โขลกปั่นออกมาจากทีมแบ็กอัพสุดร้อน
นับเป็นจุดเริ่มต้นของการเปิดศักราชใหม่สู่ยุคครอสโอเวอร์บลูส์โซล
อัลเบิร์ตได้ประโยชน์จากความสด ร่วมสมัยในลีลาจังหวะโซล ที่เข้าถึงได้ง่ายของเมมฟิสซาวด์ เขาเอาเพลงบลูส์เดลต้ารุ่นเก่า Crosscut Saw (1967) ซึ่งสืบทอดกันมาหลายรุ่นโดยคนบลูส์แห่งมิสซิสซิปปี ย้อนหลังไปถึงทศวรรษสามสิบ มาปัดฝุ่นปรับปรุงใหม่ ในลีลาจังหวะคึกคักกึ่งลาติน และ Born Under A Bad Sign (1967) นำเสนอเสียงกีตาร์ดุ, ดิบ และเกรี้ยวกราด ไม่เน้นสปีด เปรียบเสมือนนักมวยรุ่นเฮฟวีเวท ชกออกหมัดน้อย แต่ต่อยหนัก แต่ละตัวโน้ตที่ปล่อยออกมา เหมือนหมัดสวนจังหวะบวกทิ่มกระแทกเต็มๆ ตรงเข้าไปในบ้องหูคนฟัง บลูส์เพียวๆ ร้อยเปอร์เซ็น ไม่ต้องขัดเกลาใส่น้ำเชื่อม ประนีประนอมเอาใจตลาด สะใจโก๋คอร็อค ซึ่งชอบอะไรแรงๆอยู่แล้ว
อัลบั้มแรกของอัลเบิร์ต Born Under A Bad Sign รวบรวมผลงานซิงเกิลเด็ดมาอยู่ด้วยกัน เป็นอัลบั้มบลูส์ทรงอิทธิพลที่สุด และได้รับความนิยมมากที่สุดในทศวรรษหกสิบ เป็นต้นแบบให้บลูส์รุ่นน้อง Otis Rush (โอติส รัช) รุ่นศิษย์ Mike Bloomfield (ไมค์ บลูมฟิลด์), Eric Clapton (อีริก แคล็พตัน), Jimi Hendrix (จิมิ เฮ็นดริกซ์) รุ่นลูก Stevie Ray Vaughan (สตีวี เรย์ วอห์น), Gary Moore (แกรี่ มัวร์) และไล่รุ่นไปจนถึงบลูส์รุ่นหลาน Kenny Wayne Shepherd (เคนนี เวย์น เชเพิร์ด) ยึดถือเป็นคัมภีร์ศึกษาแนวทาง
ผู้ติดเชื้อกีตาร์สไตล์อัลเบิร์ต คิง ที่เป็นสื่อพาหะแพร่ระบาดจนลุกลามไปทั่วโลก ทำให้สิ้นหวังหมดหนทางที่จะหาวัคซีนมาฉีดสร้างภูมิคุ้มกันได้โดยสิ้นเชิง เห็นได้ชัดจับได้คาหนังคาเขา จากร็อกซูเปอร์สตาร์ อีริค แคล็พตัน หลังแยกตัวออกจากวง Yardbirds (ยาร์ดเบิร์ดส์) ไปก่อตั้งวง Cream (ครีม) อาศัยอัลเบิร์ตเป็นบันไดลัดสู่ความสำเร็จ ก้อปปี้ลูกโซโลจากเพลง Personal Manager ถือวิสาสะเอาไปใส่ในผลงานเอง Strange Brew จนน่าจะโดนฟ้องฐานละเมิดลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญา และยังลอก Born Under A Bad Sign ไปทำซ้ำในอัลบั้มของครีมด้วย ต่อมาเขาทำพิธีไถ่บาปด้วยการสารภาพกลางคอนเสิร์ต ให้วัยรุ่นผู้คลั่งไคล้ในตัวเขาขนาดหนัก ถึงขั้นอัญเชิญขึ้นแท่นบูชาเป็นพระเจ้า ได้รับรู้ถึงแหล่งที่มาของแม่ไม้เพลงบลูส์
เบรกไปดู Albert King เล่น Born Under A Bad Signใน YouTube ก่อนที่จะอ่านเรื่องราวของเขาต่อครับ
แม้จะสร้างผลงานระดับอนุสาวรีย์ แต่ตัวแม่แบบเองกลับได้รับเพียงแค่กล่อง และสัญญาทาส
“เราถูกโกง และโดนเบี้ยวฉิบหาย มันให้แค่เศษเงิน เพื่อปิดปากเราให้เงียบ” อัลเบิร์ตระบายออกมาด้วยความสุดเซ็ง
ชักจะท้อใจเหนื่อยหน่ายกับวงการบันเทิง เริ่มถอดใจเตรียมเบนเข็มไปทำอย่างอื่น อัลเบิร์ตลุยทำงานหนัก เพื่อเก็บสะสมเงินไว้ถอยรถสิบล้อสักคันหนึ่ง เริ่มทำงานกะแรกในเซ็นต์หลุยส์ ตั้งแต่สี่โมงเย็น ถึงสองทุ่ม เสร็จแล้วไปต่ออีกที่หนึ่ง ตั้งแต่สามทุ่ม ถึงตีหนึ่ง แล้ววิ่งรอกไปปิดรายการ ที่คลับเล็กๆแถวอีสต์ เซ็นต์หลุยส์ ตั้งแต่ตีสอง ถึงหกโมงเช้า คืนหนึ่งไปเจอฮิปปี้สองหนุ่ม เข้ามาแนะนำตัว และทำความคุ้นเคย นั่งคุย และจิบเบียร์ทั้งคืนจนถึงเช้า ก่อนจากกัน หนุ่มบิลและพอล ขอที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์ พร้อมกับบอกว่าจะมีงานให้ไปเล่นโชว์ที่ซาน ฟรานซิสโก แต่อัลเบิร์ตก็ไม่ได้ใส่ใจอะไรนัก จนราว 3-4 อาทิตย์ผ่านไป เขาได้รับโทรศัพท์จาก Bill Graham (บิล แกรห์ม) หนุ่มฮิปปี้ที่ไปนั่งเฝ้าดูจนฟ้าสางเมื่อคืนวันก่อน ยืนยันเรื่องกิ้กสามวันที่เคยคุยกันไว้ และอีกไม่กี่วันต่อมาอัลเบิร์ตได้รับเงินค่าตัว 1,000 เหรียญ เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวจากที่เรียกไปแค่ 500 เหรียญ พร้อมค่าเดินทางอีกต่างหาก
คืนวันศุกร์ที่ 1 กุมภาพันธุ์ 1968 อัลเบิร์ต คิงก้าวขึ้นเวทีฟิลมอร์ ออดิตอเรียม ซาน ฟรานซิสโก เป็นครั้งแรก ในฐานะวงก่อนเวลา เปิดโรงให้กับจิมิ เฮ็นดริกซ์ ร็อกฮีโร่ ขวัญใจฮิปปี้ ที่พี้กัญชาเคล้าเพลงร็อกไซคีเดลิกของเขา และเจ้าพ่อบลูส์อังกฤษ John Mayall (จอห์น เมยอล) กับวง Bluesbreakers(บลูส์ เบรเกอร์) ซึ่ง Mick Taylor (มิก เทเลอร์) ทำหน้าที่เป็นมือกีตาร์ ก่อนที่วงโรลลิง สโตนจะคว้าตัวไปร่วมทีม แทนที่ Brian Jones (ไบรอัน โจน) ผู้ถอนตัวออกไป อัลเบิร์ตผู้เวียนว่ายอยู่แต่ในวงจรบาร์ผีถิ่นคนดำ ไม่เคยเห็นคนดูที่เป็นฝรั่งผิวขาวมากมายขนาดนี้เลยในชีวิต และคนหนุ่มสาวผมยาว ยุคบุบผาชนเฟื่องฟูเหล่านั้น ก็แทบจะไม่มีใครเคยได้ยินชื่อคนบลูส์ร่างยักษ์ สิงห์อีซ้าย เล่นกีตาร์ทรงแปลกประหลาด มาก่อนหน้านี้เลย และไม่ได้คาดหวังว่าพวกเขาจะต้องตกอยู่ในสภาพเป็นเสมือนสายกีตาร์ ให้อัลเบิร์ตดัน บดขยี้ไปตามใจสั่ง ปล่อยใจให้อยู่ในโอวาทของเสียงกิ้บสันฟลายอิง วี จนลืมไปเลยว่าตั้งใจจะไปดูใคร วัยรุ่นที่เดินออกจากฟิลมอร์ตอนจบการแสดงของคืนนั้น ไม่มีใครไม่รู้จักอัลเบิร์ต คิงอีกแล้ว เขาแจ้งเกิดกับคอร็อควัยรุ่นแล้วในคืนนั้น และสี่คืนที่เขาเล่นประกบกับเฮ็นดริกซ์ และเมยอล นับเป็นช่วงไฮไลต์ที่น่าประทับใจที่สุด ในอายุขัยหกปีแห่งร็อคคอนเสิร์ตของฟิลมอร์
ตั้งแต่นั้นมา บิล แกรห์ม โปรโมเตอร์ผู้หลักแหลม จะจัดคิวสอดแทรกให้อัลเบิร์ตแวะเวียนมาแสดงเป็นประจำที่ฟิลมอร์ทั้งสองแห่งของเขา เป็นศิลปินบลูส์ที่ได้รับการเสนอตัวให้แฟนเพลงร็อกได้รับรู้มากกว่าใครอื่น
“อัลเบิร์ตเป็นศิลปินคนหนึ่งที่ผมใช้บริการหลายครั้ง ด้วยเหตุผลที่หลากหลาย” แกรห์ม ทวนความหลังให้ฟัง “เขาไม่ใช่เป็นเพียงแค่ยอดนักกีตาร์ ลีลาบนเวทีของเขาก็เยี่ยม, เป็นกันเอง, อบอุ่น และเข้าถึงคนดู และอีกอย่าง, เขาไม่เคยเสแสร้งตอแหล เพื่อเอาใจคนดู อย่างที่ศิลปินบลูส์หลายคนทำกัน”
เขาเล่นคอนเสิร์ตรอบปฐมทัศน์เปิดตัวฟิลมอร์ อีสต์ ที่นิวยอร์ก เมื่อ 8 มีนาคม 1968 และยังมาร่วมรายการปิด เมื่อ 27 มิถุนายน 1971 Live Wire/Blues Power เป็นอัลบั้มบันทึกการแสดงสดจากฟิลมอร์ เวสต์ ซาน ฟรานซิสโก ตอนหน้าร้อน ปี 1968 ได้รับการเชิดชูให้เป็นหนึ่งในที่สุดของอัลบั้มแสดงสด เทียบเท่า Live At The Regal ของ B. B. King และ Live At The Apollo Theatre ของราชาเพลงโซล James Brown
บรรดาวงร็อคดังๆทั้งหลาย จะรู้สึกร้อนๆหนาวๆขึ้นมาทันที เมื่อรู้ว่าถูก บิล แกรห์ม วางตัวอัลเบิร์ต คิงเป็นวงอุ่นเครื่องเปิดเวทีให้ ตามนโยบายขายคนดัง พ่วงแถมของจริง ที่แกรห์มต้องการให้คอเพลงได้รับรู้ถึงต้นแบบของเหล่าซูเปอร์สตาร์นั้นด้วย และบ่อยครั้งที่วงดังโดนอัลเบิร์ต เผาเครื่องจนกลายเป็นเศษเหล็ก ขนาดวงร็อกสุดยอดอย่าง The Doors (เดอะ ดอร์) ยังเคยโดนเขาเคี้ยวเป็นอาหารว่าง ในโปรแกรมที่อัลเบิร์ตเป็นวงแถมก่อนเวลา แฟนเพลงยังร่ำร้องเรียกหาอัลเบิร์ตกันอย่างเซ็งแซ่ไม่ยอมเลิกรา แม้ม่านเวทีจะพร้อมเปิดให้ Jim Morrison (จิม มอริสัน)และทีมออกมาโชว์ตัวแล้วก็ตาม หรือแม้กระทั่งบี บี คิง ผู้มีอิทธิพลในสำเนียงกีตาร์ของเขา เมื่อถูกจัดให้โคจรมาปะทะกันในศึกกีตาร์คิง ก็ยังโดนอัลเบิร์ตทำแต้มนำห่าง จนบี บี ทนไม่ไหว ต้องสะพายกีตาร์เดินออกมาขอร่วม ในช่วงเวลารอบสองของอัลเบิร์ต ไมค์ บลูมฟิลด์ กีตาร์ซูเปอร์สตาร์ ซึ่งนั่งดูอยู่ในเหตุการณ์ครั้งนั้นด้วย สรุปผลออกมาว่า
“อัลเบิร์ตแดกบี บี จนไม่เหลือซาก”
Joe Walsh (โจ วอลช์) กีตาร์ร็อกวงอีเกิ้ล ซึ่งนักกีตาร์บ้านเราถือท่อนโซโลเพลง Hotel California เป็นอาขยานบทหนึ่ง เคยพูดไว้เมื่อหลายปีก่อน (1988) ว่า
“Eddie Van Halen (เอ็ดดี้ แวน เฮเล็น) คือ ที่สุดของวันนี้ แต่อัลเบิร์ต คิง สามารถอัดเอ็ดดี้ให้ตกเวที.......ด้วยแอมป์ที่เปิดแค่สแตนด์บาย(พักเครื่อง) เขายิ่งใหญ่สุดแล้ว, เพื่อนเอ๋ย”
ความยิ่งใหญ่ของอัลเบิร์ต คิง ที่ได้รับรู้จากผลงาน และคำสรรเสริญ ได้รับการตอกย้ำจากประสบการณ์ตรง ราวต้นทศวรรษแปดสิบ สัมผัสแรกสุด คือ หุ่นมหึมารูปร่างสูงใหญ่ ด้วยส่วนสูงหกฟุตสี่นิ้ว และน้ำหนักสองร้อยหกสิบปอนด์ (ราวๆหนึ่งร้อยกิโลกรัม)ของเขา กินเนื้อที่ไปเกือบครึ่งเวทีของโจนาธาน สวิฟต์ (Jonathan Swift’s) คลับปัญญาชน สถานนัดพบของนักศึกษาฮาร์วาร์ด ภาพลักษณ์ของเขารู้สึกคุ้นเคย ไม่แปลกตาไปจากที่เห็นบนหน้าปกแผ่นเสียง หรือในนิตยสารดนตรี แต่ได้มิติ และกระแสแห่งพลังบลูส์ให้รู้สึก และรู้ซึ้งถึงบลูส์พาวเวอร์ ที่เคยได้ยินจากในเพลงนั้น
หลังจากลูกวงขึ้นมาเล่นเพลงอุ่นเครื่องราวสามเพลง โฆษกประจำวงก็จะตะโกนถามความพร้อมที่จะเสพบลูส์หรือยัง ตามธรรมเนียม ให้คนดูได้เฮ แหกปากบริหารปอด ร้องเยดังๆตอบรับหลายครั้ง หลังจากนั้นวงดนตรีจึงจะบรรเลงเพลงโหมประโคมเชิญอัลเบิร์ต คิง เขาก้าวขึ้นเวทีในชุดสูทสีเข้มสามท่อน สวมหมวกสักหลาดเต็มยศ ใส่แว่นตาสีชาแก่ ยิ้มเห็นฟันทองเต็มปากที่คาบไปป์พ่นควันโขมง สะพายลูซี กีตาร์คู่ใจทรงจรวด เสียบสายแจ็กเข้าตู้แอมป์อคุสติก แล้วลุยโซโลไปกับลูกวงที่เล่นรองพื้นรอท่าทันที คนดูซึ่งคึกคักตั้งแต่เห็นเขาปรากฏตัวออกมา เมื่อโดนเสียงกีตาร์ดุประกาศิตกระแทกโสต ยิ่งนั่งกันก้นไม่ติดเก้าอี้ ลุกขึ้นยืนชูมือเต้นกันข้างโต๊ะ ในเนื้อที่แคบๆเบียดเสียดกัน จนสาวเสิร์ฟต้องมุดซอกแซกเข้าไปบริการดริ๊งก์ ด้วยความทุลักทุเล
ความสะใจ เร้าใจ สะสมมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงจุดสุดยอดใน Born Under The Bad Sign เหงื่อเม็ดโตเกาะชุ่มเต็มใบหน้า ไหลเป็นทางย้อยไปตามร่องแก้มของอัลเบิร์ต รวมตัวกันเป็นหยดร่วงลงสู่พื้นจากปลายคาง เครื่องร้อนได้ที่แล้ว เขาอินไปกับเพลงชุดเดิมๆ ที่ต้องเล่นซ้ำโปรแกรมกันทุกค่ำคืน ในต่างสถาน ต่างเมือง ต่างคนดู ต่างบรรยากาศ แต่ไม่เคยซ้ำซากในแง่มุมใหม่ของเพลงเก่า ในช่วงกลางของโซโล เขาดันจนกีตาร์สายขาดผึง แต่ก็เล่นต่อไปไม่สะดุดเสียงร้องอันเจื้อยแจ้วของลูซี ถ้าไม่เห็น จะไม่รู้ว่าสายขาด หลังเพลงจบ เด็กขนเครื่องวิ่งเอาสายใหม่ขึ้นมาเปลี่ยนให้ เขาตั้งสายอย่างรวดเร็ว เหลือเชื่อ แล้วขึ้นเพลงต่อ จนไม่รู้สึกขาดช่วงความต่อเนื่องของอารมณ์ เหมือนเวลาดูรถแข่งสูตรหนึ่ง ทีมช่างใช้เวลาแค่พริบตา เพียงไม่กี่วินาทีในการเปลี่ยนล้อใหม่ แล้วพุ่งออกซิ่งต่อ แต่หลังจากนั้น พอไปได้สักพักก็เริ่มออกอาการไม่ปกติ เมื่ออัลเบิร์ตเริ่มพลิกข้อมือมองเวลาบ่อยครั้ง ความคึกคักของศิลปินบลูส์วัยหกสิบ เริ่มถดถอย แม้ใจจะยังสู้ แต่ร่างกายตอบรับไม่ไหวแล้ว คงจะเป็นวันที่เหนื่อยล้าของเขา การแสดงจบลง เมื่อครบกำหนดเวลา 45 นาที นับเป็นเซ็ตที่สั้นมากสำหรับบลูส์โดยทั่วไป เสียงตะโกน เรียกร้องให้อัลเบิร์ตออกมาเล่นเพลงแถม ยังกึกก้องอยู่อีกพักใหญ่ หลังจากคำกล่าวกู้ดไนต์ จนกระทั่งทางคลับ เปิดไฟสว่างจ้านั่นแหละ ผู้คนถึงยอมแยกย้ายกลับ
ตอนขาออกผมเห็นรถบัสใหญ่จอดอยู่หน้าคลับ เลยก้าวขึ้นบนรถบัสส่วนตัว ชื่อเหมือนเจ้าแม่ Big Bertha (บิ๊กเบอร์ธา) ด้านข้างรถเขียน I Play The Blues For You ตัวใหญ่ เด่นชัด หวังสัมผัสมือใหญ่เหมือนใบพาย ที่ดันสายได้เนียนกว่าใคร แต่พอเห็นท่านนั่งเอนหลังทิ้งตัว หลับตาอยู่บนเบาะแถวหน้า ด้วยท่าทางอิดโรย เด็กหนุ่มที่คอยเฝ้าดูแล รีบกระซิบบอกให้รู้ว่าท่านไม่ค่อยสบาย ก็เลยต้องรีบถอยฉากออกมาอย่างเงียบๆ
ครั้งหลังจากนั้น ต้นปี 1985 ก็ไม่มีโอกาสได้ชิดใกล้เห็นเม็ดเหงื่อของอัลเบิร์ตไหลย้อยอีก เนื่องจากดูจากชั้นลอยบัลโคนี ของโรงละครเก่า โอเปรา เฮาส์ ซึ่งอยู่ห่างจากเวทีมาก ในรายการเปิดโรงให้สตีวี เรย์ วอห์น แต่ก็ได้ประจักษ์กับการแสดงออกถึงความคลั่งไคล้ที่ไร้เพดานของวัยรุ่นอเมริกัน ในบรรยากาศร็อกคอนเสิร์ตอันอบอวลด้วยกลิ่นกัญชา อื้ออึงด้วยเสียงแข่งกันแผดร้องตะโกนระบายความสะใจ จนแทบจะกลบเสียงดนตรีที่ส่งผ่านพาวเวอร์มิกซ์หลายพันวัตต์ ขยายเสียงผ่านทางแผงกำแพงลำโพงด้านข้างเวที
Years Gone By ตอนต้นปี 1969 เป็นผลผลิตเต็มอัลบั้มชุดแรกจากสตูดิโอของอัลเบิร์ต และยังมีอัลบั้มเทิดทูนเอลวิส อัลบั้มแจมกับ Steve Cropper (สตีฟ ครอปเปอร์) และ Pops Staple (ป็อป สเตเปิล) นอกเหนือจากการเป็นศิลปินบลูส์คนแรกที่ร่วมเล่นกับวงออร์เคสตรา
นักดนตรีผู้ต้องเรียนรู้วิธีการเด็ดโคนดอกฝ้ายกลางท้องทุ่งในวัยเยาว์ ในขณะที่เด็กวัยเดียวกันได้เข้าโรงเรียน เรียนหัดอ่านเขียนอยู่ในห้องเรียน อัลเบิร์ตไม่เคยได้เรียนเขียนอ่าน มือใหญ่หยาบกร้าน ศึกษาการเล่นกีตาร์นอกระบบด้วยตัวเอง เล่นแบบผิดๆนอกลู่นอกทาง จนคนยอมรับเป็นความถูก ออกไปยืนเด่นเป็นตัวเดี่ยวนำ ให้วงเซ็นต์หลุยส์ซิมโฟนีออร์เคสตรา ซึ่งมีนักดนตรีนับร้อย ผู้ได้รับการฝึกปรือตั้งแต่หัวเท่ากำปั้นให้อยู่ในกรอบระบบการศึกษาดนตรี ที่วิวัฒนาการมานานนับร้อยปี เป็นตัวประกอบ
หลังจากยุคกระแสเห่อบลูส์ของคนขาวซาลง สแต็กซ์ประสบปัญหาทางการเงินถึงกับล้มละลายตอนกลางทศวรรษเจ็ดสิบ อัลเบิร์ตย้ายไปอยู่กับ Utopia ออกสองอัลบั้มเน้นแนวครอสโอเวอร์บลูส์โซล แล้วโยกเข้าสังกัด Tomato ในปี 1978 มีผลงานไม่ทิ้งช่วงให้หายเงียบ แต่ก็ไม่โดดเด่นออกมาประปราย Fantasy เป็นบ้านใหม่เมื่อ ปี 1983 เขาอยู่ที่นี่สองปีอย่างมีความสุข ผลิตผลงานเด่นยุคปลาย จนได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลแกรมมี่ทั้งสองชุด San Francisco ’83 และชุดต่อมา I’m In A Phone Booth, Baby เป็นสตูดิโออัลบั้มชุดสุดท้ายของอัลเบิร์ต บันทึกเสียงที่เบอร์คลีย์ คาลิฟอร์เนีย ในเดือนมกราคม 1984 เพลงไตเติ้ลผลงานของ Robert Cray (โรเบิร์ต เครย์) กีตาร์บลูส์รุ่นลูก ที่เจ้าตัวเป็นปลื้มสุดๆ ปี 1990 ไปเป็นแขกรับเชิญของแกรี่ มัวร์ สาวกคนหนึ่งของเขา ให้เสียงกีตาร์ผลงานทำใหม่ของตัวเอง Oh, Pretty Woman ในอัลบั้ม Still Got The Blues
กลางทศวรรษแปดสิบ อัลเบิร์ตประกาศแขวนกีตาร์ หันหลังให้วงการดนตรี หลังจากบ่นทำท่าจะเลิกอยู่บ่อยๆ จนผู้คนชินชา ดัดแปลงรถบัสบิ๊กเบอร์ธา ที่เขาใช้ตะเวนเดินสาย ให้เป็นบ้านเคลื่อนที่ และเพียบพร้อมด้วยอุปกรณ์ตกปลา วาดวางแผนขับรถหาแหล่งตกปลาไปเรื่อยๆตามรัฐทางใต้ ค่ำไหน นอนนั่น แต่สายกีตาร์ของลูซีคู่ใจ ยังไม่ทันจะขึ้นสนิม ลำตัวยังไม่ทันฝุ่นจะเกาะหนา ก็โดนเจ้าของหิ้วไปทัวร์แทนคันเบ็ด ในรายการคอนเสิร์ตและเทศกาลดนตรี ทั่วทั้งอเมริกาและยุโรป จวบจนวาระสุดท้าย เมื่อเขาเสียชีวิตอย่างกะทันหันด้วยโรคหัวใจวาย ที่เมมฟิส เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 1992 อายุได้ 69 ปี
ในงานพิธีศพของอัลเบิร์ต คิง โจ วอลช์ หนึ่งในทายาททางดนตรี เล่นสไลด์กีตาร์คารวะไว้อาลัยด้วยเพลง Amazing Grace
(ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสาร Overdrive ปี 2001)
Monday, May 18, 2009
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
จิตวิญญาณ ยังคงอยู่จริงๆครับ..
ReplyDelete