สุภาพบุรุษบลูส์แห่งแจ๊ส
เค็นนี เบอร์เรล เป็นนักกีตาร์ที่เล่นได้ครบเครื่องที่สุดคนหนึ่งโดยไม่จำกัดสาขาดนตรี เขาเป็นสุดยอดกีตาร์แจ๊ส ผู้รุ่มรวยในสำนวนโวหารบลูส์ ด้วยความฉลาดเลือกตัวโน้ต ยากที่จะหาใครมาประกบเทียบได้ ทุกอณูในตัวโน้ตที่กรีดผ่านปลายนิ้วของเขา ด้วยเสียงนุ่มกลมกล่อม เย็นชื่นใจเหมือนใส่น้ำแข็ง จะแฝงไว้ด้วยจิตวิญญาณแห่งบลูส์เสมอ
กว่า 40 ปีที่โลดแล่นอยู่ในแวดวงดนตรี มีอัลบั้มภายใต้ชื่อของตัวเองเกือบ 100 ชุด และเป็นตัวช่วยให้ศิลปินอื่นอีกหลายร้อยชุด ยังไม่มีทีท่าว่าเขาจะล้าอ่อนแรงเลย
“โดยรวมแล้ว เค็นนี เบอร์เรล เป็นนักกีตาร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก และเขาคือคนสุดโปรดของผม”
เป็นคำยกย่องจาก B.B. King และ George Benson ร่วมย้ำสนับสนุน ว่า
“ไม่มีนักกีตาร์ที่เยี่ยมยอดกว่านี้ อาจจะมีใครบางคนที่เก่งพอๆกัน แต่คุณไม่สามารถเล่นกีตาร์ได้เยี่ยมยอดกว่าเค็นนี เบอร์เรล”
Kenny Burrell ยังเป็นนักกีตาร์คนโปรดของ Duke Ellington และนักกีตาร์ด้วยกันอีกมากมายในแทบทุกสายธารแห่งดนตรี ไม่ว่าจะเป็นสาขาแจ๊ส อย่าง Wes Montgomery ไปจนถึง Pat Metheny และ Russell Malone หรือในบลูส์ ก็มี Albert Collins, Otis Rush และ Buddy Guy ครอบคลุมมาถึงร็อก อย่าง Stevie Ray Vaughan, Duane Allman และสำหรับ Jimi Hendrix แล้ว
“Kenny Burrell นั่นคือซาวด์ที่ผมแสวงหาอยู่”
ในมุมมองของตัวเขาเอง เบอร์เรล บอกว่า
“จุดหมายของผม คือ การเล่นด้วยน้ำเสียงที่ดี, ช่วงวลีที่ดี และต้องสวิง ผมไขว่คว้าความจริงใจจากการเล่นในสิ่งที่ผมรู้สึก”
ในคืนหนาวเหน็บหิมะโปรยปราย ขาวโพลนเมืองบอสตัน ช่วงต้นปี 1978 Jazz Workshop แจ๊สคลับดัง บนถนนบอยล์สตัน ย่านพรูเด็นเชียล เซ็นเตอร์ ห่างจาก Berklee ประมาณ 5 นาทีเดิน จุดจอดทำการแสดงของคนแจ๊สมีระดับ ผู้มาแวะเยือน ห้องฟังเพลงชั้นใต้ดินเล็กๆ จุคนได้ไม่ถึงร้อย ตกแต่งภายในเรียบง่าย มีเวทียกพื้นเตี้ย แคบ แค่พอให้นักดนตรีขึ้นไปออกันได้ แต่แฝงด้วยกลิ่นอายแห่งความขลัง จากการสั่งสมมนตราของเหล่าเกจิอาจารย์แจ๊สทั้งหลาย ที่ได้รับการอัญเชิญมาประกอบพิธีกรรมจนนับครั้งไม่ถ้วน บางเสี้ยวเวลาของมวลเสียงดนตรีอันทรงคุณค่าเหล่านี้ ผสมกับเสียงอึกทึกของคนฟัง ได้ถูกบันทึกอนุรักษ์ไว้ในผลงานของศิลปินใหญ่หลายสิบอัลบั้ม Jazz Workshop คือ ตำนานสถานแห่งหนึ่งของประวัติศาสตร์แจ๊ส
ป้าย Kenny Burrell Trio ตั้งเด่นอยู่ตรงประตูทางเข้าคลับ เพื่อประกาศให้คอแจ๊สรับรู้ถึงการมาเยือน เค็นนี เบอร์เรล หนุ่มใหญ่วัยย่างสี่สิบเจ็ด ตัวจริงดูเป็นฝรั่งมากกว่าที่เห็นในรูป ผิวผ่องใส ผมหยิกหยอยเป็นก้นหอยออกสีแดง หน้าหล่อ หุ่นเท่ รูปร่างสูงใหญ่ แต่งตัวภูมิฐานในชุดสูทสีมืด ดูเหมาะสมกับกีตาร์กิ๊บสัน รุ่น Super 400 อาวุธคู่มือประจำตัวนับสิบปี เขาก้าวขึ้นบนเวที พร้อมกับคนเล่นเบสและกลอง หย่อนตัวลงนั่งบนสตูลสูง เมื่อทุกคนเข้าประจำที่ ก็เริ่มเพลงเปิดวงอย่างเร่าร้อน ในลีลาสวิง น้ำเสียงเต็มใสจากกีตาร์สั่งทำพิเศษ และสำเนียงบลูส์ลายเซ็นเฉพาะตัว ปรากฏเด่นชัดตั้งแต่ตัวโน้ตแรก ที่เบอร์เรลดีดออกมา เสียงกีตาร์ของเขาเสมือนเป็นเซิร์ฟบอร์ดให้เรานั่ง ล่องลอยไปตามคลื่นดนตรี ที่ซัดโถมเป็นระลอกมาอย่างต่อเนื่อง มันให้ความตื่นเต้นเร้าใจ กระชากอารมณ์ จนถึงกับลืมหายใจในบางช่วง ในส่วนเพลงช้านั้น ก็เต็มไปด้วยความละเมียดละไม สละสลวย ลุ่มลึก ทำให้ต้องนั่งหลับตา ก้มหน้า ฟังอย่างสงบ แต่ในบางขณะก็ยังถึงกับส่ายหน้าช้าๆอย่างไม่รู้ตัว ซาบซึ้งไปตามทำนองหวานแสนกินใจ
การได้ดูการแสดงสดของศิลปินระดับสุดยอด อย่างใกล้ชิดติดขอบเวที ดื่มด่ำไปกับเสียงดนตรีร่วมกับวง ณ เวลาเดียวกันนั้น เป็นที่สุดของที่สุดแห่งการเสพดนตรี ไม่มีอะไรจะมาทดแทนได้เลย ถึงคุณจะมีเครื่องเสียงราคาหลายล้าน ให้ความละเอียดของทุกเม็ดเสียงก็ตาม แต่จะไม่ได้ความรู้สึกร่วมเหมือนกับการได้ดูตัวจริงเสียงจริงของศิลปิน และเวลาอันแสนประทับใจช่วงนั้น จะตราตรึงอยู่ในใจเราไปตลอด ตราบเท่าที่หน่วยความจำยังไม่โดนเจ้าตัวอัลไซเมอร์ เข้ามารังคราญแทะกินจนแหว่งหายไปเสียก่อน หลังจบการแสดง เบอร์เรลยื่นมือออกมาจับกับคนดู 4-5 คน ซึ่งนั่งอยู่แถวหน้าสุด พร้อมกับคำทักทายอย่างเป็นกันเอง และให้กำลังใจด้วยความเมตตา เมื่อรู้ว่า ทุกคนเป็นนักเรียนกีตาร์ อีกทั้งอวยพรให้ทุกคนประสบความสำเร็จในสิ่งที่มุ่งหวัง ตอนที่ขอลายเซ็นก็ได้ไถ่ถามชื่อ เซ็นให้เป็นพิเศษเฉพาะราย และภายหลังเมื่อมีโอกาสได้ไปดูการแสดงของเขาอีกในต่างวาระ ต่างสถานที่ ก็ยังคงได้รับความเป็นกันเองเหมือนกับครั้งแรก สมกับที่นักเปียโน Mike Wofford เคยกล่าวชื่นชม ว่า
“เขาเป็นหนึ่งในสุภาพบุรุษผู้สง่างามที่สุดแห่งวงการแจ๊ส”
จากแฟ้มทะเบียนประวัติของยอดนักดนตรีทั้งเก่งและดี ผู้ใช้กีตาร์เป็นสื่อแสดงออกคนนี้ มีชื่อเต็มว่า Kenneth Earl Burrell เกิดที่ดีทรอยต์ รัฐมิชิแกน เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 1931 ในครอบครัวคนรักดนตรี พ่อชอบเล่นกีตาร์ แบนโจ และยุคูลีลี แม่เล่นเปียโนและร้องเพลงในโบสถ์ พี่ชายสองคนก็เป็นนักดนตรีเช่นกัน Billy เล่นเบส และ Donald เล่นเปียโน ด้วยสิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยเสียงดนตรีในตระกูลเบอร์เรลอย่างนี้ หนูน้อยเค็นนี ก็ย่อมจะถูกชักจูงให้เอนเอียงมาในทางนี้ด้วย เขาเริ่มเล่นกีตาร์ตั้งแต่อายุ 12 ขวบ แต่ใจนั้นกลับหลงไหลในเสียงแซ็กโซโฟนของ Lester Young, Coleman Hawkins, Hershal Evans และ Don Byas แต่เพราะฐานะทางบ้านไม่พร้อมที่จะซื้อแซ็กโซโฟนให้เขาได้ ทำให้ความสนใจทางด้านดนตรีถูกเมินไประยะหนึ่ง จนกระทั่งวันหนึ่ง เมื่อเบอร์เรลได้ยินความมหัศจรรย์แห่งเสียงกีตาร์ไฟฟ้าของ Charlie Christian ทางวิทยุเข้า เขาได้สดับสำเนียงร่ายเสียงในลีลาเดียวกับทำนองจากเทเนอร์แซ็กที่โปรดปราน ทำให้เกิดแรงใจหยิบกีตาร์ขึ้นมาดีดอีกครั้ง ฝีมือการเล่นก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว เพราะได้พี่ชายช่วยชี้แนะ และยังได้ Louis Cabrara ครูดีที่โรงเรียนช่วยติวเข้ม จนเก่งพอที่จะเข้าร่วมวงได้ นักดนตรีหลายคนที่ร่วมฝึกปรือสะสมฝีมือกับเบอร์เรลในช่วงนี้ อย่าง Tommy Flanagan(piano), Pepper Adams(baritone sax), Yusef Lateef(flute), Elvin Jones(drums), Thad Jones(trumpet) และ Donald Byrd(trumpet) ต่างล้วนเติบใหญ่ขึ้นไปเป็นนักดนตรีแจ๊สชั้นนำทั้งสิ้น กลุ่มนี้เป็นที่รู้จักดีในวงการ ว่า ก๊วนดีทรอยต์
นอกจากชาร์ลี คริสเตียน ผู้จุดประกายแล้ว ยังมี Django Reinhardt ยอดนักกีตาร์ชาวยิปซี และ Oscar Moore นักกีตาร์คู่ใจของ Nat King Cole เป็นอิทธิพลหลัก ร่วมกับ T-Bone Walker และ Muddy Waters จากสายบลูส์
เบอร์เรลเข้าเรียนระดับอุดมศึกษาทางด้านดนตรี ที่ Wayne State University เขาใช้เวลากลางวันเรียนรู้ในห้องเรียน และออกภาคสนามในช่วงกลางคืนตามคลับต่างๆ ได้ดู Charlie Parker, Miles Davis และ Dizzy Gillespie ในปี 1951 ชื่อของเบอร์เรลเริ่มเป็นที่รู้จักกันดีในละแวกดีทรอยต์ เขาได้รับการเรียกตัวจาก Dizzy Gillespie นักทรัมเป็ตผู้ร่วมสร้างแนวบีบ็อปกับ Charlie Parker ให้เข้าร่วมเล่นกับวง ซึ่งประกอบด้วย John Coltrane (sax), Milt Jackson(vibe) และ Percy Heath (bass) กิลเลสปี ชอบใจในฝีมือของเบอร์เรล เขาจะตามตัวให้ไปร่วมวงด้วยเสมอ ทุกครั้งที่แวะมาแถวดีทรอยต์ และถึงกับชวนให้ไปร่วมอัดเสียงด้วย นั่นเป็นครั้งแรกที่เสียงกีตาร์ของเบอร์เรลได้รับการบันทึกเสียง
เบอร์เรลได้รับการติดต่อให้ไปร่วมเดินสายกับวงต่างๆอย่างไม่ขาดสาย แต่เขาเลือกที่จะอยู่เรียนต่อให้จบก่อน และในปี 1955 เขาได้รับปริญญาตรีทางดนตรี สาขาทฤษฎีและการประพันธ์เพลง จาก Wayne State University ซึ่งเขายังได้เรียนกีตาร์คลาสสิกกับ Joe Fava ด้วยความตั้งใจอย่างจริงจัง ฝึกใช้นิ้วดีดสายไนลอนจนเชี่ยวชาญ เคยออกงานโชว์เดี่ยวอยู่หลายครั้ง แต่ในที่สุดต้องฟันธงให้กับตัวเองว่า ตัวเขาไม่ใช่คนที่จะเป็นนักกีตาร์คลาสสิก ด้วยเหตุว่า เขาเกิดความรู้สึกต้องการปรับเปลี่ยนตัวโน้ตบางตัวขึ้นมา หลังจากเล่นบทเพลงเหล่านั้นผ่านไปสัก 3-4 ครั้ง ซึ่งในทางคลาสสิกจะทำอย่างนั้นไม่ได้ ผู้เล่นจะต้องเคารพในทุกตัวโน้ตของคีตกวีที่รจนามาในบทเพลง จะไปเปลี่ยนแปลงโน้ตตามอำเภอใจไม่ได้เลย ความถวิลหาตัวโน้ตนอกเหนือจากภาคบังคับ ที่เจาะจงให้เล่นตามเพียงสถานเดียว ตอกย้ำถึงทางเลือกในเส้นทางดนตรีว่า จะต้องเดินไปในทางสายด้นแห่งแจ๊สอย่างแน่นอนแล้ว
หลังเรียนจบได้ไม่นาน เบอร์เรลฟอร์มวงของเองได้สักพักหนึ่ง เมื่อ Oscar Peterson ยอดนักเปียโน ผู้ปราดเปรื่องเชิงเทคนิค แวะมาดูเขาเล่น และได้รับการว่าจ้างชั่วคราว ให้เข้าไปแทนที่ Herb Ellis ซึ่งมีปัญหาเรื่องสุขภาพ ต้องใช้เวลาพักฟื้นราวหกเดือน เมื่อเสร็จสิ้นภาระกิจแล้ว เบอร์เรลกับ Tommy Flanagan ชวนกันขับรถจากบ้าน ย้ายไปอยู่นิวยอร์กในปี 1956 เขาหางานทำได้ไม่ยาก จากเครดิตที่เคยเล่นกับกิลเลสปี และปีเตอร์สัน อีกทั้งจากการไปเปิดตัวขอแจมกับวงไปทั่ว ในคืนหนึ่งขณะที่แจมอยู่ในคลับ ถิ่นฮาร์เล็ม Alfred Lyons เจ้าของค่ายแผ่นเสียง Blue Note นั่งฟังอยู่ด้วย เปิดทางไปสู่ห้องอัดเสียง ประเดิมอัลบั้มแรก Introducing Kenny Burrell(1956) ได้ตัวช่วยยอดเยี่ยมอย่าง Tommy Flanagan(piano), Paul Chambers(bass), Candido(conga) และ Kenny Clarke (drums) มาเสริมสำเนียงกีตาร์บลูส์ เปี่ยมด้วยความเร้าใจของเบอร์เรล คนฟังต้อนรับการออกสตาร์ตเป็นศิลปินเดี่ยวของเขาดีพอควร ทำให้ Blue Note เปิดไฟเขียวเข็นผลงานตามออกมาอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่เบอร์เรลก็รับจ้างผลิตอัลบั้มให้กับค่าย Prestige และ Savoy ด้วย
จังหวะและโอกาสเป็นส่วนสำคัญในความสำเร็จของคนเรามากทีเดียว ช่วงกลางทศวรรษห้าสิบนั้น เป็นยุคแรกเริ่มของดนตรีร็อก แนวโน้มของตลาดดนตรีเชิงพาณิชย์ต่างพุ่งเป้าไปยังเสียงเหน่อของบลูส์ ที่เป็นซาวด์แห่งยุคสมัยนั้น ซึ่งเข้าทางนิ้วของเบอร์เรลพอดีเลย และการอ่านโน้ตได้คล่องเป็นความได้เปรียบเหนือคนอื่น เหมือนเป็นเข็มให้งมหาในมหาสมุทรของสมัยนั้น ด้วยคุณสมบัติครบถ้วนสำหรับงานรอบเร็วในสตูดิโอ บวกกับนิสัยดี ไม่เป็นตัวปัญหาในการทำงานร่วมกับคนอื่น งานอัดเสียงทะลักเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย เบอร์เรลรับงานเป็นร้อย วันๆหมกอยู่แต่ในห้องอัดเสียง ไม่ได้มีโอกาสออกมาเห็นแสงตะวัน เป็นเวลาหลายปี เสียงกีตาร์ของเขาสอดแทรกอยู่ในเพลงของราชาดนตรีโซล James Brown และเจ้าแม่บลูส์ Big Maybelle ไปจนถึงนักร้องแจ๊สรุ่นใหญ่ Tony Bennett และ Lena Horne รวมทั้งงานประเภทพ็อพ และร็อกอีกนับไม่ถ้วน เขาพิสูจน์ให้เห็นถึงความสามารถรอบตัว ที่ตอบสนองความต้องการได้ในทุกแนวดนตรี ทำเงินค่าตัวมากมายมหาศาล แต่แล้วก็มาถึงจุดอิ่มตัว เกิดอาการหงุดหงิดกับงานที่ยุ่ง จนไม่มีเวลามาใส่ใจกับแจ๊สที่เขารัก
เบอร์เรลตัดใจทิ้งรายได้ก้อนโต ปลีกตัวจากสตูดิโอ เข้าสู่งานเล่นประกอบละครบรอดเวย์ ทำให้เขามีเวลาสำหรับตัวเองในการฝึก และคิดวางแผนงานมากขึ้น ในขณะที่งานอัดเสียงก็ไม่ถึงกับทิ้งไปเลย จะเลือกทำเฉพาะงานที่ถูกใจเท่านั้น
เส้นทางชีวิตของเบอร์เรลหักเหอีกครั้งหนึ่ง เมื่อ Midnight Blue(1963) มียอดขายดีขึ้นมาเกินความคาดหวัง เขาจับคู่กับ Stanley Turrentine นักเป่าแซ็กที่เข้าขากันดีในลีลาบลูส์ โดยมี Major Holley(bass), Bill English(drums) และ Ray Barretto(conga) มาช่วยกันเป็นตัวประกอบ อัลบั้มชุดนี้ เขาเขียนเพลงเองทั้งหมด ยกเว้นเพลงสแตนดาร์ด Gee Baby, Ain’t I Good To You เพียงเพลงเดียว คนที่ชอบบลูส์จะไม่ผิดหวังกับผลงานดีที่สุดชิ้นหนึ่งของเบอร์เรลชุดนี้ ใครที่คิดว่าบลูส์นั้นจำกัดอยู่ในกรอบตัวโน้ตไม่กี่ตัว วนไปวนมา ถ้าได้มาฟัง Midnight Blue ก็จะต้องเปลี่ยนทัศนคติอย่างแน่นอน และ Chitlins con Carne จากที่นี่ คือ ต้นแบบสำหรับ Stevie Ray Vaughan คัดสำเนาไปเผยแพร่ต่อ
ความสำเร็จของ Midnight Blue ปูพรมรอให้เบอร์เรลกล้าก้าวออกมาจากเวิ้งขอบเวทีโรงละครและห้องทึบในสตูดิโอ สู่สปอตไลต์บนเวทีการแสดงในแจ๊สคลับ ซึ่งตัวเขาเองเป็นผู้นำวง ส่วนใหญ่จะมาในแบบของทริโอ มีกลองและเบสช่วยเสริม รูปวงที่เขาเป็นหนึ่งในผู้ร่วมบุกเบิก หรือบางทีเพิ่มเปียโนมาอีกคนเป็นวงควอร์เต็ต และในภายหลังยังได้ไปเข้าร่วมทัวร์กับทีมรวมดาราแจ๊ส เล่นร่วมกับวงบิ๊กแบนด์ อีกทั้งยังไปโชว์เดี่ยวร่วมกับวงออร์เคสตรา อย่างเช่น Detroit Symphony และ Buffalo Philharmonic เป็นต้น
ระหว่างปี 1963-1971 เป็นช่วงขาขึ้นของเบอร์เรล เขาปั่นผลงานออกมามากมายป้อนให้กับหลายค่าย เป็นที่รู้จักดีในหมู่คนฟัง ได้รับการโหวตให้เป็นยอดนักกีตาร์จากนิตยสาร down beat, Melody Maker และฉบับอื่นๆ ที่มีการสำรวจความนิยมด้านดนตรีแจ๊ส และชื่อของเขาก็ยังคงเกาะกลุ่มลำดับต้นๆ ตลอดเวลากว่าสามสิบปีหลังจากนั้น
Guitar Forms(1965) และ Blues--The Common Ground(1968) คือ งานเด่นทรงคุณค่าสองชุดที่ผลิตให้กับ Verve
Guitar Forms(1965) เป็นโปรเจคท์ระดับอนุสาวรีย์สำหรับเบอร์เรล เขานำเสนอความสามารถรอบตัว ในการเล่นหลากหลายลีลา ครอบคลุมตั้งแต่การเล่นแบบแจ๊สและบลูส์กับกีตาร์ไฟฟ้า ไปจนถึงการเล่นกีตาร์โปร่งสายเอ็นในแนวลาติน และเล่นประชันกับวงใหญ่ ภายใต้การควบคุมและเรียบเรียงเสียงประสานโดย Gil Evans อีกทั้งยังโชว์เดี่ยวเชิงกีตาร์คลาสสิก ในบทเพลงตัดตอนมาจาก Prelude No.2 for Piano ของ George Gershwin ด้วย เป็นอัลบั้มที่ได้รับการกล่าวขวัญ เป็นที่รู้จักกันดีชุดหนึ่ง ไม่จำเพาะแค่เพียงในแวดวงคนรักเสียงกีตาร์เท่านั้น
Blues--The Common Ground(1968) สำเนียงกีตาร์แจ๊สเจือบลูส์ ลายเซ็นเฉพาะตัว อันเป็นเอกลักษณ์ของเบอร์เรล ได้ถูกนำมาเป็นตัวเอกชูโรง เด่นอยู่แถวหน้าวงบิ๊กแบนด์ ฝีมืออเรนจ์และกำกับวงโดย Don Sebesky ผู้เจนจัดในเชิงประดับปรุงแต่งแห่งเสียงของเหล่าเครื่องเป่า เขาแต้มระบายเส้นเสียงห้อมล้อมเสียงกีตาร์ ได้สวยงามเหมาะเจาะ ในหลากหลายอารมณ์บลูส์ ที่เลือกเฟ้นมาร่วมบรรเลงกัน ซึ่งมีตั้งแต่บลูส์คลาสสิกอย่าง See See Rider, Every Day(I Have The Blues) บลูส์แนวเพลงโบสถ์ในแบบฟั้งก์ The Preacher บลูส์ต้นแบบของเบอร์เรลเอง ไปจนถึงเพลง Everydays ของ Stephen Stills แห่งวง Crosby, Stills, Nash & Young ที่ได้รับการคัดเลือกมาร่วมบลูส์กับเขาด้วย
“บลูส์ไม่ใช่เพียงแค่แบบโครงสร้างอย่างหนึ่งของดนตรี ในองค์ประกอบจำกัดของฮาร์โมนี มันเป็นความรู้สึกที่เรารับมาจากดนตรีเฉพาะแบบ อีกทั้งยังเป็นการแสดงออกถึงความรู้สึกนั้นจากตัวเราด้วย…….มันเป็นส่วนหนึ่งของพลังอันมหาศาล และพลังนั้น คือ จิตวิญญาณของมนุษย์”
เบอร์เรลขยายคำจำกัดความบลูส์ แก่นแท้แห่งดนตรีอเมริกัน ไว้ใน liner note ของอัลบั้มชุดนี้
ในปี 1970 เบอร์เรลเซ็นสัญญาเข้าสังกัดค่าย Fantasy ซึ่งมีศูนย์ปฏิบัติการอยู่ทางแคลิฟอร์เนีย ในปีถัดมา เขาตัดสินใจย้ายครอบครัวสู่สภาพแวดล้อมใหม่ของฝั่งเวสต์โคสต์ และยังปักหลักยาวมาถึงทุกวันนี้ นอกจากกิจกรรมที่ปฏิบัติอยู่ประจำอยู่แล้ว เขายังได้หันมาให้ความสนใจในด้านการศึกษาอย่างจริงจัง เป็นผู้ก่อตั้งและรับตำแหน่งผู้อำนวยการคณะดนตรีแจ๊สให้กับมหาวิทยาลัย UCLA และเขายังเปิดสอนคอร์ส Ellingtonia ที่ร่างหลักสูตรขึ้นมาเอง อันเป็นวิชาที่มุ่งเน้นอุทิศให้กับดนตรีของ Duke Ellington โดยเฉพาะ ตั้งแต่ปี 1978 นับเป็นคอร์สบุกเบิกในการศึกษาดนตรีของท่านดุ๊ก ที่ยังไม่มีใครทำมาก่อน นอกจากนี้เบอร์เรลยังจาริกไปทำเวอร์กชอปเรื่องแจ๊สกีตาร์ และการแจ๊สศึกษา ไปทั่วทั้งอเมริกา มีผลงานด้านหนังสือสองเล่ม “Jazz Guitar” และ
“ Jazz Guitar Solo” ในขณะที่อัลบั้มคุณภาพก็ไม่เคยว่างเว้นจากแผง และตัวเบอร์เรลเองยังได้พัฒนาศักยภาพทางด้านการประพันธ์เพลงของเขาให้ลึกล้ำขึ้นไปอีก โดยรับเขียนงานใหญ่สำหรับขับร้องหมู่ Love Suite จากสมาคมนักแต่งเพลง Meet The Composers ซึ่ง Boys’ Choir of Harlem ได้บันทึกเสียงในปี 1997 และเขายังได้รับรางวัลแกรมมี่ในปี 1998 จากการแต่งเพลง Dear Ella ซึ่งขับร้องโดยนักร้องหญิง Dee Dee Bridgewater
ด้วยวัย 72 ปีในวันนี้ของเคนนี่ เบอร์เรล เขาคือนักดนตรีแจ๊สอาวุโส ที่ผู้คนในวงการให้ความนับถืออย่างมาก ความสำเร็จในชีวิตของเขาส่วนหนึ่งได้มาจากพรของท่านดุ๊ก ที่เขายึดถือปฏิบัติมาตลอด และเป็นสิ่งที่เขาอยากจะฝากให้คนแจ๊สรุ่นหลังได้ร่วมรับทราบและสืบทอดเจตนารมณ์ต่อเนื่องกันตลอดไป
“แรงดาลใจของผมได้มาจากสารของท่านดุ๊ก ท่านว่า ตัวเราเป็นคนพิเศษ จงเป็นตัวของตัวเอง นำเสนอความเป็นตัวเองของเรา แล้วจงใช้ความมานะพยายามของตัวเรา สร้างสรรค์ดนตรีที่ยิ่งใหญ่”
(ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสาร Overdrive ปี 2003)
Saturday, April 11, 2009
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment