Tuesday, April 7, 2009

Ear Training



ในการศึกษาศาสตร์แห่งดนตรี ข้าพเจ้าจะให้ความสำคัญของวิชา Ear Training เป็นลำดับหนึ่ง การพัฒนาโสตประสาทการรับฟังให้สามารถรับรู้ แยกแยะ วิเคราะห์ ถึงเสียงดนตรีที่เข้ามากระทบหู นับเป็นคุณสมบัติหลักสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องในโลกแห่งเสียงเพลง ซึ่งระดับการรับรู้นั้นก็ยังแบ่งย่อยออกได้เป็นอีกหลายขั้น ถ้าจะแยกแยะซอยให้ละเอียดออกไป


วิชา Ear Training เป็นหัวใจของดนตรีเลยทีเดียว ไม่ว่าผู้ศึกษาจะผ่านการฝึกฝนเรียนรู้มาโดยวิธีใดก็ตาม จะเป็นการเรียนมาแบบศึกษาด้วยตัวเอง หรือ ผ่านสถาบันดนตรี ก็ล้วนเป็นสิ่งที่มีคุณค่าทั้งสิ้น ความรู้ทางด้านทฤษฎีจะไม่มีประโยชน์อย่างใดเลย ถ้าเราไม่สามารถจินตนาการสัมผัสได้ยินถึงเสียงเหล่านั้น ข้าพเจ้าได้มีประสบการณ์ตรงกับสิ่งนี้ด้วยตัวเอง ในช่วงเวลาที่หิวกระหายความรู้ด้านทฤษฎีดนตรีอย่างมาก พยายามตักตวงความรู้อย่างมากมาย จนกระทั่งถึงทางตัน ไปต่อไม่ได้ รู้สึกตัวเหมือนเป็นนักศึกษาวิชาโภชนาการ ผู้รอบรุ้สารพัดสูตรการทำอาหาร แต่ลิ้นไม่สามารถแยกแยะรสชาติ บ่งบอกถึงความเผ็ด หวาน มัน เค็ม แห่งความอร่อยออกมาได้ ความรู้ทางดนตรีก็เช่นกัน ถ้าหูเราไม่สามารถจำแนกแนวทำนอง เสียงประสาน ลีลาเพลง แล้วเราจะสร้างสรรงานต้นแบบได้อย่างไร? จึงเป็นสาเหตุให้ข้าพเจ้าต้องย้อนกลับไปปรับพื้นฐานด้านวิชา Ear Training ใหม่อีกครั้งหนึ่ง เมื่อพัฒนาหูจนไล่ทันภาคทฤษฎี จึงได้ไปต่อ


แต่เป็นเรื่องน่าเศร้ามาก ในยุคแห่งความฉาบฉวย ที่ทุกอย่างเร่งรีบทำกันอย่างลวกๆ เร่งรีบ เพื่อหวังผลรอบเร็ว สำหรับข่าวที่ข้าพเจ้าได้รับทราบมาว่า เด็กรุ่นใหม่ที่ไปจบการศึกษาดนตรีจากสถาบันที่มีชื่อเสียงของต่างประเทศหลายแห่ง ผ่านการเรียนเรื่อง Ear Training มาน้อยมาก จากหลักสูตรเก่าที่เคยต้องเรียนกันอย่างเข้มงวดถึงสี่ภาคเรียน ตอนนี้ได้ถูกปรับลดลงมา เหลือเรียนภาคบังคับแค่เพียงสองภาคเท่านั้น ทำให้ต้องฉุกคิดว่า สมัยก่อนเรียนสี่ระดับยังรู้สึกว่าน้อยไป สำหรับวิชาที่ต้องเรียนรู้ให้ลึกซึ้งแตกฉาน แต่ในปัจจุบันยิ่งเรียนกันง่าย จบกันง่าย โดยไม่ต้องคำนึงมากนัก ถึงความรู้ที่จะได้รับ โรงเรียนคิดเน้นเอาแต่เชิงพาณิชย์นำหน้า


ในความเป็นจริงแล้ว การศึกษาในสาขาดนตรีดูเหมือนจะเป็นการสวนทางกับกระแสค่านิยมในปัจจุบัน แม้ว่าเราจะใจร้อนอยากจะให้ได้ผลออกมารวดเร็วเหมือนคลิกเมาส์ แต่นั่นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลยในทางดนตรี ซึ่งจะต้องใช้ความอุตสาหะมากมาย เพื่อให้ได้ผลออกมาเพียงทีละเล็กทีละน้อย ในขณะที่เราฝึกทักษะทางปฏิบัติเครื่องดนตรี เราจะต้องพัฒนาโสตควบคู่ไปด้วย เมื่อเรียนรู้บทเพลงเพื่อสั่งสมเป็นคลังเพลง (Repertoire) ประจำตัว ก็จะต้องแสวงหาต้นแบบเวอร์ชันต่างๆของเพลงเหล่านั้น มาวิเคราะห์ ศึกษา แนวการตีความ (Interpretation) การด้น (Improvisation) การเรียบเรียงเสียงประสาน (Arranging) และมุมมองด้านต่างๆในเพลงเดียวกันของแต่ละศิลปิน เพื่อให้ได้เห็นถึงความหลากหลาย ความเป็นไปได้ ให้มากที่สุด ซึ่งหูของคนที่ได้รับการพัฒนามามากกว่า ก็จะได้เปรียบกว่าคนที่ด้อยโอกาสกว่า เพราะฟังได้เรื่องราวมากกว่านั่นเอง


การฝึกหู Ear Training เป็นเรื่องที่ยากลำบาก ซึ่งต้องใช้ความขยันหมั่นเพียรอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนาน บวกกับความพยายาม และความอดทนสูงมาก แต่ถ้าใครที่ต้องการจะผงาดโดดเด่นขึ้นมาในเส้นทางดนตรี เขาคนนั้นจะต้องสอบผ่านทักษะ Ear Training ไปให้ได้ จะหลบเลี่ยงหรือละเว้นไม่ได้เลย ถ้าใครไม่พร้อมที่จะฝึกฝนอย่างหนักเพื่อบรรลุสู่เป้าหมายแล้ว ก็แนะนำให้เปลี่ยนไปทำอาชีพอย่างอื่น เอาดนตรีเป็นงานอดิเรก เล่นเพื่อการผ่อนคลายก็แล้วกัน แต่อย่าคาดหวังไปสู่ความเป็นเลิศ โดยอาศัยเครื่องทุ่นแรง หรือแสวงหาทางลัดใดๆ


เจมี เอเบอร์โซลด์ (Jamey Aebersold) นักการศึกษาด้านดนตรีแจ๊ส ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในวงการ เคยเขียนบทความเกี่ยวกับการพัฒนาโสต ใจความในตอนหนึ่งกล่าวถึงว่า ถ้าหากว่าเยาวชนในชาติได้รับการบ่มเพาะในวิชา Ear Training ตั้งแต่ในระดับประถมศึกษา ก็น่าจะช่วยให้คุณภาพดนตรีโดยรวมที่บริโภคกันอยู่สูงขึ้นด้วย คนส่วนใหญ่จะรู้เท่าทัน ไม่ตกเป็นเหยื่อของเหล่าบรรดาค่ายเพลง ที่ผลิตดนตรีขยะ อันเป็นมลภาวะทางเสียง มาโปรโมตยัดเยียดกรอกหูกันอย่างที่เป็นอยู่ ถ้าผู้ฟังดนตรีมีรสนิยมดี ผู้ผลิตดนตรีก็จะต้องปรับมาตรฐานให้สูงตามไปด้วย และสังคมก็จะทวีความรื่นรมย์น่าอยู่มากขึ้นอย่างแน่นอน


โดยธรรมชาติดั้งเดิมของดนตรีทั้งหมด รวมไปถึงแจ๊สด้วยนั้น แท้จริงแล้วเป็นศิลปพื้นบ้าน ซึ่งมีการสืบทอดกันมาโดยการบอกเล่า ต่อเพลงด้วยการให้ท่องจำจนขึ้นใจ ซึมซับในลีลา สามารถถ่ายทอดออกมาได้ไม่ผิดเพี้ยนจากครู ทั้งยังพัฒนาแตกลายขยายสายพันธุ์ใหม่ให้ร่วมสมัย ถ่ายผ่องรับช่วงกันเป็นทอดๆจากรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่ง ในเส้นทางใกล้เคียงกับดนตรีไทยเดิมของเรา ซึ่งเน้นให้ความสำคัญของหูเช่นกัน ยกตัวอย่างจากศิลปินแจ๊สยิ่งใหญ่ ธีโลเนียส มั้งก์ (Thelonious Monk) ท่านจะเคร่งครัดในแนวปฏิบัตินี้มาก บทเพลงของท่านเมื่อแต่งเสร็จแล้ว แทนที่จะยื่นกระดาษโน้ตให้นักดนตรีเล่นออกมา ตามที่ได้บันทึกเอาไว้ ท่านกลับเรียกให้มาต่อเพลงกันทีละประโยค โดยท่านจะเล่นทำนองกับเปียโน หรือร้องให้ฟัง แล้วจดจำ แล้วเล่นตาม จนจบเพลง นักดนตรีระดับจอห์น โคลเทรน (John Coltrane) หรือซันนี่ รอลลิน (Sonny Rollins) สองสุดยอดแห่งแจ๊สแซ็กโซโฟน ก็ยังต้องมานั่งต่อเพลงแบบนี้ ไม่มีข้อยกเว้น จะมีการอนุโลมให้ดูโน้ตบ้างเป็นบางครั้ง ในกรณีที่บทเพลงบางเพลงมีความซับซ้อน ยากแก่การจดจำในระยะเวลาช่วงสั้น ซึ่งกำลังติดพันอยู่ในระหว่างการบันทึกเสียงในห้องอัด มีเงื่อนใขในเรื่องเวลา ที่จะต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นในระยะเวลาที่กำหนดไว้


นักดนตรีที่ยิ่งใหญ่อย่างจังโก้ ไรน์ฮาร์ด (Django Reinhardt ) สุดยอดนักกีตาร์ยิปซี ที่นักดนตรีในทุกสายพันธุ์ โดยเฉพาะนักกีตาร์ ต่างยกย่องอย่างเอกฉันท์ให้เป็นเทพแห่งกีตาร์ ผู้เป็นต้นน้ำแห่งแจ๊สสายธาร Gypsy Jazz ซึ่งนับวันจำนวนคูคลองน้อยที่ช่วยแพร่จ่ายกระแสเสียงแนวนี้ ยิ่งเพิ่มสาขามากขึ้นเรื่อยๆ เขาเป็นนักดนตรียุโรปคนแรกที่เข้าไปมีอิทธิพลต่อดนตรีแจ๊สในช่วงทศวรรษสามสิบ จังโก้เล่นดนตรีโดยไม่เคยอ่านโน้ตแม้แต่หนึ่งตัว อาศัยเพียงหูทิพย์ของเขา เล่นทุกอย่างที่ได้ยินได้ฟังในบัดนั้น และเล่นตามไปได้ดีเยี่ยมอย่างไม่น่าเชื่อ นอกจากนี้ ยังมีทัล ฟาร์โลว (Tal Farlow) และเวส มอนต์โกเมอรี (Wes Montgomery) สองนักกีตาร์แจ๊สต้นแบบยุคต่อมา ก็เล่นดนตรีโดยใช้หูนำทางแต่เพียงอย่างเดียวเช่นกัน ในปัจจุบันนี้ แม้นักดนตรีรุ่นใหม่ส่วนใหญ่จะอ่านโน้ตกันได้ แต่เมื่อถึงเวลาด้นกันจริงๆ ก็จะอยู่ที่หูพาไป บวกกับจินตนาการ ในการเนรมิตดนตรีที่สวยงามออกมา


ข้าพเจ้าเคยเข้าร่วมเวอร์กชอพ สาธิตโดยจอห์น สโกฟิลด์ (John Scofield) ช่วงที่ศึกษาดนตรีอยู่ที่วิทยาลัยดนตรีเบอร์คลี (Berklee College Of Music) ซึ่งสรุปในตอนท้าย หลังจากชี้แนะแนวทางสารพัดแล้ว ว่าเมื่ออยู่ในสถานการณ์จริงแล้ว ก็ต้องอาศัยหูเพียงอย่างเดียวในการด้น


ดนตรีเป็นเรื่องของการใช้หูฟัง คนที่ทำงานด้านที่เกี่ยวกับเสียงเพลงจะต้องมีหูที่มีคุณภาพ ข้าพเจ้าอยากจะเห็นทุกสถาบันดนตรี ช่วยกันเน้นให้ความสำคัญต่อหลักสูตรพัฒนาโสตให้มาก เพื่อประเทศไทยเราจะได้มีบุคคลากรทางดนตรีที่มีคุณภาพจริงๆ มากพอที่จะขับเคลื่อนยกระดับนักดนตรีไทยให้เทียบเคียงนานาชาติได้


(พิมพ์ครั้งแรกในวารสารวิชาการดนตรี "หนังสือเพลง" มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 พ.ศ.2550)

7 comments:

  1. This comment has been removed by the author.

    ReplyDelete
  2. เป็นบทความที่ดีมากค่ะ
    ได้ความรู้และมีประโยชน์กับผู้รักเสียงเพลงมากเลย

    ReplyDelete
  3. เรียน ear training ที่ Berklee ครบ 4 ตัว แล้วหูยังไม่ค่อยพัฒนาไปไหนเลยครับ
    ถึงจะเลือกอาจารย์ที่เก่ง ที่เคี่ยวขนาดไหน แต่เวลาแค่ 1 semester สั้นไปจริงๆ
    โชคดีที่ผมได้มีโอกาสเรียนกับ Charlie Banacos
    วิธีของเขา เพียงเวลาแค่ 1 เดือน เวลาผมฟังเพลง classical หรือบรรเลงเดี่ยว piano หูจะเริ่มฟังออกเลยครับ ว่าแต่ละโน้ตนั้นคือเสียงโน๊ตอะไรบ้าง เป็น solfege นะครับ ไม่ใช่ perfect pitch
    คิดเป็นตัวเลขเอา

    หูผมยังต้องพัฒนาอีกเยอะเลยครับ ตอนนี้กำลังฝึกแบบ 2 โน้ตอยู่ ยากมาก แต่จะพยายามเพิ่มเป็น 3 เป็น 4 โน้ตต่อไปครับ

    ReplyDelete
  4. ขอบคุณอาจารย์นัท ที่แสดงความคิดเห็นมาครับ
    ได้คนที่มีประสบการณ์จริง ถ่ายทอดออกมา เป็นประโยชน์มากเลยครับ
    มีข้อเสนอแนะดีๆ ช่วยโพสต์เข้ามาอีกนะครับ

    ReplyDelete
  5. อยากเรียนมากครับ ไม่รู้จะยังไงดี ผมก็อายุมากแล้วจะเกี่ยวใหม บางคนว่าพออายุมาก ประสาทหูก็ด้อยลง แล้วงานประจำก็เป็นอุปสรรคในการพัฒนาดนตรีหลือเกินครับ.............บอม ฺbeautyhair@hotmail.com

    ReplyDelete
  6. อายุ และการงานเป็นอุปสรรคอยู่บ้างครับ แต่ข้ออ้าง ข้อแก้ตัวให้กับตัวเอง คือ อุปสรรคที่หนักหนาที่สุด

    มีเวลาฝึกน้อย ก็ค่อยๆทำไป ได้ทีละน้อย ค่อยๆถมไปเรื่อย เดี๋ยวก็เต็มเอง
    ขอให้มีใจ มีความต้องการมาก่อน เวลาก็จะมีมาเอง

    แล้วคุณบอม จะรู้สึกดีๆกับตัวเองมากขึ้น

    ReplyDelete
  7. อยากเอาใหม่เรื่อง Ear Training จังเลย เห็นแนวทางแล้วครับ ว่าต้องมีระเบียบวินัยอย่างยิ่ง เริ่มใหม่ตอนนี้เชื่อว่ายังไม่สายใช่ใหมครับ

    ReplyDelete