Tuesday, April 14, 2009

Bluegrass ดนตรีจรรโลงใจ


เสียงดนตรีในแบบอันปลั๊กของดนตรีบลูกราส ซึ่งมีถิ่นกำเนิดเดียวกันกับไก่ทอดของผู้พันแซนเดอร์จากรัฐแดนใต้ของอเมริกา มีเสน่ห์ชวนให้หลงใหลไม่แพ้ความอร่อย ที่ถึงกับต้องเลียนิ้วมือจนเกลี้ยงไม่มีเหลือแม้แต่เศษซากของไก่ทอดสูตรลับ ปริมาณคอเพลงบลูกราส ดนตรีที่ฟังแล้วได้ความสดชื่นของบรรยากาศท้องทุ่งเขียวขจี จินตนาการได้ถึงฝูงวัวที่เล็มหญ้าอยู่ชายทุ่งนี้ นับวันยิ่งจะเพิ่มแนวร่วมมากขึ้นเรื่อยๆ จากคนเมืองกรุงที่ใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบ แดกด่วน เสาะหาทางออกหนีความวุ่นวายให้กับใจที่ถวิลหาทุ่งใหญ่ป่ากว้าง ไปถึงคนที่เลือกทางสันโดษ ดำเนินชีวิตสมถะในเรือกนาสวน ที่เอามวลเสียงสะท้อนจากเนื้อไม้แท้ ไปเติมเสริมความสดใสในสิ่งแวดล้อมที่เป็นใจอยู่แล้วให้เป็นสวรรค์ยิ่งขึ้นไปอีก


สำหรับคนที่ยังไม่เคยสัมผัสบลูกราส ดนตรีจรรโลงใจ ถ้าอยากจะหาอัลบั้มเพลงแนวนี้มาลิ้มลองดู แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นกันกับศิลปินคนไหน ชุดอะไร? ผมขอแนะนำอัลบั้ม “Will the Circle Be Unbroken” ของวง The Nitty Gritty Dirt Band เป็นชุดจุดประกายบลูกราสสำหรับคอเพลงขาใหม่ ซีดีคู่ซึ่งมีทั้งหมด 38 แทร็ก ใช้เวลาฟังเกือบ 3 ชั่วโมง เป็นเกาเหลารวมมิตรบลูกราสชามใหญ่ไซซ์จัมโบ้ ให้ได้ชิมความหลากหลายรสอย่างจุใจเลยทีเดียว


The Nitty Gritty Dirt Band จากคาลิฟอร์เนีย วงประเภทคันทรีร็อกรุ่นบุกเบิก ตั้งแต่กลางทศวรรษหกสิบ เป็นรุ่นพี่และมีอิทธิพลอย่างมากต่อวงดังอย่าง Eagles และ Alabama ในปี 1972 พวกเขายกทีมกันไปถึงเมืองแนชวิล นครหลวงแห่งดนตรีแนวคันทรี คลานเข้าไปก้มกราบเท้าอัญเชิญครูเพลง ระดับตำนาน อาจารย์ใหญ่ในแต่สาขาของดนตรีพื้นบ้านขนานแท้ของอเมริกา ให้มาร่วมชุมนุมกันเต็มห้องอัดเสียง พวกเด็กหนุ่มผมยาวจากเวสต์โคสต์เตรียมตัวทำการบ้านล่วงหน้ากันมาอย่างดี ให้เกียรติและเคารพต่อผู้อาวุโส มาในฟอร์มของการร่วมอนุรักษ์ศิลปะในรูปแบบดั้งเดิม เลยได้รับความเอ็นดูและไว้วางใจจากต้นน้ำของสายธารแห่งบลูกราสและแนวคันทรีอย่าง คุณแม่ Mother Maybelle Carter, นักร้องระดับซูเปอร์สตาร์รุ่นบุกเบิก Roy Acuff และแม้จะไม่มี Bill Monroe “บิดาแห่งบลูกราส มาร่วมด้วย แต่ก็ได้อดีตขุนพลของท่าน ที่ร่วมสร้างตำนานจนระบือไกล แล้วแยกวงออกไปสร้างชื่อจนได้ดิบได้ดีโด่งดังไม่แพ้นายวงเก่า Earl Scruggs ผู้ชี้ทางวิธีเกาแบนโจ 5 สายให้คนอื่นลอกแบบ พาลูกซึ่งเป็นไม้หล่นไม่ไกลต้นมาแจมด้วย ด้านการสีซอฝรั่งที่เรียกขานไวโอลินว่า ฟิดเดิ้ล (Fiddle) หาคนเทียบ Vassar Clements ได้ยาก เช่นเดียวกับลีลาการร้องของ Jimmy Martin และ Pete "Oswald" Kirby เป็นคนนำร่องในความพลิ้วหวานของโดโบร (Dobro) ซึ่งได้เมล็ดพันธ์จากฮาวาย Merle Travis เป็นอาจารย์ใหญ่ด้านการเกากีตาร์แบบปิ๊กกิ้ง แต่ถ้าเล่นแบบใช้ปิ๊กดีดแล้ว ก็มองไม่เห็นใครเหนือกว่า Doc Watson ศิลปินตาบอดจากนอร์ธ แคโรไลนา แถมร้องเพลงเก่งอีกด้วย และตบท้ายด้วย Norman Blake คนเก่งรอบตัว ทั้งกีตาร์, แมนโดลิน และโดโบร ผู้อ่อนอาวุโสที่สุด ด้วยวัย 34 ปีในขณะนั้น


“Will the Circle Be Unbroken” ออกวางแผงในปี 1973 ยอดขายทะลุเป้าเกินความคาดหมายของคนทำเพลงไปหลายเท่าตัว มันเป็นความสำเร็จที่ศิลปินแทบทุกคนปรารถนา รับทั้งกล่องทั้งเงิน ทิ้งช่วงห่างนานถึง 16 ปี จึงมีภาคสองของชุดนี้ออกมาในปี 1989 และภาคสามในปี 2002 หลังจากนั้น 1 ปี ก็บรรจุรวมทั้ง 3 ภาคอยู่ในกล่องสวยหรู แถมแผ่นดีวีดีคอนเสิร์ต ออกมาดูดเงินแฟนๆอีกรอบหนึ่ง


“Will the Circle Be Unbroken” เปิดประตูให้คนหนุ่มสาวมากมายในยุคทศวรรษเจ็ดสิบ ได้ย่างก้าวแรกเข้าสู่โลกของดนตรีบลูกราส รวมมาถึงเด็กมหาลัยกลุ่มหนึ่งในบ้านเรา จนเป็นแรงดาลใจให้พวกเขาซึ่งเป็นคอร็อก หันมาอันปลั๊กและเล่นบลูกราสอยู่ช่วงหนึ่ง แต่ต้องเลิกวงเพราะมาล่วงหน้าเกินไป ยังไม่มีตลาดรองรับ ในโอกาสนี้ สมาชิกวงคนหนึ่งรู้สึกดีใจ ที่ซอยเท้ารอคนรุ่นใหม่ จนได้มาเขียนถึงบลูกราสอีก


ก็ลองไปหามาฟังกันนะครับ! เวลาไปเดินเล่นแถวสวนจตุจักร เจอพวกคาวบอยจับกลุ่มร้องบรรเลงเพลงบลูกราส จะได้รสชาติเพิ่มความหรรษามากขึ้นกว่าเดิมครับ


(เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์ของTKPark ปี 2006)

No comments:

Post a Comment