มีนักเรียนชั้นมัธยมปลายหลายคนมาหาผม ขอให้ช่วยติวเพื่อสอบเข้าเรียนต่อทางดนตรีในระดับอุดมศึกษาของมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ซึ่งแต่ละสถาบันก็จะมีข้อกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะสมัครเข้าเรียน มีการทดสอบความรู้พื้นฐานทางดนตรี ทั้งในทางทฤษฎีและทางปฏิบัติ ซึ่งในทางปฏิบัตินี้ก็จะกำหนดเพลงบังคับ เป็นเพลงสแตนดาร์ดแจ๊สให้เล่น 3 เพลง และนี่คือปัญหาใหญ่สำหรับนักเรียนทุกคน พวกเขาไม่กระดิกหูกับเพลงสแตนดาร์ดพื้นๆทั่วไปเหล่านี้เลย จึงต้องเป็นภาระหน้าที่ของครู ในการเปิดโลกทัศน์แนะนำให้นักเรียนได้รู้จักและทำความคุ้นเคยกับเพลงเหล่านี้
เพลงที่จะขึ้นแท่นจดทะเบียนเข้าทำเนียบแห่งหอเพลงสแตนดาร์ดในแต่ละสาขาดนตรี จะเป็นเพลงที่มีศิลปินนำมาบันทึกเผยแพร่ จนได้รับความนิยมและเป็นที่ยอมรับกันในวงการ มีศิลปินคนอื่นๆให้ความสนใจนำไปตีความใหม่จนแตกแขนงออกเป็นหลากหลายเวอร์ชัน ให้ได้เสพกันตามอัธยาศัย เพลงเหล่านี้มีหลายแหล่งที่มาด้วยกัน มีจำนวนมากมาจากเพลงละครบรอดเวย์ เพลงพ็อพแห่งยุคสมัย เพลงต่างประเทศ และเพลงที่แต่งโดยนักดนตรีแจ๊ส ผมจะสาธยายรายละเอียดเหล่านี้ในโอกาสหน้า
Blue Bossa เป็นเพลงสแตนดาร์ดที่นักดนตรีแจ๊สส่วนใหญ่จะมีความคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี และชอบนำมาเล่นกันมาก เนื่องจากมีทำนองที่เพราะน่าฟัง โครงสร้างของเพลงไม่ซับซ้อน เป็นหนึ่งในเพลงภาคบังคับ ที่นักดนตรีในเส้นทางแจ๊สส่วนใหญ่ได้ผ่านการเล่นกันมาอย่างช่ำชองแล้ว
Blue Bossa เป็นผลงานชิ้นเอกของ Kenny Dorham นักทรัมเป็ตและนักแต่งเพลงฝีมือเยี่ยม แต่ไม่ดังเท่าที่ควร เพราะเส้นทางในรอบลึกๆของเขาต้องไปเจอกับมือวางอันดับสูงกว่า อย่างนักทรัมเป็ตระดับเทพ Dizzy Gillespie, Fats Navarro, Miles Davis, Clifford Brown และ Lee Morgan เขาจึงต้องรับหน้าที่เป็นเดี่ยวมือสองในยุคนั้นไป แต่แนวทางแตรของดอร์แฮมก็ไม่ได้สูญพันธุ์หายไปไหน ได้กลายสายพันธุ์ให้เราได้ฟังกันในยุคต่อมาจากสำเนียงการด้นของ Wynton Marsalis เจ้ายุทธจักรแห่งแจ๊สทรัมเป็ตในปัจจุบัน
เค็นนี ดอร์แฮม เข้าสู่วงการแจ๊สในยุคก่อตัวของบีบ็อป เขาได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์อยู่ประมาณ 3 – 4 ปี ก่อนที่ลีลาการเป่าแตรจะเป็นที่พูดถึงในวงการ ได้เข้าเป็นสมาชิกในวงของชาร์ลี พาร์เกอร์ ช่วงวัยย่างเข้าสู่เบญจเพสในปี 1948 – 1949 และหลังจากนั้นก็เล่นรับจ้างทั่วไปไม่สังกัดวงอยู่ในนิวยอร์ก จน ปี 1954 จึงได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกรุ่นก่อตั้งวง Jazz Messengers ภายใต้การนำของมือกลองอาร์ต เบลคีย์ (Art Blakey) ต่อมาเขาไปตั้งวงเอง Jazz Prophets อยู่พักหนึ่ง แล้วไปรับช่วงเก้าอี้ทรัมเป็ตต่อจากคลิฟฟอร์ด บราวน์ (Clifford Brown)ซึ่งประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต ในวงของ Max Roach ระหว่างปี 1956 – 1958 ดอร์แฮมตั้งวงเองและมีผลงานโดดเด่นที่สุดของเขา ในช่วงปี 1961 – 1964 ให้กับค่ายแผ่นเสียงบลูโน้ต ซึ่งมี Joe Henderson นักแซกโซโฟนดาวรุ่ง ผู้ซึ่งดอร์แฮมเป็นผู้อุปถัมภ์ ร่วมทีมอยู่ด้วย ชื่อของเขาค่อยๆแผ่วไปจากวงการ และนักทรัมเป็ตจากแดนคาวบอยคนนี้ได้จากเราไปด้วยโรคไตในปี 1972
ด้วยเทคนิคการเป่าแตรที่ไม่หย่อนด้อยกว่าใครในเรื่องสปีดความเร็วหรือระดับความสูง แต่ให้ความนุ่ม น่าฟัง ไม่แสบแก้วหู ทำให้พรรคพวกในวงการขนานฉายา “Quiet Kenny” ให้เป็นฉายาประจำตัวของเขา นอกจากเป่าแตรและแต่งเพลงเก่งแล้ว ดอร์แฮมยังเป็นนักเขียนบทความดนตรีที่มีผลงานลงในนิตยสาร down beat เป็นประจำในช่วงปลายทศวรรษหกสิบ เขาเขียนถึง Blue Bossa ในปกหลังของแผ่นเสียงอัลบั้ม ชุด Page One ของ Joe Henderson ว่า
“Blue Bossa ผลงานลีลาลี้ลับแฝงความเหงาซ่อนอยู่ในอารมณ์หรรษา โดยเค็นนี ดอร์แฮม มีโครงสร้างง่ายในการติดตาม แสดงถึงโซโลสุดยอดชิ้นหนึ่งของ Joe Henderson”
Blue Bossa จากชุด Page One อัลบั้มแรกภายใต้การนำของ Joe Henderson บันทึกเสียงกันในเดือนมิถุนายน ปี 1963 น่าจะเป็นเวอร์ชันแรกของเพลงนี้ ซึ่งเป็นเวอร์ชันเดียวกันกับที่ปรากฏอยู่ในชุดรวมฮิตของ Kenny Dorham ในความเห็นของผม ซึ่งได้มีโอกาสฟังเพลงนี้มาประมาณ 40 เวอร์ชัน ขอฟันธงให้งานชิ้นนี้เป็นเวอร์ชันนิยามของเพลงนี้ เฮ็นเดอร์สันได้ดอร์แฮมมาช่วยเป่าแตรเป็นเสียงนำร่วม McCoy Tyner นักเปียโนหัวก้าวหน้าในช่วงที่กำลังร้อนสุด ในฐานะสมาชิกของวง John Coltrane ซึ่งเป็นผู้นำแห่งแจ๊สในเวลานั้น มาช่วยเสริมทีมร่วมกับนักเล่นเบส Butch Warren และมือกลอง Pete LaRoca พวกเขาร่วมกันสร้างมาสเตอร์พีซความยาวหย่อน 8 นาทีเล็กน้อย ด้วยความสวยงาม ลงตัว ระรื่นโสต หาที่ติไม่ได้ เริ่มตั้งแต่ตัวโน้ตแรกที่ร่วมกันปูพื้นจังหวะนำร่องมาโดยทีมเปียโน เบส และกลอง เปิดทางให้แซกโซโฟนและทรัมเป็ตเป่าคู่เล่นย้ำทำนองหลักสองเที่ยว ดอร์แฮมแผดเสียงแตรแตกพร่าในจุดเริ่มด้น นำพาเราไปท่องแดนสังคีตลีลาลาตินที่เขาช่ำชอง ต่อคิวด้วยเฮ็นเดอร์สัน แล้วไทเนอร์รับลูกร้อยสานทำนองอย่างสอดคล้องต่อเนื่องชวนติดตาม หลังจากนั้นคั่นช่วงให้ผ่อนคลายด้วยการดีดย้ำวลีเบสกึ่งโซโล เสมือนเตรียมตัวรับแตรคู่เป่าในแนวทำนองแปลงสองเที่ยว แล้วย้อนให้เบสย้ำอีกหนึ่งชุด ก่อนที่จะกลับไปเล่นทำนองหลัก แล้วจบเหมือนตอนขึ้นเพลงในแบบค่อยๆโรยหายไป
ฟังแห้งแล้ว คราวนี้มาดูเวอร์ชันแสดงสดของโจ เฮ็นเดอร์สัน
Blue Bossa ได้กลายเป็นเพลงเก่งประจำตัวของ Joe Henderson ตั้งแต่นั้นมา เขาผูกพันกับเพลงนี้ จนเมื่อพูดถึงบลู บอซซาก็จะชวนให้นึกถึงโจ เฮ็นเดอร์สันมากกว่าเค็นนี ดอร์แฮม เฮ็นเดอร์สันนำเพลงนี้ไปเล่นในแบบทริโอกับมือเบสใหญ่ Rufus Reid และมือกลอง Al Foster ในอัลบั้มชุด Standard Joe (1991) เล่นกันในแนวเปิดกว่าเก่า ส่วน McCoy Tyner ก็นำไปทำซ้ำในชุด Blue Bossa (1991) ด้วยลีลาลาตินที่คึกคักเร่าร้อน จนโดนนำไปขยายเสริมกระหน่ำจังหวะให้หนักหน่วงกระหึ่มฟลอร์เต้น เป็นเวอร์ชันแนวแด๊นซ์แบบรีมิกซ์ ใน Jazz Lounge, Vol.2 (2004) และนักดนตรีทุกคนก็เล่นกันสนุกมากใน McCoy Tyner & Latin All-Stars (1999)
สำหรับเวอร์ชันอื่นๆที่น่าสนใจ ในแนวดูโอเล่นกันสองคน Chick Corea นักเปียโนผู้สวมหมวกหลายใบในเชิงแจ๊ส แสดงสดกับ Bobby McFerrin นักร้องมหัศจรรย์ผู้ใช้เสียงเป็นเครื่องดนตรี โชว์ฟอร์มเป็นตัวเด่นด้วยการเหมาทำเสียงเบส เพอร์คัสชัน และร้องสแค็ต ได้อย่างน่าทึ่งมากใน Play (1990)
J.J. Johnson ประมุขทรอมโบนแห่งแจ๊ส ประกบคู่กับ Joe Pass เอตทัคคะเชิงกีตาร์แจ๊สใน We’ll Be Together Again (1984) ซึ่งโชว์ฝีมืออย่างครบเครื่องทั้งในด้านเล่นประกอบและเชิงโซโล่ และเมื่อเทียบกับ Big 3 (1976) เวอร์ชันที่เขาไปเล่นในแบบทริโอ กับพ่อมดแห่งไวบราฮาร์พ Milt Jackson และตำนานแห่งเบส Ray Brown เราได้ฟัง Joe Pass ในเชิงผ่อนคลายและคล่องตัวกว่าเดิม เมื่อมีเบสมาช่วยคุมจังหวะให้ ในเวอร์ชันของนักคลาริเนต Eddie Daniel กับ Bucky Pizzarelli นักกีตาร์เจ็ดสายจาก Blue Bossa (1972) จะเน้นการโชว์ปี่ตลอดทั้งเพลง โดยมีกีตาร์เป็นตัวยืนจังหวะให้ เสียงต่ำของสายเจ็ดกีตาร์ ฟังแล้วเหมือนมีเบสมาช่วยอีกคน ส่วนยอดนักกีตาร์แจ๊สอังกฤษ Martin Taylor จับคู่กับ Steve Howe ร็อกซูเปอร์สตาร์อดีตวง Yes มาดูเอ็ดกีตาร์โปร่งกันอย่างอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย เรียบง่าย น่าฟังใน Masterpiece Guitars (2004) เช่นเดียวกับนักกีตาร์แจ๊สรุ่นใหญ่ Kenny Burrell มาในมาด unplugged ใช้กีตาร์สายไนลอน เล่นกับวงแบบไม่เครียด ใน Moon and Sand (1979)
วงอคุสติก Rosenberg Trio ใน Live at the North Sea Jazz Festival (1992) นำเพลงนี้มาตีความในแนวยิปซีแจ๊ส ให้ความรู้สึกแปลกน่าสนใจไปอีกแบบหนึ่ง เคยคิดเล่นๆว่า ถ้าจังโก้ ไรน์ฮาร์ด ต้นตำหรับแนวนี้มาเล่นเอง จะเล่นออกมาอย่างนี้หรือเปล่า? Michel Camilo นักเปียโนลาตินแจ๊สจากเกาะโดมินิกัน เล่นได้เร่าร้อนยอดเยี่ยมมาก ทั้งในอัลบั้มชุดแรกของเขา Michel Camilo (1988) และ Live at the Blue Note (2003) คนเล่นเปียโนควรเสาะแสวงหามาฟังอย่างยิ่ง สำหรับแฟนกีตาร์ก็จะต้องตื่นเต้นไปกับความคล่องของนิ้วติดเทอร์โบของ Pat Martino จากอัลบั้ม Exit (1976) ซึ่งเมื่อได้ฟังแล้ว ถ้าไม่เกิดฮึดอยากฝึกหนัก ก็อาจจะท้อเลิกเล่นกีตาร์ไปเลย ในส่วนเวอร์ชันของ George Benson ชุด Live at Casa Caribe (2000) มาในรูปแบบของการแจมกันสบายๆ เล่นกันดี บันทึกเสียงจากการแสดงสด น่าเสียดายที่คุณภาพเสียงค่อนข้างต่ำ และท้ายสุดสำหรับคอร็อกที่ชอบฟังในแนวแจม ก็ขอแนะนำให้ไปหาเวอร์ชันของวง String Cheese Incident ซึ่งแจมกันยาวถึง 16 นาทีมาฟัง เล่นกันหนัก และสนุก
Blue Bossa ที่นำมาเล่นกันอย่างแพร่หลายจนกลายเป็นเพลงสแตนดาร์ด จะเป็นในรูปแบบของการบรรเลงทั้งสิ้น จนกระทั่งอยู่มาวันหนึ่ง เมื่อผมได้ฟังเวอร์ชันที่มีเนื้อร้องด้วย โดย Anna Caram นักร้องสาวบราซิเลียนนำมาร้องเป็นภาษาปอร์ตุเกสใน Blue Bossa (2001) ซึ่งฟังแล้วให้ความรู้สึกความเป็นบราซิลและมีเสน่ห์มาก ต่อไปเราอาจจะได้ยินนักร้องดังๆนำเอาบลู บอซซามาร้องบันทึกเสียงกันมากขึ้น จนกลายเป็นสแตนดาร์ดครบเครื่อง สำหรับทั้งนักดนตรีและนักร้องก็เป็นได้
ในเชิงวิเคราะห์สำหรับนักศึกษาด้านดนตรี Blue Bossa เป็นเพลงลีลาลาติน จังหวะความเร็วระดับกลาง ที่มีสำเนียงทำนองในทางไมเนอร์ มีความยาวเพียง 16 ห้อง มีโครงสร้างง่าย ไม่ยุ่งยากหรือซับซ้อน ต้นตำรับเล่นกันในคีย์ C minor เป็นหลักเกือบตลอดเพลง มีเปลี่ยนสีสันเป็นคีย์ Db Major ในห้องที่ 9 ถึง 12 เพียง 4 ห้อง เป็นเพลงที่ดีมากสำหรับใช้ฝึกหัดโซโลในสำเนียงโหมดดอเรียน (Dorian Mode) ผมได้ใช้สอนนักเรียนตั้งแต่รุ่นหนึ่งเมื่อ 20 ปีที่แล้ว มาจนถึงปัจจุบัน และได้ร่วมบุกเบิกเล่นเพลงนี้กับอาจารย์ปณัฐ นาควัชระ และอาจารย์ประทักษ์ ใฝ่ศุภการ จนเป็นที่แพร่หลายในวันนี้
ขอให้สนุกในการค้นหา Blue Bossa เวอร์ชันต่างๆ มีความสุขในการฟัง และการเล่น
พบกันใหม่เพลงสแตนดาร์ดหน้าครับ
(ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสาร Overdrive ฉบับที่ 84 กรกฏาคม 2005)
เพลงนี้เป็นเพลงแรกๆที่ฝึกเล่น Jazz เหมือนกันครับ
ReplyDeleteเป็นตัวอย่างของ non 12 bars blues tune ที่ดีเลยครับ
สวัสดีครับ อ.สำราญ เป็นบล็อก ที่สุดยอดมากครับ ผมจะเอาไปอ่านก่อนนอนทุกวันครับ...บี
ReplyDeleteสวัสดีครับ อ.สำราญ ขอกล่าวคำว่า "ขอบคุณครับ" ที่เปิดพื้นที่แห่งการเรียนรู้ตรงนี้ขึ้น อยากให้นำเสนอบทความ 2 ลักษณะ ครับ 1)บทความทั่วไป 2)บทความวิชาการแบบเข็มขึ้น ขอคุณพระช่วยคุ้มครองอาจารย์ให้มีสุขภาพแข็งแรงตลอดไปครับ
ReplyDeleteขอบคุณอาจารย์ชรินทร์ ในคำเสนอแนะครับ
ReplyDeleteสุดยอดครับอาจารย์ ผมก็เป็นคนที่ชื่นชอบที่จะหัดเล่นแจ๊ส บลูบอสซ่า ก็เป็นเพลงที่ชอบและต้องเล่นประจำ (ก็เล่นหัดไปงูๆปลาๆครับ) อยากได้ความรู้อยากเล่นเก่งๆ ขอบคุณที่มีบทความดีๆมาลงให้อ่านกัน ขอบคุณมากๆครับ ลงเพลงอี่นๆอีกกนะครับ เป็นวิทยาทาน ผมชอบบทความที่อาจารร์ลงใน overdrive มากครับ เพราะว่าบางทีก็ไม่รู้ว่าเพลงใหนเล่นอย่างไรได้บ้าง หรือพอเล่นได้ก็จำๆเขามาไม่ค่อยเข้าใจว่ามีที่มาอย่างไร
ReplyDeleteออ! ต่ออีกนิดครับ ผมพึงได้เข้ามาดูก็ไม่รู้ว่าบลอคที่นี่ มีวัฒนธรรมอย่างไรถ้าหากผิดพลาดประการใดขออภัยด้วยครับ
ReplyDeleteฺำ.............บอม....beautyhair@hotmail.com
เยี่ยมเลยครับ จะตามอ่านเก็บไปเรื่อยๆเลยครับ
ReplyDeleteผมพยายามตามเก็บเวอร์ชั่นต่างๆอยู่ครับ
ReplyDelete