หัวใจของแจ๊ส คือ “การอิมโพรไวส์" (Improvise) หรือที่มาคิดแปลเรียกกันเป็นภาษาทางวิชาการว่า “คีตปฏิภาณ” หรือศัพท์ดั้งเดิมที่นักดนตรีไทยเดิมบ้านเรา เขาใช้เรียกกระบวนการเล่นแบบนี้มาเนิ่นนานตั้งแต่โบราณแล้วว่า “การด้น”
คอแจ๊สประเภทตามเทรนด์หรือประเภทขาประจำหน้าใหม่อาจจะไม่เคยฉุกใจ สนใจอยากรู้ว่า ใครคนไหนเป็นผู้จุดประกายศาสตร์แห่งการด้นนี้ให้กับแจ๊ส และอาจจะรู้สึกแปลกใจมาก ถ้าได้รู้ว่าเจ้าของเสียงร้องแหบเสน่ห์ในเพลง “What A Wonderful World” คือ อัจฉริยะผู้พลิกเปลี่ยนโฉมหน้าของแจ๊ส และดนตรีอเมริกันทั้งหมด
หลุย อาร์มสตรอง (Louis Armstrong) เป็นคนชี้นำให้นักดนตรีแจ๊สได้รับรู้ถึงสาระ ความสวยงาม ความลงตัวอย่างสมบูรณ์ของการด้นที่ดี ด้วยมาสเตอร์พีซเพลง West End Blues ในปี 1928 อาร์มสตรองเปรียบเสมือนพ่อของนักดนตรีแจ๊สทุกคน โดยเฉพาะคนเล่นทรัมเป็ตจอมยุทธ์ทั้งหลาย ที่ตามหลังเขามา รอย เอลดริดจ์(Roy Eldridge), ดิซซี กิลเลสปี(Dizzy Gillespie), ไมล์ เดวิส(Miles Davis) และ วีนตัน มาร์ซาลิส(Wynton Marsalis) ต่างล้วนเรียกหลุย ว่า "พ้อพ" (Pop) ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกขานพ่อ
ดนตรีแจ๊สฟังดูแล้วจะเหมือนกับว่า นักดนตรีแต่ละคน ต่างคนต่างเล่น ไปคนละทิศคนละทาง อยากเล่นอะไรก็เล่นไปตามใจชอบ ไม่มีกฎเกณฑ์อะไร ให้อิสระนักดนตรีได้มั่วกันเต็มที่ ซึ่งมีคนจำนวนมากก็คิดว่ามันเป็นอย่างนั้น แต่ในความเป็นจริงของศิลปะแห่งการด้นแจ๊สนั้น เขามีระเบียบแบบแผน กติกาการเล่นที่ชัดเจน และแน่นอนที่สุด คือ ไม่มีการเล่นมั่วหรือดำน้ำอย่างเด็ดขาด
ข้อแนะนำง่ายๆ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการฟังแจ๊ส คือ โดยปกตินักดนตรีจะบรรเลงทำนองหลักของเพลงมาให้เรารับรู้ก่อนหนึ่งเที่ยว แล้วจึงจะเริ่มด้น จะด้นกันไปคนละกี่เที่ยวก็แล้วแต่จะตกลงกัน พอตอนจบก็จะกลับเข้ามาเล่นทำนองเพลงปิดท้าย เพลงในแต่ละเที่ยวนั้นเรียกกันเป็นคอรัส (Chorus) ถ้าโซโล 2 คอรัสก็เท่ากับ 2 เที่ยวของเพลงนั้น ในการโซโลหรือด้นไปในเพลง หลักการปฏิบัติก็คือ คนโซโลนั้นจะแต่งทำนองเพลงขึ้นมาใหม่ สดๆ โดยไม่ได้เตรียมตัวมาล่วงหน้า บนโครงสร้างทางเดินคอร์ดของเพลงนั้น เราอาจจะลองไปอิมโพรไวส์เองก็ได้ ถ้ามีเพลงแบบคาราโอเกะอยู่ คือ แทนที่จะร้องไปตามทำนองเพลงนั้น ลองสร้างทำนองใหม่ขึ้นมาแทนที่ทำนองเดิม ในลีลาที่เข้ากันกับดนตรีประกอบ นั่นก็จะเป็นการด้นแล้วครับ
บทโซโลของแจ๊สมากมายที่สวยงามและมีคุณค่า จนทำให้แตกแขนงออกมาเป็นสไตล์โวคาลีส(Vocalese) ซึ่งก็คือการนำเอาบทแจ๊สโซโลมาใส่เนื้อร้อง ริเริ่มเป็นคนแรกโดยเอ็ดดี เจฟเฟอร์สัน (Eddie Jefferson) เขาเอางานด้นชิ้นเอกของแจ๊สมาใส่เนื้อร้องกลายเป็นเพลงใหม่ขึ้นมา จากผลงานของศิลปินแจ๊สอย่าง โคลแมน ฮอว์กิน (Coleman Hawkins) เพลง "Body and Soul", เพลง "Parker's Mood" โดยชาร์ลี พาร์เกอร์ (Charlie Parker), เพลง "Moody's Mood for Love" โดยเจมส์ มูดี (James Moody) และเพลง “So What" ของไมล์ เดวิส เป็นต้น ศิลปะโวคาลีสนี้มีความมั่นคงหนักแน่นเป็นหลักเป็นฐาน เมื่อได้แนวร่วมอย่างนักร้องนักแต่งเพลงจอน เฮ็นดริก (Jon Hendricks) มาช่วยหนุนเสริมอีกแรงกับทีมงาน Lambert, Hendricks and Ross ของเขา แล้วบ็อบบี้ เม็กเฟอร์ริน (Bobby McFerrin) และวงแมนฮัตตัน ทรานสเฟอร์ (Manhattan Transfer) รับช่วงสืบสานไม่ให้ขาดตอน ต่อมาในวันนี้
ได้รับรู้แนวทางของศิลปะแห่งการด้นแล้ว ฟังเพลงแจ๊สครั้งต่อไป คงจะได้อรรถรสมากขึ้นนะครับ
(เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์ของTKPark ปี 2006)
ตอนที่ผมได้มีโอกาสได้ไปดู Village Vanguard Jazz Orchestra เล่นสดที่ Village Vanguard
ReplyDeleteนักดนตรีแต่ละคน ตอน improvise เขามียักคิ้ว หลิ่วตา หยอกล้อกัน
สนุกจริงๆครับ เหมือนเขาคุยกัน หยอกกัน แต่ใช้เครื่องเป่าพูดแทน
เป็นครั้งหนึ่งที่ประทับใจมาก ถ้ามีโอกาสก็อยากได้ไปชมอีกครับ
คลิปดูไม่ได้แล้วครับ อ. เป็นความคิดของผมเหมือนกันครับ คิดว่ามั่วแน่ๆเลย แต่พอได้เรียนเรื่อยๆเริ่มรู้ละครับว่า ถ้าจะออกมาให้ดีนั้นยากมากๆ
ReplyDelete