“Misty” เป็นเพลงกระตุ้นยอดขายที่ดีมากที่สุดเพลงหนึ่ง สำหรับทั้งนักร้องและนักดนตรี นำมาเสนอกันตั้งแต่ในรูปแบบโชว์เดี่ยว วงเล็ก วงใหญ่ ไปจนถึงวงซิมโฟนีออร์เคสตรา ด้วยความไพเราะในแนวทำนอง ประกอบกับเนื้อร้องที่ให้ความหมายกินใจลึกซึ้ง ทำให้เพลงนี้ไม่ได้จำกัดวงความแพร่หลายเพียงเฉพาะในกลุ่มคนฟังแจ๊สเท่านั้น แต่ได้แทรกซึมเข้าไปเป็นเพลงสามัญประจำบ้านของแทบทุกสไตล์ดนตรีก็ว่าได้
คนฟังเพลงทั่วไปอาจจะไม่รู้เสียด้วยซ้ำว่า “Misty” เป็นเพลงแจ๊ส พอได้รู้แล้ว ก็จะเป็นความรู้สึกเชิงบวกให้กับแจ๊ส ในแง่ที่เคยคิดว่า แจ๊สเป็นดนตรีหนวกหู อึกทึก ฟังไม่รู้เรื่อง เป็นจุดเริ่มต้นนำไปสู่มุมหนึ่งที่นิ่มนวล หวานหูของแจ๊ส ซึ่งมีให้เลือกฟังอยู่มากมาย
คนแต่งเพลง
เออร์รอล การ์เนอร์(Erroll Garner)(ฝรั่งอ่าน แอร์โรล การ์เนอร์) (เกิด 15 มิถุนายน 1921 ณ Pittsburgh, PA ตาย 7 มกราคม 1977 ณ Los Angeles, CA) เจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาของเพลง “Misty” เขาเป็นนักเปียโนแจ๊สระดับเสาหลักคนหนึ่ง ดังมากในช่วงปลายทศวรรษสี่สิบถึงต้นทศวรรษห้าสิบ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวโดดเด่นตั้งแต่เริ่มเป็นที่รู้จัก และรักษาสไตล์การเล่นเดิมๆอย่างคงเส้นคงวาไปจนเกษียณ การ์เนอร์มีทักษะการเล่นเปียโนที่สามารถสะกดคนฟังให้ตะลึง ด้วยเทคนิคที่อยู่ในโอวาท สั่งได้ดังใจนึก เวลาที่กรีดไล่นิ้วอย่างละเอียดถี่ยิบด้วยความเร็วจัดนั้น สายตาไม่เคยเหลือบมองคีย์บอร์ดเลย
คนฟังจะเป็นส่วนสำคัญของการแสดง มีส่วนร่วมดุจดั่งเป็นสมาชิกคนหนึ่งของวงเสมอ เขาจะเคารพในแนวทำนองของเพลง ไม่บิดเบี้ยวผิดเพี้ยนจนจับเค้าไม่ได้ แต่จะเจาะลึกความร่วมสมัยในด้านฮาร์โมนีและส่วนซับซ้อนแห่งจังหวะ จึงทำให้เข้าได้ดีทั้งกับนักดนตรีรุ่นใหญ่ และรุ่นใหม่อย่างไม่มีปัญหา เขาจะดีดเปียโนไปด้วยความเพลิดเพลิน ในขณะส่งเสียงครางออกมาพร้อมกับทำนองสวยที่รังสรรค์ในบัดนั้น และการเคาะคอร์ดด้วยมือซ้ายเหมือนตีคอร์ดกีตาร์ เป็นเครื่องหมายการค้าอีกอย่างหนึ่งที่เขาจดทะเบียนเอาไว้ ความลึกล้ำที่ผ่านปลายนิ้วจะยิ่งน่าทึ่งขึ้นไปอีก ถ้าได้รู้ว่าคนเล่นได้อย่างน่าพิศวงนั้น อ่านโน้ตไม่ออก
การ์เนอร์ปฎิเสธการเรียนรู้โน้ตตั้งแต่ยังเป็นทารก จนครูเปียโนถอดใจ ถอยไปเอง เขาชอบฟังแผ่นเสียงก่อนนอนทุกคืน พอตื่นเช้าก็จะเล่นเพลงนั้นได้เลย มีโอกาสออกโชว์ฝีมือที่สถานีวิทยุท้องถิ่นตั้งแต่ 7 ขวบ พอแตกหนุ่มพิทสเบอร์กบ้านเกิดก็ดูจะเล็กไปแล้ว บุกเข้าไปพิสูจน์ตัวเองที่นิวยอร์กปี 1944 ได้เล่นกับวงทริโอของนักเบสสแลม สจวร์ต (Slam Stewart) สะสมความเก่งจนได้อัดเสียงกับชาร์ลี พาร์เกอร์ (Charlie Parker) ในปี 1947 แล้วแยกวงออกเป็นศิลปินเดี่ยวหลังจากนั้นไม่นาน มีแฟนเพลงติดกันเกรียวในสไตล์เพลงที่เป็นกันเองกับคนฟัง ไม่เคยตกต่ำในอาชีพนักดนตรี จนกระทั่งต้องบอกลาเอง เนื่องจากสุขภาพไม่เอื้อในปี 1975
การ์เนอร์เป็นผู้บุกเบิกการเล่นแบบทริโอ(3 คน) เปียโน, เบส, กลอง มาตั้งแต่ปี 1944 และเล่นในรูปวงแบบนี้มาตลอดอาชีพการเล่นดนตรีของเขา อัลบั้ม “Concert by the Sea” (1958) เป็นไฮไลท์การเล่นเปียโนของการ์เนอร์ และได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในสุดยอดแห่งแจ๊สอัลบั้มตลอดกาล ผลงานโดยรวมของเขาจะมีคุณภาพสูง อุดหนุนได้ทุกอัลบั้ม ไม่มีผิดหวัง นอกจาก “Misty” แล้ว การ์เนอร์ยังแต่งเพลงอีกราว 200 เพลง
บิลลี เทย์เลอร์ (Billy Taylor) นักเปียโนและนักวิชาการแจ๊สชื่อดัง กล่าวยกย่องสดุดีการ์เนอร์ด้วยประโยคสั้นๆ แต่ได้ใจความ
“เขาสามารถที่จะดังมากได้ โดยปราศจากการประนีประนอมยอมลดราคุณค่าของความเป็นนักดนตรี”
จอห์นนี เบอร์ค (Johnny Burke ชื่อทางการ John Francis Burke) (เกิด 3 ตุลาคม1908 ณ
เบอร์คเป็นนักเปียโน ซึ่งมีพื้นฐานทางด้านการละครมาด้วย หลังจบจากมหาวิทยาลัยแห่งวิสคอนซิล เขาเข้าทำงานเป็นนักเปียโนและเซลล์แมนขายเพลง อยู่กับสำนักงานชิคาโกของ Irving Berlin Publishing Company ในปี 1926 ต่อมาถูกย้ายไปประจำสำนักงานนิวยอร์ก เริ่มแต่งเนื้อร้องให้เข้ากับทำนองเพลงของแฮโรลด์ สปินา (Harold Spina) ทั้งคู่เขียนเพลงฮิตร่วมกันหลายเพลง แต่ต้องแยกทางกันในปี 1936 เมื่อเบอร์คย้ายไปฮอลลีวู้ด ได้งานใหม่กับบริษัทหนัง Paramount Pictures และปักหลักอยู่กับค่ายนี้เพียงที่เดียว โดยไม่ย้ายไปไหนเลย เขาแจ้งเกิดกับเพลง “Pennies from Heaven” (1936) ที่แต่งร่วมกับอาร์เธอร์ จอห์นสัน (Arthur Johnston) และใช้เวลาอยู่พักหนึ่ง กว่าจะได้มาเจอคู่ขาอย่างจิมมี แวน ฮิวเซ็น (Jimmy Van Heusen)
ทั้งสองร่วมกันแต่งเพลงประกอบหนังจนได้รับรางวัลออสการ์ ปี 1944 สาขาเพลงยอดเยี่ยม “Swinging on a Star” หลายเพลงได้ถูกบรรจุเข้าแฟ้มเพลงแจ๊สสแตนดาร์ด อย่างเช่น “Imagination” (1940), “Polka Dots and Moonbeams” (1940), “But Beautiful” (1947) และ “Here’s That Rainy Day” (1953) นอกจากนี้ ยังได้เขียนเนื้อเพลงใส่ทำนองเพลงบรรเลงของมือเบสบ็อบ แฮ็กการ์ท (Bob Haggart) จนดังเป็น “What’s New?” (1939) และ
“Misty” (1954)
เบอร์คย้ายกลับนิวยอร์กในปี 1956 และเสียชีวิตในอีก 8 ปีต่อมา ด้วยอายุเพียง 55 ปี เขาได้รับเกียรติจารึกชื่ออยู่ใน Songwriters' Hall of Fame เมื่อปี 1970
ความเป็นมาของเพลง
มีเกร็ดเรื่องเล่าถึงที่มาของ “Misty” อยู่หลายกระแสด้วยกัน มีเรื่องหนึ่งเล่าว่า ระหว่างที่เออร์รอล การ์เนอร์นั่งประจำที่อยู่ในเครื่องบิน เตรียมตัวทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า เขามองออกไปนอกช่องหน้าต่าง เห็นรุ้งกินน้ำเด่นอยู่ในกลุ่มหมอก อีกเรื่องหนึ่งบอกว่า การ์เนอร์คิดทำนองเพลงได้ในระหว่างที่นั่งเครื่องบินจากชิคาโกไปยังนิวยอร์ก และเวอร์ชันสุดท้ายมาในแนวโรแมนติก เป็นฉากที่การ์เนอร์นั่งคิดถึงภรรยาในขณะที่กำลังบินอยู่เหนือฟ้า
การ์เนอร์ต้องฮัมเพลงที่เขาเพิ่งคิดได้ ตลอดช่วงเวลาการเดินทาง เพราะความไม่รู้โน้ต พอถึงบ้านก็รีบดิ่งไปที่เปียโน เล่นจนจำได้ขึ้นใจ แล้วเกิดความลังเล ไม่แน่ใจ ฉุกคิดสงสัยว่า หรือนี่เป็นเพลงที่เราเคยได้ยินมาก่อน? แต่นึกไม่ออก ซึ่งต่อมาภายหลังกลายเป็นว่า เป็นเพลงต้นแบบให้คนอื่นลอกเลียน
การ์เนอร์บันทึกเสียงเพลงเก่ง “Misty” ของเขาครั้งแรกในปี 1954 อยู่ในอัลบั้ม “Contrasts” จอห์นนี เบอร์คแต่งเนื้อร้องในปีต่อมา แต่ “Misty” ยังไม่เป็นที่แพร่หลาย จนกระทั่งจอห์นนี แมธิส (Johnny Mathis) นักร้องลูกกรุงฝรั่งนำไปร้องจนดังติดชาร์ต ขายแผ่นเสียงได้เป็นล้านแผ่นในปี 1959
มาถึงวันนี้ “Misty” ได้กลายเป็น 1 ใน 25 เพลงสแตนดาร์ดที่ถูกนำมานำเสนอมากที่สุดในศตวรรษที่ยี่สิบนี้ คลิ้นท์ อีสต์วู้ด (Clint Eastwood) ดาราหนังผู้คลั่งไคล้แจ๊ส เอาเพลงนี้ไปผูกเป็นเรื่องเป็นราวในหนัง “Play Misty for Me” (1971) ซึ่งเขาประเดิมเป็นมือใหม่ด้านกำกับการแสดงเรื่องแรก
เนื้อเพลง
“Misty” เป็นเพลงบรรเลงโดยกำเนิด เมื่อจอห์นนี เบอร์คนำมาใส่เนื้อร้อง เขาได้โจทย์บังคับทำนองที่สมบูรณ์มาแล้ว ซึ่งนักแต่งเนื้อร้องเพลงบ้านเราก็ใช้กระบวนการแบบเดียวกัน รับเอาเพลงเดโมที่เป็นเวอร์ชันบรรเลงไปจินตนาการถ่ายทอดออกมาเป็นบทขับขาน ด้วยอารมณ์ที่สอดคล้องกับลีลาเพลง แต่ของเบอร์คนั้นต้องไปเจอกับเพลงที่ตั้งชื่อมาแล้ว เป็นการชี้นำเรื่องราวของเพลงให้อยู่ในวงจำกัด ด้วยความเป็นมืออาชีพเหนือระดับของเขา เบอร์คพลิกผันอารมณ์เพลงที่ดูตามฟอร์มแล้วควรจะเหงา เศร้า โหยหา ด้วยการนำเสนอในแนวอ้อนรัก อบอุ่น
Misty
(music by Erroll Garner and lyrics by Johnny Burke)
Look at me, I'm as helpless as a kitten up a tree,
And I feel like I'm clinging to a cloud, I can't understand,
I get misty, just holding your hand.
Walk my way, and a thousand violins begin to play,
Or it might be the sound of your hello, that music I hear,
I get misty, the moment you're near.
You can say that you're leading me on,
But it's just what I want you to do,
Don't you notice how hopelessly I'm lost?
That's why I'm following you.
On my own, would I wander through this wonderland alone?
Never knowing my right foot from my left, my hat from my glove,
I'm too misty, and too much in love.
I'm too misty, and too much in love.
Music Analysis (สำหรับนักศึกษาดนตรี)
แนวทำนองของ “Misty” โดดเด่นโดนใจที่สามโน้ตแรก ซึ่งเป็นลายเซ็นของเพลงที่คนฟังจะจำได้ทันที แนวทำนองเพลงนี้มีช่วงกว้างของระดับเสียงมากกว่าเพลงทั่วไป คงจะเป็นเพราะดั้งเดิมเป็นเพลงที่แต่งขึ้นมาสำหรับบรรเลงโดยเครื่องดนตรี จึงไม่ได้คำนึงถึงช่วงกว้างของแนวทำนอง โดยปกติเพลงร้องทั่วไปจะมีช่วงกว้างของเสียงที่คู่สิบ ซึ่งคนธรรมดาทั่วไปร้องกันได้สบายๆ แต่ “Misty” กว้างถึงคู่สิบสาม แล้วยังมีช่วงแนวทำนองกระโดดอีกต่างหาก เป็นเพลงทำนองหวานซึ้ง ที่นิยมเล่นกันช้าๆในแบบบัลลาด
ฟอร์มเพลงของ “Misty” อยู่ในลักษณะฟอร์ม A1A2BA2 ความยาวมาตรฐาน 32 ห้อง แต่ละท่อนยาว 8 ห้อง มีสำเนียงทำนองในทางเมเจอร์ นิยมเล่นกันในคีย์ Eb Major
โครงสร้างของฮาร์โมนีในท่อน A ขึ้นต้นกลมกลืนกับเมโลดี้ด้วยคอร์ดหนึ่ง (I) Ebmaj7 ในห้องแรก แล้วการ์เนอร์พาเราเข้าไปในหมอกเหมือนชื่อเพลงด้วยคอร์ด Bbm7 ซึ่งรองรับโน้ตทำนอง (Db) ที่เพี้ยนออกไปจากคีย์ Eb Major โดยที่ปกติคอร์ดห้า (V) ของคีย์นี้จะต้องเป็นคอร์ด Bb7 จึงทำให้หูเราหลงทาง จนเมื่อได้ยินเสียงคอร์ด Eb7 จึงจะเชื่อมได้ถึงความสัมพันธ์เป็น IIm – V7 เกลาเข้าหา I คือคอร์ด Abmaj7 ซึ่งในที่นี้ทำหน้าที่เป็นคอร์ดหนึ่งชั่วคราว ในขณะที่ตัวเองมีความสัมพันธ์เป็นคอร์ดสี่ (IV) ของคีย์แม่ด้วย ตอนนี้หูคนฟังจะปรับกลับเข้าที่เดิม แต่ก็ต้องตกหลุมอีกครั้งเมื่อได้ยินเสียงคอร์ด Abm7 ตามด้วย Db7 ( วิเคราะห์ได้เป็น IVm7 – bVII7 ของคีย์ Eb Minor หรือ IIm7 – V7 ของคีย์ Gb Major) เกลาไปหาคอร์ดหนึ่ง (I) Ebmaj7 นำชุดคอร์ดวน I – VIm7 – IIm7- V7 ตามด้วยชุด Turnarounds ย้อนกลับไปหาท่อน A2 ซึ่งดำเนินทางคอร์ดชุดเดียวกันใน 6 ห้องแรก และเกลาเข้าหาคอร์ดหนึ่ง (I)
ใน 4 ห้องแรกของท่อน B เป็นการเปลี่ยนสีสันให้คอร์ดสี่ (IV) Ab เป็นเจ้าบ้านชั่วคราว (คีย์หลัก) ซึ่งวิธีการนี้เป็นวัตปฏิบัติธรรมดาทั่วไปของนักแต่งเพลง หลังจากนั้น การ์เนอร์เซอร์ไพรส์คนฟังด้วยคอร์ด Am7 ตามด้วย D7 เป็น IIm7 – V7 ของ G แต่กลับไม่เกลา หลอกเลี่ยงไปหาคอร์ด F7 (bVII7) แทน (หรือจะเป็น Cm7 – F7 ก็ได้) แล้วต่อด้วยคอร์ดชุด Turnarounds กลับเข้าหาท่อน A อย่างสวยงาม
ศิลปิน
“Misty” แต่งทำนองโดยยอดนักเปียโนแจ๊ส แล้วใส่เนื้อร้องโดยนักแต่งเนื้อร้องเพลงประกอบหนังมือทอง แต่ก็ยังไม่เป็นที่รู้จักกันในวงกว้าง กว่าจะแจ้งเกิดได้ก็ตอนที่นักร้องเพลงพ็อพ เอามาคัฟเวอร์ ด้วยความสำนึกบุญคุณที่ช่วยทำให้เพลงนี้แพร่หลาย ขออนุญาตเขียนถึงเวอร์ชันของจอห์นนี แมธิสเป็นลำดับแรก ซึ่งก็ไม่มีอะไรมากที่จะให้พูดถึงในมุมมองของคอแจ๊ส เป็นลักษณะของเพลงประเภทหวานเย็น ฟังสบายๆสำหรับรุ่นใหญ่ ด้วยเสียงร้องนิ่มๆ คลอด้วยเปียโนและเครื่องสาย อยู่ในอัลบั้ม “Heavenly” (1959) และได้ตัดออกมาเป็นแผ่นซิงเกิ้ล จนฮิตติดหู กลายเป็นเพลงประจำตัวเพลงหนึ่งของแมธิส และชี้โพรงให้กระรอกดนตรีทั้งหลาย กระโจนคาบเอาไปบันทึกเสียงออกมาขอส่วนแบ่งในตลาด
ซาราห์ วอห์น (Sarah Vaughan) ร้องเวอร์ชันนิยามของ “Misty” ไว้ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับแมธิส เธอไปบันทึกเสียง“Vaughan And Violins” (Universal Music) (France) ถึงกรุงปารีส ในเดือนกรกฎาคม 1958 ภายใต้การควบคุมวงและอเรนจ์โดยควินซี โจนส์ (Quincy Jones) ในช่วงวัยเบญจเพส ขณะไปเรียนกับ Nadia Boulanger ที่นั่นและรับจ๊อบหารายได้ไปด้วย ซาราห์ถ่ายทอดอารมณ์เพลงออกมาอย่างเรียบง่าย แต่จินตนาการเห็นภาพไปกับเธอได้เป็นฉากๆ โดยมีเครื่องสายตามประกบคลอเคลียเสียงร้องตลอด ได้เสียงเทเนอร์แซ็กของซูท ซิมส์ (Zoot Sims) นำร่องมาในตอนขึ้นเพลง แล้วกลับมาส่งภาษารักกับซาราห์ในท่อนแยกกับตอนปิดเพลงอย่างสวยงาม
วอห์นผูกพันกับ “Misty” ตั้งแต่นั้นมา เป็นเพลงหนึ่งที่แฟนๆคาดหวังจะได้ฟัง ในการแสดงสดของเธอ และแฟนเพลงทั่วไปก็พลอยได้อานิสงส์จากอัลบั้ม”สด” เหล่านั้นด้วย “Live in Japan” (Mobile Fidelity) (1973) เป็นหนึ่งในนั้นที่ควรเสาะแสวงหาอย่างยิ่ง ถ้าจะให้ดีก็ต้องหา “Mack the Knife: Ella in Berlin “(Verve) (1960) ของเอลลา ฟิทซ์เจอรัลด์ (Ella Fitzgerald) มาฟังเสริมรสชาติกัน นักร้องรุ่นใหม่อย่างไดแอนน์ รีฟ (Dianne Reeves) นำมาร้องเทิดทูนครูใน “The Calling: Celebrating Sarah Vaughan” (Blue Note) (2003) โดยส่วนตัวของผม รู้สึกว่าเพลงนี้เหมาะกับนักร้องหญิงมากกว่าชาย แม้ว่าบิลลี่ เอ็กสไตน์ (Billy Eckstine) จะร้องได้น่าประทับใจมากใน “No Cover, No Minimum” (Blue Note) (1960)
เออร์รอล การ์เนอร์ใช้เพลงเก่งของเขาคุ้มมากเลย มีให้ฟังกันหลายเวอร์ชัน รุ่นพิมพ์หนึ่งที่เขาเข้าห้องอัดเทคเดียวอยู่เลย เล่นค่อนข้างเรียบร้อย ไม่หวือหวา เริ่มต้นขึ้นเน้นทำนองเลย ฟังง่าย มีเม็ดพรายประดับพองามในช่วงท่อนแยก พอไปโชว์สดที่ “One World Concert” (Reprise) (1963) การ์เนอร์ออกลีลาให้คนดูตื่นเต้นสมกับเป็นงานคอนเสิร์ตใหญ่ เทคนิคแพรวพราว น่าทึ่งมากครับ
เวอร์ชันอื่นๆที่น่าหามาฟัง ขอแนะนำ เวส มอนต์โกเมอรี ( Wes Montgomery) ใน “Live At Half-Note” (Verve), โจ พาส (Joe Pass) เกากีตาร์โชว์เดี่ยวน่าฟังหลายเวอร์ชัน, สแตน เก็ตซ์ (Stan Getz) เป่าเทเนอร์แซ็กได้กินใจมาก ถ้าจะฟังการตีความแบบร่วมสมัย ให้โอกาสนักอัลโต Arthur Blythe จากอัลบั้ม “Blythe Spirit” Columbia) (1981) ฟังนักทรัมเป็ต Freddie Hubbard และ Roy Hargrove เป่า ก็ได้รสชาติกันไปคนละแบบ มีอารมณ์ที่แผดเสียงแตร ผสมกับความนิ่มนวลด้วย และเวอร์ชันที่ผมชอบมากล่าสุด เป็นของนักทรอมโบนสตีฟ เทอร์ (Steve Turre) ใน “In the Spur of the Moment” (Telarc) (2000) ซึ่งได้เรย์ ชาร์ล (Ray Charles) มาเล่นเปียโน เติมความเป็นบลูส์ให้กับ “Misty”
ไม่สามารถขุดกรุมาสาธยายให้ฟังทั้งหมดได้ เนื่องจากเวลาจำกัด ต้องรีบส่งต้นฉบับที่ช้ากว่านี้ไม่ได้อีกแล้ว
ใครมีเวอร์ชันเด็ด แปลกๆ อยากเอามาอวดกัน ก็มาแลกเปลี่ยนกันฟังได้นะครับ
(ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสาร KoolJazz ปี 2007)